++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บีโอไอ:บีโอไอเยี่ยมชมต้นแบบโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรกของไทย โดย สุนันทา อักขระกิจ

เป็นที่ทราบกันดีว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เป็นผู้ผลิต จัดให้ได้มา จัดส่งหรือจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าตามที่กำหนด รวมทั้งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้า ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ประชาชนมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และสูงเกินกำลังการผลิตในภูมิภาคอย่างมาก กฟผ. จึงพิจารณานำเทคโนโลยีที่ทันสมัยคือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ ดำเนินการก่อสร้างเมื่อปี 2537 แล้วเสร็จในปี 2547

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ ว่า “โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา” ซึ่งมีความหมายว่า โรงไฟฟ้าลำตะคองเป็นที่พัฒนาแสงไฟด้วยน้ำ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป

โรงไฟฟ้าฯ แห่งนี้ เป็นโรงไฟฟ้าที่นำพลังงานไฟฟ้าส่วนที่เกินจากการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนในช่วงเวลาที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อย คือ ช่วงหลังเที่ยงคืนจนถึงเช้า มาสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำ
ลำตะคองที่มีอยู่เดิม แล้วไปพักไว้ที่อ่างพักน้ำตอนบนที่สร้างขึ้นใหม่บนเขา จากนั้นปล่อยลงมาผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง เป็นการช่วยเสริมระบบไฟฟ้าให้เพียงพอและมั่นคงยิ่งขึ้น

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของไทย ตลอดทั้งวันจะไม่คงที่ ช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจะอยู่ที่เวลา 18.00 - 21.00 น. และช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำสุดจะอยู่ที่เวลา 24.00 - 06.00 น.

ทำให้ในช่วงเวลานี้มีพลังงานไฟฟ้าเหลือจากการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทุกๆ แห่ง จึงสามารถนำพลังงานไฟฟ้านั้นมาใช้ในการสูบน้ำกลับไปพักไว้ในอ่างเก็บน้ำบนเขา รอเวลาปล่อยเพื่อการผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เห็นศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าฯ ดังกล่าวได้อย่างชัดเจนขึ้น นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จึงนำคณะเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอเข้าเยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าฯ ที่เปิดดำเนินการมาแล้วกว่า 7 ปี ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าใต้ดินแห่งแรก และแห่งเดียวของประเทศไทย ที่ใช้อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่สุด ตั้งอยู่บนยอดเขา โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการก่อสร้าง

โรงไฟฟ้าฯ นี้ ใช้งบประมาณในการก่อสร้างจำนวน 21,800 ล้านบาท ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าใต้ดินลึกกว่า 350 เมตร ความกว้าง 23 เมตร ยาว 175 เมตร สูง 47 เมตร ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 250 เมกะวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง กังหันน้ำ/สูบกลับแบบ Vertical Shaft Francis Type Reversible Pump - Turbine มีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ส่วนอ่างเก็บน้ำบนเขายายเที่ยงเป็นแบบหินถม ลาดด้วยยางมะตอยเพื่อป้องกันน้ำซึม เก็บกักน้ำได้ 10.30 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ผิวน้ำ 0.34 ตารางกิโลเมตร สูง 50 เมตร ยาว 2,170 เมตร ปริมาตรที่ใช้งานได้ 9.9 ล้านลูกบาศก์เมตร

โรงไฟฟ้าฯ แห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอปากช่อง และอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองประมาณ 70 กิโลเมตร ลักษณะสำคัญประกอบด้วย โรงไฟฟ้าใต้ดิน อ่างพักน้ำบนเขา อ่างเก็บน้ำตอนล่าง (อ่างเก็บน้ำลำตะคองเดิม) อุโมงค์ส่งน้ำจากอ่างพักน้ำเข้าโรงไฟฟ้า อุโมงค์ท้ายน้ำจากโรงไฟฟ้าสู่อ่างเก็บน้ำตอนล่าง และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

นอกจากนี้ ยังเป็นโครงการที่อำนวยประโยชน์ให้แก่จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดอื่นๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะนอกจากเป็นการเพิ่มความมั่นคงในระบบการผลิตและจ่ายพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลให้การพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ เจริญเติบโตและมีความมั่นคงสูงยิ่งขึ้นในอนาคต

ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมาโรงไฟฟ้าฯ แห่งนี้ สามารถยืนหยัดเคียงคู่กับประชาชนรอบๆ โรงไฟฟ้าฯ มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพื่อค้นหาอาชีพที่เหมาะสมของชุมชน รวมถึงการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรในชุมชนบ้านเขายายเที่ยงเหนือและใต้ สืบเนื่องจากการที่สามารถบริหารจัดการภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้รับรางวัลดีเด่นหลายรางวัล เช่น รางวัลสถานประกอบการดีเด่นระดับประเทศ ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน (ปี 2547 – 2552) จากกระทรวงแรงงาน รางวัลสถานที่ทำงานน่าอยู่ น่าทำงาน มาตรฐานระดับทอง เป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน (ปี 2549 – 2552) จากกระทรวงสาธารณสุข

จะเห็นได้ว่าโรงไฟฟ้าฯ แห่งนี้ สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อเสริมให้ระบบไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ทันทีด้วยความรวดเร็ว มีความมั่นคงอย่างยั่งยืน นับเป็นการผลิตไฟฟ้าจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งยังชดเชยการสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศได้อีกด้วย

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2553-8111 หรือที่ head@boi.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น