“ผู้ที่เป็นคนโอ้อวดเช่นนี้ เมื่อตรัสสอบถามเข้า ก็มีทางไปอยู่ 3 ทาง คือ 1. พูดเลี่ยงไปเลี่ยงมา 2. แสดงอาการโกรธ 3. นั่งนิ่ง เก้อเขิน ก้มหน้า” นี่คือพุทธวจนะที่พระพุทธองค์ตรัสปรารภสรภปริพพาชก ผู้เข้ามาบวชแล้วหลีกไปจากพระธรรมวินัย (สึกออกไป) เที่ยวอวดอ้างว่าตัวรู้ทั่วถึงธรรมะของสมณศากยบุตรแล้ว เมื่อรู้ทั่วถึงแล้วจึงหลีกไปจากพระธรรมวินัยนั้น พระพุทธองค์ได้เสด็จไปยังอารามของปริพพาชก ถามให้สรภปริพพาชกตอบในที่ประชุมปริพพาชกว่า รู้ทั่วถึงธรรมของสมณศากยบุตรอย่างไร ถ้าบกพร่องก็จะช่วยเติมให้ตรัสถึง 3 ครั้ง ปริพพาชกก็ไม่ตอบ นั่งนิ่ง เก้อเขิน ก้มหน้า จึงได้ตรัสดังที่ได้ยกมาข้างต้น
อีกวาระหนึ่งที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมเกี่ยวกับการฟังและการเชื่อแก่ชาวกาลามะ นิคมเกสปุตตะ เมื่อมีผู้ทูลถามถึงสมณพราหมณ์ต่างๆ ที่ยกย่องวาทะของตนข่มผู้อื่น โดยตรัสมิให้เชื่อด้วยเหตุ 10 ประการ คือ 1. ฟังตามกันมา 2. โดยนำสืบกันมา 3. โดยตื่นข่าวลือ 4. โดยอ้างตำรา 5. โดยนึกเอา 6. โดยการคาดคะเน 7. โดยตรึกตามอาการ 8. โดยความพอใจว่าชอบแก่ความเห็นของตน 9. โดยเห็นว่าพอเชื่อได้ 10. โดยเห็นว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา แต่ให้สอบสวนจนรู้ได้ด้วยตนเอง
ธรรมสองประการดังกล่าวข้างต้น ถึงแม้จะมีที่มาหรือสาเหตุปรารภในการแสดงธรรมต่างกัน แต่โดยเนื้อหาและสาระย่อมเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือ ผู้โอ้อวดต้องแสดงออกทางวาจา และผู้ที่จะเชื่อเรื่องนี้จะต้องอาศัยการฟัง กล่าวคือ ผู้โอ้อวดจะต้องแสดงออกด้วยการพูดโกหก หรือด้วยการพูดเกินความจริง คือมีความจริงอยู่ส่วนหนึ่งแต่น้อยกว่าส่วนที่โกหก ก็เท่ากับโกหกส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนใหญ่ของการพูดด้วย
ดังนั้นเมื่อได้ยินได้ฟังคนโอ้อวดพูด ก็จะต้องใช้หลัก 10 ประการที่ว่ามาเป็นเครื่องมือในการกลั่นกรอง ว่าควรเชื่อหรือไม่ และ 10 ประการนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งถ้าได้นำมาใช้เพื่อกลั่นกรองคำพูดของนักการเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายประชานิยม ทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคล และในส่วนขององค์กรคือพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศคือพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีนโยบายหลายข้อสุ่มเสี่ยงต่อการทำไม่ได้หรือได้แต่น้อยกว่าที่พูดรับปากไว้ในตอนปราศรัยหาเสียง ซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการจะกลายเป็นการโอ้อวดตามนัยแห่งพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น
นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ว่านี้ จะอยู่ในด้านเศรษฐกิจในรูปแบบประชานิยมในประเด็นต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. เงินเดือนขั้นต้นหรือแรกบรรจุเริ่มที่ 15,000 บาท
2. ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ
3. บัตรเครดิตชาวนา
4. ประกันราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 15,000 บาท
5. ยกเลิกกองทุนน้ำมัน
ในทันทีที่พรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ยังไม่ได้แถลงนโยบายในสภา และยังไม่รู้ว่าใครจะได้เป็นรัฐมนตรีกำกับดูแลกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายที่ว่านี้ ได้มีบรรดาผู้รู้และผู้ที่ได้รับผลกระทบในทางลบต่อนโยบายที่ว่านี้ออกมาแสดงความคิดเห็นในเชิงคัดค้าน และวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองว่าทำได้ยาก และในบางรายเลยไปถึงขั้นพยากรณ์อนาคตของรัฐบาลล่วงหน้าว่า ถ้าขืนทำไปตามที่พูดคงจะหลีกเลี่ยงมิให้เกิดผลกระทบในทางลบต่อประเทศชาติ และประชาชนโดยรวมได้ยาก ถ้าการคาดการณ์ที่ว่านี้ถูกต้อง นั่นก็หมายถึงว่าโอกาสที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยจะอยู่ครบเทอม และได้รับเลือกเข้ามาอีกครั้งคงจะเลือนรางแน่นอน
อะไรคือเหตุที่ทำให้ท่านผู้รู้คิดว่านโยบายดังกล่าวทำได้ยาก โดยที่ไม่เกิดผลกระทบต่อประเทศโดยรวม?
จากหลายๆ ความเห็นที่แสดงออกมาด้วยความเป็นห่วงอนาคตของประเทศที่ผู้เขียนเองก็เห็นด้วย อนุมานได้เป็นประเด็นดังต่อไปนี้
1. เงินเดือนขั้นต่ำของผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเริ่มที่ 15,000 บาท
การกำหนดเงินเดือนในลักษณะนี้ ในภาครัฐทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่าภาคเอกชน เพราะเพียงมีการแก้ไขกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องก็ทำได้ ดังนั้นดูเหมือนว่าง่าย แต่ถ้ามองไปถึงปัญหาการเงินของประเทศที่จะต้องมีรายจ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้น ก็จะพบว่าเป็นเรื่องยาก เพราะรัฐจะต้องแบกรับภาระทางด้านการเงินเพิ่มขึ้น
ส่วนในภาคเอกชน ถึงแม้ไม่มีปัญหายุ่งยากทางด้านกฎหมาย และระเบียบเท่ากับภาครัฐ แต่ก็มีปัญหาเรื่องต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบถึงราคาขาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าและบริการที่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่า ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
อีกประการ ถ้ามีการปรับเงินเดือนขั้นต่ำของผู้จบปริญญาตรีแล้ว ก็จะต้องปรับปริญญาโทและเอกตามมาด้วย ดังนั้นงบประมาณในภาครัฐในส่วนนี้จะต้องเพิ่มขึ้น และมีผลต่อเนื่องไปถึงค่าล่วงเวลา และสวัสดิการต้องมีอันเกี่ยวเนื่องด้วยเงินเดือนจะต้องขึ้นตาม เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐจะหาเงินจากไหนมาดำเนินการในส่วนนี้
ส่วนในภาคเอกชนแทบจะมองไม่เห็นว่าจะทำได้ในทันที และเสมอภาคได้เช่นในภาครัฐ เพราะโดยปกติผู้ประกอบการภาคเอกชนจะจ้างบุคลากรโดยการจ่ายค่าตอบแทนตามความยากง่ายของงาน และโดยความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผู้จบปริญญาตรีบางสาขา เช่น วิศวกรรมศาสตร์ เป็นต้น ผู้ประกอบการรายใหญ่ก็จ่ายเกินกว่าที่ภาครัฐจ่ายอยู่แล้ว และในบางตำแหน่งเกิน 15,000 บาทด้วยซ้ำ แต่ในขณะเดียวกัน ปริญญาตรีบางสาขาที่มีผู้จบออกมามาก และตลาดแรงงานรองรับน้อย มีอยู่ไม่น้อยที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าภาครัฐกำหนดด้วยซ้ำไป
2. ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ข้อนี้มีปัญหาในทำนองเดียวกับข้อ 1 และถ้ามองลึกลงไปในทุกแง่มุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้ ความสามารถ และฝีมือแล้วมีความยุ่งยากกว่าข้อที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานไม่มีฝีมือ และภาระทางด้านการเงินที่ผู้ประกอบการจะต้องแบกรับในทันทีทันใด และในภาวะที่มีการแข่งขันสูงคงทำได้ยากโดยที่ไม่ส่งผลกระทบถึงผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายย่อย
3. บัตรเครดิตชาวนา เป็นของใหม่ และยังไม่มีการพูดถึงรายละเอียดมากพอที่จะทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้
แต่ในชั้นนี้เท่าที่พอมองเห็นก็คือ โดยภาวะปกติที่เป็นอยู่ชาวนาส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นหนี้ จึงไม่ต้องพูดถึงว่าจะมีเครดิตให้ร้านค้าเชื่อถือหรือไม่ ทางเดียวที่จะทำได้ก็คือ ต้องให้สถาบันการเงินผู้ออกบัตรให้การรับรองหรือค้ำประกัน นั่นหมายถึงว่าโอกาสที่สถาบันการเงินจะมีหนี้เสียเกิดขึ้นได้ และเมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะได้เห็นหนี้เสียที่สถาบันการเงินแบกรับแทนชาวนาแน่นอน และค่อนข้างเชื่อได้ว่าไม่ต่างไปจากอีลิทการ์ดที่เคยมีปัญหามาแล้วในยุคอดีตนายกฯ ทักษิณนั่นเอง
4. ราคาข้าวเปลือกเกวียนละ 15,000 บาท โดยไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขรับประกัน เช่น ความชื้น และชนิดของข้าว เป็นต้น จึงทำให้เกิดภาวะสับสนว่าจะทำได้อย่างเสมอภาคโดยที่ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติได้อย่างไร และถ้ามีการขาด จะนำเงินจากส่วนไหนมาชดเชยเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในกรณีของการประกันราคาลำไยมาแล้ว
5. ยกเลิกกองทุนน้ำมัน ถ้ามีการเลิกเก็บเงินกองทุน และเมื่อราคาน้ำมันโลกแพงขึ้นจะนำเงินจากส่วนไหนมาชดเชยน้ำมันดีเซล และก๊าซดังที่เป็นอยู่ เมื่อไม่มีการชดเชยและราคาขึ้นไปสูงจะทำให้ต้นทุนการผลิต และต้นทุนดำเนินการของผู้ประกอบการเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลถึงราคาขายของสินค้าและบริการ ทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน สุดท้ายจะทำให้เกิดปัญหาทางสังคม และกระทบการเมืองในที่สุด
โดยสรุปนโยบาย 5 ประการนี้ คงหนีไม่พ้นคำว่า พูดง่าย ทำตามได้ยาก และถ้าเป็นเช่นนี้เมื่อใด เมื่อนั้นผู้นำพรรคเพื่อไทยในฐานะผู้นำรัฐบาลคงแสดงอาการของคนโอ้อวด 3 ประการ เมื่อมีผู้ถามถึงผลของการดำเนินการตามนโยบายที่ล้มเหลว ทำไม่ได้อย่างที่พูด ขัอต่อหลักของพุทธที่ว่า พระพุทธเจ้าที่ได้ชื่อว่าตถาคตเพราะพูดอย่างใด ทำได้อย่างนั้น หรือทำได้ตามที่พูด หรือยถาวาที ตถาการี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น