++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การทำประทักษิณ(เดินเวียนขวารอบสีมา)

การทำประทักษิณในทางพระพุทธศาสนา คือ การกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ การหมุนไปทางขวาคือการหมุนไปสู่ความดีทั้งทางกาย วาจา และใจ ตรงกันข้ามกับการหมุนไปด้านซ้ายเป็นการหมุนทวนความดี คือ การกระทำที่เป็นทุจริตทางกาย วา และใจ
การทำประทักษิณเวียนขวารอบสีมาก่อนเข้าโบสถ์บวชเป็นพระภิกษุ นอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณแล้ว ยังเป็นอุบายที่คนโบราณสอนให้รู้ว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนี้เป็นการกระทำที่สุจริตถูกต้องชอบธรรมทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
นอกจากนั้น การทำประทักษิณก่อนเข้าสู่พิธีอุปสมบท ยังเป็นช่วงเวลาให้นาคได้มีโอกาสทำสมาธิรวบรวมจิตใจไม่ให้ตกประหม่าตื่นเต้นจนเกินเหตุ ญาติของนาคจึงไม่ควรส่งเสียงหรือโห่ร้อง ร้องรำทำเพลง ประโคมดนตรีอันจะเป็นการรบกวนสมาธิของนาค
การทำประทักษิณเวียนขวารอบสีมาเป็นการแสดงความเคารพ เพื่อให้ผู้บวชก้าวไปสู่ความดีงาม จึงไม่ควรให้นาคขี่คอ ขึ้นคานหาม หรือแบกหามซึ่งจะดูไม่เรียบร้อย หากพลัดตกลงมาอาจเป็นอันตรายจนถึงบวชไม่ได้ จึงควรให้นาคเดินตามปกติ
คติเกี่ยวกับการให้นาคขี่คอ สืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่าพระพุทธเจ้าออกผนวชด้วยการขี่ม้ากัณฑกะ จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เที่ยวสั่งสอนเวไนยสัตว์ ในสมัยต่อมาผู้ที่จะบวชจึงนิยมขี่ม้าแห่แหนกันอย่างเอิกเกริกก่อนเข้าโบสถ์ประกอบพิธีอุปสมบท
แต่เนื่องจากบางท้องถิ่นหาม้าได้ไม่ง่าย จึงให้นาคขี่คอคนแทนม้า บางแห่งให้นาคนั่งบนเตียงที่มีคนหามแทนการขี่คอ จึงกลายเป็นประเพณีที่ยอมรับสืบทอดกันอย่างกว้างขวาง ว่าผู้ที่จะบวชต้องขี่คอ เสมือนหนึ่งพระพุทธองค์ขี่ม้าออกผนวช
เนื่องจากการเดินเวียนขวารอบสีมาเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณ จะใช้เฉพาะกรณีที่ต้องการแสดงความเคารพเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น ผู้บวชจึงต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
ข้อปฏิบัติที่เหมาะสมเกี่ยวกับการเดินปทักษิณเวียนขวารอบสีมาควรปฏิบัติ ดังนี้
เมื่อแต่งชุดนาคเสร็จแล้ว ให้นาคประณมมือโดยมีดอกไม้ที่เตรียมไว้อยู่ในมือเดินทำปทักษิณ(1) (เวียนขวา) รอบพระอุโบสถ ๓ รอบ จะมีผู้กั้นสัปทนให้นาคก็ได้ การทำปทักษิณให้เริ่มต้นจากสีมาตรงกลางด้านหน้าอุโบสถ (เริ่มจากสีมาที่จะวันทา) ส่วนญาติๆ ถือบริขารพร้อมทั้งเครื่องไทยทานที่จัดเตรียมไว้
ตามความนิยมโดยทั่วไปบิดาสะพายบาตรถือตาลปัตร ส่วนมารดาถือพานแว่นฟ้าสำหรับใส่ผ้าไตรครองเดินตามหลังนาค แถวถัดมาเป็นธูปเทียนแพ เครื่องไทยทานสำหรับพระอุปัชฌาย์และพระคู่สวด และเครื่องบริขารอย่างอื่นโดยลำดับ ในขณะเดินให้นาคสวดบทพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ดังนี้ "อิติปิโส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ ฯลฯ" หรือจะภาวนา "พุทโธๆ" ตามจังหวะเท้าที่ก้าวย่างก็ได้
การเดินเวียนขวารอบอุโบสถเป็นการแสดงความเคารพตามธรรมเนียมโบราณ ญาติที่มาร่วมพิธีจึงไม่ควรโห่ หรือส่งเสียงเอิกเกริกเฮฮา เหมือนงานรื่นเริงอื่นๆ ควรอยู่ในอาการสำรวมกาย วาจา และใจ ไม่ควรมีการแสดงการละเล่นใดๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงความเคารพต่อสถานที่แล้ว ยังไม่เป็นการรบกวนสมาธิของนาคอีกด้วย
เมื่อเดินครบ ๓ รอบแล้ว นาคต้องวันทาสีมาหน้าอุโบสถก่อนเข้าไปในเขตสีมา โดยเริ่มต้นตามขั้นตอนการวันทา ต่อไปนี้
นาควางดอกไม้เครื่องสักการะไว้บนพานที่เตรียมไว้ บางแห่งให้จุดธูปเทียนด้วย แต่โดยมากนิยมให้ดอกไม้ธูปเทียนไว้บนพานหรืออุปกรณ์อย่างอื่นที่จัดเตรียมไว้ โดยมากไม่จุดธูปเทียน นาคกราบสีมา ๓ หน แล้วยืนขึ้นว่า

คำวันทาสีมา
อุกาสะ วันทามิ ภันเต // สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต// มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง// สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง// สาธุ/ สาธุ/ อนุโมทามิ ฯ
คำแปล
ขอโอกาสขอรับ กระผมขอกราบไหว้ ท่านขอรับ ขอท่าน จงยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ขอท่านโปรดอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านโปรดให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย สาธุ สาธุ กระผมขออนุโมทนา

นั่งคุกเข่าประณมมือว่า
สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต // อุกาสะ ทะวารัตตะเยนะ กะตัง / สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต ฯ


คำแปล
ท่านขอรับ ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ท่านขอรับ ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวง ที่กระผมได้ทำทางทวารทั้ง ๓ ทาง (คือ กาย วาจา และใจ)
กราบ ๑ หน แล้วยืนขึ้นว่า
วันทามิ ภันเต // สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต // มะยา กะตัง ปุญญัง สามินา อนุโมทิตัพพัง// สามินา กะตัง ปุญญัง มัยหัง ทาตัพพัง// สาธุ / สาธุ/ อนุโมทามิ ฯ
คำแปล
ท่านขอรับ กระผมขอกราบไหว้ ขอท่านโปรดยกโทษที่ได้ล่วงเกินทั้งปวงให้กระผมด้วย ขอท่านโปรดอนุโมทนาบุญที่กระผมได้กระทำ และขอท่านโปรดให้บุญที่ท่านได้ทำแก่กระผมด้วย สาธุ สาธุ กระผมขออนุโมทนา

นาคนั่งคุกเข่ากราบ ๓ หน จากนั้นเข้าไปภายในพระอุโบสถ ในขณะเข้าประตูโบสถ์ไม่ควรยกนาคข้ามธรณีประตู หรือยกขึ้นเพื่อเอามือแตะคานประตู ตามที่นิยมปฏิบัติกันโดยขาดความเข้าใจ เพราะอาจพลัดตกลงมาแขนขาหักได้ ให้นาคเดินเข้าโบสถ์ตามปกติ โดยบิดามารดาและญาติจะแตะที่ตัวนาคตามเข้าไปก็ได้
________________________________
(1) เดินเวียนขวา หมายถึง ขวามือพระประธาน ไม่ใช่ขวามือของนาค


ที่มาจากหนังสือ ลูกผู้ชายต้องบวช ผู้แต่ง ญาณวชิระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น