++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

พัฒนาพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ขึ้นสู่ระดับซูเปอร์ด้วยฝีมือนักวิจัยไทย


ในโลกการค้าที่ต้องแข่งขัน ชิงความได้เปรียบ ความเป็นหนึ่งกันอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ งานวิจัยมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างความได้เปรียบ ความโดดเด่นให้สินค้าของประเทศไทย โดยเฉพาะ ข้าว พืชเศรษฐกิจสำคัญของไทย ที่นำรายได้เข้าประเทศปีละมหาศาล


ไทยเป็นแค่ประเทศเล็กๆ แต่กลับส่งออกข้าวไปเลี้ยงประชากรทั่วโลก ยิ่งปัจจุบันวิวัฒนาการการผลิตก้าวหน้าไปมาก จากเคยปลูกได้แค่ปีละหน ฝนละรอบ ก็ปรับเปลี่ยนมาทำปีละสองสามรอบ พลอยให้โรคและศัตรูพืช อย่างโรคไหม้ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่อดๆอยากๆ พัฒนาตัวเองตามไปด้วยเช่นกัน


โดยนอกจากโรคและศัตรูพืชที่คอยพัฒนาตัวเองตามมาติดๆแล้ว ชาวนาไทยยังต้องเสี่ยงกับภัยพิบัติที่ไม่รู้ว่าปีไหนฝนแล้ง น้ำท่วม เรียกว่ายิ่งกว่านักเสี่ยงโชคเสียอีก!!!


นับเป็นปัญหาที่ชาวนาไทยต่อสู้มาหลายทศวรรษ แต่หลังจากนี้ไป ชาวนาไทยได้มีเฮกันบ้าง หลังจากที่นักวิจัยไทยได้ค้นพบยีน ทนน้ำท่วม-ยีนทนแล้ง ยีนต้านทานโรคไหม้คอรวงยีนต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และยีนความหอมในข้าวขาวดอกมะลิ 105 ได้แล้ว


เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รองผู้ อำนวยการหน่วยค้นหายีนข้าว ศูนย์พันธุวิศวกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า เป็นการค้นพบ โดยใช้เทคโนโลยีการคัดเลือกโมเลกุลโดยใช้โมเลกุลเครื่องหมาย DNA เป็นเทคนิคการปรับ ปรุงพันธุ์แบบปกติ ไม่ใช่ การตัดต่อยีน และจากการค้นพบดังกล่าว จะทำให้นักวิจัยสามารถพัฒนาพันธุ์ต้านทานโรคและศัตรูพืชดังกล่าว ตลอดจนได้พันธุ์ข้าวทนน้ำท่วมไปปลูกในพื้นที่ชุ่มน้ำ พันธุ์ข้าวทนแล้งสำหรับปลูกในพื้นที่แห้งแล้ง เป็นต้น


การวิจัยเน้นพัฒนาข้าว 2 สายพันธุ์คือ ขาวดอกมะลิ และ กข.6 (ข้าวเหนียว) ทั้งนี้ เนื่องจากเป็นพันธุ์ข้าวส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะ ข้าวขาวดอกมะลิ 105 ที่ต้องพัฒนาให้มีลักษณะและความหอมเหมือนเดิม ซึ่งขณะนี้นักวิจัยไทยค้นพบยีนควบคุมความหอมได้แล้ว ต่อไปจะทำให้หอมกว่าเดิม (Super Jasmine Rice) ก็ย่อมได้ และความหวังที่จะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป


ความก้าวหน้าในเรื่องข้าวที่นำเสนอในวันนี้เป็น หนึ่งในหัวข้อที่ไทยจะนำเข้าร่วม การประชุมวิชาการนานาชาติว่าด้วยข้าวเพื่ออนาคต ครั้งที่ 1 ซึ่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 ก.ย.47 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี ม.เกษตรฯ บางเขน ในการประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอ ผลงานวิจัยความก้าวหน้าการพัฒนาเทคโนโลยีและพันธุวิศวกรรมข้าว ตลอดจนการปรับปรุงคุณภาพข้าวจากนักวิชาการต่างประเทศด้วย โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดการประชุม ในวันที่ 1 ก.ย. เวลา 09.00 น.


ในการนี้คณะกรรมการจัดการประชุมได้ขอ พระราชทานพระราชานุญาต ทูลเกล้าฯถวายเหรียญสดุดี The Pearl Rice Medal เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมกันนี้จะมีการพระราชทานรางวัล The Golden Sickle Award แก่นักวิชาการผู้มีคุณูปการต่อการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับข้าวระดับโลก 3 รายด้วย ได้แก่ Prof.Yuan Longping จากประเทศจีน-ผู้เป็นเสมือนสัญลักษณ์ของข้าวลูกผสม, Dr.John C.O\'Toole จากสหรัฐฯ นักวิจัยที่ทุ่มเทชีวิตให้กับข้าวทนแล้ง และ Dr.Takuji Sasaki จากญี่ปุ่น ผู้ที่ทำให้การถอดรหัสข้าวประสบความสำเร็จ.


ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น