++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ดูความคิดไปเพื่ออะไร จะดูความคิดได้อย่างไร โดย นพ.คงศักดิ์ ตันไพจิตร

ทำไมจึงต้องดูความคิด

ปัญหาทั้งหมดอยู่ที่ความคิด

คนเราทุกข์ก็เพราะความคิด

ทั้งหมดเป็นเรื่องของความคิด ที่สร้างปัญหายุ่งยากให้แก่ตัวเราเอง ทำให้เป็นทุกข์

เพราะทันทีที่คิดโดยปราศจากความรู้สึกตัว (นั่นคือ ได้เกิดอัตตาตัวตน ลุ่มหลงในตนด้วยโมหะ, ด้วยอวิชชาเพราะไม่รู้ความจริงว่าเป็นอนัตตา ปราศจากตัวตน) การกระทำ คำพูด และ ความคิด (กาย วาจา ใจ) ก็จะเป็นไปเพื่อหวังผลประโยชน์แก่ตน (อัตตา) คือ คิดเข้าข้างตนเอง ทำให้เป็นทุกข์ขึ้นมาทันที



วิปัสสนา คือ การรู้แจ้ง เห็นจริงตามความเป็นจริง อย่างแจ่มแจ้ง ตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม คือ เห็นโดยปราศจากความคิด(ปรุงแต่ง)



ดังนั้น ขึ้นชื่อว่า วิปัสสนา จึงต้องเกี่ยวเนื่องถึงความคิด คือ ทำอย่างไรจิตจึงจะปราศจากความ(ลัก)คิด ที่คอยปรุงแต่ง จะละเว้น ไม่เอ่ยถึงความคิด (ปรุงแต่ง)ไปไม่ได้ เพราะจุดประสงค์ คือ กำจัดทำลาย สังขาร (การปรุงแต่งด้วยความคิด) ซึ่งทำให้ทุกข์ ให้กลับสภาพเป็น วิสังขาร (ปราศจากความคิดปรุงแต่ง) สู่สภาพที่แท้จริง ว่างเป็นกลาง อันเป็นปกติของจิต จึงไม่ต้องทุกข์



เพราะโดยธรรมชาติ เราตกเป็นเหยื่อหรือทาสของความคิด อยู่ใต้อำนาจของความคิดอยู่ตลอดเวลา

แต่ตัวเราเองกลับไม่รู้หรอกว่า กำลังติดอยู่ในความคิด

กลับกำลังแสดงออกมาในรูปลักษณะของอารมณ์ต่างๆ เช่นอารมณ์ โกรธ ฉุนเฉียว ไม่พอใจ หรือโลภ อยากได้แทบน้ำลายหก หรือ หลงใหล เพลิดเพลิน อาลัยอาวรณ์ ฝันหวานชื่นบานในอารมณ์



นอกจากสิ่งที่เราเห็นอยู่เฉพาะหน้าด้วยตาเนื้อแล้ว สิ่งอื่นที่เห็น(ในสมอง) ล้วนเป็นมโนภาพ หรือ เห็นขึ้นในใจ โดยดึงขึ้นมาสร้างขึ้นจากความทรงจำ ล้วนเป็นเรื่องของความคิดและจินตนาการ ทั้งสิ้น ไม่ใช่สิ่งที่เป็นจริงแต่อย่างใด

เช่น คุณมองเห็นของในถุงว่ามีกล้วยหนึ่งลูก และซาลาเปาหนึ่งใบ พอเด็กรับใช้ปิดปากถุง คุณก็มองไม่เห็นอาหารในถุงนั้นเสียแล้ว แล้วยังนำไปเก็บเข้าตู้เย็น แต่สมองได้บันทึกภาพอาหารในถุงและเหตุการณ์เหล่านั้นไว้หมด (อย่างเป็นกลาง ปราศจากการปรุงแต่ง) เรียบร้อยแล้ว ถ้าน้องของคุณมาถามหาถึงซาลาเปาลูกนั้นในภายหลัง ซึ่งหายไปจากโต๊ะอาหาร ซ้ำยังโกรธหาว่าคุณทานไป คุณก็บอกได้จากความจำว่า ซาลาเปาลูกนั้นซ่อนอยู่ในถุงนั้น อยู่ในตู้เย็น ถ้าคุณเลือดร้อนอาจโกรธตอบที่มาหาเรื่อง (ทำร้ายอัตตา Self-image Hologram) ถ้าใจเย็นก็มีเมตตาให้เขาไปค้นหาดูที่ในถุงในตู้เย็น นี้เป็นการชี้ให้เห็นถึงการปรุงแต่งหรือไม่ปรุงแต่งของข้อมูล สมมติว่าคุณไม่เห็นว่าเด็กรับใช้นำไปเก็บไว้ที่ไหน หรือเขาเอาอาหารในถุงออกไปทิ้ง คุณก็อาจกลายเป็นแพะรับบาปไปก็ได้ ทั้งหมดเป็นการปรุงแต่งของเหตุการณ์เล็กนิดเดียว



หรือ อาทิ เช่น คุณกำลังตั้งนาฬิกาเรือนใหญ่ให้ตรงหกโมงเย็น แล้วเดินไปเปลี่ยนถ่านที่อยู่ด้านหลังของนาฬิกา มีน้ำหกอยู่รอบๆนาฬิกาใหญ่เรือนนั้น พอดีมีคนตะโกนถามมาว่ากี่โมงแล้ว คุณไม่เห็นหน้าปัดแต่ก็บอกเวลาได้ และตะโกนตอบไปว่า หกโมงตรง ทั้งๆที่ไม่ได้ดู(หน้าปัด)นาฬิกาก็ตาม นั่นคือคุณตอบจากความคิด ความทรงจำ แต่ความจริงนั้นเวลา หกโมงห้านาทีแล้ว ลืมบวกเวลาที่ใช้ไปกับการเปลี่ยนถ่าน ด้วยไม่ได้เห็นเวลาจริงๆที่หน้าปัด

นั่นคือ ทันทีที่พ้นไปจากสิ่งที่เห็นเฉพาะหน้า สิ่งนั้นก็กลายเป็นภาพในอดีตอยู่ในความทรงจำของคุณไปแล้ว ไม่ใช่ความเป็นจริง (ไม่ใช่วิปัสสนา) อีกต่อไป สมองได้บันทึกภาพของสิ่งที่เห็นเฉพาะหน้านั้นลง Hard Disk (ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ Amygdala) ไว้เรียบร้อย เป็นเพียงมโนภาพ เป็นเพียงความคิด



ดังนั้น ขึ้นชื่อว่า ความคิดจึงมีเรื่องของ “เวลา” Time และ “ระยะทาง” Space เข้ามาเกี่ยวข้องพัวพัน เพราะเวลาที่กำลังเห็นหน้าปัดบอกเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้ว คุณได้ใช้เวลาเดินไปด้านหลังของนาฬิกาใหญ่เรือนนี้ เป็นระยะราวสามฟุต ใช้ระยะเวลา 10 วินาที เวลาที่เคยเห็นและจำได้ จึงเป็นเวลาเมื่อ 10 วินาทีก่อน หรือเมื่อ สามฟุตก่อน บวกกับเวลาเปลี่ยนถ่าน เลยกลายเป็น 5 นาที เป็นต้น



และนี่เป็นขบวนการที่สมองทำงานในการบันทึกถ่ายภาพในขณะนั้นไว้ คือจดจำไว้เพื่อใช้เป็นข้อมูลต่อไปภายหน้า เช่น ซาลาเปาลูกนั้นที่ซ่อนอยู่ในถุง หรือ ด้านหน้านาฬิกามีน้ำหกอยู่ เวลาเดินกลับมาต้องระวังลื่น



มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐ ทั้งนี้เพราะสามารถเห็นความคิดของตนเองได้ แต่ต้องอาศัยการฝึกฝนให้ชำนาญจึงจะเห็นและจับความคิดได้ทัน อาทิ เช่น ถามถึงคุณชรินทร์ เราต่างก็นึกเห็นหน้านักร้องชื่อดังขึ้นได้ทันที หรือได้ยินเสียงเพลงที่เคยฮิต เช่นเรือนแพ ท่าฉลอม เป็นต้น เกิดอารมณ์ชอบพอใจขึ้นด้วย เพียงแค่สื่อกันด้วยคำพูด 2 -3 คำ ไม่ได้เห็นตัวดารานักร้องแต่อย่างใด



สัตว์ก็เกิดอารมณ์ไม่พอใจ หรือ พอใจ ได้ เมื่อเผชิญหน้าท้าทายกันกับคู่อริ หรือทักทายกันกับหมู่พวกหรือคู่ของมัน แต่นอกจากคนและลิงชิมแปนซีแล้ว แม้แต่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ก็ไม่อาจแยกแยะว่าเงาในกระจกหรือในน้ำคือเงาของตนเอง แต่อาจบอกได้ว่านั่นคือเงาของเจ้าของของมัน



แต่ความที่สามารถแยกแยะอัตตาได้ดีขึ้น ถึงกับรู้จักเงาหรือมโนภาพของตนเองได้นั้น ก็มีผลกระทบ ทำให้สร้างความทุกข์ให้แก่ตนเองมากยิ่งขึ้น แต่ก็ชาญฉลาดขึ้น ด้วยการสร้างภาพพจน์มโนภาพของตนเอง (Self-image Hologram) ที่ตนเอง ถะนุถนอม ไม่ให้ใครมาแตะต้องด่าว่า ซึ่งอาจจะเจ็บปวดรวดร้าวมากกว่าถูกทำร้ายทางร่างกาย แต่สามารถพัฒนาถึงจุดที่สลายอัตตา คือ เห็นความจริงตามความเป็นจริงว่า แท้ที่จริงไม่มีอัตตาตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวรที่จะพึงยึดมั่นถือมั่น (สัตว์ชั้นต่ำ แม้กระทั่งตัว แอนนิโมน Anemone ก็มีอัตตา สู้กันด้วยสารฮิสตามีน Histamine ยิงเข้าใส่กัน สร้างความเจ็บปวดให้แก่กัน เพื่อแย่งโขดหิน)



ความจริงแล้ว พระพุทธวัจนะ กล่าวไว้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ฝึกตนแล้วประเสริฐสุด นั่นคือ มนุษย์สามารถฝึกตนเองให้เกิดสติและความรู้สึกตัวให้กลับเห็นว่าแท้ที่จริงปราศจากอัตตาตัวตนที่แท้จริง เป็นอิสระจากอัตตาตัวคนได้ ไม่เป็นผู้สุขหรือผู้ทุกข์



เนื่องจากจิตไร้รูปร่าง ไม่อาจเห็นตัวจิตได้โดยตรง แต่ทิ้งร่องรอยไว้ในรูปของเจตสิก คืออาการของจิต ในลักษณะของ ความรู้สึก (เวทนา), ความหมายรู้จำได้ (สัญญา), และความคิดปรุงแต่ง (สังขาร) ดังพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ว่า

จิตท่องเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว

ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในร่างกายนี้

ใครควบคุมจิตนี้ได้ ย่อมพ้นจากบ่วงมาร

- ธรรมบท ข้อที่ 37

และในธรรมบท 2 ข้อแรกที่ทรงตรัสว่า

ใจเป็นผู้นำสรรพสิ่ง ใจเป็นใหญ่ (กว่าสรรพสิ่ง) สรรพสิ่งสำเร็จได้ด้วยใจ

We are what we think. What we are arises with our Thought. With our thought, we make our world.

(….. .ความทุกข์ย่อมติดตามตัวเขา เหมือนล้อหมุนเต้าตามเท้าโค - ธรรมบท ข้อที่ 1)

(……ความสุขย่อมติดตามเขา เหมือนเงาติดตามตน - ธรรมบท ข้อที่ 2)



ดังนั้น การดูจิต ก็คือการเฝ้าดูรู้ทันความคิด ให้เห็นความคิดที่กำลังก่อตัวเกิดขึ้น เพราะตามธรรมดา คนเราจะเข้าไปอยู่ในความคิด โดยที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังติดอยู่ในความคิด กำลังเสวยอารมณ์ ดื่มด่ำอยู่ในอารมณ์ และแสดงออกไปตามอารมณ์ โลภ โกรธ หลง ซึ่งแอบแฝงซ่อนเร้นมากับความคิด เป็นความคิดชนิดที่เข้าข้างตนเอง นั่นคือ ความลักคิด (ปรุงไปตามความโลภ ความโกรธ ความหลง ซึ่งเกิดขึ้นบนรากฐานของอัตตาตัวตน)



หลวงปู่ดูลย์ อตุโล จึงสอนให้เอา จิตดูจิต นั่นคือ เอาสติและความรู้สึกตัว คอยเฝ้าดูรู้ทันจิต จะเห็นจิต เห็นความคิด เห็นอารมณ์ จะปล่อยวาง ตัดความลักคิด ไม่เป็นทาสของความคิด ไม่ส่งจิตออกนอก (ห่างไกลออกไปจากใจ)ซึ่งทำให้ทุกข์



ผู้ปฏิบัติใหม่อาจยังไม่ชำนาญในการดูจิตซึ่งปราศจากรูปร่างหน้าตา เห็นได้ยาก หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ท่านจะแนะว่า “จิต อย่าไปเสียเวลาหาดูมัน แต่ให้ดูลงที่กาย” กล่าวคือ สามารถฝึกจิตได้โดยผ่านทางการเฝ้าดูรู้ทันที่กาย ด้วยการสร้างความรู้สึกตัวลงที่กาย กับการเคลื่อนไหวต่างๆที่กาย ซึ่งหยาบกระทบหรือเห็นได้ง่าย (หรืออาจจับที่การเคลื่อนไหวของลมหายใจ ซึ่งละเอียดกว่า เห็นได้ยากกว่าอยู่บ้าง หากชำนาญแล้วก็ใช้ได้) เป็นการเห็นกายที่กาย โดยทำไปเล่นๆ อย่าไปเคร่งเครียด อย่าเพ่งอย่าจ้อง แต่ให้รู้สึกตัวให้มากตลอดเวลา จะปลุกประสาทกายให้ตื่น เกิดความรู้สึกตัว ตื่นตัว และเมื่อมีความรู้สึก มากขึ้นๆ จะเร้าปลุกกระตุ้นถึงความรู้สึกใจ ตื่นใจ จะเห็นทั้งกาย เห็นทั้งเวทนา เห็นทั้งจิต เห็นทั้งธรรมารมณ์ รอบรู้อยู่อย่างเสมอสมดุลพร้อมกันไป



“รู้สึกตัว ตื่นตัว รู้สึกใจ ตื่นใจ”

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ



บางท่านจึงกล่าวสรุปไว้ว่า “ดูกาย เห็นจิต ดูความคิด เห็นธรรม”

กล่าวคือ จิต อย่าไปเสียเวลาหาดูมัน (เพราะมันไม่มีรูปร่างหน้าตา) แต่ให้ดูที่กาย (ซึ่งหยาบ เห็นและจับต้องได้ง่าย) แล้วมันจะพาไปเห็นจิตเอง และจะนำให้เห็นความคิด ซึ่งเมื่อจับความคิดได้ทัน จะเห็นธรรม คืออยู่เหนือความคิด ไม่ตกเป็นทาสของความคิดอีกต่อไป



เคล็ดลับสำคัญนั้น อยู่ที่ “ความเคลื่อนไหว” การรู้เท่าทันสัมผัสตื่นตัวอยู่กับความเคลื่อนไหวทั้งทางกาย (และทางจิต) หรือนั่นคือ อาศัยการเคลื่อนไหวเป็นสื่อและเสริมสร้างความรู้สึกกาย/ตัว (และความรู้สึกใจ)



หากปฏิบัติจนชำนาญดีแล้ว จะมองตรงลงที่ใจ ดูความคิด เอาจิตดูจิต โดยตรงเลยก็ได้

ความคิด ก็คือ ความเคลื่อนไหวของจิตนั่นเอง ซึ่งแม้ว่าจิตจะปราศจากรูปร่างหน้าตาก็ตาม แต่สามารถจะสัมผัสรู้ได้ด้วยความรู้สึกทางใจ และเห็นเป็นมโนภาพทางใจได้ ซึ่งมโนภาพเหล่านี้อิงอาศัยข้อมูลต่างๆที่สมองได้เคยบันทึกไว้ทั้งในอดีต และที่กำลังบันทึกอยู่ในปัจจุบัน มารวบรวมกันสร้างขึ้นเป็นภาพพจน์ หรือ นามรูป เพื่อใช้ในการตีความหมายในสถานการณ์หรือสภาวธรรมนั้นๆ อาทิเช่น การอ่านหนังสือหรือข้อความที่กำลังอ่านอยู่ในขณะนี้นั้น สมองจะต้องทำงานสัมพันธ์สอดคล้องกันอยู่ถึง 17 ส่วน จึงจะตีความหมายทำความเข้าใจในข้อความเหล่านี้ได้ถูกต้อง

หากปราศจากสติและความรู้สึกตัว ก็จะคิดหรือตีความหมายในข้อมูลที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ฟุ้งเฟ้อหลงใหลไปตามความต้องการหรือความฝันใฝ่ของตน อย่างปราศจากเหตุผล และอาจบิดเบือนข้อมูลที่มีอยู่เดิมและตลอดถึงข้อมูลที่กำลังรับอยู่นี้ ให้แปรเปลี่ยนไปตรงตามความต้องการของตน ด้วยความอยากหรือ “ตัณหา” และหากว่าข้อความที่กำลังอ่านหรือข้อมูลที่กำลังประสบอยู่ขัดแย้งหรือขัดผลประโยชน์กับความคิดหรือภูมิปัญญาและอุดมการณ์ หรือ “ทิฏฐิ” ของตน ก็จะเกิดความไม่พอใจ แต่ถ้าตรงกับจุดมุ่งหมายของตน ก็จะพึงพอใจ จึงมีพุทธภาษิตที่กล่าวไว้ว่า

“ปุถุชนฝากสุขทุกข์ ไว้กับตัณหาและทิฏฐิ”



ความเคลื่อนไหวทางกายนั้น เป็นสื่อในการสร้างความรู้สึกตัว จะทำให้สัมผัสซึ่งความรู้สึกสดๆ ปราศจากการปรุงแต่ง (สวสังเวทนา) เป็นสัญญาบริสุทธิ์ ไม่ใช่ สัญเจตนา คือ หมายรู้ด้วยความคิดเข้าข้างตนเอง



ความรู้สึกตัว เกิดขึ้นได้จากการรับรู้ของประสาทสัมผัสในความเคลื่อนไหว เช่น การไหวตัวเวลาตื่นหรือไหวติงเวลาฟื้นขึ้นมาจากอาการสลบ และในขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวก็กลับเสริมให้มีความรู้สึกตัวสูงมากขึ้น ด้วยความเคลื่อนไหวก่อให้เกิดการเสียดสี ทำให้ไวต่อการสัมผัสมากยิ่งขึ้น เช่น การคลึงนิ้ว หรือ ถูปลายนิ้วเข้าด้วยกัน จะรู้สึกตัวไวและสูงขึ้น นอกเหนือไปจากการสัมผัสธรรมดาด้วยการประกบปลายนิ้วเข้าไว้ด้วยกัน (ลองทดลองดูในขณะนี้ จะสัมผัสได้สดๆด้วยตนเอง)

จากความรู้สึกตัวที่ไวขึ้นและเพิ่มพูนมากขึ้นนี้ จะกลายเป็นความรู้สึกใจ จับความไหวตัวของจิตหรือความคิดไว้ได้ทันท่วงที จะตัดความคิดให้ขาดลงทันที (เสมือนแมวที่โดยธรรมชาติจะต้องตะครุบสิ่งที่เคลื่อนไหวเช่นกลุ่มด้ายที่ไหวอยู่ข้างๆ) รับรู้เท่าทันด้วยสัญญาบริสุทธิ์ ไม่มีการแอบแฝงๆไว้ด้วยความเป็นอัตตาตัวตน ปราศจากสัญเจตนา

ความรู้สึกตัวจะจับการเคลื่อนไหวต่างๆทั้งทางกายและทางจิตซึ่งก็คือความคิดนั่นเอง

เมื่อเกิดความรู้สึกตัว ความไม่รู้สึกตัว นั่นคือ ความหลงใหลหรือความโง่งมงายจะหายไป เพราะจิตจะทรงอยู่ได้ในอารมณ์เดียวในขณะใดขณะหนึ่ง ประดุจดังเล่นเก้าอี้ดนตรี

ความรู้สึกตัวจะเป็นสื่อสำคัญให้เห็นแจ้งรู้จริงตามความเป็นจริง เพราะความรู้สึกตัวหรือสัมปชัญญะ ก็คืออีกชื่อหนึ่งของปัญญานั่นเอง

พระศาสดาทรงมีพระเมตตาและทรงสอนให้เห็นและให้จับความคิดไว้ตามจุดต่างๆ เพื่อให้เห็นได้ง่ายขึ้นตามแต่จริตวิสัยที่แตกต่างกันไป เช่น สัมมาสังกับโป (คิดชอบ ดำริชอบ - ข้อ 2 ของมรรค 8), สังขาร (ความคิดปรุงแต่ง), ขันธ์5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ), อายตนะ6 (สัญเจตนา), ปฏิจจสมุปบาท (อวิชชา à สังขาร à วิญญาณ …), สมุทัย (เหตุแห่งทุกข์ ด้วยตัณหาซึ่งแอบแฝงมากับความคิด - ข้อ 2 ของอริยสัจ 4), วิตก (ตรึก) วิจาร (ตรอง) เป็นต้น

เรามัวแต่ไปติดศัพท์กันว่า ความคิดปรุงแต่งคืออะไร ความจริงก็คือ ความคิด นั่นเอง เพราะขึ้นชื่อว่า ความคิดก็พลาดจากความจริงที่กำลังสัมผัสไปเสียแล้ว มันปรุงแต่งไปเพื่ออัตตาแล้ว มันพาย้อนไปเปรียบเทียบปรุงแต่งไปกับประสบการณ์ความรู้อย่างลำเอียงหรือ สัญเจตนา (ที่ชอบหรือที่เกลียด)แห่งอดีต หรือพาเพ้อฝันไปในอนาคต มีเรื่องกาลเวลาและระยะทางเข้ามาพัวพันเสียแล้ว มีภาพพจน์หรือจินตนาการเข้ามาแทรก เข้ามาปรุงแต่ง แม้จะเป็นความคิดที่เบาสบายเพลิดเพลินเป็นสุขเหลือหลายก็ตาม แต่ก็ได้สร้างปัญหาความหนักหน่วงให้เกิดขึ้นแก่จิตเสียแล้ว เพราะต้องคอยห่วงหวงแหน

จงทดลองปล่อยดู วางความคิดและอารมณ์ทั้งหมดเสีย ณ บัดนี้ ทั้งที่ดี สุขสดชื่น และไม่ดีที่ปวดร้าวขมขื่น (ประดุจคว่ำมือให้ทุกอย่างร่วงหล่นจากฝ่ามือ) คุณก็จะเห็นประจักษ์แจ้งเองว่า มันไม่เครียด มันเบา มันโล่งสบาย สู่ความเป็นปกติปราศจากการปรุงแต่ง และเป็นกลาง ตามสภาพที่แท้จริงของจิต

อาจารย์หลายๆท่าน แม้จะน้อยท่านก็ตาม จะสอนในแนวของการเฝ้าดูรู้ทันความคิด กำจัดความ(ลัก)คิด โดยตรง อาทิ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ท่านอจ.โกวิท เขมานันทะ หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านอจ.มหาประเสริฐ จิตฺตเสฏโฐ (วัดป่าชิคาโก และท่านอจ.ถาวร เคยเป็นพระ ปัจจุบันเป็นฆราวาสอยู่จว.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน) หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช เป็นต้น คือให้เฝ้าดูจิต ดูความคิด ไม่ตกเป็นเหยื่อเป็นทาสของความคิด ซึ่งความจริงแล้วคือหลักวิปัสสนาที่แท้จริง คือ รู้เท่าทันความคิด รู้เท่าทันในอาการของจิต (เจตสิก)มีแต่ผัสสะล้วนๆ (ในสิ่งที่ผ่านมาทาง ตา หู จมูก ลื้น กาย ใจ ระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอก) เวทนาล้วนๆ (สวสังเวทนา) สัญญาบริสุทธิ์ล้วนๆ (สติ-ความรู้สึกตัว)โดยไม่เกิด สัญเจตนา (คือหมายรู้อย่างเข้าข้างตนเอง หรือ ความคิดปรุงแต่ง อย่างที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า “I-tag” accompanying or following Perception) ตามติดมากับการรับรู้หมายรู้จำได้

ท่านอจ.โกวิท เขมานันทะ ปรารภสั้นๆว่า “ผมเหม็นเบื่อกับความคิด” (คือ ท่านเห็นรู้เท่าทันมัน) หรือ ที่หลวงพ่อเทียนท่านแนะไว้ว่า “รู้ตัด รู้ตัด” คือ รู้แล้วตัดละความคิดนั้นเสียทันทีที่ความคิดเกิดขึ้น ด้วยธรรมชาติของจิตมันคอยทำหน้าที่ของมัน คือรู้ คือคิด จะไปห้ามไม่ให้มันคิดไม่ได้ (นักวิทยาศาสตร์วิจัยแล้วว่าชั่วขณะจิตหนึ่ง consciousnessประมาณ 100 milliseconds และชั่วขณะความคิดประมาณ 150 milliseconds ) และ ดังที่หลวงพ่อคำเขียนสรุปถึงเรื่องของชีวิตว่า “ถ้าเป็นผู้สุข ผู้ทุกข์ ก็หมดตัว” และ “หลวงพ่อไม่ได้มี หลวงพ่อไม่ได้เป็น หลวงพ่อได้แต่ดูมัน”

ทั้งหมดมันจึงเป็นเรื่องของความคิด

การฝึกอบรมจิตด้วยการผูกสติ สร้างความรู้สึกตัวจึงสำคัญและมีประโยชน์มากมายมหาศาล เพราะจะเป็นเสมือนเกราะ (ไม่ต่างจาก Shield ในหนัง Star Trek) ด้วยรู้เท่าทันความคิด (หายโง่) รู้ตัดไม่ปล่อยให้ความคิดเข้ามาบ่อนทำลาย ปรุงแต่ง (สังขาร) ได้อีกต่อไป จิตจึงเป็นอิสระว่างจากทุกข์ (นิโรธ) ปราศจากการปรุงแต่ง (วิสังขาร) มีแต่ความว่าง (สุญญตา) สันติสุข (นิพพาน)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น