++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

“ โ พ ธิ วิ ช ช า ลั ย ” วิทยาลัยแห่งความพอเพียง

ท่ามกลางกระแสโลกยุคโลกาภิวัตน์ ส่งผลให้การพัฒนาด้านเทคโนโลยี ก้าวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่ในระหว่างนั้น ประเทศไทยต้องเผชิญภาวะวิกฤต อาทิ การเกิดปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้ประชาชนจำนวนมาก ได้รับผลกระทบด้านการเงินไปด้วย และในระหว่างนั้นเอง ที่บังเกิดแสงสว่างฉายฉานลงมาส่องทางให้แก่ชาวไทยทุกคน นั่นคือหลักปรัชญาพระราชทาน “เศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานมาให้น้อมนำยึดถือเป็นแนวทางดำเนินชีวิตให้พ้นวิกฤตคณนาไปได้

และจากแนวทางอันล้ำค่านี่เอง ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ได้น้อมนำมาปรับใช้เป็นหลักสูตร เพื่อผลิตบุคลากรที่รู้คุณค่าดุลยภาพชีวิต โดยเน้นการสร้างภูมิธรรมแก่ผู้เรียน สร้างบัณฑิตที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ จากการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างรู้คุณค่า

รศ.อำนาจ เย็นสบาย ผู้ดูแลโครงการวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ให้รายละเอียดเบื้องต้นของโครงการสร้างวิทยาลัยแห่งความพอเพียงนี้ว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เห็นคุณค่าและความสำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของแนวคิดและปรัชญาอื่นที่นำไปสู่การพัฒนาแบบ จึงขยายผลของหลักคิดดังกล่าวไปสู่การสร้างกระบวนการความร่วมมือ แบบภาคีเครือข่าย เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ขึ้นในพื้นที่ภูมิรัฐศาสตร์ 4 จังหวัดชายแดนที่ติดต่อกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ โพธิวิชชาลัย มศว สระแก้ว ติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา ดำเนินการปีการศึกษา 2552 ,โพธิวิชชาลัย มศว ตาก ติดกับประเทศพม่า ดำเนินการปีการศึกษา 2554,โพธิวิชชาลัย มศว สตูล ติดกับมาเลเซีย อยู่ในช่วงของการประสานงาน และโพธิวิชชาลัย มศว น่าน - อุตรดิตถ์ ติดกับลาว อยู่ในช่วงของการประสานงาน

“หลักสูตรที่จัดทำขึ้นนี้ จะไม่เหมือนกันในแต่ละจังหวัด เพราะเราปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับข้อเด่นและข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ เป็นการทำงานเชิงรุกที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้แก่พื้นที่ ต่อยอดจากข้อดีที่มีอยู่แล้ว ในขณะที่จุดด้อยเราก็เข้าไปช่วยแก้ไปพร้อมๆ กัน อย่างที่สตูลที่กำลังจะเกิดขึ้นนี่ เราก็ไม่กล้าพูดว่ามันจะเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่จะช่วยลดปัญหาไฟใต้ แต่สิ่งที่เราจะทำก็คือ เราทำให้คนในพื้นที่รู้ว่า เรามาให้ความรู้แก่ลูกหลานของเขา ที่เป็นคนไทยด้วยกัน เราไม่ได้ทอดทิ้งเขา เราเอาโอกาสไปให้คนรุ่นลูกเขา ให้เข้มแข็งเพื่อจะดูแลพื้นที่บ้านเราได้ จัดการทรัพยากรในพื้นที่บ้านเขาให้เกิดประโยชน์ได้ สร้างสังคมที่สงบสุขและพอเพียงได้ ผมเชื่อว่าสิ่งที่กำลังทำนี่กำลังช่วยได้เหมือนกัน”

รศ.อำนาจอธิบายต่อว่า ด้วยเหตุที่โพธิวิชชาลัยเป็นสถาบันต้นแบบ และหลักสูตรที่สอนก็เป็นหลักสูตรต้นแบบ ทำให้ในการหาคณาจารย์มาสอนในระยะแรกๆ ค่อนข้างขลุกขลักอยู่บ้าง แต่ภายหลังก็ลงตัวด้วยการ นำอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากคณะต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ วิศวกรรมศาสตร์ การจัดการพลังงาน เกษตร ประมง มาบูรณาการการสอน ร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญในภูมิปัญญาท้องถิ่นของแต่ละท้องถิ่นในฐานะอาจารย์พิเศษ

“การเรียนการสอนที่นี่ไม่ทิ้งด้านวิชาการ ยังคงเรียนวิชาการที่จำเป็น แต่จะเรียนแบบปฏิบัติในด้านของภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การทำนา การทำการเกษตร ประมง การจัดการทรัพยากรป่าชายเลน เราเชิญปราชญ์ท้องถิ่นมาช่วยสอน เราขอความร่วมมือไปกับทางอ่างเก็บน้ำ กับเขื่อน กับโรงเรียนกาสรกสิวิทย์ เพื่อเข้าไปศึกษาจริงในสถานที่จริง โดยการเรียนแบบนี้จะเรียกวิชาละ1เดือนติดต่อกัน ไม่มีแบบทั่วไปที่วิชาละ 1-2ชั่วโมง เพื่อความต่อเนื่องของการเรียน”

"จุกกู๋" - สายชล เดชงาม นิสิตชั้นปีที่3 สาขาการจัดการภูมิสังคม สถาบันโพธิวิชาลัย มศว สระแก้ว กล่าวว่าเป็นคนจังหวัดสระแก้วโดยกำเนิด ที่เลือกมาเรียนที่นี่เพราะด้วยเหตุผลหลักที่ได้รับทุนและใกล้บ้าน แต่ที่สำคัญที่สุดคือได้เรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสังคมและชุมชน

"ที่เลือกเรียนสาขานี้ เพราะผมคิดว่าแถวสังคมชนบทที่ผมอยู่มันยังไม่ค่อยได้รับการพัฒนาการพัฒนามันเข้าไม่ถึง พอมาเรียนสาขานี้ก็ได้ศึกษาเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ การพัฒนาชุมชน ได้เอาแนวคิดต่างๆที่เราได้เรียนไปปรับใช้ในชุมชนเรา ซึ่งอาจารย์ก็จะเน้นสอนเกี่ยวกับแนวคิดปรัชญาพอเพียงเป็นหลัก ถามว่าในขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันอาจจะเลือกเรียนที่อื่น อาจจะเป็นมหาวิทยาลัยดังๆ แต่เราเลือกมาเรียนที่นี่ ผมคิดว่าการเรียนการสอนแตกต่างกันแน่นอนครับ ข้อดีข้อเด่นของโพธิวิชชาลัยคือเวลาเรียนเราได้ลงพื้นที่จริง มันได้สัมผัสชุมชน ดูวิถีชีวิตจากชุมชนจริงๆ แต่เป้าหมายเดียวกันครับ ผมเรียนไปเพื่อรับใช้สังคม เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสังคมให้ดีขึ้น ผมเชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยก็สอนเพื่อจุดหมายนี้ แม้ว่าการเรียนของโพธิวิชชาลัยกับที่อื่นจะคนละแนวกัน แต่เราก็มีเป้าหมายเดียวกัน"

อ่านถึงบรรทัดนี้ เชื่อว่าหลายคนอาจจะอมยิ้มและชื่นชมอุดมการณ์ของหนุ่มจุกกู๋ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนอาจจะห่วงและตั้งคำถามว่า เรียนที่แล้วและเมื่อจบไปจะทำงานอะไร ซึ่งนิสิตจากสระแก้วรายนี้เฉลยว่า สามารถทำงานได้หลากหลาย เช่น ทำงานที่อบต. ทำงานที่เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ การพัฒนาหมู่บ้าน เป็นผู้ใหญ่บ้าน หรือเป็นวิทยากรพิเศษเข้าไปให้ความรู้ชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ

"คุณพ่อคุณแม่ก็ชอบที่เรามาเรียนที่นี่ เขาเห็นความแตกต่างของเรา เมื่อก่อนผมเป็นคนไม่ค่อยเข้าสังคม พอมาเรียนที่นี้เราต้องออกชุมชนบ่อยๆ เราก็เข้าหาคนได้ง่ายขึ้น ได้ออกไปสัมผัสความเป็นอยู่ของสังคมอื่นๆมากขึ้น ความรู้ที่เราได้มา ผมมองว่าเอาไปต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างเราเห็นปัญหาอะไรในชุมชนเรา เราก็เข้าไปให้ข้อเสนอแนะกับผู้นำของหมู่บ้านได้ครับ เราเป็นผู้นำทางความคิดให้ชาวบ้านได้ ช่วยพูดช่วยให้ข้อมูลที่มีประโยชน์ บางทีชาวบ้านเขาไม่กล้าพูด หรือไม่สามารอธิบายได้ดี เราก็เข้าไปช่วยพูดในสิ่งที่เขาต้องการจะเสนอได้ เราพูดในในแง่มุมเชิงวิชาการ ชาวบ้านจะพูดมาในเชิงภูมิปัญญา เราก็เอามาเรียบเรียงต่อยอดให้เขา จากภูมิปัญญาก็กลายเป็นความรู้ในทางวิชาการออกมาได้ครับ"

ในขณะที่รุ่นน้องอย่าง "แพร" - นงลักษณ์ คชลักษณ์ นิสิตปีที่ 2 สาขาการจัดการภูมิสังคม สถาบันโพธิวิชาลัย มศว สระแก้ว ที่ขณะนี้ยังไม่ได้มีโอกาสไปเรียนที่จ.สระแก้วอย่างรุ่นพี่ เพราะนิสิตปี1และ2ยังต้องเรียนที่วิทยาเขตองครักษ์อยู่ เปิดเผยว่า เธอเป็นคนจังหวัดสุโขทัย และเป็นคนสุโขทัยคนเดียวที่มาเรียนที่นี่ ที่เลือกเรียนที่นี่เพราะเห็นว่า สถาบันนี้เป็นการเรียนการสอนอีกแนวทางหนึ่งที่เหมาะกับสังคมไทย และมีความสอดคล้องกับครอบครัวของเธอด้วยเพราะที่บ้านมีอาชีพทำนา และเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่แปลก ตอนแรกก็ยังไม่รู้ว่ามีการเรียนการสอนแบบนี้ ตอนม.6 ได้ทราบจากการค้นหาในอินเทอร์เนตทำให้ทราบว่ามีสถาบันแห่งนี้อยู่ และเป็นวิชาที่เมื่อเรียนจบไปแล้ว สามารถนำความรู้ที่ได้กลับไปพัฒนาหมู่บ้านของตัวเองได้

"ที่สถาบันสอนการจัดการพื้นที่ใช้สอยในที่ดินที่เรามี สอนการพัฒนา ส่วนตัวชอบเรียนในส่วนของการออกพื้นที่ ศึกษาดูพื้นที่ต่างๆว่าเป็นอย่างไร อาจารย์จะให้เราคิดว่าเราจะนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ที่บ้านเราได้อย่างไรบ้าง ก็มีสอนทำบ้านดิน สอนเกี่ยวข้าว ซึ่งจริงๆการทำนา เกี่ยวข้าวก็เป็นพื้นฐานของเราอยู่แล้ว เพราะมันเป็นอาชีพหลักของที่บ้าน จบไป เราก็อาจจะเอาองค์ความรู้ไปทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มเติมได้ จริงๆ อยากทำอาชีพอิสระค่ะ อยากทำเกี่ยวกับด้านอาหาร คหกรรม ส่วนองค์ความรู้ที่เราได้จากที่นี่เราก็เอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ อย่างการทำการเกษตรช่วยที่บ้าน หรืออย่างความรู้เรื่องปรัญาพอเพียง เราก็เอาตรงนี้มาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตของเราได้ค่ะ"

ว่าที่นักจัดการภูมิสังคมสาวรายนี้ สะท้อนภาพปัญหาในยุคโลกาภิวัตน์เป็นการสรุปทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า ปัจจุบันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ท่ามกลางการไหลบ่าของกระแสความเจริญทางเทคโนโลยี ที่จ.สระแก้วแห่งนี้ ยังมีหลักสูตรการเรียนการสอนอีกแนวทางหนึ่งให้นักศึกษาไทยเลือกมาเรียนได้ ได้นำเอาแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ไม่ตามกระแสนิยมที่นับวันก็ยิ่งจะพัดเข้ามาหาเรามากขึ้นเรื่อยๆ

"อยากให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงความยั่งยืนแบบดั้งเดิมของเราคนไทย ซึ่งก็คือเราทำเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ ไม่อยากให้หลงลืมตรงนี้ ก็อยากจะเชิญชวนให้เพื่อนๆน้องๆมาช่วยกันพัฒนาชุมชนหมู่บ้านของตัวเอง หรือเข้ามาเรียนหลักสูตรของที่นี่ดูก็ได้ค่ะ เพื่อสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้ชุมชนเรา ไม่ใช่เจริญในด้านวัตถุ แต่มาช่วยกันพัฒนาทั้งคนทั้งสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นไปพร้อมๆกันค่ะ" แพรกล่าว

ทั้งนี้ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ยังจำเป็นต้องใช้งบประมาณ ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อนิสิตในโครงการ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเด็กท้องถิ่น หลายคนเป็นเด็กชนเผ่า บ่อยครั้งที่รุ่นพี่ที่สระแก้ว ต้องเกี่ยวข้าวที่ปลูกไว้ในแปลงทดลอง นำมาสีฟรีที่โรงสีพระราชทาน ก่อนจะหอบใส่รถมาให้รุ่นน้องที่วิทยาเขตองครักษ์เพื่อใช้รับประทานเนื่องจากไม่ค่อยมีสตางค์ซื้ออะไรกิน แต่มศว ก็เร่งตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือนิสิตเหล่านี้อยู่ ซึ่งหากท่านผู้มีจิตศรัทธาอยากร่วมเป็นอีกหนึ่งแรงกำลัง สร้างนิสิตที่จะกลายเป็นบัณฑิตนักพัฒนาบ้านเกิดในอนาคต สามารถร่วมบริจาคทุนทรัพย์ได้ที่ บัญชีเงินรายได้มศว ออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขาอโศก หมายเลขบัญชี 015-1-32836-6

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น