โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกระบี่ เป็นอีกโครงการที่ สมเด็จ พระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้ดูแล เพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ สัตว์ป่า และสัตว์น้ำ ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศของป่าทุ่งทะเล โดยทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ กรมประมง จัดตั้ง หน่วยศึกษา ทดลอง และวิจัยการเพาะเลี้ยงปู ขึ้นด้วย เพื่อศึกษาทดลองและขยายพันธุ์สัตว์น้ำทะเล ที่คาดว่าจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่ดีในอนาคต
ประสาน เปรมปรี หัวหน้าโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเล เล่าว่าแต่เดิมพื้นที่ป่าทุ่งทะเลแห่งนี้เป็นแหล่งของปูทะเล แต่ด้วยความเจริญที่เข้ามา จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการจับกันจนเกินกำลังที่ธรรมชาติจะผลิตป้อนทัน ทำให้ปูลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านจึงกราบทูลฯสมเด็จพระนางเจ้าฯ และนี่เองจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง หน่วยศึกษาฯ ดังกล่าวขึ้น เพื่อทดลองและวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีความสำคัญในท้องถิ่น ตลอดจนให้ความรู้และฝึกอบรมแก่ชาวบ้านได้นำไปประกอบเป็นอาชีพ
ปัจจุบัน รัชฎา ขาวหนูวา นักวิชาการประมง 6 สามารถเพาะพันธุ์ปูทะเล ให้มีอัตรารอดอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 25,000 ตัวต่อแม่พันธุ์หนึ่งตัว (แม่พันธุ์หนึ่งตัว ให้ไข่ได้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนฟอง) นักวิชาการฯกล่าวว่า ที่การเพาะพันธุ์มีอัตรารอดตายน้อยนั้น มาจากปัจจัยแวดล้อมหลายอย่าง โดยเฉพาะน้ำทะเลที่มีความแปรปรวนอยู่มาก นอกจากนี้เรื่องเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ ทดลองก็มีส่วนสำคัญ หากมีความพร้อมมากกว่านี้ก็อาจทำให้อัตรา รอดตายสูงขึ้น
วิธีการผลิตพันธุ์ปูทะเล แบ่งเป็นระยะต่างๆ ดังนี้ 1. เลี้ยงแม่พันธุ์ : เลี้ยงปูทะเลไข่แก่ในกระดอง ให้มีไข่นอกกระดองในบ่อซีเมนต์ ที่ความเค็ม 25-35 พีพีที ความหนาแน่น 1 ตัว/ตร.ม. ให้ปลาสด และหอยแมลงภู่เป็นอาหารราว 1-3 เดือน 2. เพาะพันธุ์ : แยกแม่ปูไข่นอกกระดอง มาฟักในถัง 200-500 ลิตร ที่ความเค็ม 25-35 พีพีที เป็นเวลา 9-12 วัน 3.อนุบาลลูกปูในบ่อซีเมนต์ขนาด 10-20 ตัน ความหนาแน่น 50-100 ตัว/ลิตร ให้อาหารตามวัยลูกปู โดยระยะแรกฟัก 1-8 วัน ให้ไรน้ำเค็ม ระยะเกาะ 9-12 วัน ให้ไรน้ำเค็มเต็มวัย, หนอนแดง และระยะวัยอ่อน 12-15 วัน ให้ไรน้ำเค็มเต็มวัย, ปลาสับ
ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น