[๑๐๓]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภนายพรานสุนัขชื่อโกกะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ" เป็นต้น.
นายพรานพบพระเถระเที่ยวบิณฑบาต
ได้ยินว่า เวลาเช้าวันหนึ่ง นายพรานนั้นถือธนู มีสุนัขห้อมล้อมออกไปป่า พบภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตรรูปหนึ่ง กำลังเที่ยวบิณฑบาตในระหว่างทาง โกรธแล้ว พลางคิดว่า "เราพบคนกาลกรรณี วันนี้จักไม่ได้สิ่งอะไรเลย" ดังนี้ จึงหลีกไป. ฝ่ายพระเถระเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้าน ทำภัตกิจแล้วจึงกลับไปสู่วิหารอีก.
นายพรานให้สุนัขกัดพระเถระ
ฝ่ายนายพรานนอกนี้ เที่ยวไปในป่าไม่ได้อะไรๆ เมื่อกลับมาก็พบพระเถระอีก จึงคิดว่า "วันนี้ เราพบคน (กาลกรรณี) นี้แล้ว ไปป่าจึงไม่ได้อะไรๆ, บัดนี้ เธอได้มาเผชิญหน้าของเราแม้อีก เราจักให้สุนัขทั้งหลายกัดพระรูปนั้นเสีย" ดังนี้แล้ว จึงให้สัญญาณปล่อยสุนัขไป.
พระเถระอ้อนวอนว่า "อุบาสก ท่านอย่าทำอย่างนั้น."
เขาร้องบอกว่า "วันนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้อะไร เพราะประสบท่าน, ท่านก็มาประสบข้าพเจ้าแม้อีก ข้าพเจ้าจักให้สุนัขกัดท่าน" ดังนี้แล้ว จึงให้สุนัข (กัด). พระเถระรีบขึ้นต้นไม้ต้นหนึ่งโดยเร็ว นั่งในที่สูงชั่วบุรุษหนึ่ง. สุนัขทั้งหลายก็พากันล้อมต้นไม้ไว้.
นายพรานแทงพระเถระ
นายโกกะไปแล้ว ร้องบอกว่า "ท่านแม้ขึ้นต้นไม้ก็ไม่มีความพ้นไปได้" ดังนี้แล้ว จึงแทงพื้นเท้าของพระเถระด้วยปลายลูกศร. พระเถระได้แต่อ้อนวอนว่า "ขอท่านอย่าทำเช่นนั้น." นายโกกะนอกนี้ไม่คำนึงถึงคำวอนของท่าน กลับแทงกระหน่ำใหญ่.
พระเถระ เมื่อพื้นเท้าข้างหนึ่งถูกแทงอยู่ จึงยกเท้านั้นขึ้น หย่อนเท้าที่ ๒ ลง. แม้เมื่อเท้าที่ ๒ นั้นถูกแทงอยู่ จึงยกเท้านั้นขึ้นเสีย, นายโกกะไม่คำนึงถึงคำอ้อนวอนของพระเถระ แทงพื้นเท้าทั้งสองแล้วด้วยอาการอย่างนี้เทียว.
สรีระของพระเถระได้เป็นประดุจถูกรมด้วยคบเพลิง. ท่านเสวยเวทนาไม่สามารถจะคุมสติไว้ได้ จีวรที่ท่านห่มแม้หลุดลงก็กำหนดไม่ได้. จีวรนั้น เมื่อตกลง ก็ตกลงมาคลุมนายโกกะตั้งแต่ศีรษะทีเดียว.
ฝูงสุนัขรุมกัดนายพราน
เหล่าสุนัขกรูกันเข้าไปในระหว่างจีวร ด้วยสำคัญว่า "พระเถระตกลงมา" ดังนี้แล้ว ก็รุมกันกัดกินเจ้าของของตน ทำให้เหลืออยู่เพียงกระดูก. สุนัขทั้งหลายออกมาจากระหว่างจีวรแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ภายนอก.
ทีนั้น พระเถระจึงหักกิ่งไม้แห้งกิ่งหนึ่งขว้างสุนัขเหล่านั้น. เหล่าสุนัขเห็นพระเถระแล้ว รู้ว่า "พวกตัวกัดกินเจ้าของเอง" จึงหนีเข้าป่า.
พระเถระสงสัยในศีลและสมณภาพของตน
พระเถระเกิดความสงสัยขึ้นว่า "บุรุษนั่นเข้าสู่ระหว่างจีวรของเราฉิบหายแล้ว, ศีลของเราไม่ด่างพร้อยหรือหนอ?" ท่านลงจากต้นไม้แล้ว ไปสู่สำนักของพระศาสดา กราบทูลเรื่องราวนั้นตั้งแต่ต้นแล้ว ทูลถามว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุบาสกนั้น อาศัยจีวรของข้าพระองค์ฉิบหายแล้ว ศีลของข้าพระองค์ไม่ด่างพร้อยแลหรือ? สมณภาพของข้าพระองค์ ยังคงมีอยู่แลหรือ?"
พระศาสดาทรงรับรองศีลและสมณภาพ
พระศาสดาทรงสดับถ้อยคำของพระเถระนั้นแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุ ศีลของเธอไม่ด่างพร้อย สมณภาพของเธอยังมีอยู่ เขาประทุษร้ายต่อเธอผู้ไม่ประทุษร้าย จึงถึงความพินาศ, ทั้งมิใช่แต่ในบัดนี้อย่างเดียวเท่านั้น แม้ในอดีตกาล เขาก็ประทุษร้ายต่อผู้ไม่ประทุษร้าย ถึงความพินาศแล้วเหมือนกัน" ดังนี้แล้ว
เมื่อจะทรงประกาศเนื้อความนั้น ทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสว่า)
บุรพกรรมของนายพราน
"ดังได้สดับมา ในอดีตกาล หมอผู้หนึ่งเที่ยวไปถึงหมู่บ้าน เพื่อต้องการประกอบเวชกรรม ไม่ได้กรรมอะไรๆ อันความหิวรบกวนแล้ว ออกไปพบเด็กๆ เป็นอันมาก กำลังเล่นอยู่ที่ประตูบ้าน จึงคิดว่า ‘เราจักให้งูกัดเด็กเหล่านี้แล้วรักษา ก็จักได้อาหาร’ ดังนี้แล้ว จึงแสดงงูนอน ชูศีรษะในโพรงไม้แห่งหนึ่ง บอกว่า ‘แน่ะ เจ้าเด็กผู้เจริญทั้งหลาย นั่นลูกนกสาลิกา พวกเจ้าจงจับมัน."
ทันใดนั้น เด็กน้อยคนหนึ่งจับงูที่คออย่างมั่นดึงออกมา รู้ว่ามันเป็นงู จึงร้องขึ้น สลัดไปบนกระหม่อมของหมอผู้ยืนอยู่ไม่ไกล. งูรัดก้านคอของหมอ กัดอย่างถนัด ให้ถึงความสิ้นชีวิตในที่นั้นนั่นเอง.
นายโกกะพรานสุนัขนี้ แม้ในกาลก่อน ก็ประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ถึงความพินาศแล้วอย่างนี้เหมือนกัน."
พระศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานนี้มาแล้ว
เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
๙. โย อปฺปทุฏฺฐสฺส นรสฺส ทุสฺสติ
สุทฺธสฺส โปสสฺส อนงฺคณสฺส
ตเมว พาลํ ปจฺเจติ ปาปํ
สุขุโม รโช ปฏิวาตํว ขิตฺโต.
ผู้ใดประทุษร้ายต่อนรชนผู้ไม่ประทุษร้าย ผู้บริสุทธิ์ ไม่มีกิเลสดุจเนิน,
บาปย่อมกลับถึงผู้นั้น ซึ่งเป็นคนพาลนั่นเอง เหมือนธุลี อันละเอียดที่
เขาซัดทวนลมไปฉะนั้น.
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปทุฏฺฐสฺส คือ ผู้ไม่ประทุษร้ายต่อตน หรือต่อสรรพสัตว์.
บทว่า นรสฺส ได้แก่ สัตว์.
บทว่า ทุสฺสติ แปลว่า ย่อมประพฤติผิด.
บทว่า สุทฺธสฺส คือ ผู้ไม่มีความผิดเลย.
แม้คำว่า โปสสฺส นี้ ก็เป็นชื่อของสัตว์นั่นเอง โดยอาการอื่น.
บทว่า อนงฺคณสฺส คือ ผู้ไม่มีกิเลส.
คำว่า ปจฺเจติ ตัดบทเป็น ปฏิ-เอติ (แปลว่า ย่อมกลับถึง).
บทว่า ปฏิวาตํ เป็นต้น ความว่า ธุลีที่ละเอียด อันบุรุษผู้หนึ่งซัดไป ด้วยความเป็นผู้ใคร่ประหารคนผู้ยืนอยู่ในที่เหนือลม ย่อมกลับถึงบุรุษนั้นเอง คือตกลงที่เบื้องบนของผู้ซัดไปนั้นเองฉันใด
บุคคลใด เมื่อให้การประหารด้วยฝ่ามือเป็นต้น ชื่อว่าย่อมประทุษร้ายต่อบุรุษผู้ไม่ประทุษร้าย
บาปนั้น เมื่อให้ผลในปัจจุบันนี้ หรือในอบายทั้งหลายมีนรกเป็นต้น ในภพหน้า ชื่อว่าย่อมกลับถึงบุคคลนั้นแหละผู้เป็นพาล ด้วยสามารถวิบากทุกข์ ฉันนั้นเหมือนกัน.
ในกาลจบเทศนา ภิกษุนั้นดำรงอยู่ในพระอรหัตผล.
พระธรรมเทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.
เรื่องนายพรานสุนัขชื่อโกกะ จบ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น