++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมในวงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โลก-ไทย โดย ประสาท มีแต้ม

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้แสดงปาฐกถา “เสาหลักของแผ่นดิน” ในชุด “ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรและบริการพื้นฐานของประเทศไทย” วันนี้ผมขอนำเอาเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งในระดับโลกและในประเทศไทยมาเล่าให้ท่านผู้อ่านครับ

ที่ผมต้องพูดเรื่องนี้เพราะประเทศไทยเรามีแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 5 โรง แผนนี้ “ถูกยัดเยียด” มาตั้งแต่รัฐบาลชุด คมช.จนมาเป็น “แผนพีดีพี 2010” ในช่วง 20 ปีข้างหน้า

ประเด็นที่จะกล่าวถึงในที่นี้มี 3 ข้อคือ (1) สถานการณ์โลกหลังเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นระเบิด (2) การใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานและงบของ กฟผ. รณรงค์อย่างไม่เป็นธรรม รวมถึงการทำงานขององค์กรระดับโลกด้วย และ (3) ข้อมูลต้นทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เปรียบเทียบกับพลังงานจากแสงอาทิตย์

กราฟข้างบนนี้มาจากรายงานฉบับร่างของ The World Nuclear Industry Status Report 2010-2011 Nuclear Power in a Post-Fukushima World 25 Years After the Chernobyl Accident , เขียนโดย Mycle Schneider, Antony Froggatt, Steve Thomas (เอื้อเฟื้อโดยลูกศิษย์ของ ดร.ชมพูนุช โมราชาติ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี)

ตลอดเกือบ 60 ปีที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อุบัติขึ้นในโลก เราถูกโฆษณาชวนเชื่อว่ามีความปลอดภัยสูง ประเทศโน้นประเทศนี้เขาก็มีกัน จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความเจริญ” ไปแล้ว

นั่นเป็นเพียงความจริงบางส่วนเท่านั้น แต่ในกราฟนี้ได้แสดงจำนวนการเปิดใหม่ (แท่งสีเข้ม)และปิดตัวลง (แท่งสีจาง) ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตลอดมาตั้งแต่สร้างเสร็จใหม่ๆ จนกระทั่งมาปิดตัวลงจำนวนมากถึง 14 โรงในปีเดียวคือปี 1990 หลังเหตุการณ์อุบัติเหตุเชอร์โนบิล

ล่าสุดหลังเหตุการณ์ฟูกูชิมะที่ผู้สนับสนุนโฆษณาชวนเชื่อว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุเพียง 1 ใน 10 ล้านเท่านั้น แต่มันก็เกิดจนได้ และมีการปิดตัวไปถึง 6 โรงในประเทศญี่ปุ่น

ก่อนเหตุการณ์ในญี่ปุ่น ทั่วโลกมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่กำลังใช้งานทั้งหมดใน 31 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 443 โรง (สหรัฐฯ 104, ฝรั่งเศส 58, ญี่ปุ่น 55) ที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง 62 โรง อยู่ในแผนที่จะสร้าง 158 โรง (จีน 50, อินเดีย 18, รัสเซีย 14) และกำลังมีการเสนอโครงการอีก 324 โรง (จีน 110, อินเดีย 40, รัสเซีย 30 รวมทั้งไทย 5 โรง)

เราถูกโฆษณาว่า “เห็นไหม ประเทศจีนที่กำลังจะเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกก็มีแผนจะสร้างอีกถึง 110 โรง” แต่รายงานฉบับนี้ได้บอกความจริงเพิ่มเติมว่า “จีนลงทุนสร้างกังหันลมมากเป็น 5 เท่าของนิวเคลียร์”

ในปี 2010 ประเทศจีน เยอรมนี และสหรัฐฯ ได้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าด้วยพลังงานสะอาดสูงติด 3 อันดับแรกของโลกด้วยเงิน 5.4, 4.1 และ 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ

แต่ชาวโลกไม่ค่อยได้รับทราบกันเลยว่าเรามีทางเลือกอื่น ซึ่งผมจะเรียนในภายหลังว่าเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ตอนนี้ขอไปที่ประเด็นที่สองครับ

เนื่องจากชาวบ้านที่ทราบข่าวว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดของตน เช่น อุบลราชธานี ตราด ชุมพร และอื่นๆ ได้ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อขอคำชี้แจงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ตั้งคำถามกับผู้แทนส่วนราชการว่า “ให้ชี้แจงการใช้งบประชาสัมพันธ์และเตรียมความพร้อมจำนวน 1,800 ล้านบาท”

ผู้แทนปลัดกระทรวงพลังงานตอบว่า “ใช้ไปจริงเพียงประมาณ 745 ล้านบาท แต่จำรายละเอียดไม่ได้ว่าได้ใช้ไปในเรื่องใดบ้าง”

อย่างไรก็ตาม อีกไม่กี่วันต่อมาศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (http://www.tcijthai.com/investigative-story/459) เปิดเผย ได้เปิดเผยว่ามีการใช้เงินไปทั้งสิ้น 1,345 ล้านบาท ดังรายละเอียดในตาราง



ผมได้แสดงความเห็นในเวทีปาฐกถาไปว่า การที่หน่วยงานของรัฐใช้เงินของประชาชนทั้งจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานและจาก กฟผ. ไปโฆษณาให้ข้อมูลด้านเดียวกับประชาชน มันเป็นธรรมแล้วหรือ? น่าจะมอบเงินสักส่วนหนึ่งให้กับกลุ่มผู้คัดค้านไปศึกษาข้อมูลในส่วนที่พวกตนเห็นว่าไม่ดี ไม่เห็นด้วย แล้วนำสาระมาเสนอให้สาธารณะพิจารณา ให้สาธารณะได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุด้วยผล

อย่างนี้ซิจึงจะเป็นธรรม อย่างนี้ซิจึงจะเป็นประชาธิปไตย

อนึ่ง รายงานฉบับเดียวกันได้กล่าวถึงความคิดเห็นของคนไทยต่อกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลังเหตุการณ์ฟูกุชิมะว่า “จากการสำรวจความคิดเห็นเมื่อปลายเดือนมีนาคม พบว่า 83% ที่ไม่เห็นด้วยจะมีแผนสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย มีเพียง 16.6% เท่านั้นที่สนับสนุน ครั้นถามว่าถ้าจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดใกล้เคียงกับจังหวัดของตน ปรากฏว่า 89.5% ไม่เห็นด้วย มีเพียง 10.5% ที่เห็นด้วย”

หลังเหตุการณ์ฟูกูชิมะ หลายไประเทศได้ทบทวนแผนที่จะก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น ออสเตรเลีย นายกรัฐมนตรีเยอรมนีประกาศยกเลิกแผนที่จะต่ออายุโรงไฟฟ้าไปอีกระยะหนึ่ง เป็นต้น แต่ประเทศไทยเราแค่เลื่อนแผนการตัดสินใจว่าจะก่อสร้างในจังหวัดใดไป 3 ปี

เมื่อพูดถึงการใช้เงินของประชาชนมาโฆษณาชวนเชื่ออย่างไม่เป็นธรรมของประเทศไทย ก็จำเป็นต้องกล่าวถึงในเรื่องเดียวกันขององค์กรที่ชื่อว่า “องค์กรพลังงานสากล” IEA (International Energy Agency)

องค์กรนี้ก่อตั้งขึ้นโดยประเทศร่ำรวย 28 ประเทศ เมื่อปี 1974 เพื่อคานอำนาจกับกลุ่มโอเปก (ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาแต่ดันมีน้ำมันดิบมาก) ที่รวมหัวกันประกาศขึ้นราคาน้ำมันถึง 400% ในปีเดียวคือปี 1973

IEA ได้ให้เงินสนับสนุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ 1986-2008 ด้านพลังงานนิวเคลียร์ถึง 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 70% ของงบทั้งหมดในขณะที่ด้าน “การใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพ” และพลังงานหมุนเวียน ได้รับเพียงร้อยละ 17 และ 13 เท่านั้น ทั้งๆ ที่กำลังผลิตติดตั้งของพลังงานหมุนเวียนทั่วโลกถึง 381 กิกะวัตต์ มากกว่าพลังงานนิวเคลียร์ที่มีเพียง 375 กิกะวัตต์

ก่อนที่ Dr.Hermann Scheer (ผู้ได้รับรางวัล Alternative Nobel) จะเสียชีวิตไม่นาน เขาได้แซวองค์กร IEA ว่าเป็น “Club of the Rich” หรือ “สโมสรของคนรวย” ซึ่งแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับ “The Club of Rome” หรือ “สโมสรแห่งโรม” ที่ได้ออกมาเตือนชาวโลกมาตั้งแต่ประมาณปี 1970 ว่าถ้ายังคงพัฒนาที่มุ่งไปที่การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปแล้ว โลกจะพบกับความหายนะ

สำหรับประเด็นที่สาม นับตั้งแต่ปี 2010 งานวิจัยของศาสตราจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ของ Duke University พบว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ในรัฐ North Carolina ต่ำกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ขออนุญาตจบบทความเพียงแค่นี้ เพราะจำนวนตัวอักษรเกินโควตามาพอสมควรแล้ว!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น