++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความเหนียวแน่นของกิเลส โดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

ความเหนียวแน่นของกิเลส

โดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

แห่ง วัดอรัญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

พึง พากันตั้งใจ สำรวมใจของตนให้ดี เพื่อฟังธรรม การฟังธรรมนี่ ไม่อ้างกาลอ้างเวลา อยู่กับหมู่มากก็ฟังธรรม อยู่คนเดียวก็ฟังธรรม ต้องให้เข้าใจอย่างนี้ อยู่คนเดียวฟังธรรม ก็คือ สังเกตดูความเคลื่อนไหวของอัตภาพร่างกายนี่ สังเกตดูความเคลื่อนไหวของดวงจิตนี้ ความเคลื่อนไหวของร่างกายนี่ ส่วนมากมันก็แปรผันไปในทางไม่เที่ยง แต่ละวันแต่ละคืน มันก็เตือนจิตนี่ให้รู้ตัวอยู่เสมอว่า ร่างกายนี่มันจะทนทานไปอยู่ไม่นานแล้ว นี่อยู่คนเดียวก็ฟังธรรมชาติ ที่ปรากฏอยู่ในร่างกายสังขารอันนี่ เราก็ได้รู้เรื่อง อันพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ชี้เข้ามาที่ร่างกายนี่ เตือนให้ผู้ฟังได้ ทวนกระแสจิตเข้ามา พิจารณาอัตภาพร่างกายนี่ แล้วก็พิจารณาจิตใจตัวเอง อย่าพิจารณาแต่กายอย่างเดียว ต้องย้อนเข้ามาหาจิต จิตเป็นอย่างไรในขณะนี้ จิตตั้งมั่นอยู่หรือว่าจิตง่อนแง่นคลอนแคลนอย่างไร จิตมันรู้แจ้งใจกายนี้ตามเป็นจริงอยู่หรือไม่ หรือมันดิ้นรนไปยังไง อันหมู่นี้หนามันเป็นหน้าที่ของเราแต่ละคน จะต้องมาเพ่งดูกายดูจิตนี้เสมอไป แต่คนส่วนมากไม่ค่อยได้ทวนกระแสจิตเข้ามาดูกาย ดูจิตตัวเอง มีแต่ส่งใจให้คิดไปข้างหน้าข้างหลัง ส่งใจไปให้เกาะไปข้องอยู่กับวัตถุภายนอกนู่น เรื่องได้เรื่องเสีย เรื่องรวยเรื่องจน หมู่นี้ ย้อมบ่นกันอยู่อย่างนั้นเลย นั่นน่ะ แสดงว่าใจมันฟุ้งออกไปข้างนอกนู่น ไอ้ผู้รวย มันก็ส่งจิตไปตามการงานต่างๆที่ตั้งไว้ ส่งไปกับเรื่องรายรับรายจ่าย อะไรต่ออะไรหมู่นี้ละ ไอ้คนจนหมู่นี้เอ้า มันก็ส่งจิตไป แส่ไป เราจะไปหาเงินทางไหนหนอ จึงจะได้เงินได้ทองมาใช้ เราจะไปหาอาหารที่ไหนหนอ ถึงจะได้มาเลี้ยงตัวและครอบครัว ผ้านุ่งผ้าห่มก็รู้สึกว่ามันชำรุดไป จะไปได้เงินที่ไหนหนอไปซื้อผ้านุ่งผ้าห่ม บ้านเรือนก็ชำรุดทรุดโทรม จะเอาเงินที่ไหนมาซ่อมแซม สำหรับคนจนละก็มีวิตกวิจารณ์ ไปแต่เรื่องคลาดแคลนเรื่องบกพร่อง อยู่เช่นนั้นแหละ และเมื่อเป็นเช่นนี้มัน มันได้รู้เรื่องของตัวเองได้อย่างไรล่ะ นั่นแหละมันไปหมายอยู่เรื่องภายนอกนู้น
มัน ถึงแก้ไม่ตกนะคนเราเนี่ย บางคนก็แก้ได้ เมื่อรู้ว่าตนเป็นคนจน มานั่งนึกกึกกรองดู จิตใจตัวเองเข้าไปแล้วก็รู้ได้เลยว่า แต่ชาติก่อนนู้นตนคงไม่ได้ทำบุญกุศลมาอะไรมากมาย เกิดมาในชาตินี้ จึงได้กลายเป็นคนยากจนข้นแค้น เอาละถ้าอย่างนั้นชาตินี้เราก็จะเริ่มทำบุญไป มีน้อยก็จะทำตามน้อย มีมากก็ทำตามมาก อื้อ ถ้าเราจะรอให้ร่ำรวย เงินทองมากๆเสียก่อนจึงจะทำบุญนี่คงจะไม่มีหวัง เพราะว่าตนนั้นมีบุญน้อย ผู้ใดคิดได้อย่างนี้ คนจนมันก็ทำบุญได้บัดนี้นะ ถ้ามันคิดไม่ได้อย่างนี้ละก็ ทำบุญไม่ได้ อ้างแต่ว่าตนเป็นคนจน ไม่มีอะไร อยู่อย่างนั้นแหละ จะไปเข้าวัดเข้าวากับเพื่อนก็อายเพื่อน ตนเป็นคนจน เพื่อนจะดูถูกดูหมิ่นเอา มันก็คิดไปจิปา เรื่องของคนจนนะ เรื่องของคนรวย ถ้ารวยแล้วมีศรัทธา เชื่อบุญเชื่อบาป อย่างน้อยค่อยยังชั่วหนอย ไอ้ผู้ที่ทำนุบำรุงวัดวาศาสนาอยู่ ในโลกทุกวันนี้หรือว่าล่วงแล้วมาก็ดี ความจริงมันก็อาศัยคนรวยนั่นแหละ คนมีเงินมีทองมากแล้วก็มีศรัทธา เลื่อมใสในพุทธศาสนา เชื่อบุญเชื่อบาป เชื่อว่าบุญมีจริง บาปมีจริง เช่นนี้แล้วเพื่อนก็เพียรพยายามละบาปออกไป แล้วเพียรพยายามสั่งสมบุญกุศล ด้วยการสละจตุปัจจัย ออกมาทำนุบำรุงวัดวาศาสนานี้ แล้วก็พร้อมทั่ง สมาทานมั่นในศีล ยินดีในการฟังธรรมตามกาลตามเวลา นี่ผู้ร่ำรวยเงินทองนี่ ถ้าหากว่ามีศรัทธามีปัญญา เห็นแจ้งในคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังกล่าวมาละก็นับว่าไม่เสียที มีโอกาสที่จะได้ทำกุศลคุณงามความดีได้มากๆทีเดียวนะ เพราะว่าเป็นคนมีบุญที่ได้ทำมาแต่ชาติก่อน บุญนั้นมาอำนวยผลให้ เกิดมามีสติมีปัญญาหาทรัพย์ได้ เช่นนี้ก็มีโอกาสได้สั่งสมบุญกุศล เพิ่มเติมขึ้นไปเรื่อยๆสำหรับ คนจนนั้น ก็สามารถทำบุญกุศลได้ แต่ว่ามันก็ได้ตามกำลังของคนจน จะให้มันเหมือนคนรวยก็ไม่ได้ ขอให้มีศรัทธาปัญญาก็แล้วกัน คนจนในแต่ครั้งพุทธเจ้านั้นก็มีอยู่ถมไป นะ เหมือนอย่างพราหมณ์สองผัวเมีย
จนจนว่าหมดทั้งเรือนนั่นมีผ้าห่มผืนเดียว จนถึงขนาดนั้นแหละ บัดนี้เมื่อเจ้าหน้าที่ ทางฝ่ายวัดประกาศชักชวนให้คนในเมืองสาวัตถีนั่นไปฟังธรรมกัน สองผัวเมียก็มาพูดกันว่า ในบ้านเรือนของเรานี่ก็มีผ้าห่มผืนเดียว เข้าใจว่าฤดูหนาวมั้ง มันหนาวน่ะ สองผัวเมียก็มาเจรจากันว่า ใครจะไปฟังธรรมกลางวัน ใครจะไปกลางคืน ฝ่ายภรรยาก็บอกกับสามีว่า ฉันจะไปฟังธรรมกลางวันดอก ให้คุณไปฟังกลางคืนซะ ถ้าผู้ใดไปฟังธรรมก็เอ้า เอาผ้าผืนนั้นน่ะห่มไป ไปฟังธรรมพอ ตกกลางคืนมาสามีไปก็เอาผ้า ผืนนั้นห่มไปฟังธรรม เมื่อพระพุทธเจ้ามาแสดงทาน แสดงผลแห่งทานให้ฟังอย่างนั้น ก็เลยเกิดนึกคิดในใจว่า เอ้อ เรานี่แต่ชาติก่อนคงไม่ได้ทำบุญทำทานอะไรมา เกิดมาในชาตินี้จึงยากจนข้นแค้น มดทั่งบ้านมีผ้าห่มผืนเดียวนี้ เอ๊ถ้าอย่างนั้นเราก็จะสละผ้าห่มผืนนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้าเสียเป็นยังไง เรายอมอดหนาวเอา จะไม่ดีรึ จะเป็นบุญกุศล ทำให้ชีวิตของเราเจริญสืบต่อไป ครั้นพอคิดขึ้นมาอย่างนั้นแล้ว ไอ้ความตระหนี่ความหวงมันก็เกิดขึ้น เอ๋ถ้าให้ทานไปแล้วจะเอาไหนมาห่ม มันก็คงหนาวกระด้างไป พอคิดขึ้นมาอย่างนี้แล้วก็ท้อใจให้ทานไม่ได้ ตอนปฐมยาม หัวค่ำ พระองค์เจ้าแสดงธรรมตลอดคืนนี้ ตามว่านี้ ทรงแสดงไป๊ แสดงไป ฟังไปถึงเที่ยงคืน เอ้า จิตใจก็คึกคักขึ้นมา เอ๊ะ เอาละน้าเราให้ทานนะบัดนี้ พอนึกอย่างนี้แล้ว ไอ้กิเลสตัวนั้นแหละ มันก็แล่นขึ้นมาสกัดไว้ ก็ให้ไม่ได้ตอนเที่ยงคืน ก็ฟังไป ฟังไป พอตอนถึงหัวรุ่ง จึงค่อยตัดสินใจลงได้ พอตัดสินใจลงได้ก็เปลื้องผ้านั้นออกพับ เสร็จแล้วก็เอาไปวางไว้ ใกล้พระบาทของพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า ข้าพระองค์ขอถวายผ้าห่มผืนนี้ แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยอำนาจบุญกุศลอันนี้ก็ขอให้ข้าพเจ้าพ้นทุกข์พ้นภัยในสงสารนี้ พระองค์ก็ทรงรับเอาผ้าห่มนั้น
พราหมณ์ก็ดีอกดีใจหลาย ก็จึงได้เปล่งวาจาออกมา "ชิตังเม ชิตังเม ชิตังเม" สามครั้ง ว่าเราชนะแล้ว เราชนะแล้ว เพิ่นว่า ขณะนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลก็มานั่งฟังธรรมอยู่ กับพุทธบริษัทนั้น ก็จึงเรียกพราหมณ์คนนั้นมาหาแล้วถามดูว่า ท่านเอาชนะอะไรถึงว่า กล่าววาจาออกอาจหาญ ถึงปานนี่ ว่างั้น พราหมณ์นั้นก็ทูลพระเจ้าปเสนทิโกศลว่า ข้าพระองค์เอาชนะความตระหนี่ ความหวงแหน ในผ้าห่มผืนนั้นได้ ถึงกับได้เอาถวายพระศาสดาเลย ดีใจหลายจึงได้เปล่งวาจาอย่างนี้ออกมา ว่างั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็อนุโมทนา สาธุการด้วย แล้วบัดนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็มีความเลื่อมใสในพราหมณ์คนนั้นว่าเป็นนักเสียสละอันยอดเยี่ยม จึงได้สั่งให้ราชบุรุษ ให้เสมียนคลัง ไปเอาผ้ามามอบให้แก่พราหมณ์คนนั้นอีกสี่ผืน เอ๊า พอรับจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้แล้วก็เอาไปถวายแด่พระพุทธเจ้าหมดเสียเลย พระเจ้าปเสนทิโกศลเห็นอย่างนั้น นะ ก็สั่งให้เสมียนคลังไปเอามาอีกแปดผืน พราหมณ์ก็เอาไปถวายพระพุทธเจ้าหมดทั้งแปดผืนเลย บัดนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศล สั่งให้เอาผ้ากำพล ที่มีราคาตั้งแสน กหาปนะ ก็หมายเข้าใจว่าก็แสนบาทนี้แหละ สองผืนเลยบัดนี้มาให้แก่พราหมณ์ เมื่อพราหมณ์ได้รับแล้ว ก็คิดว่า อื้ม ถ้าหากว่าเราจะ เอาถวายพระศาสดาในขณะนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็จะเสียพระทัย จะทรงตำหนิเรา เอาแหละ ตอนนี้เราก็จะต้องรับเอาไว้เสียก่อน ต่อไปค่อยคิดกันใหม่
พราหมณ์ นั้นก็รับเอาผ้าสองผืนนั้นไว้ พอเลิกลาจากการฟังธรรมไป เสร็จแล้ว พราหมณ์นั้นก็เลยเอาผ้ากำพลสองผืนนั้น ผืนหนึ่งเอาทำขึงเป็นเพดาน ตรงที่พระองค์ทรงประทับนั่งแสดงธรรม ผืนหนึ่งเอาไปทำเพดานที่ฝ้าคันธกุฎี ห้องที่พระองค์เจ้าประทับนั่งรับแขก วันต่อมาพระเจ้าปเสนทิโกศลไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ถึงพระคันธกุฎี ก็ไปเห็นผ้ากำพลผืนนั้น ก็จึงทูลถามพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ทรงตรัสว่า พราหมณ์คนนั้นแหละ เอามาขึงไว้ที่นี้ ว่างั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลก็นึกชื่นชมยินดี ในพราหมณ์ผู้นั้นอย่างแรงกล้า แหม พราหมณ์คนนี้ก็ช่างเป็น นักเสียสละเอาซะจริงๆ เอาละ ถ้าอย่างนั้นเราจะประทานสมบัติให้พราหมณ์คนนี้ ให้มัน เรียกว่าเป็นคนมั่งมีขึ้นมาเลย เมื่อกลับพระราชวังแล้วก็สั่งให้ ราชบุรุษไปนำเอา พราหมณ์นั้นไปเฝ้าที่พระราชวัง ก็ได้สั่งให้ราชบุรุษ เอ้า จัดการนำเอาสิ่งของ มามอบให้แก่พราหมณ์คนนี้ สิ่งละสี่ ละสี่ สมมุติว่า อย่างช้างก็สี่เชือก ควายก็สี่ตัว วัวก็สี่ตัวงี้แหละ เงินทองก็เห็นจะเป็นสี่อะไรก็ไม่รู้แหละ สี่ชั่งหรือว่าสี่แสนก็ไม่รู้ เรียกว่าสมบัติสิ่งละสี่ ละสี่ แต่สำคัญละก็บ้านส่วย สี่หมู่บ้าน สี่หมู่บ้านนั้นได้มอบให้แก่พราหมณ์นี้ได้เก็บภาษีอากรเอา มาใช้สอยเลย เอ้า ภรรยาก็สี่คน บัดนี้นะ เป็นอย่างงั้นไป พราหมณ์นั้นก็เลยกลายเป็นคนมั่งมีศรีสุขในปัจจุบันนั้นนี้ ที่แสดงมานี่ เพื่อให้เป็นที่ระลึกนึกคิดของผู้ฟังทั้งหลายว่า ขึ้นชื่อว่ากิเลสตัณหานี่ มันเหนียวแน่นเอาเสียจริงๆ นั่นแหละสำหรับผู้มีปัญญา มีศรัทธา มีปัญญาอย่าง พราหมณ์สาดก คนนี้น่ะ แม้เข้าจะเป็นคนจน แต่เขาก็มีปัญญา เชื่อบุญเชื่อบาปได้ ดังนั้นนะเมื่อเขารู้ว่า เขาเป็นคนจน เพราะไม่ได้ทำบุญมาแต่ก่อน เมื่อในปัจจุบันชาตินี้ ถ้าหากว่าไม่ทำบุญอีกก็จะยิ่งต่ำลงไปกว่านี้ ก็จึงตัดสินใจสละของที่ติดตัวอยู่เท่านั้น ผ้าห่มผืนเดียว ถวายพระพุทธเจ้าได้ นี่ ยากที่บุคคลจะทำได้อย่างนี้ นั่นแสดงว่าพราหมณ์ได้สละความโลภ ความตระหนี่ ออกจากจิตใจได้ พราหมณ์นั้นมีพร้อมหมด ให้ทานก็มี ศีลก็มี ภาวนาก็มี บัดนี้ ก็จึงสามารถทำบุญที่สำคัญ ที่บุคคลส่วนมากทำไม่ได้ ก็เพราะไม่มีครบสามอย่าง เหมือนอย่างพราหมณ์คนนั้น พราหมณ์คนนั้นเพื่อนมีครบทั้งสามอย่าง ถ้าไม่มีภาวนาเนี่ย ไฉนจะเอาชนะความตระหนี่ ความหวงแหนได้พระ ศาสดาทรงตรัสว่า ถ้าพราหมณ์คนนี้ตัดสินใจสละผ้าห่มผืนนั้น ถวายพระองค์ตอนหัวค่ำ จะได้รับทานจากพระเจ้าปเสนทิโกศล สมบัติสิ่งละ สิบหก สิบหกอย่างนู้น ถ้าหากว่าพราหมณ์คนนี้ไปตัดสินใจ ถวายผ้าห่ม แด่พระศาสดาตอนเที่ยงคืน ก็จะได้รับพระราชทานสมบัติ จากพระเจ้าปเสนทิโกศลนั้น สิ่งละแปด ละแปด แต่บัดนี้ พราหมณ์นั้นไม่สามารถที่จะสละได้ ทั้งสองยามนั้น ไปสละเอาได้ยามที่สามนู้น หัวรุ่งนู้น อานิสงส์มันก็เลยอ่อนลง ก็จึงได้รับพระราชทานสมบัติจากพระเจ้าปเสนทิโกศล สิ่งละสี่ ละสี่ เท่านั้นเองนี่ ละพูดถึงการทำบุญกุศลนี่ มันก็ย่อมมีผลแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดทางจิตใจ ขอให้เข้าใจกันไว้ผู้ทำบุญทั้งหลายนะ เป็นความจริงนะ บางคนน่ะ พอคิดว่าจะให้ทานของสิ่งนี้ อย่างนี้ เอ้า กิเลสความหวงแหนมันก็วิ่งมาสกัดไว้เสีย เอ๊า ให้เพื่อนก็หมดตัวซี่ อย่างนี้แล้วถอย ให้ไม่ได้ อย่างนี้ก็มี เอ้า คิดไปคิดมาหลายครั้งเข้า มันสู้กับกิเลสได้ ก็จึงตัดสินใจให้ทานได้ มีอยู่ถมไปละ แต่บางคนน่ะ ไม่เป็นอย่างว่านี้ พอคิดว่าจะให้อย่างนี้แล้วก็ตัดสินใจให้ได้ทันทีเลย อย่างนี้ก็มี นี่การให้การบริจาคนี่ มันก็ขึ้นอยู่กับ ความรู้สึกนึกคิด ความตัดสินใจของแต่ละบุคคลนะ มันเป็นอย่างงั้น ผู้ใดตัดสินใจให้ได้ตามความคิด ที่เกิดขึ้นในเบื้องต้นอย่างนี่ เวลาผลมันอำนวยให้ มันก็อำนวยให้ได้รวดเร็วนะ ไม่ชักช้า แล้วให้... ให้ผลมากๆเสียด้วย มันเป็นอย่างนั้น ดังนั้นนะ การทำบุญกุศล ทำความดีนี่ ว่าแต่ทำจริงๆลงไป อย่างใดอย่างหนึ่งลงไปแล้วนี่ ไอ้สองอย่างนั้นมันก็รวมกำลังกันเข้าอยู่ในนั้นแหละอย่าง ว่าให้ทานได้อย่างเนี้ย แต่ว่าต้องให้ทานได้ถึงสองอย่างนะ มันถึงมีศีลด้วย มีภาวนาด้วย คือให้ทาน ให้อภัยทานด้วย นอกจากให้วัตถุสิ่งของแล้ว หมายความว่า เมื่อเราให้ทานวัตถุสิ่งของไปแล้ว ใครมายกโทษติเตียน ดุด่าว่ากล่าวอะไรในทางที่ไม่ดีไม่งาม เราก็ให้อภัยเขาไปเลย ไม่ตอบโต้ ไม่โกรธตอบ อย่างนี้นะ เพราะว่า มันมองเห็นแล้วว่า ชีวิตของสัตว์โลกทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงไม่ยั่งยืนอะไร ความตายเป็นของเที่ยงของยั่งยืน จะไปโกรธกันไปทำไม เพราะร่างกายอันนี้มันจะแตกจะดับอยู่ ไม่จำเป็นต้องไปโกรธกันหรอก ไม่จำเป็นต้องไปคิดฆ่าคิดแกงกัน ถึงเวลามันแตกมันดับมันก็แตกไปเองมัน ร่างกายอันนี้ จึงไม่จำเป็นนะ ต้องไปโกรธไปผูกโกรธกันไว้ ผู้มีปัญญาผู้คิดได้อย่างนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่า ได้บำเพ็ญข้อปฏิบัติถึงสามอย่างเลย เอ้าทานก็มีแล้ว ศีลก็มี บัดนี้นะ ภาวนาก็มีการ ที่จะพิจารณาเห็นว่า สังขารร่างกายเป็นของไม่เที่ยง มีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ไม่ใช่ตัวตนเราเขาอะไรอย่างนี้นะ มันก็เป็นทางภาวนา ทางวิปัสสนาญาณ อย่างนี้แหละ เพราะฉะนั้นมันจึงมีอานิสงส์มากอย่างนี้นะ มันจึงมีบุญกุศลมาก บางคนทำบุญให้ทาน ไม่ได้ดำริตริตรองอะไรมากมาย พอคิดว่าจะให้ทานก็ให้ไปอย่างนั้นแหละ อย่างนี้อานิสงส์มันก็ไม่มากพอนะ ถ้าผู้ใดจะให้ทานลงไปแล้วมาดำริตริตรองในใจ จนว่ามีเหตุผล เรื่องการให้การบริจาคนั้นมาปรากฏในใจแจ่มแจ้ง ว่า.. การที่เรามีสมบัติ อย่างนี้มา แล้วอย่างนี้ก็ มองดูแล้วก็เหลือใช้เหลือจ่ายอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้เราก็จะต้อง แบ่งสรรปันส่วนให้ทาน เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นบ้าง เพราะสมบัติเหล่านี้ ตายแล้วก็ไม่ได้เอาติดตัวไปเลย แล้วเมื่อมาหวงแหนอยู่อย่างนี้ มันก็ไม่มีประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากว่าเมื่อตนตายลงไปแล้วก็ตกเป็นของทายาท ไปเท่านั้นเอง เอ้าทายาท ถ้าเป็นลูกเป็นหลานสืบมรดก ถ้าไปโดนลูกหลานที่ไม่ดีเข้าไป เขาก็มรดกนั้นไปขาย เอาเงินไปใช้จ่ายป่นปี้ไปหมด มรดกที่พ่อแม่แบ่งให้นั้นก็หมดไปเลย นั้นหมู่นี้ มันเป็นของไม่แน่นอนเลย ดังนั้นการที่ผู้ฉลาด เมื่อมีสมบัติมาแล้วต้องคิด แบ่งกินแบ่งทานไป ให้มันตามกำลังเท่าที่หาได้ มันก็เป็นบุญเป็นกุศล เป็นหนทางพ้นทุกข์ไปได้ ผู้มีปัญญาคิดอ่านอย่างนี้แล้วเกิดปีติขึ้นในใจ แล้วให้ทานไปอย่างนี้นะ มันก็มีผลมากมีอานิสงส์มาก มันเป็นอย่างนั้นดัง นั้นเรียกว่าการให้ทานเหมือนกัน แต่ว่าเมื่อผลมันอำนวยให้มันยิ่งมันหย่อนกว่ากัน เพราะอะไรล่ะ ให้ทานวัตถุอย่างเดียวกัน ราคาเท่ากันอย่างนี้นะ แต่บางคนก็ได้ผลมากกว่า ก็เพราะมันอาศัยสติ อาศัยปัญญาอย่างว่านี้แหละ การพิจารณาใคร่ครวญในใจขึ้น จนมองเห็นผลแห่ง... การให้การบริจาคทานนั้นแจ่มแจ้ง เกิดปีติปราโมทย์ในใจอย่างแรง ผู้ให้แบบนี้นะ มันก็มีอานิสงส์มากกว่าผู้ให้ไปธรรมดา ไม่เกิดปีติปราโมทย์ในใจอะไรเลยอย่างนี้นะ มันก็มีอานิสงส์น้อยกว่า มันเป็นอย่างนั้น เพราะฉะนั้นผู้ให้ทานทั้งหลายนะ เมื่อได้ฟังอุบายอย่างนี้แล้ว ก็พึงฝึกจิตใจของตน ให้เกิดความคิดความวิจารณ์ เรื่องการให้การบริจาคทานหมู่นี้ ให้มันเห็นแจ้ง อย่างที่ว่ามานั้นเรื่อง การรักษาศีลก็เหมือนกันนะ ถ้าไม่ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล ของการรักษาศีลนั้นว่า มีผลมีประโยชน์อย่างไร การรักษาศีลนี้ ถ้าไม่รักษาศีลนี้จะมีโทษมีทุกข์อย่างไรบ้าง ถ้าไม่น้อมเอาเรื่องศีลนี้มาพิจารณาให้เห็นโดยแจ่มแจ้งด้วยปัญญาแล้ว ผู้นั้นก็จะไม่เต็มใจในการรักษาศีลเลย นะ ถึงว่ารักษาก็ได้หรอก ชั่วครู่ ชั่วยาม แล้วก็ หมดไปแล้วศีลนั้นน่ะ ไม่.. ไม่สม่ำเสมอไปได้ นะ ถ้าผู้ใดได้มาน้อมใจพิจารณาดู ไอ้เรื่องศีลที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พุทธบริษัท สมาทานแล้วปฏิบัติตามนั้นน่ะ แท้จริงนะมันเป็นข้อบังคับกายวาจา ให้ประพฤติในสิ่งที่ดีงาม ไม่ให้ไปเบียดเบียน บุคคลอื่นและสัตว์อื่นให้เป็นทุกข์เดือดร้อนนี้ ข้อศีลต่างๆนั้นนี่ การที่คนเราน่ะ ไปเบียดเบียนบุคคลอื่นและสัตว์อื่นให้เป็นทุกข์เดือดร้อน ให้ล้มให้ตายอย่างนั้น มันก็เป็นกรรมเป็นเวร ตามสนองให้เป็นทุกข์ไปในภพในชาติต่อไป
เหตุผล ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลหรือวินัย ให้แก่พุทธบริษัท ทั้งภิกษุ สามเณร ทั้งทายก ทายิกา ก็มีอย่างนี้เอง นั่นแหละ สำหรับภิกษุสามเณรนั่นแหละเรียกกว่า สงฆ์บัญญัติ ข้อห้ามให้ละเอียดถี่ถ้วนไปกว่าชาวบ้าน เพราะว่าเป็นอุดมมะเพศ เป็นผู้มีเพศอันอุดม เป็นผู้มีความประพฤติอันละเอียดอ่อนเข้าไป อย่างนี้ เพื่อให้ได้หลุดพ้นจากทุกข์ภัยในสงสารไปได้โดยรวดเร็ว กว่าผู้ครองเรือน จึงได้ทรงบัญญัติข้อห้าม เกี่ยวกับความประพฤติทางกาย ทางวาจาไว้มากกว่าชาวบ้าน นี่ มันต้องให้เข้าใจผู้เป็นนักบวชข้อนี่ ตนสมัครใจอยากจะเพียรพยายามละกิเลส ให้มันหมดไปสิ้นไปจากจิตนี้โดยเร็ว ไม่อยากให้ตกเป็นทาสของกิเลสตัณหานี่ไปนมนาน ก็จึงได้น้อมตัวเข้ามา ขอบวชในพุทธศาสนานี้ ต้องให้เข้าใจอย่างนั้นถ้า หากว่าบุคคลไม่คิดเห็นโทษของกิเลสตัณหา ไม่คิดอยากจะละกิเลสตัณหาอย่างว่านี้ มาบวชตามประเพณีนิยมเฉยๆนั่น มันก็ไม่ได้อานิสงส์มาก ไม่ได้อานิสงส์มากแล้ว ดังนั้นนะ ต้องน้อมใจไปให้มันถูกทาง การบวชมันถึงได้อานิสงส์มาก นี้แหละข้อปฏิบัติในพุทธศาสนานี้นะ ล้วนแต่เป็นเครื่องกำจัดกิเลสตัณหา ความโลภ ความโกรธ ความหลง มานะ ทิฐิ สรรพสังกิเลสต่างๆให้น้อยเบาบาง หมดไปสิ้นไปจากจิตใจนี้ทั้งนั้นเลยไม่ได้มุ่งอย่างอื่นเลย การปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้านะ ขอให้พากันเข้าใจ


ดังแสดงมา ก็สมควรแก่เวลา ขอยุติลงเพียงเท่านี้

คัดลอกจาก ประตูธรรม http://www.dharma-gateway.com/monk/p...p-hrien_17.htm
__________________
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 281-284)
.
ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ เมื่อพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอาศัยกรุงพันธุมดี ประทับอยู่ในมฤคทายวันอันเกษม ก็จุติจากเทวโลกไปเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ตระกูลหนึ่ง.
ก็ในครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสี ตรัสพระธรรมเทศนาทุกๆ ปีที่ ๗ ได้มีความโกลาหลใหญ่หลวง. เทวดาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป ได้บอกพราหมณ์นั้นว่า พระศาสดาจักทรงแสดงธรรม. พราหมณ์ได้สดับข่าวนั้น.
พราหมณ์นั้นมีผ้านุ่งอยู่ผืนเดียว นางพราหมณีก็เหมือนกัน แต่ทั้งสองคนมีผ้าห่มอยู่ผืนเดียวเท่านั้น จึงปรากฏไปทั่วพระนครว่า เอกสาฎกพราหมณ์. เมื่อพวกพราหมณ์ประชุมกันด้วยกิจบางอย่าง ต้องให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองไป. เมื่อ (ถึงคราว) พวกพราหมณีประชุมกัน ตนเองต้องอยู่บ้าน นางพราหมณีห่มผ้านั้นไป (ประชุม).
ก็ในวันนั้น พราหมณ์พูดกะพราหมณีว่า แม่มหาจำเริญ เธอจักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน. พราหมณีพูดว่า พวกฉันชื่อว่าเป็นหญิงแม่บ้าน ไม่อาจฟังกลางคืนได้ขอฟังกลางวันเถิด แล้วให้พราหมณ์อยู่เฝ้าบ้าน (ตนเอง) ห่มผ้านั้นไปตอนกลางวันพร้อมกับพวกอุบาสิกา ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฟังธรรมแล้วกลับมาพร้อมกับพวกอุบาสิกา. ทีนั้น พราหมณ์ได้ให้พราหมณีอยู่บ้าน (ตนเอง) ห่มผ้านั้นไปวิหาร.
สมัยนั้น พระบรมศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ท่ามกลางบริษัท ทรงจับพัดอันวิจิตร ตรัสธรรมกถาประหนึ่งทำสัตว์ให้ข้ามอากาศคงคา และประหนึ่งทรงกระทำเขาสิเนรุให้เป็นโม่กวนสาคร ฉะนั้น.
เมื่อพราหมณ์นั่งฟังธรรมอยู่ท้ายบริษัท ปีติ ๕ ประการเกิดขึ้นเต็มทั่วสรีระในปฐมยามนั่นเอง พราหมณ์นั้นดึงผ้าที่ตนห่มออกมาคิดว่า จักถวายพระทศพล. ครั้งนั้น ความตระหนี่ชี้โทษถึงพันประการเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้นว่า พราหมณีกับเรามีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น ผ้าห่มผืนอื่นไรๆ ไม่มี ก็ธรรมดาว่าไม่ห่มก็ออกไปข้างนอกไม่ได้จึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง.
ครั้นเมื่อปฐมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้น แม้ในมัชฌิมยาม พราหมณ์คิดเหมือนอย่างนั้นแล้วไม่ได้ถวายเหมือนเช่นนั้น.
ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้นแม้ในปัจฉิมยาม. พราหมณ์นั้นคิดว่า เป็นไรเป็นกัน ค่อยรู้กันทีหลัง ดังนี้แล้วดึงผ้ามาวางแทบพระบาทพระบรมศาสดา. ต่อแต่นั้น ก็งอมือซ้ายเอามือขวาตบลง ๓ ครั้งแล้วบันลือขึ้น ๓ วาระว่า ชิตํ เม ชิตํ เม ชิตํ เม (เราชนะแล้วๆ).
สมัยนั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งสดับธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ อันธรรมดาพระราชาไม่ทรงโปรดเสียงว่า ชิ ตํ เม ชิ ตํ เม จึงส่งราชบุรุษไปด้วยพระดำรัสว่า เธอจงไปถามพราหมณ์นั้นว่า เขาพูดทำไม.
พราหมณ์นั้นถูกราชบุรุษไปถาม จึงกล่าวว่า คนอื่นนอกจากข้าพเจ้า ขึ้นยานคือช้างเป็นต้น ถือดาบและโล่หนังเป็นต้น จึงได้ชัยชนะกองทัพข้าศึก ชัยชนะนั้น ไม่น่าอัศจรรย์ ส่วนเราได้ย่ำยีจิตตระหนี่แล้ว ถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระทศพล เหมือนคนเอาฆ้อนทุบหัวโคโกงที่ตามมาข้างหลัง ทำให้มันหนีไป ชัยชนะของเรานั้นจึงน่าอัศจรรย์.
ราชบุรุษจึงไปกราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชา.
พระราชารับสั่งว่า พนาย พวกเราไม่รู้สิ่งที่สมควรแก่พระทศพล พราหมณ์รู้ จึงให้ส่งผ้าคู่หนึ่ง (ผ้านุ่งกับผ้าห่ม) ไปพระราชทาน.
พราหมณ์เห็นผ้าคู่นั้นแล้วคิดว่า พระราชานี้ไม่พระราชทานอะไรเป็นครั้งแรกแก่เราผู้นั่งนิ่งๆ เมื่อเรากล่าวคุณทั้งหลายของพระบรมศาสดาจึงได้พระราชทาน จะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับผ้าคู่ที่อาศัยพระคุณของพระบรมศาสดาเกิดขึ้น จึงได้ถวายผ้าคู่แม้คู่นั้นแด่พระทศพลเสียเลย.
พระราชาตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอย่างไร ทรงสดับว่า พราหมณ์ถวายผ้าคู่ แม้นั้นแด่พระตถาคตเท่านั้น จึงรับสั่งให้ส่งผ้าคู่ ๒ ชุดแม้อื่นไปพระราชทาน. พราหมณ์นั้นได้ถวายผ้าคู่ ๒ ชุดแม้นั้น. พระราชาทรงส่งผ้าคู่ ๔ ชุดแม้อื่นไปพระราชทาน ทรงส่งไปพระราชทานถึง ๓๒ คู่ด้วยประการอย่างนี้.
ลำดับนั้น พราหมณ์คิดว่า การทำดังนี้เป็นเหมือนให้เพิ่มขึ้นแล้วจึงจะรับเอา จึงถือเอาผ้า ๒ คู่ คือเพื่อประโยชน์แก่ตนคู่ ๑ เพื่อนางพราหมณีคู่ ๑ แล้วถวายเฉพาะพระทศพล ๓๐ คู่.
จำเดิมแต่นั้น พราหมณ์ก็ได้เป็นผู้สนิทสนมกับพระบรมศาสดา.
ครั้นวันหนึ่ง พระราชาทรงสดับธรรมในสำนักของพระบรมศาสดาในฤดูหนาว ได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงสำหรับห่มส่วนพระองค์มีมูลค่าพันหนึ่งกะพราหมณ์ แล้วรับสั่งว่า จำเดิมแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้ากัมพลแดงผืนนี้ฟังธรรม. พราหมณ์นั้นคิดว่า เราจะประโยชน์อะไรกับผ้ากัมพลแดงนี้ ที่จะน้อมนำเข้าไปในกายอันเปื่อยเน่านี้ จึงได้ทำเป็นเพดานเหนือเตียงของพระตถาคตในภายในพระคันธกุฏี แล้วก็ไป.
อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในที่ใกล้พระบรมศาสดาในพระคันธกุฏี ก็ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการกระทบที่ผ้ากัมพล ผ้ากัมพลก็บรรเจิดจ้าขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็จำได้จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ๆ ให้เอกสาฎกพราหมณ์.
มหาบพิตร พระองค์บูชาพราหมณ์ พราหมณ์บูชาอาตมภาพ.
พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร เราไม่รู้ จึงพระราชทานสิ่งที่เป็นของเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกอย่างๆ ละ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ให้เป็นของประทานชื่อว่า สัพพัฏฐกทาน แล้วทรงตั้งให้เป็นปุโรหิต. พราหมณ์นั้นคิดว่า ชื่อว่าของ ๘ ชนิด ๘ ครั้งก็เป็น ๖๔ ชนิด จึงตั้งสลากภัต ๖๔ ที่ให้ทาน รักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในสวรรค์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น