++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2548

การเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ

จารุวรรณ นิพพานนท์
ภาควิชาสุขศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น



1.บทนำ
การเฝ้าระวังพฤติกรรมทางสุขภาพ (Health behavior surveilance) เป็นกระบวนการหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการแก้ไข และป้องกันปัญหาสาธารณสุขเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาสาธารณสุขที่มีสาเหตุโดยตรงมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม ของบุคคล ในการแก้ไข หรือการป้องกันพฤติกรรมสุขภาพที่ยังเป็นปัญหาจำเป็นที่จะต้องป้องกันที่ พฤติกรรมของบุคคล ไม่ให้มีวิถีชีวิตที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค ทั้งที่เป็นโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ ซึ่งสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพโดยตรง จึงจำเป็นจะต้องทราบว่า กลุ่มประชากรใดมีพฤติกรรมสุขภาพเสี่ยงต่อการเกิดโรค จึงจะสามารถให้คำแนะนำ หรือดำเนินการแก้ไขได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและทันการณ์ ในขณะเดียวกันก็ติดตามแนวโน้มของประชาชนที่เกี่ยวกับการมีพฤติกรรมสุขภาพ ที่ไม่เหมาะสม เสี่ยงต่อการเกิดโรคนั้นๆ เพื่อหาหนทางควบคุมและป้องกัน หรือแก้ไขพฤติกรรมสุขภาพดังกล่าวต่อไป

2. ความสำคัญและความจำเป็นของการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
ปัญหาสาธารณสุข เกิดขึ้นได้จากปัจจัยต่างๆ และส่วนใหญ่นั้นจะเกิดจากตัวมนุษย์ (Host) เป็นผู้กระทำ หรือมีพฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ มากกว่าสิ่งที่ทำให้เกิด (Agent) และสิ่งแวดล้อม (Environment)

สาเหตุหลักของปัญหาสาธารณสุข (Direct or primary cause) มาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง / ไม่เหมาะสมของบุคคล มากกว่าที่จะมาจากพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมสุขภาพเสี่ยง (Health risk behavior) ของบุคคลจะเป็นดัชนีชี้วัด สถานการณ์ปัจจุบัน และแนวโน้มของปัญหาสาธารณสุขว่ามีการป่วย การตาย ภาวะความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ และพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ รวมทั้งสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ซึ่ง การป่วยการตายนั้น จะปรากฏอย่างชัดเจน เปรียบเสมือนกับก้อนน้ำแข็งที่ปรากฏเหนือน้ำ ส่วนภาวะเสี่ยงพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม เปรียบเสมือนก้อนน้ำแข็งที่ยังไม่เหนือน้ำ

3. ความหมายของการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
การเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ หมายถึง การรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล และแปลผลข้อมูลตามประเด็นของดัชนีพฤติกรรมสุขภาพที่ต้องการเฝ้าระวังของ กลุ่มเป้าหมายในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง อาจจะมีการรวบรวมข้อมูลครั้งเดียวหรือรวบรวม ข้อมูลเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีการคล้ายการเก็บข้อมูลเชิงสำรวจ

4. วัตถุประสงค์ของการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
1. เพื่อให้มีข้อมูลที่สามารถแสดงลักษณะประชากรที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมสุขภาพ
2. เพือให้มีข้อมูลที่สามารถแสดงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
3. เพื่อให้มีข้อมูลที่สามารถแสดงการปรับตัวหรือการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมสุข ภาพของกลุ่มเป้าหมาย ที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและทางสังคมในรูปของกิจกรรม ที่จงใจทดลอง และหรือในรูปของกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
4. เพื่อให้มีข้อมูลเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพมาใช้ในการประกอบการตัดสินประสิทธิผลของกิจกรรมการเปลี่ยน พฤติกรรมสุขภาพ และใช้ประกอบการประเมินผลพฤติกรรมสุขภาพ
5. เพื่อให้มีข้อมูลเสนอแนะแก่ผู้จัดทำโครงการว่า ควรใช้กิจกรรมและงบประมาณแก่กลุ่มเป้าหมายใด เป็นสัดส่วนอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์มากที่สุด
6. เพื่อให้มีข้อมูลใช้ในการจัดทำการคาดประมาณแนวโน้มของสถานการณ์ทางพฤติกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาสาธารณสุขต่างๆ

5. ประโยชน์ของการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาสาธารณสุข คือ
1. การใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานสุขศึกษา หรือการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพในลักษณะดังนี้
- ใช้ในการวางแผนสุขศึกษา เมื่อข้อมูลที่ได้บ่งชี้ว่าพฤติกรรมสุขภาพที่ทำให้เกิดปัญหามีการเปลี่ยน แปลงไปในทางลบ หรือไม่ลดลงตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
- ใช้ในการระบุกลุ่มเป้าหมายที่ยังเป็นปัญหา หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงมาก
- ใช้ในการประเมินผลสุขศึกษา เมื่อข้อมูลที่ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมสุขภาพที่เป็น ผลมาจากการดำเนินงานสุขศึกษา
- ใช้ในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ เมื่อข้อมูลที่ได้บ่งชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินงานสุข ศึกษา ในเรื่องใดเป็นการเฉพาะ

2. การใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานสาธารณสุขในลักษณะดังนี้
- การกำหนดนโยบายในการดำเนินงานสาธารณสุข โดยเน้นการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ หรือการบริหารจัดการโครงการได้
- การกำหนดเป้าหมายของการดำเนินงานสาธารณสุข
- การกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในงานสาธารณสุข
- การวางแผนและดำเนินการป้องกันมิให้เกิดขึ้น มิให้เพิ่มขึ้นหรือให้ลดลงในระยะสั้น ระยะปานกลาง หรือระยะยาว

6.รูปแบบการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
การเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพสามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ การเลือกใช้รูปแบบโดยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรือใช้รูปแบบผสมนั้น ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมสุขภาพที่ต้องการเฝ้าระวังและปัญหาสาธารณสุขที่ถูก กำหนดโดยพฤติกรรมสุขภาพ โดยจำแนกรูปแบบของการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพตามวิธีการได้ 5 รูปแบบ ดังนี้

1. การสำรวจเร่งด่วน (Rapid survey) โดยการสัมภาษณ์หรือการทอดแบบสอบถาม
2. การทำการสังเกต (Observation) โดยการเฝ้าติดตามสังเกตพฤติกรรม และปัจจัยของพฤติกรรมสุขภาพตลอดเวลาหรือเป็นระยะๆแล้วแต่กรณี ซึ่งเป็นการสังเกตจากภายนอก
3. การเข้าไปเป็นสมาชิกของครอบครัว ชุมชนและสังคม (Membership involvement) เป็นการสังเกตอย่างหนึ่งซึ่งเป็นการสังเกตจากภายใน และเป็นไปตามบริบทของบุคคลที่อาศัยอยู่ในครอบครัว กลุ่ม ชุมชน หรือสังคมที่ต้องการเฝ้าระวัง
4. การทำแผนที่พฤติกรรม (Behavioral mapping) โดยการจดบันทึกข้อมูลที่ได้พบเห็นจากบุคคล ครอบครัว ชุมชน เกี่ยวกับพฤติกรรมสุขภาพที่ระบุถึงพื้นที่และช่วงเวลา แล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อพิจารณาการกระจายขอบเขต และกลไกทางพฤติกรรม และความสัมพันธ์ของพฤติกรรมสุขภาพกับปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
5. การใช้ข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary data) เป็นการใช้ข้อมูลจากบุคคล และเอกสารที่มีอยู่แล้วในลักษณะของข้อมูลทุติยภูมิ ได้แก่ ข้อมูลในระบบรายงาน

7. กระบวนการการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
กระบวนการการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ดังนี้

7.1 การจัดทำแผนการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 6 ประการ คือ

1. การกำหนดปัญหาสาธารณสุขที่ต้องการเฝ้าระวัง
สำหรับปัญหาสาธารณสุขที่กำหนดนั้น มีพฤติกรรมสุขภาพอะไรที่เป็นตัวกำหนดปัญหา หรือพฤติกรรมสุขภาพที่เฝ้าระวังนั้นเป็นพฤติกรรม ที่ทำให้เกิดปัญหาหรือเป็นสาเหตุของปัญหา ได้แก่ พฤติกรรมเสี่ยงเฉพาะปัญหา พฤติกรรมเสี่ยงร่วม พฤติกรรมในกรอบนโยบาย พฤติกรรมที่เป็นสาเหตุโดยตรงของปัญหา แล้วจัดลำดับความสำคัญของพฤติกรรมสุขภาพแต่ละอย่างในลักษณะของการทำให้เกิด ปัญหาสาธารณสุข จากนั้นพิจารณาถึงพฤติกรรมสุขภาพ ที่ต้องการสำหรับการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข หากประสงค์ที่จะทราบ สถานการณ์ของปัญหาในปัจจุบัน หรือแนวโน้มในอนาคต ให้กำหนดพฤติกรรมจากกลุ่มพฤติกรรมสุขภาพที่ทำให้เกิดปัญหา และควรกำหนดพฤติกรรมจากกลุ่มพฤติกรรมสุขภาพที่ต้องการสำหรับการแก้ไขปัญหา

นอกจากนั้นพฤติกรรมสุขภาพที่กำหนดนั้นจะเป็นพฤติกรรมเดี่ยว หรือหลายพฤติกรรมก็ได้ แล้วแต่กรณีและพฤติกรรมสุขภาพที่กำหนดต้องอยู่ในลักษณะที่กำหนดตัวชี้วัดได้ รวมทั้งสามารถวัดได้ด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยากและไม่ซับซ้อน

2. การกำหนดตัวชี้วัดสำหรับใช้ในการเฝ้าระวัง
สามารถกำหนดตัวชี้วัดพฤติกรรมสุขภาพได้ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยพิจารณาว่าตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้นสามารถบ่งบอกให้เห็นถึงสภาพของพฤติกรรม ที่ต้องการเฝ้าระวังได้ตลอดเวลา และตัวชี้วัดที่กำหนดขึ้นสามารถวัดได้ โดยกำหนดนิยามเชิงปฏิบัติ (Operation al definition) ไว้อย่างชัดเจน ดังตารางที่ 1

ตารางที่ 1 ตัวชี้วัดสำหรับการเฝ้าระวังทางพฤติกรรมสุขภาพ

ตัวชี้วัดทางพฤติกรรม
การบ่งชี้ถึงปัญหาสาธารณสุข
การกินปลาดิบหลังการตรวจอุจจาระ และได้รับการกินยาบำบัดพยาธิแล้ว ของประชาชน
  • การติดโรคพยาธิใบไม้ตับซ้ำ ซึ่งจะเพิ่มโอกาส ในการป่วยเป็นโรคมะเร็งของท่อน้ำดีในตับให้สูงขึ้น
  • ความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับไม่ลดลง
การกินปลาสุกในกลุ่มหนุ่มสาว หรือกลุ่มวัยรุ่น
  • การลดลงของพยาธิใบไม้ตับในระยะ 3-5 ปี
การกินยาบำบัดโรคพยาธิปากขอของประชาชน
  • การลดความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับ
การถ่ายอุจจาระในส้วมทุกครั้ง ของประชาชนในหมู่บ้าน / ชุมชน
  • การลดลงของการแพร่โรคพยาธิปากขอ
การนอนในมุ้งของประชาชน
  • การลดการติดโรคมาลาเรีย
การนอนในมุ้งชุบน้ำยาเคมี
  • การลดการแพร่โรคมาลาเรียในชุมชน
การไปรับการตรวจโลหิตภายใน 7 วัน หลังกลับออกมาจากป่า หรือพื้นที่ที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรีย
  • การลดการแพร่โรคมาลาเรียในชุมชน
การใช้ทรายอะเบทและการดูแลควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ ยุงลายของประชาชนในแต่ละ หมู่บ้านก่อนฤดูการแพร่โรคไข้เลือดออก
  • การเป็นโรคและการแพร่โรคไข้เลือดออกในชุมชน
การมี ORS ไว้ใช้ประจำบ้านในครอบครัวทั่วไป
  • การลดลงของ Reported case ของโรคอุจจาระร่วงในกลุ่มประชากรเป้าหมาย
การนำเด็กไปรับวัคซีนตามกำหนด
  • การบรรลุเป้าหมายของการป้องกันและควบคุมโรค ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน
การนำสุนัขไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
  • การปลอดโรคพิษสุนัขบ้า
  • ปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า
การป่วยซ้ำด้วยโรคที่ป้องกันได้ของประชาชนในระยะเวลา 1 ปี
  • ปัญหาสาธารณสุขในชุมชน ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ
การล้างมือก่อนกินอาหารและหลังเข้าส้วม
  • ปัญหาสุขภาพในช่องปากลดลง
การฝากครรภ์และตรวจครรภ์ตามนัด
  • สุขภาพของแม่และเด็กดีขึ้น
การดื่มน้ำยาไอโอดีน และการบริโภคเกลืออนามัย
  • ภาวะโรคขาดสารไอโอดีนลดลง
การปรับปรุงครัวตามหลักสูตรสุขาภิบาลอาหาร
  • โรคระบบทางเดินอาหาารลดลง
การกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูลในบ้านและในชุมชน
  • โรคระบบทางเดินอาหารลดลง
การบริโภคอาหารพร้อมรับประทานที่ใส่ถุงกระดาษใช้แล้ว การบริโภคอาหารใส่สี การใช้ผงชูรสใส่อาหาร
  • การคุ้มครองผู้บริโภคด้านอาหารยังไม่ได้ผล
การซื้อยารับประทานโดยไม่ทราบสาเหตุของโรค หรือการเจ็บป่วย
  • การคุ้มครองผู้บริโภคด้านยา ยังไม่ได้ผล
การออกกำลังกาย การพักผ่อน การนันทนาการ
  • การลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ
การสูบบุหรี่
  • การเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อในระยะ 5 - 10 ปี
การขับรถหรือโดยสารรถคู่กับคนขับโดย ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และการไม่สวมหมวกนิรภัย เมื่อขับขี่รถจักรยานยนต์
  • การป้องกันอุบัติเหตุในระดับทุติยภูมิ (Secondary Prevention) ไม่ได้ผล
การใช้รถใช้ถนน โดยฝ่าฝืนกฏจราจร
  • การป้องกันอุบัติภัยในระดับปฐมภูมิ (Primary Prevention) ไม่ได้ผล
การมีเพศสัมพันธ์ ในระหว่างบุคคลที่มิได้เป็นสามี ภรรยา โดยฝ่ายชายไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
  • การควบคุมโรคเอดส์ ยังไม่ได้ผล
การขาดการทักทาย และปฏิสันฐานกันในระหว่างคนที่รู้จักกัน ในการพบกันแต่ละวันหรือ แต่ละครั้ง
  • เป็นปัจจัยเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิต
การพูดคุยปรึกษาหารือกันในระหว่าง สมาชิกในครอบครัว อย่างเป็นกันเอง เปิดเผยและสนุกสนาน
  • การลดลงของปัญหาสุขภาพจิตในชุมชน
การดูแลผู้สูงอายุ และกิจกรรมของผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัย
  • การตายอย่างสง่างามของประชากรเป้าหมาย
ฯลฯ
ฯลฯ


3. การกำหนดรูปแบบและวิธีการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
การกำหนดรูปแบบและวิธีการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ควรพิจารณาถึงตัวชี้วัดที่ใช้สำหรับการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ขอบเขตของการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ และระยะเวลาที่ใช้สำหรับ การเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งจะทำให้ตัดสินใจได้ว่า ควรจะใช้รูปแบบใด จึงจะเหมาะสมกับความต้องการของการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ

4. การกำหนดพื้นที่สำหรับการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
การกำหนดพื้นที่สำหรับการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพจะแตกต่างกันไปตามลักษณะ ของพฤติกรรมสุขภาพที่ต้องการเฝ้าระวัง โดยมีหลักการว่า ข้อมูลที่ได้จากการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ สามารถจะนำมาวิเคราะห์ผลและแปรผลได้ ซึ่งอาจจะเป็น หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด เขต ภาคหรือประเทศ ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะนำข้อมูลของพฤติกรรม สุขภาพไปแปรผลได้ในระดับใด และความต้องการของการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพแต่ละพฤติกรรม

5. การกำหนดช่วงเวลาสำหรับการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
การกำหนดช่วงเวลาสำหรับการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ขึ้นอยู่กับลักษณะของพฤติกรรมสุขภาพ และความรวดเร็วของการเปลี่ยน แปลงพฤติกรรม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของปัญหาสาธารณสุข ดังนั้นในการพิจารณาว่า พฤติกรรมสุขภาพแต่ละพฤติกรรมจะได้รับการเฝ้าระวังในเวลาใด หรือในช่วงเวลาใดบ้าง จึงต้องทำการวิเคราะห์จากปัญหาสาธารณสุขเป็นสำคัญ โดยอาจเป็นรายเดือน, ทุก 3-6 เดือน รายปี ทุก 2-3 ปี หรือทุก 5 ปี เป็นต้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพการเปลี่ยนแปลงของปัญหาและความทันการณ์ที่จะวางแผน และดำเนินการแก้ไขแต่ละปัญหา

6. การกำหนดตัวบุคคลที่ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ
การกำหนดตัวบุคคลที่ดำเนินการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ขึ้นอยู่กับระดับพื้นทั่และขอบเขตของ ปัญหาสาธารณสุขที่มีกรเฝ้าระวังทางพฤติกรรมสุขภาพ โดยมีข้อพิจารณาดังนี้ ถ้าเป็นการเฝ้าระวังทางพฤติกรรมสุขภาพ ในระดับหมู่บ้าน หรือ ตำบล ควรดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของสถานีอนามัยหรือ โรงพยาาลชุมชน ในระดับอำเภอ ควรดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอหรือโรวพยาบาลชุมชน ในระดับจังหวัด ควรดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำหรับในภาคหรือในภาพรวมของประเทศ ควรดำเนินการโดยบุคลากรของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับเขต หรือในส่วนกลาง

7.2 การเก็บรวบรวมข้อมูล

การรวบรวมข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ได้มาจากทั้งข้อมูลในระดับรายงาน (ข้อมูลทุติยภูมิ) และการรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมาย (ข้อมูลปฐมภูมิ) วิธีการเก็บหรือรวบรวมข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ ในปัญหาใดปัญหาหนึ่งจะต้องกระทำโดยไม่ยุ่งยาก และใช้เวลามากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่ต้องใช้ทักษะหรือความชำนาญเฉพาะ ความสำคัญของการรวบรวมข้อมูลอยู่ที่การรวบรวมข้อมูล ได้ครบถ้วน ถูกต้อง เป็นไปตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในแผน โดยมีการเตรียมการทำความเข้าใจ และซักซ้อมเกี่ยวกับข้อมูล ตัวชี้วัด วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล สิ่งที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ ได้แก่ พฤติกรรมที่ต้องการทราบ วิธีการเก็บข้อมูล ขนาดตัวอย่าง การเลือกตัวอย่าง และเวลา หรือช่วงเวลาที่กำหนด ตัวอย่างเช่น โครงการกรุงเทพสู้เอดส์ได้มีการวินิจฉัยชุมชน ระบุที่ตั้งของสถานที่และกลุ่มเป้าหมายไว้ค่อนข้างชัดเจน ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์ (2539) จึงทำการเลือกสถานที่ โดยการสุ่มตัวอย่างอย่างไม่เจาะจง แล้วจึงใช้วิธีกำหนดสัดส่วนของสถานที่ตามเกณฑ์ที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และงบประมาณของโครงการ นอกจากนี้ การเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลไม่ได้ยึดหลักการเป็นตัวแทนกลุ่มประชากร แต่ยึดหลักว่า ในแต่ละกลุ่มที่ต้องการเฝ้าระวังน่าจะมีกลุ่มผู้ทำพฤติกรรมนั้นๆ จำนวนอย่างต่ำ 50 คน เพื่อสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบในเชิงสถิติต่อไปได้

การเก็บข้อมูลเป็นระยะๆ หรือเป็นรอบ การเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเป็นระยะ เช่น ปีละหนึ่งหรือสองครั้ง เป็นเรื่องจำเป็น ระยะห่างระหว่างรอบอาจขึ้นกับสมมติฐานหรือข้อมูลเดิมที่มีอยู่ และขึ้นกับงบประมาณ ในการเก็บข้อมูลนี้ที่ผ่านมามีการปฏิบัติเป็น 2 แบบ คือ การเก็บจากสถานที่เดิมทุกครั้ง หรือ เก็บจากสถานที่ใหม่ทุกครั้ง การเก็บทั้ง 2 แบบ มีข้อดีข้อเสียต่างกัน คือ

วิธีเก็บ
ข้อดี
ข้อเสีย
เก็บจากที่เดิมทุกครั้ง ประหยัดเวลาและงบประมาณ
มีความคุ้นเคยกับเจ้าของสถานที่ ทำให้มีการปรับปรุงการเก็บข้อมูลได้
เจ้าหน้าที่มีความคุ้นเคยกับสถานที่ ไม่เสียเวลาค้นหา
ทำให้มีความลำเอียงคงที่
ขนาดของเมืองเปลี่ยนไป หรือมีสถานที่มากขึ้น
เจ้าของสถานที่รำคาญ
เก็บจากสถานที่ใหม่ทุกครั้ง ทันสมัยและครอบคลุม
มีผู้ให้ข้อมูลที่หลากหลาย
มีโอกาสในการเกิดความลำเอียงได้น้อย
ต้องสำรวจพื้นที่ใหม่ทุกครั้ง
การประสานงานมากขึ้น
ทำให้มีความลำเอียงอื่นๆ แฝงอีกด้วย


การสร้างเครื่องมือหรือข้อคำถาม ที่ผ่านมาคณะผู้เชี่ยวชาญได้นำเอาเครื่องชี้วัดกลางในการป้องกันโรคติดต่อ ทางเพศสัมพันธ์มาเป็นกรอบในการสร้างคำถาม ในกระบวนการของการสร้างคำถาม ได้มีการนำวิธีการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) มาใช้เสริมการสร้างคำถามที่ความอ่อนไหว และเชื่อถือให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการทดสอบเครื่องมือ วิธีการสอบถาม และการอบรมและตรวจสอบคุณภาพการถามอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความลำเอียงน้อยที่สุด และมีความเชื่อถือได้มากที่สุด จากประสบการณ์ในการเก็บข้อมูลที่เป็นส่วนตัวมาก เช่น เรื่องเพศสัมพันธ์ทำให้พบว่า การให้ผู้ให้ข้อมูลที่เป็นหญิงโสดตอบเองและ ผิดผนึกหย่อบลงกล่องที่เตรียมไว้แล้ว จะเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ทั้งนี้ยังต้องมีการถามคำถามง่ายๆ นำก่อนอีกด้วย

ตัวอย่างคำถามที่มีการใช้กัน มี 2 แบบ
    แบบมีการถามนำ
  1. คุณเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงมาก่อนหรือไม่
    เคย
    ไม่เคย
    ไม่ตอบ
  2. คุณมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้หญิงครั้งแรกเมื่ออายุเท่าไร
    อายุ.....
    จำไม่ได้
    ไม่มีคำตอบ
  3. คุณเคยใช้ถุงยางอนามัยหรือไม่
    เคย
    ไม่เคย
    ไม่ตอบ
  4. คุณเคยมีประสบการณ์ถุงยางแตกขณะร่วมเพศหรือไม่
    เคย
    ไม่เคย
    ไม่รู้/ จำไม่ได้
    แบบไม่มีการถามนำ (คัดมาจากแบบสอบถามพนักงานชายในโรงงานของกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข)
  1. ท่านเคยร่วมเพศหรือไม่
    เคย
    ไม่เคย
  2. การร่วมเพศครั้งแรกของท่านใส่ถุงยางอนามัยหรือไม่
    ใส่
    ไม่ใส่
    จำไม่ได้
    ไม่เคยร่วมเพศเลย
ผู้สัมภาษณ์ จำเป็นต้องได้รับการอบรม แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีการศึกษาระดับสูงถึงระดับปริญญาตรี ทั้งนี้ขึ้นกับความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ กับผู้ให้ข้อมูล และการสร้างความเป็นกันเองมากกว่า นอกจากนี้ การให้ผู้สัมภาษณ์มีส่วนในการตรวจสอบข้อมูล กรอกข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ หรือวิเคราะห์ข้อมูลช่วยให้ผู้สัมภาษณ์ตระหนักถึง ความสำคัญของการมีข้อมูลที่สมบูรณ์ ตลอดจนช่วยในการอ่านและอธิบายผลการสำรวจได้เป็นอย่างดีด้วย

7.3 การวิเคราะห์ข้อมูล

เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลในเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ที่ต่อเนื่อนกันเป็นระยะๆ ตามที่กำหนดไว้สำหรับพฤติกรรมสุขภาพที่ใช้เป็นตัววัดปัญหาสาธารณสุขแต่ละ อย่าง ลักษณะของข้อมูลจึงเป็นแบบข้อมูลตัดขวาง (Cross - sectional data) จะวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของช่วงเวลาที่ผ่านมา และใช้วิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่จะได้รับในภายหลังต่อไปเป็นระยะๆ ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ และข้อมูลเชิงคุณภาพ

การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อมูลและวัตถุประสงค์ของการใช้ข้อมูลเพื่อการแปลผล เป็นสำคัญ การใช้สถิติเชิงพรรณา (Descriptive statistics) ได้แก่ การแจกแจงความถี่ การหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การหาค่าร้อยละหรือสัดส่วน นับว่า เพียงพอในการนำเสนอข้อมูลเบื้องต้น การทดสอบนัยสำคัญทางสถิติของ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาอาจทำได้เมื่อมีข้อมูลเพียงพอ แต่การนำเสนอจำเป็นต้องทำในรูปการเปรียบเทียบเป็นช่วงเวลา เป็น ตาราง หรือ แผนภูมิ เช่น

ตารางที่ 2 ร้อยละของผู้หญิงโสดที่มีเพศสัมพันธ์ใน 1 ปีที่ผ่านมา
กลุ่มเป้าหมาย
ร้อยละ
ขนาดตัวอย่าง (n)
รอบที่ 1
รอบที่ 2
รวม (คน)
พนักงานบริการ
%
7.6
11.7
368

n
172
196

พนักงานสำนักงาน
%
13.9
11.5
370

n
187
183

นักเรียนอาชีวะ
%
4.4
3.7
595

n
296
299



    การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ จำเป็นต้องกำหนดโครงสร้างของข้อมูลที่ได้รับ จากการเฝ้าระวังในลักษณะของการเรียงลำดับจากประเด็นใหญ่ ไปหาประเด็นย่อย ดังนี้
  • ประเด็นหลัก
  • ประเด็นรอง (ถ้ามี)
  • องค์ประกอบของประเด็นหลัก / ประเด็นรอง
  • สาระสำคัญของข้อมูลในแต่ละองค์ประกอบ
7.4 การแปลผลข้อมูล
    การแปลผลข้อมูลการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ เป็นการแปลความหมายของข้อมูลที่ได้ทำการวิเคราะห์แล้ว ข้อมูลที่ได้วิเคราะห์นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังพฤติกรรมหรือไม่ เพียงใด ขึ้นอยู่กับการแปลผลข้อมูล การแปลผลจะประกอบด้วยประเด็นสำคัญๆ ดังนี้
  • ข้อมูลที่ได้ คืออะไร
  • ข้อมูลที่ได้ หมายความว่าอย่างไร
  • ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นอะไร
  • ข้อมูลที่ได้มีความสัมพันธ์กับปัญหาหรือส่งผลต่อปัญหาสาธารณสุขอย่างไร
สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณ สามารถนำมาใช้ในการประเมินสถานการณ์ของพฤติกรรม เช่น ระดับของพฤติกรรม ส่วนข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้ในการประเมินศักยภาพของพฤติกรรมที่มีผลต่อปัญหา

8. บทสรุป

การเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพเป็นกระบวนการ การรวบรวม วิเคราะห์ และแปลผลข้อมูลพฤติกรรมสุขภาพ ตามดัชนีของพฤติกรรมสุขภาพอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีหลักการ แนวทาง หรือกระบวนการคล้ายกับการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยา แต่แตกต่างกันใน รายละเอียดของเนื้อหา ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลที่ได้จากการเฝ้าระวัง มีความแม่นยำตรง เชื่อถือได้ และให้ประโยชน์ในการนำไปใช้ในงานสุขศึกษา งานพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ และงานสาธารณสุข ได้แก่ การกำหนดดัชนีชี้วัดพฤติกรรมทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ รวมทั้งการกำหนดแผนการเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม
บรรณานุกรม

ชะนวนทอง ธนสุกาญจน์. 2539. เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง การเฝ้าระวังทางพฤติกรรมสำหรับผู้เข้ารับการอบรมนักบริหารระดับสูงของ กระทรวงสาธารณสุข, วันที่ 20 พฤษภาคม 2539.


สังคมของมนุษย์



1. บทนำ
เนืองจากมนุษย์เรา ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่อยู่รวมกันเป็นสังคม นักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยา ถือว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และพฤติกรรมของมนุษย์นั้น เป็นผลมาจากการหล่อหลอมกล่อมเกลาจากสังคมที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ สังคมมนุษย์เป็นไปตามลักษณะพื้นฐานทางธรรมชาติที่ส่งเสริมให้มนุษย์ ต้องอยู่ร่วมกันในสังคมเพียงส่วนเดียว แต่อีกส่วนหนึ่งที่ว่าด้วยวิธีการของการอยู่รวมกันนั้น ธรรมชาติมิได้กำหนดให้มาด้วย ส่วนนี้ที่อยู่นอกเหนือธรรมชาตินั้น มนุษย์กำหนดกันอย่างไร มีกาารตกลงหน้าที่การงานให้ประสานกันอย่างไร จึงอยู่รวมกันเป็นสังคมตลอดมา

2. ความหมายของสังคม
สังคมอาจใช้ 2 ความหมายด้วยกัน คือ ใช้ความหมายว่าเป็นกลุ่มใหญ่ชนิดหนึ่ง และใช้ในความหมายว่า เป็นลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างคนหรือกลุ่ม

2.1 สังคม : กลุ่มชนิดหนึ่ง

สังคมเป็นกลุ่มชนิดหนึ่ง (Society) เหมือนกับกลุ่มทั่วไปซึ่งประกอบด้วยลักษณะสำคัญเหมือนกัน คือ ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กันทั้งโดยตรงและโดยอ้อม มีกฏเกณฑ์ระเบียบเพื่อให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปได้ด้วยดี และสมาชิกต่างมีความรู้สึกว่า ตนเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม แต่กลุ่มสังคมเป็นกลุ่มที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างไปจากกลุ่มชนิดอื่น 5 ประการด้วยกัน คือ

1. สังคมเป็นกลุ่มในเชิงพื้นที่ สังคมจะมีเขตแดนทางภูมิศาสตร์ กลุ่มคนในสังคมเดียวกันย่อมสามารถระบุอาณาเขตพื้นที่นั้นได้

2. สังคมเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ๋กว่ากลุ่มชนิดอื่นๆ สังคมหนึ่งๆ จะประกอบขึ้นด้วยกลุ่มย่อยหลายชนิด เช่น กลุ่มตามเพศ และวัย กลุ่มตามอาชีพ รายได้ ระดับการศึกษาและกลุ่มผลประโยชน์ ตัวอย่างเช่น ชุมชน เป็นกลุ่มพื้นที่เหมือนสังคมแต่ถือว่าเป็นกลุ่มย่อยชนิดหนึ่ง เพราะมีขนาดเล็กกว่าสังคม ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุด

3. สังคมมีวัฒนธรรมหลักที่เห็นเด่นชัดออกมา สมาชิกของสังคมใดจะมีวัฒนธรรมหลักร่วมกัน เช่น ภาษาและกฏหมายเดียวกัน แต่กลุ่มย่อยในสังคม อาจมีวัฒนธรรมของตนแตกต่างไปได้บ้าง โดยปกติแล้วคนในสังคมเดียวกัน ไม่ค่อยรู้สึกถึงการมีวัฒนธรรมร่วมกันได้อย่างชัดเจนนัก จนกว่าจะมีวัฒนธรรมของสังคมอื่นมาเปรียบเทียบด้วย

4. สังคมเป็นกลุ่มที่มีความมั่นคงถาวรมากกว่ากลุ่มชนิดอื่นๆ สังคมมีสมาชิกใหม่ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ทดแทนสมาชิกเก่าที่ต้องตายไปจากสังคมได้ อายุของสังคมจึงยืนยาวเป็นชั่วชีวิตของคน โดยปกติแล้วการมีสมาชิกที่เกิดขึ้นใหม่ในแต่ละปี จะมีจำนวนมากกว่าสมาชิกที่เสียชีวิตไป สังคมจึงมีความถาวรเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง

5. สังคมเป็นกลุ่มที่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง มีความเป็นอิสระเอกเทศไม่จำเป็นต้องร่วมกับกลุ่มหรือหน่วยอื่น สังคมเป็นกลุ่มที่มีความสามารถตอบสนองความต้องการต่างๆ ของสมาชิกได้ค่อนข้างครบถ้วน โดยอาจไม่ต้องพึ่งพาสังคมอื่นมากนัก และสังคมสามารถดำรงตนเองโดยอาจไม่จำเป็นจะพึ่งกลุ่มอื่นได้มากกว่ากลุ่มใน ระดับอื่นๆ

2.1.1 กลุ่ม

จากที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า สังคมเป็นกลุ่มขนาดใหญ่กว่ากลุ่มชนิดอื่นๆ และสังคมหนึ่งๆจะประกอบด้วย กลุ่มย่อยหลายชนิด ในแต่ละกลุ่มย่อยจะมีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันแบบมีลักษณะที่แน่นอน สามารถสังเกตได้ ซึ่งจะทำให้ทราบถึงชนิดของกลุ่มว่า เป็นแบบใด เช่น กลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน กลุ่มอาชีพ กลุ่มศาสนา กลุ่มการเมือง สมาคม กลุ่มผลประโยชน์ ฯลฯ การที่บุคคลในกลุ่มเหล่านั้น จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายส่วนตัวหรือจุดมุ่งหมายของกลุ่ม สมาชิกในกลุ่มจะต้องมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด

1. ความหมายของกลุ่ม

kurt Lewin (1951) ได้ความหมายว่า กลุ่ม หมายถึง การรวมกันของแต่ละบุคคลซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน บุคคลจะปฏิบัติตนเพื่อให้กลุ่มบรรลุถึงจุดหมายที่ตั้งไว้

Lindgren (1973) ให้ความหมายว่า กลุ่มเกิดจากการที่บุคคลมีการสื่อความหมายซึ่งกันและกัน ตลอดจนมีแรงจูงใจและจุดมุ่งหมายปลายทางเหมือนกัน

Belkin และ Skydell (1977) ให้ความหมายว่า กลุ่มคือ การที่คนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป รวมตัวกันโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน

จากความหมายของกลุ่ม การที่คนมารวมกันเฉยๆ ย่อมไม่ก่อให้เกิดกลุ่ม เช่น คนที่ยืนรอรถประจำทางที่ป้ายด้วยกัน คนที่นั่งรถเมล์คันเดียวกัน คนไปมุงดูไฟไหม้ คนที่ไปยืนรอรับการตรวจที่โรงพยาบาล คนซื้อของในห้างสรรพสินค้า คนดูคอนเสิร์ต เป็นต้น จะถือเป็นเพียงการจัดประเภทของคนทีมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน (CAtegories) ในลักษณะที่คล้านคลึงกัน เราอาจนับได้แต่เพียงว่า เป็นกลุ่มคนที่มารวมกัน ไม่ถือว่าเป็นกลุ่มสังคม (Aggregation = A collection of anonymous individuals who are in one place at the some times) โดนอาจจะเรียกว่า เป็นพฤติกรรมรวมหมู่ หรือ พฤติกรรมร่วม (Collective behavior) คือ พฤติกรรมของคนจำนวนมากซึ่งไม่มีแบบแผนของ พฤติกรรมที่แน่นอนชัดเจน และไม่มีโครสร้างของความสัมพันธ์ทางสังคมของคนในกลุ่มนั้น พฤติกรรมประเภทนี้ประกอบไปด้วยฝูงชน (Crowd) ฝูงชนวุ่นวาย (Mob) จลาจล (Riot) ความแตกตื่น (Panic) ความเห่อตามกันและความคลั่งไคล้ (Fad and craze) ข่าวลือ (Rumor) ขบวนการสังคม (Social movement) มติมหาชน (Public opinion) การหยั่งเสียงหรือการสุ่มความเห็น (Poll) การออกเสียง (Vote) ประชามติหรือ Reforendum ความสมานฉันท์ หรือมติมหาชนที่มีลักษณะสอดคล้องต้องกัน (Consensus) การโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)

2. ประเภทของกลุ่ม แบ่งได้ดังนี้

2.1 แบ่งตามจำนวนสมาชิก
กลุ่มที่เล็กที่สุด (The smallest group) ซึ่งอาจเรียกว่า dyad จะมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 2 คน มีลักษณะการพึ่งพาซึ่งกันและกัน (Interdependence) และมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) สูงที่สุด กลุ่มเล็ก (Small group) จะมีจำนวนสมาชิก 4-20 คน สมาชิกกลุ่มจะมีปฏิสัมพันธ์แบบเผชิญหน้า (Face to Face) องค์กร (Organization) เป็นกลุ่มขนาดใหญ่ (Large group) มีจำนวนสมาชิกมาก มีความซับซ้อน (Complex group) และมีวัตถุประสงค์เฉพาะอย่าง เช่น มหาวิทยาลัย องค์การ โทรศัพท์ กระทรวงต่างๆ เป็นต้น

2.2 กลุ่มใน - กลุ่มนอก (In groups and out groups)
กลุ่มต่างๆที่เราเป็นสมาชิกและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งนั้นคือ กลุ่มในหรือกลุ่มเรา (We-groups) ส่วนกลุ่มอื่นที่เราไม่รู้สึกเป็นสมาชิกถือว่า เป็นกลุ่มนอก หรือกลุ่มเขา (They-groups) พฤติกรรมของบุคคลที่แสดงออกในฐานะกลุ่มในและกลุ่มนอก ย่อมจะแตกต่างกัน โดยกลุ่มในสมาชิกจะมีความสนิทสนมเป็นกันเอง มีความร่วมมือในกิจกรรมต่างๆ ส่วนความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่อยู่กลุ่มนอก อาจเป็นไปได้หลายลักษณะ ได้แก่ รู้สึกคุ้นเคย รู้สึกเฉยๆ หรือรู้สึกไม่ชอบ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอ้างอิง (Reference group) ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มใน หรือกลุ่มนอกก็ได้ บุคคลมักจะยึดกลุ่มอ้างอิง ในฐานะที่เป็นหลักฐานอ้างอิงในการแสดงทัศนะต่างๆ รวมทั้งการประพฤติปฏิบัติตัว กลุ่มอ้างอิงเป็นแหล่งที่ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยด้านจิตวิทยา บุคคลมักชอบใช้กลุ่มอ้างอิงให้ยอมรับพฤติกรรมที่แตกต่างกัน มากกว่าที่จะใช้ในฐานะที่เป็นสมาชิกกลุ่มใน หรือ กลุ่มนอก

2.3 กลุ่มปฐมภูมิ หรือ กลุ่มทุติยภูมิ (Primary and secondary group)
เป็นการแบ่งกลุ่มโดยพิจารณาจากแบบของความสัมพันธภาพ (Type of Relationship) ของคนที่อยู่รวมกันเป็นกลุ่มสังคม

กลุ่มปฐมภูมิ คือ กลุ่มที่มีลักษณะของสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกเป็นไปอย่างแนบแน่น (Intimate) และไม่มีลักษณะเป็นทางการ (Informal) มีความเป็นกันเอง (Personal) และสมบูรณ์ (Total) ในลักษณะที่ผูกพันกับชีวิตของบุคคลแทบจะทุกด้าน สมาชิกยอมรับซึ่งกันและกันตามแบบที่บุคคลนั้นเป็นอยู่ (As a person) กลุ่มปฐมภูมิ จึงเป็นกลุ่มที่สมาชิกมีความสัมพันธ์ติดต่อกันเป็นเวลานาน รู้จักเข้าใจกันและกันดี มีความเห็นอกเห็นใจและมีความผูกพันกันอย่างลึกซึ้ง

กลุ่มทุติยภูมิ คือ กลุ่มที่ลักษณะของสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกเป็นแบบทางการ (Formal) ไม่ยึดความผูกพันส่วนตัว (Inpersonal) มุ่ง ประโยชน์บางอย่างมากกว่าความพอใจที่จะได้จากความสัมพันธ์ (Utititarion) และเกี่ยวพันเฉพาะด้านของชีวิต (Segmental) นั้นคือ เป็นไปตามบทบาท (Role) ที่เป็นอยู่ในช่วงนั้น ไม่ผูกพันถึงเรื่องส่วนตัว หรือบุคลิกภาพอืนๆของสมาชิก กลุ่มทุติยภูมิจะเป็นลักษณะของกลุ่มขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกจำนวนมาก ต้องมีการจัดระเบียบองค์การที่เป็นทางการเพื่อรักษาระเบียบและควบคุม ประสิทธิภาพของหน่วยงาน เช่น องค์การ ราชการ สถาบัน บริษัท เป็นต้น

2.1.2 พัฒนาการของกลุ่ม

Tuckman (1965) ได้แบ่งพัฒนาการกลุ่ม ได้เป็น 5 ขั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 ก่อตัว (Forming) กลุ่มมารวมกันเป็นครั้งแรก สมาชิกอาจจะยังแปลกหน้ากันอยู่ จึงเป็นระยะที่เริ่มทำความรู้จักกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน มีบรรยากาศของความตื่นเต้นมองโลกในแง่ดี แต่มีความกังวลและความสับสนอยู่ด้วย สมาชิกกลุ่มจะสุภาพ อดทน ระมัดระวังในการแสดงความคิดเห็น

ขั้นที่ 2 ปะทะ (Storming) เมื่อระยะเวลาผ่านไปจะมีความสนินทสนมกันเพิ่มขึ้น ระยะนี้จะเป็นการแสดงความคิดเห็น การโต้ตอบ การโต้แย้ง แสดงอารมณ์ ความรู้สึก สมาชิกแต่ละคนยังมีความเป็นปัจเจกชนอยู่ ความร่วมมือยังไม่ดีนัก บางทีอาจมีการจับผิด จึงอาจมีความขัดแย้ง ไม่พอใจเกิดขึ้น จึงมักมีการละลายพฤติกรรม เพื่อลดความขัดแย้ง

ขั้นที่ 3 ลงตัว (Norming) หลังจากที่คนในกลุ่ม ได้แสดงความคิด อารมณ์ ความรู้สึกแล้ว สมาชิกต่างเริ่มเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีการยินยอมรับฟังเหตุผล เริ่มเกิดความสงบ ความขัดแย้งซึ่งบ่อนทำลายลดลง มีการปรับตัวยอมรับบรรทัดฐานของกลุ่ม สมาชิกกลุ่มเริ่มต้นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บทบาทของสมาชิกกลุ่มชัดเจน แต่ละคนปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมาย ระยะนี้จึงสามารถสร้างพลังกลุ่มได้

ขั้นที่ 4 ได้งาน (Preforming) สมาชิกกลุ่มเข้าใจจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเอง มีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างราบรื่น สามารถจัดการกับความขัดแย้งระหว่างบุคคลได้เป็นระยะที่กลุ่มลงมือปฏิบัติ งานตามที่กลุ่มตกลงกัน เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย เกิดผลงานของกลุ่มประสิทธิภาพของกลุ่ม พิจารณาได้จากความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่ม (Creative) ผลผลิตของกลุ่ม (Reproductivity) ความพอใจของสมาชิก (Satisfaction) การมีส่วนร่วมของสมาชิกกลุ่ม (Participation)

ขั้นที่ 5 ก่อตัวใหม่ (Reforming) มีสมาชิกใหม่เข้ามาร่วมกลุ่ม กำหนดเป้าหมายใหม่ของกลุ่มและพัฒนาการเป็นขั้นก่อตัวต่อไป

2.1.3 พลวัตของกลุ่ม

พลวัตรกลุ่มหรือพลังกลุ่มที่มีการเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง (Group dynamic) เนื่องจากการนำเอาปัจจัยภายใน ได้แก่ การให้กำลังใจ ความร่วมมือของสมาชิก ภาวะผู้นำ ความสามัคคีและมนุษยสัมพันธ์ รวมทั้งปัจจัยภายนอก ได้แก่ คน เงิน วัสดุอุปกรณ์ และการจัดการ มาใช้ในกระบวนการกลุ่ม พลวัตรกลุ่มจะเป็นสิ่งที่บอกให้ทราบถึงทิศทางของกลุ่ม เป็นตัวชี้วัด (Indicator) ทำให้ทราบการพัฒนาของกลุ่มเป็นไปอย่างรวดเร็ว หรือเชื่องช้า กลุ่มประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว พลวัตรกลุ่มพิจารณาได้จากปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม (Interaction) และสัมพันธภาพของสมาชิกในกลุ่ม (Relationship)

2.1.4 ปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ของสมาชิกภายในกลุ่ม

ปฏิสัมพันธ์มีลักษณะเป็นปฏิสัมพันธ์ภายในตัวบุคคล ได้แก่ ความรู้สึก ความติดภายในตัวบุคคล และปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีรูปแบบซึ่งเรียงตามการแสดงพฤติกรรมตั้งแต่แรกเริ่มที่พบกันในกลุ่ม และเป็นรูปแบบที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกันเพื่อถ่วงดุลย์ไม่ให้กลุ่มแตกแยกได้

ตารางแสดงความสัมพันธ์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม

1.Shows solidarity มีความเห็นร่วมกัน 12.Shows antagonism เกิดการต่อต้าน
2.Shows tension release ผ่อนคลายความตรึงเครียด 11.Shows tension เกิดความตึงเครียด
3.Show agreement เกิดความเข้าใจสอดคล้องกัน 10.Shows disagreement เกิดความไม่เข้าใจกัน
4.gives suggestion ให้คำแนะนำ 9.Asks for suggestion ขอคำแนะนำ
5.Gives opinion ให้ความคิดเห็น 8.Asks for opinion ขอความคิดเห็น
6.Gives information ให้ข้อมูล 7.Asks for information ขอข้อมูล


ในช่วงแรกของการมีปฏิสัมพันธ์กันจะเป็นไปด้วยดี (หมายเลข 1-9) ต่างฝ่ายล้วนมีไมตรีจิต รักษาน้ำใจ พยายามควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก เพราะยังมีความเกรงใจกันอยู่ ถ้าหากทิ้งเวลาไว้นานๆ จนเกินไปอาจจะเกิดมีความขัดแย้ง ไม่เห็นด้วย เพราะต่างฝ่าย ต่างมีความสนิทสนมกันแล้วความเกรงใจจะมีน้อยลง (หมายเลข 10-12)

2.1.5 สัมพันธภาพ (Relationship) ของสมาชิกภายในกลุ่ม

    สัมพันธภาพของบุคคลที่เกิดจากการมีปฏิสัมพันธ์ (Interaction) นั้นจะเกิดพันธะได้ 2 แบบ ได้แก่
  1. Expressives ties คือ พันธะที่ผูกพันกันด้วยอารมณ์ ความรู้สึกในด้านที่พึงประสงค์ มีการยอมรับ มีความรู้สึกปลอดภัย และมั่นคง
  2. Instrumental ties คือ พันธะที่ผูกพันกันด้วยหน้าที่ ให้ความร่วมมือทำงานร่วมกันได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ความสำเร็จของงาน แต่อาจไม่ชอบหน้ากันได้
2.1.6 การทำงานเป็นทีม

การทำงานเป็นทีม (Team) เปรียบได้กับทีมฟุตบอล หรือวงดุริยางค์ที่มีคนทำงานร่วมกันหลายคนในหน้าที่ต่างๆกัน สอดประสานกันไปสู่ความสำเร็จหนึ่งเดียว ตัวอย่าง แบบการทำงานเป็นทีมที่ดีเยี่ยมคือ ร่างกายคน

    การทำงานเป็นทีมที่ดีต้องมีหลัก 9 ประการ ดังนี้
  1. ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน
  2. ต้องเข้าใจว่าหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกันและต้องรับผิดชอบงานของตนอย่างเต็มที่
  3. ต้องรู้หน้าที่และบทบาทของคนอื่นด้วยจะได้ไม่ก้าวก่ายเขา แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเสริมกันและกัน
  4. ต้องไม่แย่งกันเป็นดารา ไม่ชิงดีชิงเด่นระหว่างกัน ไม่อิจฉากัน ไม่เอาหน้าคนเดียว
  5. ต้องลงมือทำไม่ใช่มีแต่คนชี้นิ้ว
  6. แต่ละคนต้องมีสถานะคล้ายๆกัน (ถ้ามีคนหนึ่งคนใดคิดว่าใหญ่กว่า สำคัญกว่า ไม่ใช่ทีม)
  7. ต้องรู้สึกว่า ต้องอาศัยกันและกัน มิฉะนั้นจะไม่ใช่ทีม
  8. ต้องสื่อสารกันได้อย่างเปิดเผยตลอดเวลา "โปร่งใส" และเชื่อใจไว้วางใจซึ่งกันและกัน
  9. ต้องมีภาวะผู้นำที่ดี
3. สังคม : ความสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างบุคคล

สังคมเป็นลักษณะการรวมความสัมพันธ์ทางสังคม ระหว่างสมาชิกในฐานะปัจเจกชนและฐานะกลุ่ม มนุษย์แสดงพฤติกรรมทางสังคมที่จะช่วยให้มีการดำเนินชีวิตอย่างอยู่รอด ปลอดภัยและมีความสุข โดยมาอยู่รวมกันเป็นหมู่เป็นกลุ่มเป็นสังคมนั้น มนุษย์มีความจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่น (Dependency) เพื่อให้ช่วยตอบสนองความต้องการต่างๆ ของตนเองที่บุคคลทุกคนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ เช่น เด็กทารกต้องพึ่งพาพ่อแม่ให้การเลี้ยงดูลูกจึงจะสามารถเติบโต ผู้สูงอายุต้องการให้ลูกหลานดูแลเอาใจใส่ เป็นต้น จึงทำให้มนุษย์มีการกระทำต่อกัน หรือปฏิสัมพันธ์กัน (Interaction) ซึ่งจะทำให้เกิดสภาพ การพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน (Interdependency) ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นจากสภาวะนี้เรียกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal relation) หรือมนุษยสัมพันธ์ หากเกิดขึ้นจนเป็นแบบแผนที่เข้าใจกันได้ระหว่างบุคคลและผู้ที่เกี่ยวข้องทำ ให้สามารถคาดหมายการกระทำของแต่ละฝ่ายได้อย่างชัดเจน เรียกว่าความสัมพันธ์ทางสังคม (Social relationship)

การมองสังคม ในแง่ความสัมพันธ์ของคนหรือกลุ่มจะมีลักษณะนามธรรม สังคมจะเป็นระบบความสัมพันธ์ที่อยู่เบื้องหลังของการกระทำระหว่างกันของ บุคคลในสังคม ทำให้สามารถมองระบบสังคมได้ 4 ลักษณะ ดังนี้

3.1 โครงสร้างสังคม

สังคมไทยแบ่งโครง สร้างเป็น 2 ส่วน คือ โครงสร้างเมือง และโครงสร้างชนบท

โครงสร้างสังคมเมืองและสังคมชนบท ประชากรร้อยละ 80 ของประเทศอยู่ในชนบท สังคมชนบทมีลักษณะที่สำคัญ ได้แก่ การรวมกลุ่มแบบอรูปนัย (Informal) ของกลุ่มปฐมภูมิ (Primary group) มีการติดต่อกันแบบตัวถึงตัว มีสภาพแวดล้อมของท้องถิ่นคล้ายคลึงกันทำให้สถานภาพและบทบาทของคนในชนบทไม่ แตกต่างกันมากนัก มีระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ มีการนับถืออาวุโส มีความเห็นอกเห็นใจกัน มีค่านิยมเกี่ยวกับศาสนาเป็นตัวควบคุมความประพฤติทางสังคม สถานภาพมีลักษณะจำเพาะของตัวบุคคล เช่น อายุ ความสามารถ คุณความดี ผู้นำในสังคมชนบท ได้แก่ พระ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ผู้อาวุโสที่ชาวบ้านเคารพนับถือ

สังคมเมืองมีข้อแตกต่างที่เด่นชัด ระหว่างสังคมชนบทกับสังคมเมือง ได้แก่ จำนวนกลุ่มและองค์การที่มีมากในสังคมเมือง สถานภาพทางสังคมของบุคคลในเมืองจะมีหลักเกณฑ์พิจารณาจากฐานะทางเศรษฐกิจ อำนาจ และความเกี่ยวข้องทางการเมือง รวมทั้งระดับการศึกษา

3.2 การจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม (Social stratification)

สังคมจะมีการจัดลำดับบุคคลในสังคม และมีการกำหนดสิทธิหน้าที่ตามตำแหน่งของบุคคลภายในสังคมแตกต่างกันไป หรือที่เรียกว่า สถานภาพ (Status) การจัดระดับสูงต่ำของสถานภาพบุคคล เรียกว่า การจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคมเป็นชนชั้นต่างๆ ได้แก่ ชนชั้นสูง ชนชั้นกลาง ชนชั้นต่ำ บุคคลส่วนใหญ่ของสังคมมักจะทราบว่าตนเองเป็นบุคคลในชั้นใด มีการศึกษาเกี่ยวกับความสำนึกในเรื่องชั้นของคนในประเทศต่างๆ โดยให้แต่ละบุคคลตอบตามความรู้สึกว่าตนเองเป็นคนอยู่ในชั้นใดของสังคม นักวิจัยได้ตั้งคำถามทำนองว่า "ท่านคิดว่าท่านเป็นบุคคลที่อยู่ในชั้นใดของสังคม" ผู้ตอบส่วนใหญ่ตอบได้ตรงกับความเป็นจริง กล่าวคือ บุคคลที่ค่อนข้างจะยากจนและมีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างจะต่ำนั้น ส่วนใหญ่ตอบว่าตนเองเป็นคนที่อยู่ในช่วงชั้นต่ำ สำหรับบุคคลที่อยู่ในช่วงชั้นกลางและสูง ก็ตอบได้ตรงเช่นเดียวกัน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมนั้นมีความสำนึกในเรื่องการแบ่งชั้นของคนในสังคมที่ตน อยู่เป็นอย่างดี วิธีหนึ่งที่ใช้ในการศึกษาการแบ่งช่วงชั้นทางสังคม โดยให้ทุกคนตอบตามที่ตนรู้สึก เรียกว่า วิธีอัตวิสัย (Subjective approach)

สังคมไทยมีการจัดลำดับช่วงชั้นทางสังคม ดังนี้

1) ชนชั้นผู้ดีเก่า (Aristocrats) ได้แก่ ผู้สืบเชื้อสายมาจากตระกูลเก่า และขุนนาง มักมีสมบัติที่ดินมากกว่าเงินสด และมีอิทธิพลทางการเมืองบ้างแต่ไม่มากนัก

2) ชนชั้นบุคคลชั้นนำในสังคม (Elite) ได้แก่ ผู้บริหารประเทศ นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และนักธุรกิจ เจ้าของกิจการที่ใหญ่โตมั่นคง เป็นผู้มีทรัพย์สินมั่นคง บุคคลเหล่านี้มักมีฐานะทางเศรษฐกิจหรือมีอำนาจทา งการเมืองสูง

3) ชนชั้นกลางระดับสูง (Upper-middle class) ได้แก่ ข้าราชการ ครู อาจารย์ ตำรวจ แพทย์ ทหาร หรือผู้มีอาชีพอื่นๆ ที่มีระดับความรู้สูงพอสมควร และมีทักษะที่เหมาสมกับอาชีพ มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดีถึงปานกลาง และพยายามรักษาระดับชั้นของตนไว้อย่างเหนียวแน่น

4) ชนชั้นกลางระดับต่ำ (Lower-midle class) ได้แก่ ช่างฝีมือ กรรมกรชำนาญงาน และคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ บุคคลที่จัดอยู่ในชนชั้นนี้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะสะสมเงินทองเพื่อจะ ไต่เต้าไปสู่ชนชั้นทางสังคมที่สูงกว่าเดิม

5) ชนชั้นต่ำ (Lower class) ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้แรงงานในการประกอบอาชีพ เช่น พวกกรรมกรไร้ฝีมือ คนรับใช้ พวกหาบเร่ และผู้หาเช้ากินค่ำ ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้อพยพมาจากสังคมชนบทมาอาศัยอยู่ตามชุมชนแออัดในสังคม เมือง

สังคมทุกสังคมจะมีเปิดโอกาส หรือส่งเสริมให้บุคคลในช่วงชั้นต่างๆ สามารถเลื่อนฐานะของตนเองได้อย่างสะดวก และคล่องตัวพอสมควร เรียกว่า การเคลื่อนที่ทางสังคม (Social mobility) โดยอาจกระทำได้หลายวิธี เช่น ทางการศึกษา ทางอาชีพ ทางฐานะเศรษฐกิจ การเคลื่อนที่ทางสังคมจะเป็นโอกาสให้บุคคลที่อยู่ในฐานะชนชั้นต่ำเลื่อนไป อยู่ในฐานะชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางเลื่อนฐานะไปอยู่ในชนชั้นสูง จะช่วยให้ความสัมพันธ์และเจตคติระหว่างชนชั้นเป็นไปในทางที่ดี นำไปสู่การมีเสถียรภาพของสังคม

3.3 สถาบันสังคม (Social institution)

การพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่มและระหว่างสถานภาพต่างๆ ภายในสังคม จะเป็นไปตามมาตรฐานของความประพฤติ กฏเกณฑ์ (Rule) ที่ทุกฝ่ายยอมรับปฏิบัติตาม เรียกว่า บรรทัดฐานหรือปทัสถาน (Norm) ปทัสถานจึงเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ที่บุคคลในสังคมยอมปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบในสังคม ระบบบรรทัดฐานที่ค่อนข้างมั่นคงถาวรของสังคม เรียกว่า สถาบันสังคม โดยทั่วไปสังคมจะมีสถาบันที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญ ดังนี้

1.)สถาบันครอบครัว

สถาบันครอบครัว คือ แบบแผนพฤติกรรมที่คนที่มาติดต่อเกี่ยวข้องกันในเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว และเครือญาติจะต้องปฏิบัติตามนั้น คือ คนที่เป็นญาติกันโดยสายเลือด เช่น เป็น พ่อ แม่ พี่น้องกัน เป็นญาติกันทางการแต่งงาน เช่น สามี ภรรยา เป็นเขย สะใภ้ หรือ การรับไว้เป็นญาติ เช่น การเป็นบุตรบุญธรรม คนเหล่านี้จะต้องปฏิบัติไปตามกฏเกณฑ์แบบแผนที่สังคมเป็นผู้กำหนดขึ้น ที่เรียกว่า สถาบันครอบครัว ซึ่งครอบคลุมแนวทางในการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ คือ การเลือกคู่ การหมั้น การแต่งงาน การเลี้ยงดูบุตร การอบรมขัดเกลา การหย่าร้าง และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและเครือญาติทั้งหมด

2.)สถาบันการศึกษา

สถาบันการศึกษาเป็นแบบแผนในการคิด และกระทำเกี่ยวกับเรื่องการอบรมให้การศึกษาแก่สมาชิกใหม่ของสังคม รวมทั้งการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง เป็นสถานที่ครอบคลุมหัวข้อต่างๆ เช่น หลักสูตร การสอบเข้า การเรียนการสอน การฝึกอบรมในด้านต่างๆ และการเลื่อนขั้น เป็นต้น การจัดการศึกษาให้แก่สมาชิกจะมีวิธีการจัดเป็น 3 แบบ คือ แบบแรก เป็นการจัดการศึกษาในระบบ เช่น ตามโรงเรียนของรัฐ และเอกชน แบบที่สอง เป็นการจัดการศึกษานอกระบบ เช่น การจัดการศึกษาของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน การจัดครูอาสาสมัครเดินสอน เป็นต้น และแบบที่สาม เป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งบุคคลสามารถเลือกเรียนในด้านต่างๆ ได้ตามอัธยาศัยตลอดชีวิต

3.)สถาบันเศรษฐกิจ

สถาบันเศรษฐกิจ เป็นแบบของการคิดการกระทำเกี่ยวกับเรื่องการผลิต การบริโภค การตลาด และการแจกจ่ายสินค้าและการให้บริการต่างๆ ให้แก่สมาชิกในสังคม สถาบันเศรษฐกิจมีกฏเกณฑ์ข้อบังคับที่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้แก่ นายจ้าง ลูกจ้าง เจ้าของ โรงงาน ธนาคาร และผู้ผลิตสินค้าและบริการในเรื่องต่างๆจะต้องปฏิบัติตาม

4.)สถาบันการเมืองการปกครอง

เป็นแบบอย่างของการคิด การกระทำในเรื่องเกี่ยวกับการรักษาระเบียบ ความสงบ การบรรลุเป้าหมายของสังคม และการตัดสินใจร่วมกัน สถาบันการเมืองการปกครอง เป็นสถาบันที่ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องผู้ปกครอง หรือผู้มีอำนาจในสังคม รวมทั้งการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ผู้นำการเลือกตั้ง ลัทธิการเมืองต่างๆ และอุดมการณ์ทางการเมือง เป็นต้น

5)สถาบันทางศาสนา

คือแบบแผนของการคิด และการกระทำในเรื่องจิตใจ ศีลธรรม ความเชื่อทางสังคม ทางศาสนา เป็นสถาบันที่ครอบคลุมในเรื่องต่างๆ เช่น การดำเนินพิธีกรรม และกิจกรรมทางศาสนาต่างๆ การปฏิบัติของผู้นับถือศาสนา และผู้สืบทอดศาสนา ความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ และเกี่ยวกับชีวิตในโลกนี้และโลกหน้า ท่านพุทธทาสภิกขุ (2533) กล่าวว่า "ศาสนาคือตัวการประพฤติกระทำ เพื่อให้คนรอดพ้นจากภัยหรืออันตราย จากสิ่งอันไม่พึงปรารถนา ซึ่งรวมเรียกว่า ความเดือดร้อน ความทรมาน"

3.4 การจัดระเบียบทางสังคม

ทุกสังคมต้องมีการจัดระเบียบทางสังคม ถ้าไม่มีการจัดระเบียบทางสังคม สังคมมนุษย์ไม่สามารถจะคงสภาพอยู่ได้ การจัดระเบียบทางสังคม หมายถึง การทำให้เกิดความมีระเบียบในสังคมมนุษย์ เริ่มจากการจัดให้มีกฏเกณฑ์ข้อบังคับต่างๆ หลายอย่าง เพื่อให้สมาชิกของสังคมยึดถือ เป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อกัน กฏเกณฑ์ต่างๆเหล่านั้น คือ บรรทัดฐานทางสังคม สถานภาพ และบทบาท

3.4.1 บรรทัดฐานทางสังคม

บรรทัดฐานทางสังคม หรือ ปทัสถานทางสังคม (Social norms) คือ แบบแผนพฤติกรรมที่เป็นที่คาดหวังของสังคม เป็นมาตรฐานที่สมาชิกของสังคมถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตาม จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป นักสังคมวิทยาแบ่งบรรทัดฐานทางสังคมเป็น 3 ประเภท คือ
1.วิถีชาวบ้าน (Folkways) คือ บรรทัดฐานทางสังคมที่มีความสำคัญน้อยในสังคม ทั้งนี้เพราะการทำผิดวิถีชาวบ้านจะมีผลกระทบต่อสังคมโดยส่วนรวมน้อย แต่วิถีชาวบ้านมีประโยชน์มากสำหรับคนจำนวนมากที่อยู่ในสังคมเดียวกัน ในแต่ละวันบุคคลสามารถดำเนินชีวิตไปได้และมีการกระทำทางสังคมต่อกันได้ เพราะมีวิถีชาวบ้านเป็นแนวทางในการปฏิบัติต่อกัน วิถีชาวบ้านจึงเป็นพฤติกรรมที่คนจำนวนมากเห็นว่า เหมาะสมถูกต้องในสถานการณ์นั้นๆ และมีขอบข่ายกว้างขวางครอบคลุมพฤติกรรมด้านต่างๆ ของสังคมไว้เกือบทั้งหมด เช่น การแต่งกาย การพูดจา การปฏิบัติต่อกันระหว่างผู้ใหญ่ ผู้น้อย และมารยาททางสังคมต่างๆ ผู้ทำผิดวิถีชาวบ้าน สังคมจะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง ปล่อยให้ปัจเจกชนลงโทษกันเอง โดยการซุบซิบนินทา การไม่คบค้าสมาคม แต่ถ้าทำดีก็จะได้รับคำชมเชย ยกย่องอยากเป็นพวกด้วย วิถีชาวบ้านเป็นพฤติกรรมที่คากหวังว่าปัจเจกชนจะทำหรือไม่ทำอะไรใน สถานการณ์ต่างๆ ประจำวัน แต่วิถีชาวบ้านไม่มีความหมายของคำว่า สวัสดิภาพอยู่ด้วย

2. จารีต (Mores)จารีต เป็นบรรทัดฐานที่ต่างไปจากวิถีชาวบ้าน หรือพฤติกรรมที่เป็นความเคยชิน จารีตมีความหมายเหมือนคำว่า ศีลธรรม (Morals) จารีตเป็นพฤติกรรมที่เชื่อว่าจะมีผลต่อสวัสดิภาพของคนจำนวนมาก จารีตมีความสำคัญต่อสังคมมาก การกระทำผิดจารีตจะมีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก หรือต่อสังคมโดยรวมเช่น ห้ามฆ่ากัน ห้ามทำร้ายกัน และข้อห้ามอื่นๆอีกมาก แต่จารีตไม่ได้มีเฉพาะข้อห้าม แต่มีข้อให้กระทำด้วย เช่น ต้องช่วยเหลือ ผู้อื่นเป็นต้น จารีตมีความสำคัญมากในสังคมดั้งเดิมที่มีความเจริญทางเทคโนโลยีน้อย เป็นสังคมขนาดเล็กและเป็นสังคมที่ยังไม่มีกฏหมายใช้ในสังคมไทย มีจารีตบางอย่างที่มีความสำคัญมาก แม้ไม่ได้ถูกนำไปบัญญัติเป็นกฏหมาย เช่น ความกตัญญู ระบบอาวุโส ความซื่อสัตย์ระหว่างสามี ภรรยา การแสดงความเคารพผู้ใหญ่ และความเชื่อทางศาสนาหลายอย่าง ในสังคมอเมริกันมีจารีตที่สำคัญ คือ ความสุจริต การไม่ทำร้ายสัตว์ การไม่ก่อกำแพงบ้านสูงๆ การไม่ทำพินัยกรรม ยกสมบัติให้แมวสุนัขซึ่งแม้ทำถูกกฏหมาย แต่คนอเมริกันถือว่า ผิดศีลธรรม เป็นต้น ลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของจารีต คือ มักเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าวิถีชาวบ้าน และผู้ทำผิดจารีตจะได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง เช่น ลงประชาทัณฑ์ เป็นที่รังเกียจของบุคคลทั่วไป แต่ยังไม่ถึงกับมีกฏหมายลงโทษ ยังถือให้เป็นเรื่องของสังคมจะจัดการกันเอง

3.กฏหมาย (Laws) เป็นบรรทัดฐานทางสังคมที่สำคัญมากในสังคมสมัยใหม่ เป็นบรรทัดฐานประเภทที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่กำหนดถึงระดับของการกระทำผิด รวมทั้งมีบทลงโทษไว้อย่างชัดเจน โดยมีหน่วยงานที่เป็นทางการของสังคมมีหน้าที่ในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ
3.4.2 สถานภาพ

บรรทัดฐานทางสังคม มีความเกี่ยวข้องกับตำแหน่งที่ได้จากการเป็นสมาชิกกลุ่ม เรียกว่า สถานภาพ (Status) เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดความมีระเบียบในสังคม สถานภาพมี 2 ประเภท คือ สถานภาพที่ได้มาโดยกำเนิด (Ascribed status) และสถานภาพสัมฤทธิ์ (Achieved status)

สถานภาพที่ได้มาโดยกำเนิด หรือสถานภาพที่ติดตัวเรามา โดยได้จากการเป็นสมาชิกกลุ่มที่เราเลือกไม่ได้ เป็ยสถานภาพหรือตำแหน่งที่ได้มาตั้งแต่เกิด เช่น ตำแหน่งทางเพศเป็นชาย หรือ หญิง ตำแหน่งทางเครือญาติ เป็น พ่อ แม่ ลูก ป้า น้า อา ตำแหน่งอายุ เป็นคนวัยต่างๆ วัยทารก เด็ก เยาวชน วัยรุ่น ผู้ใหญ่ วัยกลางคน วัยชรา ตำแหน่งทางชนชั้น ศาสนา และสัญชาติซึ่งได้ตามบิดา หรือ มารดา เป็นต้น

สถานภาพสัมฤทธิ์ หรือ สถานภาพที่ได้มาด้วยความสามารถในภายหลัง ไม่ได้ติดตัวมาแต่กำเนิด สถานภาพประเภทนี้มักได้มาเพราะความพยายาม ความอดทนต่อความยากลำบากต่างๆ มีการฝึกอบรมเป็นเวลานานและได้มาจากการแข่งขัน เช่น นักเรียน อาจารย์ บัณฑิต มหาบัณฑิต ข้าราชการ นายกรัฐมนตรี ผู้จัดการบริษัท ผู้อำนวยการ คณบดี อธิการบดี เสมียน ภารโรง คนงาน เป็นต้น

สถานภาพทางสังคมแต่ละสถานภาพ หรือตำแหน่งจะมีฐานะทางสังคมที่สูงต่ำต่างกันไป หรือ อาจมีฐานะทางสังคมเท่ากันก็ได้ เช่น ในโรงเรียนอาจารย์ใหญ่จะมีอำนาจมากกว่าครูทั้งหมด เรียกว่า สถานภาพทางสังคมของอาจารย์ใหญ่สูงกว่ากลุ่มครูทั่วไป แต่อาจมีสถานภาพทางสังคมต่ำกว่า ผู้จัดการ เจ้าของโรงเรียน หรืออธิบดี ครูในโรงเรียนจะมีสถานภาพทางสังคมสูงกว่าพวกธุรการ และภารโรง เป็นต้น

3.4.3 บทบาท

สถานภาพทางสังคมเป็นตำแหน่งของบุคคล ส่วนบทบาทคือการกระทำ ตามสิทธิและหน้าที่ของสถานภาพ สถานภาพและบทบาทมักจะเป็นของคู่กัน คือ เมื่อมีสถานภาพจะต้องมีบทบาทด้วยแต่ไม่เสมอไป บทบาท คือพฤติกรรมที่คาดหวังสำหรับบุคคลที่อยู่ในสถานภาพต่างๆ ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร (Role expectation) เป็นบทบาทที่คาดหวังโดยกลุ่มคนหรือสังคม เพื่อทำให้คู่สัมพันธ์มีการกระทำระหว่างกันทางสังคมได้ รวมทั้งสามารถคาดการณ์พฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น ผู้มีสถานภาพเป็นพ่อจะได้รับการคาดหวังจากสังคมให้แสดงบทบาทหรือหน้าที่ ต่างๆ ของพ่อ เช่น เลี้ยงดูลูก ส่งเสียให้ลูกเรียน ให้ความรัก ความอบอุ่น เป็นต้น และมีสิทธิที่จะได้รับอะไรหลายอย่างจากลูก เช่น ความภูมิใจ ความสบายใจ ความเคารพยกย่อง และความกตัญญู เป็นต้น ตำแหน่งอื่นๆ เช่น ครู อาจารย์ก็เช่นกัน

.ในบางครั้งบทบาทอาจขัดแย้งกันได้ (Role conflict) เมื่อแต่ละบุคคลมีหลายสถานภาพจึงมีหลายบทบาท ดังนั้นอาจมีบทบาทที่ขัดกันได้ในบางครั้ง เมื่อต้องแสดงบทบาทที่ต่างกันในเวลาเดียวกัน เช่น มารดาที่ทำงานด้วยจะมีความขัดแย้งในบทบาท เมื่อลูกไม่สบายเพราะถ้าทำงานจะได้ชื่อว่า เป็นแม่ที่ไม่ดี แต่ถ้าดูแลลูกที่บ้านอาจทำให้งานเสียได้ ในบางครั้งบทบาทอาจมีลักษณะ "เครียด" (Strain) ได้ในสังคมสมัยใหม่มีการ คาดหวังในบทบาทต่างๆมาก แต่ละบุคคลมีตำแหน่งต่างๆมากมาย แต่ไม่สามรถแสดงบทบาทได้ดีทุกบทบาทเพราะขาดเงิน เวลาและปัจจัยอื่นๆ ทำให้เกิดความรู้สึกตรึงเครียดได้ Biesanz and Biesanz (1977) ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้โดยเสนอมโนภาพ "บทบาทที่ต่อรอง" (Role bargain) ขึ้น มโนภาพนี้หมายถึง การเลือกแสดงบทบาทใดบทบาทหนึ่งให้ดีที่สุด สำหรับบทบาทอื่นๆ ทำแค่ผ่านไปเท่านั้น หรือบางครั้งต้องทิ้งบทบาทใดบทบาทหนึ่งไปเลย เช่น อาจารย์สตรีที่กำลังเขียนผลงานวิจัย ถ้างานวิจัยไม่เร่งมาก จะแสดงบทบาทของมารดาอย่างเต็มที่ บทบาทของนักวิจัยเป็นบทบาทรอง แต่เมื่องานวิจัยเร่งมาก อาจต้องทิ้งบทบาทของมารดาโดยสิ้นเชิงไปชั่วขณะหนึ่ง และแสดงบทบาทของนักวิจัยเต็มที่

4. การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช (2513) กล่าวถึงสังคมไทยไว้ว่า "....สังคมไทยเป็นสังคมที่มีลักษณะสับสนขาดความอยู่ตัว คือ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นไม่หยุดยั้ง สังคมไทยเปรียบเสมือนเรือที่กำลังอยู่ในกระแสน้ำอันเชี่ยวกราก ยังไม่รู้ว่าจะลอยล่องไปทางไหน นอกจากกาลเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงของสังคม จะหันไปทางทิศใด" สังคมไทยแบ่งได้เป็น 3 ระยะ ดังนี้

1. สังคมไทยในอดีต

เป็นสังคมเกษตรกรรมที่สมาชิกดำรงชีวิต โดยประสานสอดคล้องกับธรรมชาติใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ความต้องการเพื่อตัวเองมีน้อย ความเอื้อเฟื้อแก่สังคมมีมาก ไม่มีความแตกต่างกันมากนักระหว่างคนรวยกับคนจน คนรวยมีเงินมากก็จะเอื้อเฟื้อต่อคนจน เช่น เจ้าของที่ดินที่คนทำนาต้องเช่าที่นาทำกิน ปีไหนที่ได้ผลผลิตดีก็ให้เจ้าของที่ดินมาก ได้น้อยก็ให้น้อยหรือปีไหนที่แห้งแล้งมาก หรือเกิดอุทกภัย เจ้าของที่ดินก็คอยเจือจานเอื้อเฟื้อไม้คิดค่าเช่า เป็นต้น ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวขยายมีพ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ร่วมกันหมด ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา เป็นกรอบในการดำเนินชีวิต

2. สังคมไทยยุคใหม่

เป็นสังคมอุตสาหกรรมที่รีบเร่ง ทุกคนต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด มีการทิ้งถิ่นฐานเดิมเข้ามาหางานทำในเมือง สังคมชนบทกลายเป็นสังคมของคนแก่และเด็ก สภาพครอบครัวที่เคยเป็นครอบครัวขยาย ก็กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น มีการอพยพเข้ามาในเมืองมาก ทำให้สังคมเมืองเริ่มคับแคบ เกิดปัญหาชุมชนแออัด คนเริ่มมีความเห็นแก่ตัวมากขึ้น ในแง่ของความสัมพันธ์ของสังคมสมัยใหม่ พบว่า พ่อแม่ และลูกห่างเหินกันมาก ลูกให้ความเคารพพ่อแม่น้อยลง การคบหาสมาคมของบุคคลเป็นการคบหาเพื่อผลประโยชน์มากกว่า การให้ความจริงใจต่อกัน น้ำใจ และความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันของคนในชุมชนแบบเดิมกำลังเหือดแห้ง ผู้คนส่วนมากในปัจจุบันต่างหมกมุ่นอยู่กับภารกิจของตนเองจนลืมไปว่า การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุขได้นั้น ต้องการความเอื้ออาทรระหว่างกันของเพื่อนบ้าน และความผูกพันต่อถิ่นที่อยู่ ปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้พัฒนาขึ้นมาพร้อมๆกับ ระบบทุนนิยมในเวลาเพียงไม่กี่สิบปี แต่กลับทำลายชีวิตของสังคมดั้งเดิมที่ดำเนินมานับเป็นเวลาหลายร้อยปีได้ อย่างมีพลัง จากข้อมูลดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า ชีวิตสังคมสมัยใหม่ เป็นชีวิตที่อ้างว้างโดดเดี่ยว ไม่มีความผูกพัน ไม่มีส่วนร่วมทางสังคม ใช้เวลาไปกับการทำมาหาเลี้ยงชีพที่ต้องต่อสู้ ดิ้นรน แข่งขันกัน และมุ่งประโยชน์ส่วนตนเป็นสำคัญ หากใครไม่พร้อมหรือไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมสมัยใหม่ที่เปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็วก็จะมีผลก่อให้เกิดความรู้สึกกดดัน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดปัญสังคมต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย เช่น ปัญหาสุขภาพจิต ปัญหาครอบครัว ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด เป็นต้น

3.สังคมไทยในปัจจุบัน

เป็นสังคมสารสนเทศ หรือ สังคมยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) โลกาภิวัฒน์ เป็นโลกที่มีลักษณะ "ไร้พรมแดน" หรือ ไม่มีสิ่งใดขวางกั้นการแพร่กระจายทางความคิด รูปแบบและกระบวนทรรศน์ต่างๆ ของมนุษย์ต่อมนุษย์ด้วยกัน ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดในโลก โดยการส่งข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีอัจฉริยะ ซึ่งทำให้มนุษย์ในโลกนี้ได้รับรู้สิ่งต่างๆในเวลาพร้อมกัน เสมือนหนึ่งอยู่ภายในหมู่บ้านเดียวกัน (Global village) เป็นเพราะมีการพัฒนาระบบสื่อสารแบบ "ทางด่วนข้อมูล" (Information supper highway) นอกเหนือจาก เรื่องข้อมูลข่าวสาร ธุรกิจข้ามชาติหรือการเชื่อมโยงกันทั้งโลกยังมีกระแสใหญ่ๆอีก 4 อย่าง คือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และบทบาทสตรีเป็นกระแสที่ส่งผลกระทบกันทั้งโลกและกำลังเพิ่มมากขึ้น สังคมโลกาภิวัฒน์มีการเปรียบเทียบและการแข่งขันเป็นสิ่งปลุกเร้าให้ทุกคน ต้องตื่นจากความเฉื่อยชา ไม่มีใครจะสามารถอยู่ในมุมแคบๆของตน โดยไม่มีการคบหาสมาคมกับใครได้อีกต่อไปแล้ว แม้ว่าคนจะอยู่ห่างกันถึงค่อนโลก คนเราจะปิดบังเรื่องของตัวเราเองกับใครไม่ได้อีกต่อไป ยุคนี้เป็นยุคแห่งการย่นเวลา (Time) และระยะทาง (Space) จึงทำให้ดูเหมือนว่า โลกแคบลงกว่าที่เคยเป็น สิ่งที่เคยขวางกั้นการติดต่อสื่อสารระหว่างคนกับคน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา เริ่มไร้ความหมายลงเป็นลำดับ วิถีชีวิตของคนที่เคยถูกกำหนดด้วยปัจจัยการผลิต การเมือง สังคม วัฒนธรรม รวมถึงการแลกเปลี่ยนในความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเปิดกว้างหลากหลาย ทำให้คนเราต้องปรับตัวมีชีวิตอยู่ด้วยความเข้าใจวิถีตนเองและวิถีสังคม

    นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงคนรุ่นใหม่ในสังคมโลกาภิวัฒน์ว่า ควรมีคุณลักษณะ 8'C ดังนี้
  1. การใช้การสื่อสาร (Communication) ในหลายๆรูปแบบ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นเครื่องมือสื่อสารที่นิยมในประเทศไทยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความมีประสิทธิภาพทันยุค และเป็นสิ่งที่แสดงฐานะทางเศรษฐกิจส่วนบุคคล
  2. การใช้บัตรเครดิต (Credit card) ระบบการเงินที่มีหลักประกัน และเงื่อนไขการจับจ่ายผ่านบัตรเครดิตหรือบัตรเงินเชื่อ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนชั้นกลางรุ่นใหม่
  3. การใช้คอมพิวเตอร์ (Computer) คอมพิวเตอร์รวมถึงระบบมัลติมีเดียเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน มีบทบาทในเรื่องของการจัดการและการกระจายข้อมูลข่าวสารแทบทุกเรื่อง เช่น การศึกษา การสื่อสาร การดำเนินธุรกิจ การค้า นันทนาการ เป็นต้น
  4. การมีรถยนต์ส่วนบุคคล (Car) การมีรถยนต์ส่วนบุคคลแสดงภาพลักษณ์ในการใช้ชีวิตที่สะท้อนถึงรสนิยม และเศรษฐานะของบุคคล
  5. การเป็นสมาชิกสโมสร (Club) สถานที่พักผ่อนหย่อนใจหลังการทำงาน ได้แก่ คาราโอเกะ ดิสโกเธค เบียร์การ์เด้น ฯลฯ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่จำเป็น เนื่องจากสภาพการดำเนินชีวิตประจำวันของคนเมือง ที่ประสบภาวะรีบเร่งต้องเผชิญกับความเครียดจากสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น การทำงานตลอดทั้งวัน การจราจรติดขัด ฯลฯ สถานเริงรมย์เหล่านี้นอกจากจะใช้เป็นที่พักผ่อนแล้ว ยังใช้เป็นที่พูดคุยธุรกิจกันด้วย
  6. การมีที่อยู่อาศัยแบบคอนโดมิเนียม (Condominium) อาคารชุดคอนโดมิเนียม หรือบ้านอีกรูปแบบหนึ่งของคนเมืองที่จำต้องเลือกอาศัยอยู่ เพราะไม่อาจแก้ปัญหาการใช้ชีวิตในจุดอื่นที่ดีกว่าได้โดยเฉพาะปัญหาจราจร การอาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม เพื่อความสะดวกในด้านการเดินทาง และความปลอดภัยในการใช้ชีวิต
  7. การดื่มเครื่องดื่มโค้ก (Coke) โค้กถูกหยิบยกขึ้นมาให้ง่ายต่อการเป็นตัวแทนของอาหารสำเร็จรูป วิถีชีวิตที่รีบเร่งของคนเมือง จึงนิยมอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป และอาหารพร้อมปรุงแบบสะดวกรวดเร็ว วิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนทำให้พฤติกรรมการบริโภคต้องเปลี่ยนไป จึงส่งผลต่อธุรกิจเกี่ยวกับอาหารสำเร็จรูปที่ต้องตามกระแสให้ทัน และมีระบบการขายที่เรียกว่า เดลโก (Delivery and carry out) ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกและรวดเร็วให้กับผู้บริโภค
  8. การใช้ถุงยางอนามัย (Condom) หากย้อนไป 1 - 2 ทศวรรษที่แล้ว พฤติกรรมการใช้ถุงยางอนามัยในสังคมไทยยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เพราะอุปสรรคด้านวัฒนธรรมที่มักจะถูกมองว่า ไม่เหมาะสม หากพูดถึงอะไรที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศ แต่ปัจจุบันถุงยางอนามัยบ่งบอกถึงการตระหนักในเรื่องความปลอดภัย และสุขอนามัยรวมทั้งป้องกันเอดส์ได้
5. สรุป

สังคมมีความหมาย สองลักษณะ ลักษณะแรกสังคมคือ กลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มีอาณาเขตและลักษณะทางภูมิศาสตร์ มีความร่วมมือกันอย่างยั่งยืน มีวัฒนธรรมที่เห็นเด่นชัดออกมา ลักษณะที่สองเป็นความสัมพันธ์ทางสังคมของสมาชิกในสังคม โดยมีบรรทัดฐาน สถานภาพ และบทบาทของสังคมมากำหนดพฤติกรรมของบุคคลในฐานะปัจเจกชน และฐานะสมาชิกกลุ่มสังคม การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยทำให้สังคมมีลักษณะเป็นแบบสังคมเกษตรกรรม สังคมอุตสาหกรรม และสังคมสารสนเทศระคนกันอยู่ทั้งสามลักษณะในสังคมไทย

บรรณานุกรม

คึกฤทธิ์ ปราโมช. มรว. 2513. สังคมวิทยาน่ารู้.เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : มปท.

จารุวรรณ นิพพานนท์. 2535. พฤติกรรมศาสตร์. ขอนแก่น : ภาควิชาสุขศึกษา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. 2538. วัฒนธรรมไทยกับขบวนการเปลี่ยนแปลงสังคม. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ประเสริฐ แย้มกลิ่นฟุ้ง และคณะ. 2538. สังคม และวัฒนธรรม.พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพ : โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

รัชนีกร เศรษโฐ. 2536. โครงสร้างสังคมแล

2 ความคิดเห็น: