กล่าวถึงที่สุดการบริหารทรัพยากรน้ำของประเทศไทยในปัจจุบันไม่อาจรองรับกับการผันผวนของสภาพภูมิอากาศที่นำภัยพิบัติแห้งแล้ง และอุทกภัยให้เกิดได้ในเสี้ยววินาที เพราะในกระบวนทัศน์การพัฒนาที่มุ่งพัฒนาแหล่งน้ำและระบบน้ำผ่านการสร้างเขื่อนและการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำนั้นนอกจากมักไม่คำนึงถึงข้อจำกัดด้านนิเวศหรือความสอดคล้องกับวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของท้องถิ่นแต่อย่างใดแล้ว ยังตัดขาด ‘ทรัพยากรน้ำ’ ออกจากส่วนสัมพันธ์อื่นๆ ตั้งแต่ที่ดิน ป่าต้นน้ำ จนถึงการอนุรักษ์ระบบนิเวศด้วย
ดังผลลัพธ์การบริหารจัดการน้ำแบบรวมศูนย์บนลงล่างอย่างโครงการโขงชีมูลที่ได้ทำลายพื้นที่เกษตรและระบบนิเวศในการทำมาหากินและคงวิถีชีวิตชุมชน เช่นกันกับการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำเป็น 25 ลุ่มน้ำก็เทอะทะเกินไปจนไม่อาจปฏิบัติงานได้จริง ยิ่งกว่านั้นยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย ซึ่งสถานการณ์ย่ำแย่นี้ยังถูกซ้ำเติมจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและเมืองที่เข้ามาแย่งชิงทรัพยากรน้ำจากเกษตรกรเพราะกลุ่มเปราะบางทางสังคมเหล่านี้ไม่เพียงขาดอำนาจต่อรอง (negotiation) แต่ยังไร้พื้นที่สาธารณะ (public space) สำหรับการต่อรองที่เป็นธรรมระหว่างภาคการผลิตต่างๆ ด้วย
ด้วยลำพังหวังว่าการมี 33 หน่วยงานรัฐใน 7 กระทรวงที่มีบทบาทการพัฒนาแหล่งน้ำ มีกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการนํ้ากว่า 50 ฉบับ และมีงบประมาณการบริหารจัดการนํ้าปีละประมาณ 36,000 ล้านบาท กว่าร้อยละ 90 เป็นการพัฒนาแหล่งนํ้า ไม่รวมงบประมาณพิเศษต่างๆ อีกมากว่าจะสามารถ ‘ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ’ ของรัฐในรอบกว่าหนึ่งศตวรรษนับแต่เกิดการชลประทานโดยรัฐส่วนกลาง และในรอบครึ่งศตวรรษภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มุ่งตอบสนองการเติบโตของชุมชนเมือง พัฒนาอุตสาหกรรม การค้า และการเกษตรอุตสาหกรรม จนเป็นที่มาของ 45 เขื่อนขนาดใหญ่ 14,000 เขื่อนขนาดกลางและเล็ก และ 2,500 โครงการสูบนํ้าด้วยไฟฟ้า ได้นั้น คงจะเป็นได้แค่ ‘ความฝัน’
การพัฒนาแหล่งนํ้าและการจัดการนํ้าโดยกระบวนทัศน์รวมศูนย์ตลอดศตวรรษที่ผ่านมาของรัฐส่วนกลางเช่นนี้มีส่วนสำคัญในการเหนี่ยวนำความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมมาสู่สังคมไทย ในขณะเดียวกันก็ทำลายระบบนิเวศที่เป็นฐานวัฒนธรรมของท้องถิ่นจนสูญเสียอัตลักษณ์ ดังนั้นข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) เพื่อปรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เป็นธรรมจนสามารถลดความเหลื่อมล้ำและแตกแยกจากการบริหารน้ำแบบเดิมๆ ที่ในช่วงฤดูแล้งจะกักเก็บน้ำไว้ให้ภาคอุตสาหกรรมและเมืองจำนวนมากต่างจากเกษตรกรที่แทบไม่มีน้ำใช้ ในขณะฤดูฝนอุทกภัยไหลหลากรัฐก็จะปล่อยน้ำท่วมไร่นาที่อยู่อาศัยในเขตชนบทแบบที่ชนบทต้องเป็น ‘ผู้เสียสละ’ ขณะที่ตัวเมืองหรือกรุงเทพฯ จะปราศจากน้ำท่วมถาวร!
ข้อเสนอปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจึงมุ่งทอนลดความด้อยประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำที่ผ่านมาของภาครัฐที่สิ้นเปลืองงบประมาณหลายหมื่นล้านบาทต่อปีที่ในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 90 เป็นงบพัฒนาแหล่งน้ำที่มิก่อประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อย โดยเชื่อมโยงน้ำเข้ากับการจัดการทรัพยากรส่วนอื่นๆ ทั้งด้านป่า ที่ดิน ระบบนิเวศ จนถึงวิถีชีวิตผู้คนอย่างสมดุล โดยการให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องจัดทำฐานข้อมูลน้ำที่เป็นของสาธารณะ ของท้องถิ่น และแต่ละลุ่มน้ำด้วย
ทั้งนี้ สมรรถนะที่สูงขึ้นของท้องถิ่นในการวางแผนจัดการน้ำที่สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นของประชาชนในพื้นที่ ที่เคียงคู่มากับการส่งเสริมความเข้มแข็งแก่องค์กรชุมชนที่มีอยู่เดิม เช่น องค์กรเหมืองฝาย และจัดตั้งขึ้นใหม่ในลักษณะเครือข่ายการจัดการน้ำจะทำให้ท้องถิ่น ‘ตัดสินใจ’ จัดการบริหารน้ำในพื้นที่ตนเองได้รวดเร็ว และสามารถผสานความต่างด้านภูมิศาสตร์โดยการผสานกลไกความร่วมมือระหว่างเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำกับรัฐด้วย
อีกด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำก็ต้องมุ่งบูรณาการเบ็ดเสร็จ และไม่เกินน้ำต้นทุนในพื้นที่ โดยเลี่ยงการผันน้ำข้ามลุ่ม ยกเว้นว่าประชาชนในลุ่มน้ำนั้นๆ ได้ประเมินแล้วว่ามีน้ำเหลือมากพอจะแบ่งปันไปให้ลุ่มน้ำอื่นได้ โดยต้องมีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) และผลกระทบด้านอื่นๆ อย่างรอบด้านผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เช่นกันกับการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องดำเนินการประเมินผลกระทบทุกด้านอย่างถี่ถ้วน มิเช่นนั้นจะเกิดปรากฏการณ์เลวร้ายเหมือนดังเขื่อนโครงการโขงชีมูลและเขื่อนปากมูลที่มีการต่อต้านจากประชาชนคนเล็กคนน้อยในพื้นที่มหาศาลเพราะสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศและวิถีชีวิตท้องถิ่น
รวมทั้งยังเสนอว่าต้องดำเนินการคุ้มครองแหล่งน้ำตามธรรมชาติอย่างจริงจัง ไม่ให้เปลี่ยนสภาพอันเนื่องมาจากการดำเนินนโยบายของรัฐหรือการบุกรุกยึดครองของเอกชน เพราะแหล่งน้ำตามธรรมชาติเหล่านี้นอกจากเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารแล้ว ยังทำหน้าที่สำคัญในการรักษาสมดุลระบบนิเวศด้วย
การปฏิรูปนโยบายการจัดการน้ำตามข้อเสนอ คปร.จึงมุ่งจัดสรรทรัพยากรน้ำให้เกิดความเป็นธรรม เท่าเทียม มีความเสมอภาคในการเข้าถึง ซึ่งต้องตั้งต้นที่ ‘ท้องถิ่น’ เป็นสำคัญเพราะการปรับเปลี่ยนสัมพันธภาพทางอำนาจไม่สามารถจะกระทำได้ถ้าไม่มีการเปลี่ยนย้ายถ่ายโอนอำนาจบริหารจัดการจากรัฐส่วนกลางมาสู่ท้องถิ่นที่ถึงจะไม่ได้มีอำนาจการตัดสินใจในทุกประเด็นแบบอิสระ แต่กระนั้นสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำก็ควรต้องมีความเป็นอิสระ ดำเนินการได้รวดเร็ว และไม่ถูกขัดขวางจากส่วนกลาง ในการกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ทั้งในรูปแบบลายลักษณ์อักษรที่เป็นกฎหมายหรือบทบัญญัติท้องถิ่นและแฝงฝังในจารีตประเพณีที่เป็นกลไกทางสังคมเพื่ออยู่ร่วมและแบ่งปันกันอย่างเป็นธรรม
‘ท้องถิ่น’ จึงเป็นกลไกการปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่สอดรับกับสภาพความล้มเหลวไร้ประสิทธิภาพของนโยบายน้ำที่รัฐสั่งสมมานานนับศตวรรษ รวมทั้งยังขจัดชะตากรรมเลวร้ายของคนปลายอ้อปลายแขมจากการถูกนโยบายรัฐเลือกปฏิบัติเพียงเพราะข้นแค้น แม้นแท้ที่จริงแล้วเขาเหล่านี้มีศักยภาพมากพอถ้ามีการกระจายอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรและกลไก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น