++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

หมาดุ!ก็เหมือนลูกเลี้ยงไม่ดีก็กัดชาวบ้าน


หมากัดคนไม่เป็นข่าว แต่คนกัดหมากลับเป็นข่าว๐ คำพูดประโยคดังกล่าว ดูจะไม่เป็นความจริงเสียแล้ว เพราะในปัจจุบัน ไม่เคยมีข่าวคนกัดหมา มีแต่ข่าวหมากัดคน


เหตุการณ์ล่า เด็กชายมานพ บุตรศิริ อายุ 6 ขวบ โดนหมาร็อตไวเลอร์ 2 ตัวรุมกัดจนเป็นแผลเหวอะหวะ ต้องเย็บรวมกว่า 70 เข็ม เหตุเกิดในท้องที่ สน.บางชัน


ผศ.เจตน์ศักดิ์ แสงสิงแก้ว นักวิชาการทางด้านสื่อสารมวลชน ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คลุกคลีกับร็อตไวเลอร์มาเป็นระยะเวลานาน ยอมรับว่าเศร้าและสะเทือนใจไม่น้อยกว่าพ่อแม่เด็ก


อาจารย์เจตน์ศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า สุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ มีต้นกำเนิดสมัยยุคโรมัน สมัยนั้นมีการทำสงครามเพื่อแย่งชิงอาณาจักร การเดินทัพจำเป็นต้องต้อนฝูงวัวควายให้เดินตามกองทัพ กองทัพเอาวัวควายมาเป็นเสบียง


พอสงครามสงบ สุนัขคุมฝูงวัวควายบางส่วน ตกค้างอยู่ที่แคว้น Rottweil ปัจจุบันเป็นเมืองหนึ่งในประเทศเยอรมนี


ต่อมา พ่อค้าเนื้อสัตว์ ต้อนฝูงวัวควายไปขายยังเมืองอื่นๆ ก็เอากระเป๋าเก็บเงินมาผูกกับคอของสุนัข เพื่อป้องกันการแย่งชิงจากโจร


สุนัขเหล่านี้ ถือว่าเป็นบรรพบุรุษของ สุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ ในปัจจุบัน


สุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ เริ่มต้นพัฒนาสายพันธุ์อย่างจริงจัง ตั้งแต่ราวปี ค.ศ.1907-1910 ในประเทศเยอรมนี ปี ค.ศ.1920 มีการจัดตั้งสมาพันธ์ สุนัขร็อตไวเลอร์ เรียกสั้นๆว่า ADRK


ในประเทศไทย ปัจจุบันมีสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสมาคมพัฒนาพันธุ์สุนัข (ประเทศไทย) ประมาณ 6,635 ตัว


ตัวเลข 6,635 ตัว ดูจะเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่อาจารย์เจตน์ศักดิ์ กลับมองว่าตัวเลขนี้จะไม่มีการลดลง นับวันจะเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการขยายตัวของสังคมและสภาพเศรษฐกิจ


สิ่งที่น่าตกใจ เหตุร้าย มีร็อตไวเลอร์เป็นจำเลย มีอยู่อย่างเป็นระยะ ทั้งที่ความจริง...ความผิดน่าจะเกิดจากตัวเจ้าของสุนัข ที่ไม่เข้าใจถึงธรรมชาติของสัตว์อย่างดีพอ


อาจารย์เจตน์ศักดิ์ กล่าว


ธรรมชาติของสัตว์ทุกชนิด สัญชาตญาณเดิมอยู่ในตัวคือ การล่า ไม่ว่าจะเป็นการล่ากันเองเพื่อความอยู่รอด หรือการล่าเพื่อหาอาหาร


แต่เมื่อสัตว์ต่างๆ เหล่านั้น ได้รับการพัฒนาสายพันธุ์จนกลายเป็น สัตว์เลี้ยง พฤติกรรมการล่า จะเริ่มหมดไป กลายเป็น การเล่น หรือการหยอกล้อ


สุนัขเป็นสัตว์ฝูง อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ในฝูงๆหนึ่งย่อมมีตัวใดตัวหนึ่งแข็งแรงที่สุด ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำฝูง หรือ จ่าฝูง นั่นคือการแบ่งลำดับชั้นตามธรรมชาติของสุนัข


ต่อมาสุนัขพัฒนาสายพันธุ์มาเป็นสัตว์เลี้ยง จำเป็นต้องเปลี่ยน ฝูงใหม่ คือมาอยู่กับฝูงคนแทน อาจารย์เจตน์ศักดิ์บอกว่า


ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก คนที่เลี้ยงสุนัขประเภทเสี่ยง ต้องทำตัวเป็นจ่าฝูงที่ดีให้ได้


ควรจัดลำดับชั้นของสุนัข ให้อยู่ในระดับที่ต่ำสุดของบ้าน ไม่ควรตามใจจนเกินไป รักได้ แต่ต้องมีความพอดี เมื่อสุนัขทำผิดควรลงโทษทันที


สาเหตุที่ต้องทำอย่างนี้ เพื่อเป็นการปรามพฤติกรรมก้าวร้าวให้อยู่ในระดับที่ควบคุมได้


ปัจจัยที่ทำให้เจ้าของเป็นจ่าฝูงที่ดี เจ้าของต้องเริ่มทำตั้งแต่สุนัขยังเล็กๆ เช่น ต้องคอยให้อาหาร มอบความรัก ดูแลเอาใจใส่ ในยามเจ็บป่วยต้องพาไปหาหมอ ฝึกฝนให้รู้จักสังคมภายนอก และเข้ากับสังคมให้ได้


สุนัขเป็นสัตว์ที่มีจิตใจละเอียดอ่อนมาก โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ร็อต-ไวเลอร์ สมมุติว่ามีการเล่นชักเย่อกับเจ้าของ แล้วเจ้าของแพ้ไม่สามารถสู้แรงได้ ร็อตไวเลอร์จะรู้สึกว่า เจ้าของไม่ได้เก่งหรือเหนือไปกว่าตัวของเขาเอง เจ้าของไม่สามารถปกป้องเขาได้ ไม่ใช่จ่าฝูงของเขา


ส่งผลให้ร็อตไวเลอร์ตัวนั้นๆไม่เชื่อฟังเจ้าของ


การเลี้ยงสุนัขประเภทที่มีความเสี่ยง เจ้าของต้องมีสถานที่หรือบริเวณ ให้กับเขาพอสมควร ให้มีพื้นที่เดินเล่น วิ่งออกกำลังกาย ไม่ให้เครียด ต้องมี คนอยู่บ้านกับเขาทั้งวัน อย่าให้เขารู้สึกโดดเดี่ยว และต้องรู้นิสัยสุนัขของตัวเองว่าเป็นอย่างไร


อาจารย์เจตน์ศักดิ์ย้ำว่า


ถ้าหากรู้ว่าไม่สามารถควบคุมสุนัขได้ สุนัขมีนิสัยเกเร ดื้อ ได้ โปรดอย่าพาสุนัขออกไปเดินนอกบ้าน เพราะเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ


นายณัติวัฒน์ สินเหลือ หนึ่งในคณะกรรมการสมาคมพัฒนาพันธุ์ สุนัข (ประเทศไทย) มองปัญหาดังกล่าวว่า เป็นเพราะเจ้าของขาดการเอาใจใส่อย่างดีพอ การเลี้ยงสุนัขพันธุ์เสี่ยงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อย่าคิดว่ามีเงินแล้วจะเลี้ยงได้


เป็นความจริงที่ต้องยอมรับ...มีเจ้าของสุนัขไม่น้อย มักซื้อสุนัขพันธุ์เสี่ยงเพื่อไปประดับบารมี พอเห็นคนอื่นเขามีจึงอยากมีบ้าง พอไปถึงบ้านจับใส่กรงขัง สุนัขจึงเกิดความเครียด


และอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วง ธรรมชาติของเด็ก เป็นวัยที่มีความซน อยากรู้อยากลอง การเข้าไปแหย่ไปแกล้งสุนัข ยั่วยุให้สุนัขโกรธ ไม่ใช่เรื่องดีเลย พ่อแม่ต้องช่วยให้คำแนะนำกับบุตรหลาน


ณัติวัฒน์เปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนอีกว่า มนุษย์เองมีทั้งคนดีและคนชั่ว ถามว่า...ฆาตกรที่ฆ่าคนตาย ปล้นฆ่าข่มขืนนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะไม่ได้รับการอบรมที่ดีพอ ไม่ได้รับการปลูกฝังจริยธรรมใช่หรือไม่


คนที่ได้รับการอบรมและปลูกฝังจริยธรรมอย่างดี โอกาสที่จะเข้าไปทำเรื่องร้ายๆ นั้น มีน้อยมาก สุนัขก็เช่นเดียวกัน หากได้รับการฝึกมาอย่างดี ได้รับการดูแลเอาใจใส่มาอย่างดี ปัญหาตรงนี้ก็จะลดน้อยลงไป


ทางออกของณัติวัฒน์ ก็คือ อยากให้รัฐบาลออกร่างกฎหมายมารองรับ บังคับใช้กับคนที่มีสุนัขพันธุ์เสี่ยง ให้ได้รับการฝึกและอบรมก่อนในเบื้องต้น


อบรมทั้งสุนัขและเจ้าของ โครงการฝึกสุนัขโครงการนี้ใช้ชื่อว่า BH TEST ปัจจุบันยังเป็นโครงการนำร่อง ได้รับความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์


ในต่างประเทศ เช่นประเทศเยอรมนี ใช้โครงการแบบนี้มานาน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ คนที่จะเอาสุนัขมาจูงบนถนน หรือในที่สาธารณะได้ จะต้อง ได้รับการฝึกมาก่อน


สุนัขที่ผ่านการฝึก อาจจะมีสัญลักษณ์ห้อยที่คอ ประเทศไทยควรนำ โครงการนี้มาปรับใช้ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว ดีกว่าแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เสนอออกกฎหมายเพิ่มโทษเจ้าของสุนัข ในกรณีที่สุนัขไปกัดคนอื่น


พ.ต.ท.ภาสวัชร์ ศรีทัย อดีตนายตำรวจประจำกองกำกับการสุนัขตำรวจ เรียกร้องให้เจ้าของสุนัขพันธุ์ที่มีความเสี่ยง นำสุนัขเข้ารับการฝึกเพื่อให้สุนัข อยู่ในสังคมได้อย่างสันติ ใช้เวลาฝึกในเบื้องต้นประมาณ 8-10 สัปดาห์


เจ้าของสุนัขเป็นหัวใจหลักของการแก้ปัญหา การให้ความรัก การเอาใจใส่ การฝึกฝน และการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ไม่ทอดทิ้ง น่าจะเป็นทางออกและวิถีทางที่ดีที่สุด


เหมือนเรามีลูก เราไม่มีเวลาเลี้ยงลูก ให้แต่เงิน ไม่ให้ความรักและความเข้าใจ สักวันหนึ่งลูกอาจเดินมาบอกว่า พ่อครับ แม่ครับ ผมติดยา เข้าตำรา พ่อแม่รังแกฉัน


สุนัขก็เหมือนกัน เราให้แต่อาหาร ไม่ให้ความรัก ไม่ดูแล ไม่ฝึกฝน สักวันหนึ่ง มันก็อาจจะออกไปก่อเหตุการณ์ร้ายๆ เหมือนที่เกิดแล้ว และจะเกิดต่อไปอีก


สุนัขก็เหมือนเด็กเล็ก เสมือนผ้าขาว แล้วแต่เจ้าของจะแต่งแต้มสีสัน โปรดช่วยกันดูแล บรรจงวาดสีสวยๆ ลงไปในผ้าขาวผืนนี้ ประการสำคัญ ไม่รักสุนัขจริง อย่าไปคิดเลี้ยงเขาเลย


พ.ต.ท.ภาสวัชร์ทิ้งท้าย...


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น