บำบัดโรคด้วยการฝึกสมาธิแบบชี่กง
น.พ.คณิน ไตรพิพิธสิริวัฒน์
SCI Therapy ฉบับเดือนมีนาคม 2551
ชี่กง เป็นศาสตร์หนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาอันยาวนานหลายพันปี โดยคำว่า “ชี่” (Qi) เท่าที่มี การบันทึกมา พบว่า มีการบันทึกครั้งแรกในคัมภีร์ “อี้จิ้ง” (คัมภีร์แห่งการเปลี่ยนแปลง) ซึ่งมีการบันทึกตั้งแต่เมื่อ 1,122 ปีก่อนคริสต์ศักราช โดย “ชี่” ในความหมายทางภาษาจีน หมายถึง ลม ไอ พลัง หรือสิ่ง ที่ทำให้สิ่งมีชีวิตหรือสรรพสิ่งดำรงอยู่ ถ้านำมาใช้กับสิ่งมีชีวิต “ชี่” ก็คือ พลังชีวิต (Vital Energy) ซึ่งเป็นพลังภายใน (Intrinsic energy) นั่นเอง โดยหมายถึงพลังในธรรมชาติที่อยู่ในทุกสิ่งและมนุษย์ได้รับพลังธรรมชาติเหล่านี้เข้าไป
ส่วนคำว่า “กง” (Gong) หมายถึง “ทักษะ การออกกำลังกาย หรือการฝึกทักษะ” ซึ่งเมื่อแปลรวมกันแล้ว “ชี่กง” (Qigong) หมายถึง “การฝึก ลมหายใจหรือทักษะการออกกำลังกายและการกำกับลมหายใจเพื่อเพิ่มพลัง” หลังจากนั้นศาสนาได้เข้ามา มีบทบาทกับการฝึกชี่กง ในช่วงระหว่างราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสต์ศักราช–คริสต์ศักราช 500) ศาสนาพุทธและวิธีการปฏิบัติสมาธิภาวนาได้แพร่หลายเข้ามาจากอินเดีย นำมาซึ่งการฝึกฝนชี่กงและการฝึกสมาธิ เข้าสู่ยุคของชี่กงที่อิงกับศาสนา หลังจากปี ค.ศ. 500 ในสมัยราชวงศ์เหลียง (ปี ค.ศ. 502-507) ค้นพบว่า การฝึกชี่กงสามารถใช้เป็นศิลปะการต่อสู้ได้
จากนั้นปี ค.ศ. 1911 การฝึกชี่กงของจีนได้ผสมผสานเข้ากับการฝึกชี่กงจากอินเดีย ญี่ปุ่นและ จากประเทศอื่น ๆ อีกมาก เพราะการสื่อสารที่ไปอย่างง่ายดายในโลกสมัยใหม่ และตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 จนถึงปัจจุบัน การฝึกชี่กงก็ได้พัฒนาจากการสืบทอดกัน อย่างลับ ๆ เข้าสู่ยุคของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และได้รับการเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนในที่สุด
การฝึกชี่กงนี้มีประโยชน์ทั้งในแง่เสริมสุขภาพและการบำบัดรักษาโรค โดยอาศัยส่วนประกอบ 3 ส่วน คือการเคลื่อนไหวร่างกาย (Physical movements) การฝึกลมหายใจ (Breathing exercises) และการฝึกสมาธิให้ใจสงบ (Meditation) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ ฝึกให้พลัง “ชี่” เข้มแข็ง และสามารถขจัดการอุดกลั้นทางเดินของพลัง “ชี่” ได้ ซึ่งอาจจะเกิดจากการบาดเจ็บ สภาวะทางอารมณ์ที่ไม่ดี การกินอาหารที่ไม่เหมาะสม โรคภัยไข้เจ็บ หรือจากปัจจัยอื่น ๆ โดยสรุปแล้วการอุดกลั้นทางเดินของพลัง “ชี่” เป็นสาเหตุทำให้เกิด “โรค” ขึ้น
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า การฝึกชี่กงนั้นดีต่อสุขภาพและสามารถป้องกันโรคได้ แต่เป็นที่ทราบกันน้อยมากว่าชี่กงอาจเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคได้อย่างหลากหลาย ซึ่งรวมไปถึงโรคมะเร็งด้วย ในการประชุมวิชาการอย่างเป็นทางการซึ่งถูกจัดขึ้นในปี ค.ศ. 1996 โดยรัฐบาลจีน สถาบันการศึกษาของจีนและผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งและผลลัพธ์ของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชี่กงไทจี้ 5 ธาตุ (Taiji Five-Element Qigong) ได้รับคำยืนยันว่า การฝึกชี่กงชนิดนี้มีผลต้านมะเร็ง (Anti-Cancer effect) และจัดเป็น “วิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็ง”
นอกจากนี้ จากการศึกษาของ หรูและคณะ พบว่า ผู้ที่ฝึกชี่กง มีระดับเบต้าเอนโดรฟิน เพิ่มขึ้น (ฮอร์โมนที่ทำให้เราผ่อนคลายและมีความสุข) และ ยังพบว่าผู้ที่ฝึกชี่กงนานกว่า 5 เดือน จะมีปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T cell (เม็ดเลือดขาวชนิดที่มีบทบาทเกี่ยวกับภูมิต้านทาน) มากกว่าคนปกติถึง ร้อยละ 50 และยังมีอีกหลายงานวิจัยที่กล่าวว่า ชี่กง สามารถลดอาการซึมเศร้า ทำให้นอนหลับได้ดี ช่วย ในด้านการย่อยและการดูดซึมอาหาร เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย ลดความเครียด เป็นต้น
โดยหลัก ๆ แล้ว การฝึกชี่กงมีผลต่อร่างกาย ดังนี้
1. ผลต่อการทำงานของระบบหัวใจและการไหลเวียนโลหิต การฝึกชี่กงทำให้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง มีความดันลดลง ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ ความดันเลือดจะปรับเข้าสู่ระดับปกติ
2. ผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและสารเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย การฝึกชี่กงจะช่วย ลดการทำงานของต่อมใต้สมอง (Pituitary) ทำให้ต่อมหมวกไตทำงานสบายขึ้น ไม่ทำงานหนักจนเกินไป ทำให้ร่างกายเข้าสู่ความสงบ ได้พักและซ่อมสร้างตัวเอง
3. ผลต่อระบบหายใจ การฝึกชี่กงทำให้ การหายใจช้าลง หายใจได้ลึก ปริมาตรลมเข้า-ออก มากขึ้น เพิ่มอัตราการขับคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการขับออกซิเจน
4. ผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน การฝึกชี่กงมี ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่ผ่านทางต่อมไฮโพทาลามัส พิทูอิทารีและต่อมอะดีนารีน รวมทั้งฮอร์โมนของ ระบบประสาททำงานอย่างได้สมดุล ผู้ที่ฝึกชี่กงนานกว่า 5 เดือน มีเม็ดเลือดขาว T-Lymphocyte เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 50
5. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร การฝึกชี่กงช่วยเพิ่มคลื่นบีบตัวของทางเดินอาหาร ทั้งบีบไล่อาหารได้แรงขึ้น เพิ่มการขับน้ำย่อยมาย่อยอาหารเนื่องจาก ชี่กงทำให้การควบคุมการทำงานของประสาทส่วนกายและปรับการทำงานของประสาทที่ควบคุมอวัยวะภายใน ทำให้ลำไส้ทำงานได้ดีกว่าเดิม การหายใจเข้าออกที่ ต้องใช้กะบังลมและกล้ามเนื้อหน้าท้อง ยังช่วยขับเคลื่อนอาหารในกระเพาะอาหารและลำไส้
6. ผลในผู้ที่มีการเจ็บป่วยเรื้อรัง การฝึก ชี่กงเพื่อรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่าง ๆ ได้มีการศึกษาวิจัยหลายโรค เช่น ผลของการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง 100 คน โดยการฝึกชี่กงพบว่า ผู้ที่ฝึกมีจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยดีขึ้นร้อยละ 20
การฝึกชี่กง เป็นการฝึกองค์ประกอบที่สำคัญ 3 อย่างไปพร้อม ๆ กันอย่างกลมกลืน ได้แก่
1. การบริหารกาย (Posture or Physical exercise) คือ ลีลาหรือท่าทางการเคลื่อนไหวตามหลักสรีรศาสตร์
2. การบริหารลมหายใจ (Breathing or Respiration exercise) คือ การบริหารลมหายใจโดยการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก โดยจะต้องให้สัมพันธ์ กับการบริหารกายในข้อ 1.
3. การบริหารจิต (Mind Concentration or Meditation) โดยการกำหนดจิตนึกคิดตามวิธีกำหนด ให้สัมพันธ์กับกายบริหารและลมหายใจ โดยในข้อ 3 นี้จัดว่ามีความสำคัญมากที่สุด
เมื่อต้นปีที่แล้ว ผู้เขียนและทีมแพทย์ของบัลวี ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง การฝึกชี่กง ระดับความดันโลหิต ความเครียด และระดับภูมิคุ้มกันของร่างกาย พบว่า การฝึกชี่กงท่ายืนนิ่ง เป็นเวลาเพียง 10 นาที/วัน สามารถลดระดับความดันโลหิตลงได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (แต่ต้องฝึกอย่างต่อเนื่องและต้องทำทุกวัน) ซึ่งความดันโลหิตเป็นตัวชี้วัดระดับความเครียดได้ดี โดยพบว่าผู้ที่เผชิญกับความเครียดมาก ๆ จะมีระดับความดันโลหิตสูงไปด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผลการทดลองในมนุษย์และสัตว์ทดลองอีกหลายงานวิจัยที่ระบุว่า ความเครียด เป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ Hemodynamic หรือปฏิกิริยาของหลอดเลือดหัวใจ โดยแสดงออกด้วยการเพิ่มความดันโลหิต เพิ่มการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง Carotid และโรคหลอดเลือดหัวใจ Coronary อีกด้วย
นอกจากนั้น เมื่อเราเผชิญกับความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนต่าง ๆ ออกมา ได้แก่
1. ฮอร์โมนกลุ่ม Catecholamines ซึ่งประกอบไปด้วย ฮอร์โมนจำพวก Adrenaline ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีความสำคัญ เพราะเมื่อหลั่งออกมาจะทำให้เราสามารถรีดเร้นพลังแฝงในร่างกายออกมาได้เป็นอย่างมากในชั่วอึดใจ เช่น เหตุการณ์เมื่อเจอไฟไหม้ แล้วสามารถแบกตุ่มน้ำหนีออกมาคนเดียวได้ แต่พอเหตุการณ์กลับเป็นปกติแล้ว กลับไม่สามารถยกกลับคืนได้ เป็นต้น แต่ผลข้างเคียงของฮอร์โมนนี้ก็คือจะทำให้ความดันโลหิตเพิ่มขึ้นและทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นอย่างมาก ซึ่งถ้าเราอยู่ในภาวะเครียดนานและบ่อย ๆ จะทำให้เกิดเป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจได้ การฝึกชี่กงจึงช่วยให้การควบคุมความดันโลหิตดีขึ้น และอาการของโรคหัวใจดีขึ้นได้ แต่ต้องทำเป็นประจำทุกวันอย่างสม่ำเสมอและถูกต้องจึงจะได้ผลดี
2. ฮอร์โมนกลุ่ม Cortisol (ฮอร์โมนกลุ่ม สเตียรอยด์) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความอึด สามารถทนต่อความเครียดได้ดีขึ้น แต่ก็มีผลข้างเคียงคือ เป็นฮอร์โมนที่กดการทำงานของภูมิต้านทาน เมื่อร่างกายอยู่ในสภาวะที่มีฮอร์โมนกลุ่มนี้หลั่งออกมานานก็จะทำให้ภูมิต้านทานร่างกายอ่อนแอลง เป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย ตั้งแต่ โรคกระดูกพรุนไปจนถึงโรคมะเร็ง
เพราะฉะนั้นการฝึกชี่กงจึงสามารถช่วยลดความดันโลหิต ลดความเครียด และเพิ่มภูมิต้านทานให้แก่ผู้ป่วย นำไปสู่การรักษาโรคในผู้ป่วยได้ในที่สุด
สำหรับฉบับนี้ ผู้เขียนขอแนะนำวิธีฝึกชี่กง ท่านิ่งท่าหนึ่ง ที่ผู้เขียนและทีมแพทย์บัลวี ร่วมกันทำงานวิจัยและพบว่ามีประสิทธิภาพในการลดความดัน–ลดความเครียด–เพิ่มภูมิต้านทาน ได้ และสามารถฝึกตามได้ง่าย เห็นผลเร็ว
วิธีการ
1. ยืนตรงแยกเท้าออกจากกันประมาณ ช่วงไหล่ และที่สำคัญคือ เท้าทั้ง 2 ข้าง ต้องขนานกันเป็นเลข 11 (ไม่ยืนส้นเท้าชิดแบบทหาร)
2. แล้วยกแขนขึ้น งอข้อศอก เป็นมุมฉาก ให้แขนขนานกันเองและให้แขนขนานกับพื้น
3. ย่อเข่าตัวตรง
4. ให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อทุกส่วน โดยที่ยังอยู่ในท่านี้
5. ตามองที่พื้นจุดใดจุดหนึ่งด้านหน้า ประมาณ 3-4 เมตร นิ่งไว้
6. หายใจเข้ากำหนดความคิดในใจ (การกำหนดจิต) ว่ากำลังรับพลังดี ๆ จากธรรมชาติ พลังจากแม่น้ำ ลำธาร ป่าไม้ ทะเล ภูเขา เข้าสู่ร่างกายทุกขุมขน
7. หายใจออก ให้กำหนดจิตว่า ขับไอเสีย ไอโรค ออกจากร่างกาย จากจุดที่เป็นโรคผ่านฝ่ามือ ผ่านฝ่าเท้า แล้วฝังลึกลงดิน
8. หลังจากฝึกชี่กงท่ายืนนิ่งครบตามกำหนดเวลาที่ต้องการแล้ว ให้ใช้ท่ายุติการฝึก โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
9. กำมือทั้ง 2 ข้าง จากนั้นค่อย ๆ ยกมือขึ้นจนถึงระดับไหล่
10. ยืดขาให้ตรง
11. แบมือแล้วค่อย ๆ ดันฝ่ามือลงข้างล่าง พร้อมกับเป่าลมออกทางปาก
12. จากนั้นให้ถูมือทั้ง 2 ข้าง ให้ร้อนและเร็ว เป็นการเก็บพลัง “ชี่” ที่ได้ฝึกมา แล้วทาบไปตามอวัยวะต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้ (ทุกครั้งให้ถูมือก่อนด้วย)
13. ใบหน้าและลำคอ
14. หน้าอก
15. ท้องน้อย
16. หลังบริเวณไต
17. บริเวณที่เจ็บป่วย เช่น บางคนปวดต้นคอ ก็ไปทาบที่ต้นคอ บางคนปวดหัวก็ไปทาบที่หัว เป็นต้น
ข้อควรปฏิบัติ ในการฝึกชี่กง
1. ต้องตั้งใจฝึกและต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง ทุกวัน จึงจะได้ผล
2. การฝึกต้องกำหนดจิตไปด้วยทุกครั้งที่หายใจเข้า-ออก
3. หลังการฝึกต้องทำการเก็บพลังด้วยทุกครั้ง
4. สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ไม่รัดตึง ไม่ควรรัดเข็มขัด
5. ควรอยู่ในห้องที่เปิดโล่งตามธรรมชาติและไม่อยู่ในที่อุณหภูมิร้อนหรือเย็นเกินไป
6. ถ้าคันต้องไม่เกา
7. ไม่ควรยืนอยู่บนพื้นที่เย็นเกินไป เช่น พื้น หินอ่อน หินแกรนิต (ถ้ายืนฝึกบนพื้นเหล่านี้ให้สวมรองเท้า) แต่ถ้ายืนบนพื้นดินหรือพื้นไม้ให้ถอดรองเท้ารับพลังธรรมชาติ
8. การฝึกต้องใช้ความอดทนและตระหนักไว้เสมอว่า การฝึกชี่กงต้องใช้เวลานานพอสมควรจึงจะ เห็นผล
9. ไม่ควรฝึกน้อยกว่า 10 นาที
10. ควรจะเพิ่มระยะเวลาการฝึกให้มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจเพิ่มได้จนถึง ? - 1 ชั่วโมง/วัน จะทำให้ได้ผลเร็วขึ้น
เอกสารอ้างอิง
1. สมร อริยานุชิตกุล. แนวทางและวิธีการดูแลสุขภาพตนเองด้วยการฝึกวิชาชี่กง : กวงอิมจี้อไจ้กง. ปทุมธานี : รัตนโกสินทร์ กราฟิค แอนด์ พริ้นท์ เอ๊กซ์เพรส; 2543
2. สมพร กันทรดุษฏี-เตรียมชัยศรี. การปฏิบัติสมาธิเพื่อ การเยียวยาสุขภาพ. กรุงเทพมหานคร : ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ; 2550
3. คณิน ไตรพิพิธสิริวัฒน์ และคณะ. The effect of Qigong Training on Blood pressure in cancer and chronic patients. การสัมมนาวิชาการแพทย์ทางเลือก ครั้งที่ 3 “การดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง ด้วยการแพทย์แบบผสมผสาน” กองการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข 9-10 พฤษภาคม 2549
เป็นเรื่องที่น่าทึ่งและน่าสนใจมากค่ะ. จะได้้ป็นทางเลืิอกทางการรักษาอีกทาง
ตอบลบ