++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

“สมคิด ลวางกูร” - วางเป้าหมาย 5 ข้อสู่ความสำเร็จ

“สมคิด ลวางกูร” คือคนหนุ่มที่ชีวิตในวัยเด็กของเขานั้นเป็น “ชีวิตบัดซบ” ที่เคยแม้กระทั่งต้องแย่งข้าวหมากิน
มีผู้คนจำนวนหนึ่งที่ชีวิตเริ่มต้นจากศูนย์ แต่สำหรับใครบางคน จุดเริ่มต้นของเขาอยู่ที่ “ติดลบ” หากแต่เขาสามารถที่จะนำพาชีวิตของตัวเองให้ก้าวพ้นจากจุดติดลบขึ้นไปยังจุดที่สูงสุดอย่างที่น้อยคนจะทำได้
“สมคิด ลวางกูร” คือคนหนุ่มที่ชีวิตในวัยเด็กของเขานั้นเป็น “ชีวิตบัดซบ” ที่เคยแม้กระทั่งต้องแย่งข้าวหมากิน แต่ในวันนี้เขามีทุกอย่างที่อยากมี และมีมากกว่าที่คนอื่นมีหลายเท่า

“คุณแม่ผมเป็นคนสุพรรณบุรี เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เป็นสาวโรงงาน มีรายได้วันละ 14 บาท พ่อผมทิ้งไปตั้งแต่ผมยังอยู่ในท้องแม่ เลยเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่เกิด พออายุได้ 2 ขวบแม่ก็เอาไปฝากไว้เป็นเด็กวัด เพราะรายได้ไม่พอเลี้ยงลูก วัยเด็กของผมจึงเป็นวัยที่อดอยาก ยากจน ไม่มีผ้าห่ม ไม่มีเสื้อผ้า บางช่วงต้องแย่งข้าวหมากิน ผมเรียนหนังสืออยู่วัดกระทั่งจบ ป.4”
ความลำบากที่อยู่กับสมคิดเสมือนเป็นเพื่อนสนิทมาตั้งแต่เกิด ทำให้เขาคิดอยากตีจากจากวงจรชีวิตที่ต้อง “อด” และ “ทน” ในสมองของเขาอยากจะรวยและประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นบ้าง จึงได้เข้าปรึกษากับพระในวัด ซึ่งพระท่านเมตตาให้คำแนะนำลูกศิษย์ก้นกุฏิกลับมาว่า คนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องอ่านหนังสือเยอะ แล้วจะฉลาดรู้ว่าเงินอยู่ที่ไหน และจะหยิบมาใส่กระเป๋าได้อย่างไร

วางเป้าหมาย 5 ข้อสู่ความสำเร็จ
หลังได้รับคำแนะนำมาเช่นนั้น สมคิด เลยอ่านหนังสือทุกเล่มที่มีอยู่ในวัด กระทั่งไปพบกับหนังสือเล่มหนึ่งเข้า ซึ่งไม่รู้ว่าหนังสือชื่ออะไร เพราะไม่มีทั้งปกหน้า และปกหลัง
“ในหนังสือเขาบอกว่าคนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นต้องมีเป้าหมายชีวิต ไม่สำคัญว่าจะเกิดมาจากชาติตระกูลไหน หรือเรียนระดับไหน แต่หากมีเป้าหมายชีวิตแล้ว เราจะประสบความสำเร็จแน่นอน ผมก็เลยตั้งเป้าหมายชีวิต 5 ข้อ 1.ต้องมีเงินล้านก่อนอายุ 25 ปี 2.ได้ทำงานบนเครื่องบิน 3.ต้องพูดภาษาอังกฤษให้ได้ 4.ได้ไปเที่ยวต่างประเทศ และ 5.มีแฟนเป็นนางงาม จากนั้นก็หาวิธีว่าทำอย่างไรจึงจะไปถึงเป้าหมาย”
สมคิดเริ่มต้นไต่บันไดขั้นแรกด้วยการชกมวย เพราะคิดว่าหากชกมวยได้แชมป์โลกก่อนอายุ 25 ปี เขามีเงินล้านแน่นอน แต่ขณะที่ชื่อเสียงในวงการมวยกำลังรุ่งโรจน์ และเขาวางเป้าหมายไว้ว่าอีกไม่กี่ปีจะขึ้นชกชิงแชมป์โลก ผู้เป็นแม่ได้ขอร้องให้เขาเลิกชกมวยเพราะไม่อยากให้ลูกชายต้องเจ็บตัว ทำให้เขาต้องหันหลังให้กับสังเวียนผ้าใบและหาเส้นทางใหม่เพื่อที่จะไต่บันไดไปให้ถึงเป้าหมาย
“เลิกชกมวยผมก็เลยเข้ามาทำงานใน กทม.ซึ่งเด็กบ้านนอกหากเข้ามาในเมืองหลวงแล้วจะไม่อดตาย ต้องไปเสิร์ฟอาหารตามร้านอาหาร ผมก็ไปเป็นเด็กเสิร์ฟในร้านอาหาร เวลาเก็บโต๊ะก็เทเศษอาหารตามโต๊ะรวมๆ ไว้ พอเลิกงานเราก็เอาน้ำปลาราดแล้วกิน แล้วก็อาศัยใต้โต๊ะเป็นที่ซุกหัวนอน”
สมคิดยังบอกเล่าภาพในอดีตที่แสนลำบากของเขาอย่างไม่ติดขัด ราวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันประทับอยู่ในความทรงจำไม่เคยลืม
“ผมไปสมัครเรียนหนังสือ เพราะเสิร์ฟอาหารได้ทริปเยอะ ตกวันละ 50 บาท เข้าเรียนช่างกลไทยสุริยะ และเรียนภาษาที่สถาบันเอยูเอเพราะอยากพูดภาษาอังกฤษได้ แต่พอเรียนไปได้พักหนึ่งรายได้มันก็ไม่พอรายจ่าย เพราะเราเรียนถึง 2 ที่ และส่งเงินให้แม่ใช้ ส่งน้องเรียนด้วย ก็มีคนมาบอกผมว่าหากอยากมีรายได้เยอะต้องเปลี่ยนงานไปเสิร์ฟตามคอฟฟี่ช็อป หรือในโรงแรม ผมก็เลยเปลี่ยนงาน ไปเป็นเด็กเสิร์ฟอยู่ในอาบอบนวด แค่ 6 เดือนเท่านั้นแหละครับ ผมติดเหล้า ติดผู้หญิง ติดการพนัน และติดยาเสพติด และชีวิตผมมันก็วนเวียนอยู่ในอบายมุขพวกนี้ถึง 4 ปีเต็มๆ”

จากเด็กวัดสู่สนามบินระดับโลก
เป้าหมายที่วางไว้ทำท่าจะไปไม่ถึงไหน เมื่อสมคิด “ติด” อยู่กับหลายสิ่งที่ทำให้เขาไม่ก้าวไปข้างหน้า ในเวลานั้นเขาเลยต้อง “หนี” ไปสมัครเป็นทหารเกณฑ์ เพื่ออยู่ในกรอบระเบียบ วินัย ซึ่งทำให้เขาสามารถหลุดพ้นจากอบายมุขต่างๆ ได้จริง ประกอบกับความขยันมุ่งมั่น เมื่อปลดประจำการ ทำให้เจ้านายที่เขาทำงานด้วยนิยมชมชอบในความขยันและเอาใจใส่หน้าที่การงาน ให้เขาเข้ารับราชการทหารในยศ “สิบเอก”
“ตอนผมเป็นสิบเอกแม่ลาออกจากโรงงานแล้ว เพราะรายได้ไม่พอกิน มาทำงานเป็นคนรับใช้อยู่บ้านเศรษฐี แม่เรียกให้ผมไปหา บอกว่าการบินไทยเปิดรับสมัครงานเยอะ ให้ไปสมัครงานที่การบินไทย ที่แม่รู้เพราะเจ้านายแม่ทำงานที่การบินไทย ผมก็ไปสมัครได้ทำงานอยู่ครัวการบินไทย ทำอยู่ได้ 2 ปี ทางสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์เปิดรับสมัครงานให้ไปบริหารสนามบิน เพราะเขาเปิดสนามบินที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลก ผมก็ลาออกจากการบินไทย และไปเป็นผู้บริหารของสแกนดิเนเวียนแอร์ไลน์อยู่ 6 ปี ผมได้บริหารสนามบินที่ใหญ่ ทันสมัย และได้ชื่อว่ามีระบบการบริหารที่ดีที่สุดในโลก และเก็บเงินได้ 1 ล้านบาทตามเป้าหมาย และกลับมาเมืองไทย”
เป้าหมายที่สมคิดตั้งไว้นั้นสำเร็จตามที่เขาตั้งใจ เขาหอบเอาเงิน 1 ล้านบาทกลับเมืองไทย มารับจ้างบริหารองค์กรที่มีปัญหาอยู่หลายแห่ง และคิดได้ว่าควรเปิดบริษัทเป็นของตัวเองสร้างรายได้ให้ตัวเองเสียที จึงเปิดบริษัททำเพลง สร้างสรรค์ผลงานให้กับนักร้องชื่อดัง สุรชัย สมบัติเจริญ, เอกชัย ศรีวิชัย แต่เมื่อเข้าสู่ยุคดาวน์โหลด สมคิดมองเห็นว่าการทำธุรกิจเพลงโอกาสน้อยลง จึงหันไปทำทอล์กโชว์ปั้นนักพูดชื่อดังหลายต่อหลายคน อาทิ นพ.พงษ์ศักดิ์ ตั้งคณา, นพ.สุกมล วิภาวีพลกุล และ ทนายคู่หู “ประมาณ เลืองวัฒนะวณิช” และ “วันชัย สอนสิริ” เป็นต้น จากนั้นสมคิดหันไปทำรายการทีวี และก้าวเข้าสู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ เขียนหนังสือไปทั้งสิ้น 35 เล่ม มียอดขายประมาณ 380 ล้านบาท
“ผมเป็นนักเขียน นักบริหาร นักพูดปลุกพลัง และนักปั้น ปัจจุบันเปิดสำนักกุโสดอ ปั้นคนจนให้เป็นเศรษฐี ปั้นคนดีให้ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ มีหลักสูตรของสำนักโดยเอาประสบการณ์ที่ผมมีมาถ่ายทอดให้คนรุ่นหลัง ซึ่งเป้าหมายต่อไปของผมคือ เก็บเงินให้ได้ 100 ล้าน ก็น่าจะได้ในปีหน้านี้”

เปิดสำนักปั้นคนให้ประสบความสำเร็จ
สมคิด บอกเล่าแนวคิดของสำนักกุโสดอให้ฟังว่า ต้องการสร้างคนให้ประสบความสำเร็จและเป็นคนดีออกไปสู่สังคม เพื่อคนเหล่านี้จะไปปั้นคนรุ่นต่อๆ ไป ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากวันที่เขาประสบความสำเร็จและอยากจะกลับไปตอบแทนคนที่เคยให้โอกาสกับเขา แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือคำกล่าวที่ว่า ทำตัวเองให้ประสบความสำเร็จ แล้วทำให้คนรุ่นหลังประสบความสำเร็จก็เพียงพอแล้ว
“นอกจากตั้งเป้าหมายในชีวิตแล้ว สิ่งที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จคือ ผมไม่เลือกงาน มุ่งมั่นตั้งใจทำงานเต็มที่ งานไม่เสร็จผมไม่เลิกทำ ตอนเป็นลูกจ้างเขาก็จะทำงานหนักกว่าคนอื่น 3 เท่า งานไหนยิ่งยากยิ่งท้าทาย เมื่อเราทุ่มเททำงานเราก็มีประสบการณ์ อะไรที่เราคลุกคลีกับมันจนรู้จริง สู้จริงๆ อะไรก็ปิดกั้นความสำเร็จไม่ได้ ผมได้ทำงานในสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็จากความสู้ เพราะจบแค่ช่างกล แต่เราทำงานหนักและรู้จักการเรียนรู้จนเป็นที่ยอมรับ”
เจ้าของฉายา “ท่าทางกวนตา วาจากวนใจ” ฝากส่งท้ายว่า ขอให้เลือกอาชีพที่ตัวเองชอบ เพราะเมื่อทำสิ่งที่ตัวเองชอบก็จะไม่เครียด เพราะความเครียดไม่ได้เกิดจากการทำงานเยอะ แต่เกิดจากการทำงานที่เราไม่ชอบนั่นเอง
ใครอยากรู้จักสำนัก “กุโสดอ”และเจ้าสำนักตัวจริง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นได้ที่ http://www.koosodor.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น