++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

น้ำใจและจริยา

. น้ำใจและจริยา

เช้า วันหนึ่ง พระอานนท์เข้าไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี ได้พบพราหมณ์นามว่าสังครวะ ผู้มีความเชื่อถือว่า บุคคลจะบริสุทธิ์ได้ด้วยการอาบน้ำในแม่น้ำคงคาวันละสามครั้ง คือ เช้า กลางวัน และเย็น บาปอันใดที่ทำในเวลาราตรี บาปนั้นย่อมล้างได้ลอยได้ ด้วยการอาบน้ำในเวลาเช้า และอาบน้ำในเวลากลางวัน เพื่อล้างบาปที่ทำตั้งแต่เช้าจนเที่ยง อาบน้ำในเวลาเย็น เพื่อล้างบาปอันอาจจะเกิดขึ้นในเวลาหลังเที่ยง น้ำที่จะอาบนั้นต้องเป็นน้ำในแม่คงคา โดยถือว่าได้ไหลมาจากแดนสวรรค์ ผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้ามาแล้ว ไม่เพียงแต่ล้างบาปอย่างเดียวเท่านั้น แต่สามารถบำบัดโรคภัยไข้เจ็บอีกด้วย และเมื่ออาบน้ำในพระแม่คงคาทุกวัน ตายแล้วย่อมไปสู่สวรรค์ ได้สถิตอยู่กับพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้จึงเป็นของธรรมดาที่จะมองเห็นโยคีและผู้บำเพ็ญพรตนิกายต่างๆ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำคงคาตอนเหนือแถบภูเขาหิมาลัย ทรมานตนอยู่ด้วยวิธีแปลกๆ ตามแต่ตนจะเห็นว่าอย่างไรไหนดี และสามารถเข้าถึงพระผู้เป็นเจ้าได้ บางพวกนอนบนหนาม บางพวกคลุกตนด้วยขี้เถ้า บางพวกยืนยกขาข้างเดียวอ้าปากกินลมชมจันทร์ บางพวกยืนเอามือเหนี่ยวกิ่งไม้จนเล็บยาวออกมาแทบจะทะลุหลังมือ บางพวกบูชาไฟ และบูชาพระอาทิตย์ แต่ก็มีอยู่ไม่น้อยที่โยคีบางพวกบำเพ็ญเพียรทางจิตจนได้บรรลุฌานขั้นต่างๆ สามารถมองเห็นเหตุการณ์ทั้งอดีต อนาคต เหมือนประสบมาเอง บางคนสามารถได้เจโตปริยญาณ คือรู้วาระจิตของผู้อื่น ตอบปัญหาได้โดยที่ผู้ถามเพียงนึกถามอยู่ในใจเท่านั้น

พระอานนท์ได้เห็นสังครวพราหมณ์ผู้ถือการลงอาบน้ำในแม่น้ำคงคาเป็นอาจิณวัตรดังนั้นแล้ว มากราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
"พระองค์ ผู้เจริญ! สังควรพราหมณ์เวลานี้อยู่ในวัยชรา มีอัธยาศัยงามพอสนทนาได้อยู่ แต่อาศัยความเชื่อถือเก่าๆ จึงยังมองไม่เห็นทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ขอพระผู้มีพระภาคจงอาศัยพระมหากรุณา เสด็จไปโปรดสังควรพราหมณ์สักครั้งเถิด"

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนาของพระอานนท์ด้วยอาการดุษณี วันรุ่งขึ้นเสด็จไปสู่นิเวศน์ของพราหมณ์นั้นเหมือนเสด็จเยี่ยมอย่างธรรมดา เมื่อสัมโมทนียกถาล่วงไปแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

"พราหมณ์! เวลานี้ท่านยังอาบน้ำดำเกล้าในแม่คงคาวันละ ๓ ครั้งอยู่หรือ?"
"ยังทำอยู่พระเจ้าข้า" พราหมณ์ทูลด้วยอาการนอบน้อม
"ท่าน เห็นประโยชน์อย่างไรนะพราหมณ์ จึงต้องอาบน้ำดำเกล้าเฉพาะแต่ในแม่น้ำคงคาเท่านั้น ที่อื่นจะอาบได้หรือไม่ ที่ตถาคตถามนี้ ถามเพื่อต้องการความรู้ความเห็นเท่านั้น อย่าหาว่าตถาคตละลาบละล้วงในเรื่องส่วนตัวเลย"

"พระโคดมผู้เจริญ! ข้าพเจ้าได้รับฟังมาตั้งแต่อายุยังเยาว์ว่า แม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถชำระบาปมลทินทั้งปวงได้ เพราะได้ไหลผ่านเศียรพระศิวะผู้เป็นเจ้าลงมา เป็นแม่คงคาสวรรค์ ข้าพเจ้าจึงเลื่อมใส และปฏิบัติตามบุรพชน ซึ่งเคยถือปฏิบัติกันมา และข้าพเจ้าเชื่อว่าสามารถชำระบาปได้จริงๆ" พราหมณ์ทูลด้วยความมั่นใจ

"พราหมณ์! พระผู้มีพระภาคตรัสด้วยพระสุรเสียงที่อ่อนโยนนิ่มนวลและอย่างกันเอง "ขอให้ท่านนึกว่าเราสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกันเถิด ตถาคตจะขอถามท่านว่า บาปมลทินนั้นอยู่ที่กายหรืออยู่ที่ใจ?"
"อยู่ที่ใจซิ พระโคดม"
"เมื่อบาปมลทินอยู่ที่ใจ การลงอาบน้ำชำระกายน้ำนั้นจะสามารถซึมซาบลงไปล้างใจด้วยหรือ?"
"แต่พระโคดมต้องไม่ลืมว่าน้ำนั้นมิใช่น้ำธรรมดา มันเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่าสามารถล้างบาปมลทินภายในได้"
"ท่านคิดว่าความเชื่อสามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงซึ่งมีอยู่ในตัวมันเองอยู่แล้ว ให้เป็นอีกอย่างหนึ่งตามที่เราเชื่อหรือ?"
"เป็น ไปมิได้เลย พระโคดม ความเชื่อมิอาจบิดเบือนความจริงได้ ความจริงย่อมทรงตัวของมันอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าใครจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม"
"เป็น อันท่านยอมรับว่า ความเชื่อไม่อาจไปบิดเบือนความจริงได้ ก็การที่ท่านเชื่อว่า แม่น้ำคงคาสามารถล้างมลทินภายในได้นั้น มันจะเป็นจริงอย่างที่ท่านเชื่อละหรือ? ดูก่อนพราหมณ์! อุปมาเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่า แล้วบ่ายหน้าไปทางทิศหนึ่ง ซึ่งตนเข้าใจว่าเป็นทิศตะวันออก แต่ความจริงมันเป็นทิศตะวันตก ความเชื่อของเขาไม่อาจจะไปเปลี่ยนทิศตะวันตกให้เป็นทิศตะวันออกได้ฉันใด ความเชื่อของพราหมณ์เป็นอันมาก ที่เชื่อว่าแม่น้ำคงคาเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ สามารถล้างบาปได้ ก็ไม่อาจทำให้แม่น้ำนั้นล้างบาปได้จริงเลย จึงชวนกันเข้าใจผิดเหมือนบุรุษผู้หลงทางในป่านั้น

"ดูก่อนพราหมณ์! เปรียบเหมือนบุรุษผู้หนึ่งมีหม้อทองแดงอยู่ใบหนึ่ง มันเปื้อนเปรอะด้วยสิ่งปฏิกูลทั้งภายในและภายนอก เขาพยายามชำระล้างด้วยน้ำจำนวนมาก แต่ล้างแต่ภายนอกเท่านั้น หาได้ล้างภายในไม่ ท่านคิดว่าสิ่งปฏิกูลภายในจะพลอยหมดไปด้วยหรือ?"
"เป็น ไปมิได้เลย พระโคดมผู้เจริญ บุรุษผู้นั้นย่อมเหนื่อยแรงเปล่า ไม่อาจทำให้ภายในหม้อสะอาดได้ สิ่งสกปรกเคยเกรอะกรังอยู่อย่างไรก็คงอยู่อย่างนั้น"

"ดู ก่อนพราหมณ์! เรากล่าวกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ว่าเป็นสิ่งทำให้จิตใจสกปรก และสามารถชำระล้างได้ด้วยธรรม คือความสุจริต มิใช่ด้วยการอาบน้ำธรรมดา น้ำดื่มของบุคคลผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ย่อมเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปในตัวแล้ว
"นี่แน่ะพราหมณ์! มาเถิด - มาอาบน้ำในธรรมวินัยของเรานี้ ซึ่งลึกซึ้งสะอาด ไม่ขุ่นมัว มีศีลเป็นท่าลง บัณฑิตสรรเสริญ เป็นที่ที่ผู้รู้นิยมอาบกัน อาบแล้วข้ามฝั่งได้โดยที่ตัวไม่เปียก"

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดัง นี้ พราหมณ์กล่าวด้วยความเบิกบานใจว่า แจ่มแจ้งจริงพระโคดม แจ่มแจ้งจริงเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง ส่องประทีปในที่มืด ให้ผู้มีนัยน์ตาดีได้เห็นรูป ข้าพระพุทธเจ้าขอปฏิญาณตนเป็นอุบาสก ถึงพระองค์พร้อมด้วยพระธรรม และพระสงฆ์ผู้นำทางตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จวบจนสิ้นลมปราณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น