++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2557

ทำอย่างไรให้องค์กรเลิกจ้างเราเป็นคนสุดท้าย?


เมื่อองค์กรเจอวิกฤติอาจจะเป็นวิกฤติในการดำเนินธุรกิจขององค์กรเอง หรือวิกฤติทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรเหมือนในปัจจุบันนี้ ทางเลือกสุดท้ายทางเลือกหนึ่งที่หลายองค์กรเลือกดำเนินการคือ ?การเลิกจ้าง? พนักงาน เพราะเป็นทางเลือกที่สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายได้ทันที

ถ้ามองในมุมของคนทำงาน เมื่อพนักงานรู้ว่าสถานะขององค์กรย่ำแย่หรืออยู่ในวิกฤติพนักงานทุกคนก็คิดเสมอว่าวันหนึ่งคงจะต้องมีการเลิกจ้างพนักงาน ซึ่งการเลิกจ้างนี้เป็นสิ่งที่ไม่มีพนักงานคนใดปรารถนาให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะการเลิกจ้างเป็นหนทางของการว่างงาน การตกงาน การไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้ ไม่มีความมั่นคงในชีวิต และสารพันปัญหาชีวิตก็จะติดตามมาหลังจากการถูกเลิกจ้าง ถึงแม้จะมีการเลิกจ้างเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คนทำงานทุกคนก็ภาวนาไม่ให้ตัวเองถูกเลิกจ้าง หรือถ้าต้องถูกเลิกจ้างก็ขอให้เป็นคนกลุ่มสุดท้ายขององค์กรก็แล้วกันอย่างน้อยก็จะช่วยต่อลมหายใจทางการเงินได้อีกระยะหนึ่ง

มนุษย์เงินเดือนคนใดไม่อยากประสบพบเจอกับการถูกเลิกจ้าง ขอให้ตอบคำถาม 3 คำถามดังต่อไปนี้

มีบุญเก่ามากเพียงพอหรือไม่?
คำว่า ?บุญเก่า? ในที่นี้หมายถึง ผลงานที่ผ่านมา เราคิดว่าตัวเราเองมีผลงานโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ให้กับคนในองค์กรบ้างหรือไม่ เมื่อไหร่ที่ผู้บริหารเห็นชื่อเห็นหน้าเรา เขายังนึกถึงผลงานชิ้นโบแดงของเราได้หรือไม่ ถ้าเจอเราทีไร ผู้บริหารมักจะชื่นชมกับผลงานในอดีตของเราอยู่ตลอดเวลา รับรองได้ว่าเรามีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะไม่ถูกเลิกจ้าง หรือถูกเลิกจ้างก็คงจะไม่ใช่คนกลุ่มแรกแน่ๆ

ผลงานในอดีตเป็นสิ่งที่ติดตัวเฉพาะบุคคล ไม่สามารถโอนให้ใครได้ ใครมีบุญเก่าเยอะ พระ(ผู้บริหาร)คุ้มครองให้อยู่รอดปลอดภัยในช่วงวิกฤติแบบนี้ได้ ใครไม่มีบุญเก่าสะสมไว้ ในช่วงเวลานี้คงจะทำไม่ทันแล้ว เพราะองค์กรอยู่ในช่วงวิกฤติแล้ว เหมือนคนไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน พอเริ่มเจ็บป่วยคิดจะไปออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันก็คงไม่ทันแล้วเช่นกัน

จากคำถามนี้คงจะให้ข้อคิดกับคนทำงานได้เป็นอย่างดีว่า
?จงทำงานให้เต็มที่ เพื่อสร้างบุญบารมีไว้ปกป้องคุ้มภัยในยามวิกฤติ?
อย่าคิดแค่ทำงานไปวันๆประเภทหาเช้ากินค่ำ และคิดแค่ว่าวันนี้ทำงานหนักได้เงินเดือนเท่าเดิม แต่คงคิดว่าการทำงานหนักและมีผลงานจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองรอดพ้นจากการถูกเลิกจ้างในช่วงองค์กรเกิดวิกฤติ นอกจากนี้การทำงานหนักและมีผลงานจะช่วยให้เราก้าวหน้าเร็วกว่าคนอื่นเมื่อยามองค์กรเติบโต

งานที่เราทำสำคัญต่อการองค์กรมากหรือไม่?
ถ้าเรามีบุญเก่าน้อยเพราะไม่ได้สะสมไว้ หรือเราเพิ่งเข้ามาทำงานกับองค์กรนี้ เราก็ยังมีทางเลือกที่จะอยู่รอดในช่วงที่องค์กรเกิดวิกฤติคือ ต้องพิจารณาดูว่างานที่เราทำอยู่นั้นมีความสำคัญต่อองค์กรมาน้อยเพียงใด แน่นอนว่าเวลาองค์กรจะปลดคนหรือเลิกจ้าง นอกจากจะพิจารณาจากผลงานแล้ว ยังพิจารณาดูว่าตำแหน่งงานไหนที่สำคัญต่อองค์กรมากกกว่ากัน

การตอบคำถามข้อนี้ก็คงไม่แตกต่างอะไรไปจากคำถามในข้อแรก เพราะถ้าตำแหน่งงานที่เราทำอยู่ไม่ใช่ตำแหน่งที่สำคัญ เราก็คงไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ในวันนี้ ในความเป็นจริงแล้ว ตำแหน่งงานที่เราทำอยู่ในปัจจุบันสำคัญมากหรือน้อยนั้น เกิดจากผลพวงของการศึกษาของเราว่าเราตั้งใจเรียนมากน้อยเพียงใด ถ้าเราเป็นคนเรียนเก่ง โอกาสที่เราจะได้ทำงานในตำแหน่งที่สำคัญๆก็มีมาก นอกจากนี้ก็เกิดจากประสบการณ์การทำงานในอดีตที่ส่งผลให้เราได้สมัครเข้ามาทำงานในตำแหน่งที่สำคัญหรือไม่เช่นกัน

สำหรับข้อคิดที่ได้จากการตอบคำถามนี้คือ
?ผลงานในอดีตกำหนดสถานะปัจจุบัน และผลงานปัจจุบันกำหนดสถานะในอนาคต?
ถ้าเราอยากจะได้ดิบได้ดีในปัจจุบัน เราต้องทำดีตั้งแต่ในอดีต และถ้าเราอยากได้ดีในอนาคตเราจะต้องทำดีตั้งแต่วันนี้

เรามีศักยภาพมากพอหรือไม่?
ถ้าบุญเก่าก็มีน้อย ตำแหน่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันก็ไม่ได้สำคัญอะไรมากมาย เรายังพอมีโอกาสที่จะรอดพ้นจากวิกฤติการถูกเลิกจ้างได้อีกหนึ่งเรื่อง นั่นก็คือ ตัวเรามีศักยภาพมากพอที่จะเป็นความหวังในอนาคตขององค์กรหลังจากผ่านพ้นวิกฤติไปแล้วหรือไม่ คนบางคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ในตำแหน่งที่ไม่สำคัญมากนัก แต่เป็นคนที่มีศักยภาพ(ภาษาชาวบ้านเรียกว่ามีแวว) องค์กรก็ยังคงเก็บไว้ เพราะการเลิกจ้างคนที่มีศักยภาพเพียงหนึ่งคน อาจจะมีผลเสียมากกว่าการเลิกจ้างคนที่ไม่มีศักยภาพออกไปเป็นสิบเป็นร้อยคนก็ได้

ศักยภาพคือพลังที่อยู่ในตัวคนเราซึ่งเป็นผลพวงของการผสมผสานระหว่างความรู้ ทักษะประสบการณ์การทำงาน บุคลิกลักษณะ ความสามารถในการคิด และความมุ่งมั่น จนสามารถเปล่งรัศมีออกมาให้คนอื่นเห็นได้อย่างชัดเจน และคนอื่นรู้สึกมั่นใจว่าเรามีศักยภาพจริง ทั้งๆที่บางเรื่องเรายังไม่เคยทำ แต่สามารถดูได้จากรูปแบบและวิธีการคิดได้

ข้อคิดจากการตอบคำถามในข้อนี้คือ
?จุดเด่นสร้างความแตกต่าง ความแตกต่างสร้างทางเลือกและโอกาสในชีวิต?
ดังนั้น คนทำงานทุกคนควรจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาตัวเองให้แตกต่างจากคนอื่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะการพัฒนาตัวเองให้เหนือกว่าและสูงกว่าสถานะที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น ถ้าเราเป็นพนักงาน เราต้องคิดว่าคนที่เป็นหัวหน้าต้องรู้อะไรบ้าง ต้องคิดอะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง แล้วเราก็เริ่มฝึกคิดฝึกทำและเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เรายังเป็นพนักงาน ไม่ต้องรอเรียนรู้ตอนที่ได้เป็นหัวหน้าแล้ว

สรุป การเป็นมนุษย์เงินเดือนมืออาชีพนอกจากจะต้องทำงานให้คุ้มค่าตอบแทนที่องค์กรจ่ายให้เราแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องทำงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองไปพร้อมๆกันด้วย เวลาทำงานอย่าคิดถึงเงินที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะคิดยังไงก็ไม่คุ้ม เนื่องจากผลตอบแทนที่เราได้รับอยู่ในปัจจุบันเป็นผลตอบแทนผลงานในอดีตไม่ใช่ผลงานในปัจจุบัน แต่ผลตอบแทนที่เราทำงานหนักในปัจจุบันจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การปรับค่าจ้างประจำปี การปรับค่าจ้างเมื่อได้เลื่อนตำแหน่ง การได้ค่าจ้างสูงขึ้นเมื่อเปลี่ยนงาน ดังนั้น เวลาทำงานหนักให้คิดว่าเราสะสมผลตอบแทนให้ตัวเอง ซึ่งเราจะได้รับในหลายรูปแบบ เช่น เงินเดือนที่สูงขึ้นในอนาคต ภูมิคุ้มกันเมื่อองค์กรเจอวิกฤติ และโอกาสที่จะก้าวหน้าในอาชีพเมื่อองค์กรเติบโต สุดท้ายนี้ ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานทุกคน จงคิดว่าเสมอว่าไม่ว่าเราจะอยู่ในสถานการณ์ใด ชีวิตเราต้องอยู่รอดเสมอ และใครกำลังเจอปัญหาอุปสรรคในชีวิตอยู่ก็จงคิดว่าเรากำลังถูกทดสอบว่าชีวิตเราแข็งแกร่งมากน้อยเพียงใด และเมื่อเราผ่านวิกฤติในชีวิตนี้ไปได้ เราจะมีภูมิคุ้มกันมากกว่าคนอื่นๆนะ


ที่มา: ณรงค์วิทย์ แสนทอง (2011-03-24)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น