ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน
โพส : วันที่ 5 ก.ค. 2554 เวลา : 8:55 น.
โหวต : | เข้าชม : 187 ครั้ง
ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน
พระธรรมโกศาจารย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวว่า “เป้าหมายแห่งการแต่งงานอยู่ที่การสร้างครอบครัวที่มีแต่ความรักใคร่กลมเกลียวโดยไม่มีการหย่าร้าง สามีภรรยาจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติธรรมร่วมกัน การปฏิบัติธรรมจะช่วยให้ชีวิตคู่เข้มแข็งมั่นคงพอที่จะฝ่ามรสุมต่างๆไปได้ ดังนั้น คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีชีวิตการแต่งงานที่ยั่งยืนตลอดไปต้องร่วมกันปฏิบัติธรรม
คำว่า ธรรม ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมและจริยธรรม
คุณธรรม ได้แก่ คุณสมบัติที่ดีภายในจิตใจ เช่น ความรัก ความสงสาร ซึ่งช่วยให้คนเราทำหน้าที่ของสามีภรรยาได้โดยไม่ต้องฝืนใจ
จริยธรรม ได้แก่ หลักแห่งความประพฤติที่ดีงามที่จะต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ครอบครัว และสังคม จริยธรรมเป็นข้อปฏิบัติซึ่งกำหนดไว้โดยศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและกฎหมายว่าอะไรเป็นหน้าที่ที่สามีภรรยาจะต้องทำเพื่อความผาสุกแห่งครอบครัว ” ๑
คำว่า ครอบครัว เป็นคำที่สำคัญและมีความหมายซ่อนปริศนาธรรมอยู่ภายใน แยกมาจากคำว่า ครอบ กับคำว่า ครัว คำว่า ครอบ มีความหมายว่า การเอาของที่มีลักษณะภายในโปร่งคล้ายๆ ขันคว่ำปิดเอาไว้ และ คำว่า ครัว มีความหมายว่า เรือนหรือโรงทำกับข้าว ในที่นี้คือ บ้านหรือเรือนนั่นเอง ดังนั้น ครอบครัว จึงหมายถึง การครอบคนสองคนไว้ในบ้านหรือเรือนเดียวกันไม่ให้จากกันไปไหน เมื่อทราบความหมายอย่างนี้แล้ว ก็จะทำให้เห็นภาพชัดว่า การมีครอบครัวก็คือการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันภายใต้หลังคาบ้านหรือเรือนเดียวกันไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่
การที่คนสองคนใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันนั้น ย่อมเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร เพราะความคิดเห็นของคนทั้งสองอาจมีไม่เหมือนกัน จำเป็นต้องมีการปรับหรือจูนความคิดเห็นเข้าหากัน เพื่อลดความบาดหมางกัน หรือโกรธเคืองกัน หากสามารถสร้างความคิดเห็นให้เป็นอย่างเดียวกันได้ ก็จะนำไปสู่การสร้างครอบครัวให้มีความสุข ดังนั้น จึงควรทราบหลักธรรมที่ใช้สำหรับการดำเนินชีวิตครอบครัว เพื่อสร้างความรัก ความเข้าใจกันให้มากขึ้น หลักธรรมที่อยากจะนำมาเสนอไว้ในที่นี้คือ หลักฆราวาสธรรม (ธรรมะสำหรับผู้ครองเรือน) ประกอบด้วย
๑. สัจจะ หมายถึง ความซื่อสัตย์ต่อกัน ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่นอกใจกัน สามีรักภรรยา ภรรยาก็รักสามีตอบ ต่างฝ่ายต่างจริงใจและซื่อสัตย์ต่อกัน ไม่มีความลับต่อกัน พูดง่ายๆ คือ ให้รักเดียวใจเดียว อย่าเป็นคนหลายใจ อย่าหึงกันมากจนเกินเหตุ เพราะจะนำไปสู่การผิดใจกัน ทำให้เกิดการโกรธเคืองกันและอาจทำให้ชีวิตครอบครัวพังลงได้
๒. ทมะ หมายถึง การรู้จักข่มใจ หักห้ามใจในเวลามีเรื่องราวที่ไม่สบายใจเกิดขึ้น เช่น เวลาโกรธ ก็ให้พยายามข่มใจไม่ให้โกรธ หรือแสดงความโกรธนั้นต่ออีกฝ่าย เพราะจะทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจหรืออาจโกรธตอบ อันจะนำไปสู่การทะเลาะกัน เป็นต้น
๓. ขันติ หมายถึง ความอดทน หมายความว่า ให้รู้จักอดทนต่อคำกล่าวติชินนินทาของอีกฝ่าย หรือคนอื่นๆ เขาจะว่าอะไรก็ให้พยายามอดทนเอาไว้ เก็บอารมณ์เอาไว้ อย่าแสดงออกตอบ เพราะหากแสดงออกตอบก็จะนำไปสู่การก่อวิวาทกัน โกรธเคืองกัน ผิดใจกัน เวลาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโกรธ ก็ให้อีกฝ่ายพยายามอย่าโกรธตอบ หรือทางที่ดีที่สุดให้เดินหนีไปให้ไกล อย่าพูดด้วย รอให้อาการความโกรธสงบลงเสียก่อน จึงค่อยพูดด้วย เพราะในเวลาที่โกรธคนเรามักจะขาดสติ มักไม่ยอมรับฟังเหตุผลของอีกฝ่าย มักใช้กำลังในการแก้ปัญหา ขืนพูดด้วยก็จะเข้าสำนวนไทยที่ว่า “สีซอให้ควายฟัง” หรือ “เป่าปี่ให้ควายฟัง” ทำอย่างไรก็ไม่รู้เรื่องหรอก เสียเวลาเปล่า ดังนั้น จึงต้องอดทนเอาไว้
๔. จาคะ หมายถึง การเสียสละ กล่าวคือ การรู้จักเสียสละประโยชน์ส่วนตนให้แก่อีกฝ่าย หรือการรู้จักเสียสละความสุขของตนเพื่ออีกฝ่าย พยายามยอมกันในบางเรื่องหรือทุกเรื่อง สามียอมภรรยา ภรรยายอมสามี สามีรู้จักเสียสละต่อภรรยา ภรรยารู้จักเสียสละต่อสามี ต่างฝ่ายต่างรู้จักเสียสละต่อกัน ก็จะทำให้ชีวิตครอบครัวมีความสุขได้
หลักธรรมที่ได้หยิบยกเอามาฝากในโอกาสนี้ ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการสร้างความเข้าใจในการมีชีวิตครอบครัวได้เป็นอย่างดี สามารถปฏิบัติต่อกันได้อย่างถูกต้อง และสามารถประคับประคองชีวิตครอบครัวให้ดำเนินไปตามแนวทางแห่งความสุขและความสงบร่มเย็นได้ ทั้งมี เพราะต่างฝ่ายต่างมีหลักปฏิบัติต่อกัน ทำให้เห็นอกเห็นใจกัน และเข้าใจกันมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้ผู้ครองเรือนทุกคนมีชีวิตครอบครัวที่มีความสุข ความเจริญ ไม่มีเรื่องที่ต้องคิดให้ปวดหัว สามารถขจัดปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทำให้รักกันมากขึ้น และสามารถใช้ชีวิตคู่อยู่ด้วยกันไปจนแก่เฒ่า ตลอดจนถึงวันตายได้อย่างมีความสุข .....
ที่มา : พระธรรมโกศาจารย์. ธรรมกับความรักและการแต่งงาน (ออนไลน์). แหล่งที่มา :http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=569&menutype=1&articlegroup_id=21. สืบค้น 17 กันยายน 2553.
ที่มา : http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=569&menutype=1&articlegroup_id=21.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น