โดย: Watsanghathan วัดสังฆทาน
Theขี้ฝุ่นริมทาง
วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557
"กิเลส ในจิตในใจของมนุษย์มันมีด้วยกันทุกท่านทุกคน
"กิเลส ในจิตในใจของมนุษย์มันมีด้วยกันทุกท่านทุกคน เพียงแต่จะน้อยมากต่างกันเท่านั้น บางท่านก็มีความโกรธมาก บางท่านก็มีความโลภมาก บางท่านก็มีความหลงมาก บางท่านก็มีราคะตัณหามาก แต่ทุกสิ่งทุกอย่าง ธรรมะของพระพุทธเจ้ามีเพื่อจะรักษาโรคประเภทนี้ ถ้านำธรรมะของพระพุทธเจ้ามารักษาด้วยสติ ด้วยปัญญา ด้วยการพิจารณาจริงจัง โรคที่มีอยู่ในจิตในใจ คือ กิเลส ตัณหา มานะ ทิฐิ ต่าง ๆ ค่อยจะสะอาดไป ออกไป หลุดไป การพิจารณาธรรมะ การฝึกจิตฝึกใจ อบรมให้เป็นธรรมะ จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราท่านทุกคนผู้ชอบสงบ ผู้ชอบความสุข ผู้ชอบความเย็นใจ ความสบายใจ จะต้องกระทำบำเพ็ญให้เห็น ให้เป็น ให้รู้ในตัวของตัว ไม่อย่างนั้นจะแก่ขนาดไหน ใจมันก็ยังติด ยังข้อง ยังลุ่ม ยังหลง ยังโกรธ ยังเพลินในโลกเรื่อยไป เพราะไม่มีธรรมะในจิตในใจของตัว ถ้ามีธรรมะไม่เป็นอย่างนั้น ถึงสิ่งอื่นจะมีอยู่ก็รู้ ก็เข้าใจ แต่ไม่ติด ไม่ข้องในสิ่งนั้น ๆ ผู้มีธรรมะ มีปัญญาที่จะแก้ไขใจของตัวให้สุข ให้สบาย ให้สะอาด หายจากความวุ่นวายก่อกวนได้ นี่คือ...ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนมนุษย์ทั่วไปให้ฝึกอบรมจิตใจของตัว จิตใจชั่ว จิตใจเสียมันหมดคุณค่า หมดสาระ สมบัติข้าวของภายนอกทางโลกจะมีมากมายขนาดไหนถ้าหากใจไม่ปกติ ใจวิปริต รักษาไม่ได้ ส่วนสมบัติภายในคือสติปัญญา มันก็หมดไปหายไป นี่คือ...คนที่จิตวิปริต จิตไม่ฝึกไม่อบรม คนที่มีจิตดี ถึงร่างกายจะไม่สวยสดงดงาม ถึงหน้าตาจะไม่ยิ้มแย้มแจ่มใส แต่จิตใจเยือกเย็น คนเห็นเบื้องต้นก็ไม่ชอบพอ เพราะหน้าตาไม่สวยงามให้ แต่เมื่อคบค้าสมาคมนานเข้า รู้สึกนิสัยว่ามีจิตใจเยือกเย็น ซื่อสัตย์สุจริต มันก็เกิดคุณค่า มีคนนิยมเชื่อถืออยากได้ เพราะใครไปเกี่ยวข้องก็เกิดความสุขความสบายในจิตในใจ นี่คือ...คุณค่าของธรรมะทางจิตทางใจ ซึ่งทุกคนฝึกอบรมได้ เพราะจิตใจเป็นสิ่งที่ฝึกได้ น้อมไปได้ ไม่ใช่มันเหลือวิสัย ความจริงแล้วถ้าหากเราจับผิดในจิตในใจของเรา เราศึกษาในจิตในใจของเราให้ดี เราจะรอบรู้ จะเกิดธรรมะให้ จิตใจนี้นับว่าเป็นสิ่งที่พลิกแพลงง่ายที่สุด หลงใหลง่าย ยึดถือง่าย ถ้าหากเราสังเกต แต่ถ้าไม่สังเกตก็ไม่เห็นความเป็นอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่ในตัวของเรา เราก็โกรธได้ รักได้ ยินดีได้ เสียใจได้ เพราะเราไม่ตรวจตราพิจารณาภายใน ถ้าเราตรวจตราพิจารณาภายในอย่างที่อธิบายมา เขาสรรเสริญเยินยอ เราดีอย่างลมปากเขาว่าหรือไม่ ถ้าเราไม่ดี เราก็ไม่ควรไปยินดี ควรตั้งหน้าตั้งตาฝึกรักษาให้สมกับคำที่เขาชมว่าเรารู้เราฉลาดเรามีสติ มีปัญญา เราเป็นคนมีธรรมะ ถ้าเราไม่ฝึกไม่อบรมตัวของตัวอย่างนั้น เขาสรรเสริญแล้วก็ลืมหลงไป ว่าดีว่าเด่นอย่างนั้น มันเกิดทุกข์เกิดโทษในตัวภายหลัง เพราะมันไม่มีอะไร พอเขาตำหนินินทาให้ เราก็จะเสียใจอีก เมื่อเขาตำหนินินทา ถ้าหากว่ามันไม่มีมูลเหตุ เราก็ไม่ควรจะไปเสียใจ ควรจะสอนตัวว่ามันชั่ว มันเสียอย่างเขาว่า เราควรจะแก้สาเหตุของมัน เขาตำหนิ เราไม่ดีอย่างนั้น เราอย่าไปทำอีก พูดอีก ถ้าเราไปทำอีกพูดอีก เขาก็จะตำหนิอีก นี่... เป็นทางที่จะแก้ไขลมปากภายนอก หากเรามีปัญญา ไม่ว่าทางสรรเสริญหรือนินทา ถ้านำมาสอนจิต มาพินิจพิจารณามันก็เป็นธรรมะ ถ้าหากเราไม่มีปัญญา ตามตะครุบเรื่อยไป เขาว่าอย่างไรก็ตะครุบอย่างนั้น ไม่เกิดผลเกิดประโยชน์ให้ มีแต่จะเกิดความดีใจเสียใจตามคำสรรเสริญนินทาเท่านั้น ผลที่สุดเลยไม่ตั้งมั่น เพราะคนทั่วโลกเขาจะเต็มใจยินดีมาสรรเสริญเราทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้ คนทั่วโลกเขาจะนินทาว่าทุกข์ว่าโทษต่าง ๆ แก่เรามันก็เป็นไปไม่ได้ ผู้ที่มันชอบมันก็สรรเสริญ ส่วนผู้ที่มันไม่ชอบมันก็นินทา มันเป็นธรรมดาเรื่องลมปาก เราก็เป็นสัตว์โลกคนหนึ่ง ตัวหนึ่ง เมื่อเกิดมาในโลก มันจะต้องพบ ต้องเห็น เราจะต้องตั้งมั่น พิจารณาในธรรมะ ส่วนได้ที่ควรละ ส่วนได้ที่ควรบำเพ็ญ ให้เห็นในจิตในใจของตนว่าสิ่งนี้ควรละ รีบละรีบถอนออกไป เพราะเก็บเอาไว้เป็นพิษเป็นภัยเกิดทุกข์เกิดโทษ สิ่งใดควรบำเพ็ญก็บำเพ็ญเรื่อยไป ให้จิตใจเลื่อมใสให้จิตใจเยือกเย็นให้จิตใจเห็นแจ้งในสิ่งนั้น ๆ นี่...คือการฝึกธรรมะ การอบรมธรรมะ แนะสอนธรรมะให้แก่ตัวของตัว ถ้าหากไม่ฝึก ไม่รักษาไม่เอาธรรมะมาประดับ คนร่างกายเป็นมนุษย์ แต่จิตใจก็เป็นสัตว์นรก เป็นเปรตเป็นอสุรกาย อยู่ดีไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่างจากสัตว์เหล่านั้น เพราะราคะ ตัณหา มานะ ทิฐิทุกอย่าง สัตว์อื่นมันก็มีได้ เป็นไปได้ แต่ด้วยอำนาจของปัญญา ด้วยอำนาจของธรรมะที่ฝึกอบรมรักษาเท่านั้น จึงจะเป็นผู้ดีวิเศษกว่าสัตว์ ฉะนั้น ทุกคนจึงควรหาธรรมะมาประดับกาย วาจาของตัว ผู้ที่มีธรรมะ อยู่สถานที่ใด ไปสถานที่ใด เป็นสิริมงคลแก่สถานที่ ไปสถานที่ใดทำความสุข ความสบาย ความเยือกเย็นให้ ไม่เป็นภัยอันตราย นี่คือ...คนที่มีธรรมะ เป็น สุคโต ไปดี มาดี อยู่ดี กินดี นั่งดี นอนดี เพราะจิตของท่านดี จิตของท่านมีธรรมะ ยอมเสียและเรื่องทิฐิมานะ กิเลส ตัณหาให้หมดออกไป ตกออกไปจากใจ" หลวงพ่อสิงห์ทอง ธมฺมวโร เทศน์เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2522 — กับ คิด พันธมิตร รักในหลวง
โดย: Watsanghathan วัดสังฆทาน
โดย: Watsanghathan วัดสังฆทาน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น