++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อย่ากลัวตาย แต่ต้องเตรียมตัวตาย

สองสามวันที่ผ่านมา ผู้เขียนอยู่กับความหดหู่ใจด้วยเรื่องราวสำคัญสองประการ หนึ่ง คือการมรณภาพของพระครูธีรสารโสภณ หรือที่ญาติโยมและลูกศิษย์ลูกหาเรียกขานท่านว่า หลวงปู่ศักดิ์ กับคลื่นยักษ์สึนามิถล่มภาคใต้ทำให้ผู้คนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก
คลื่น ยักษ์สึนามิเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นดินไหวใต้ทะเลส่งผลไปทั่วแถบทะเล อันดามัน ลามไปถึงอินเดีย ศรีลังกา ยอดคนตายและบาดเจ็บหลายแสนคน ทรัพย์สินเสียหายแทนจะประมาณค่ามิได้
นับเป็นโศกนาฏกรรมอันใหญ่ยิ่งในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว
สำหรับ การมรณภาพของหลวงปู่ศักดิ์ หรือพระครูธีรสารโสภณ ต้องถือเป็นเรื่องช็อกของผู้เขียนอย่างมาก เพราะเมื่อวันก่อนเข้าพรรษาที่ผ่านมายังเดินทางไปกราบเจดีย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่จังหวัดอุบลราชธานีด้วยกัน วันนั้นท่านยังแข็งแรงมากด้วยกำลังวังชา ไม่เห็นริ้วรอยของความเจ็บไข้ได้ป่วยแม้แต่น้อย
ใน วันวางศิลาฤกษ์ ศาลาอุโบสถวัดป่าพอก หลวงปู่ศักดิ์ก็ยังมาร่วมพิธีด้วยรอยยิ้มแย้มแจ่มใส หากหลังจากนั้นเพียงสี่ห้าเดือนท่านจากเราไปอย่างไม่คาดฝันด้วยโรคร้ายมะเร็งในตับ
ผู้ เขียนได้รู้จักและกราบท่านครั้งแรกเมื่อคราวสร้างวัดป่าชนะสงคราม ที่อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ช่วงนั้นท่านมาวิเวกที่วัดป่าบ้านเด่นดีหมี ห่างจากวัดที่ผู้เขียนกำลังสร้างประมาณสี่ห้ากิโลเมตร แรก ๆ ท่านบอกกับญาติโยมว่าจะอาศัยสถานที่ภาวนาสักระยะค่อยเดินทางต่อ...แต่ญาติ โยมนิมนต์ไว้ พรรษานั้นท่านจึงอยู่โปรดญาติโยมตลอดทั้งพรรษา และหลังจากออกพรรษา หลวงปู่ศักดิ์ก็เดินธุดงค์เข้าเขตพม่าทั้ง ๆ ที่ผู้เขียนได้นิมนต์เอาไว้แต่ท่านได้ปฏิเสธด้วยความนิ่มนวล
“ขอไปก่อน...ใกล้เข้าพรรษาจะกลับมาค่อยว่ากันอีกที”
พรรษาต่อมาวัดป่าชนะสงครามเสร็จสิ้น ทาง คณะศรัทธาจัดพิธีมอบถวายให้สงฆ์ ภาระการก่อสร้างของผู้เขียนจบลงทำให้โอกาสเดินทางขึ้นสุโขทัยลดน้อย พร้อม ๆ ข่าวคราวของหลวงปู่ศักดิ์เงียบหายไประยะหนึ่ง จนในเดือน พฤษภาคม ๒๕๔๖ ใกล้วันเกิดของผู้เขียน หลวงปู่ศักดิ์ได้ติดต่อผ่านทางอาจารย์ประดิษฐ์ โชติโก ให้บอกภูเตศวรว่าปีนี้ท่านจะมาจำพรรษาที่สำนักสงฆ์วัดป่านาล้อม จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อรู้ข่าวผู้เขียนจึงเดินทางขึ้นไปกราบท่านทั้ง ๆ ที่ป่วยอยู่ วันที่ขึ้นไปตรงกับวันคล้ายวันเกิดของตัวเองจึงได้ทำบุญเลี้ยงพระไปด้วย
หลังฉันภัตตาหารเสร็จ หลวงปู่ศักดิ์ได้ปรารภว่าในวันอายุครบ ๔๕ ขึ้น ๔๖ ของแม้ว หลวงปู่ทำกลด ๔๖ อันให้ แต่ขอเอาไว้ ๑๖ อันสำหรับถวายครูบาอาจารย์ พระเถระชั้นผู้ใหญ่ ส่วนที่เหลือ ๓๐ อันสุดแล้วแต่แม้วจะให้ใคร โดยท่านให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า
“กลดจะได้กางกั้นภัยให้แม้วไง”
กลดจำนวนสามสิบอันผู้เขียนได้จำแนกแจกจ่ายให้ลูกศิษย์ลูกหาบ้าง หลายคนทำบุญมาได้เงินประมาณสามหมื่น สมทบงานบุญทอดกฐินที่วัดอมราวาส จ.สุโขทัยทั้งหมด
นั่นคือความเมตตาของหลวงปู่ศักดิ์ หรือพระครูธีรสารโสภณที่มีต่อภูเตศวร!
จาก ปี ๒๕๔๖ จนสิ้นพรรษา ได้พบปะท่านอีกครั้งสองครั้ง ครั้งสุดท้ายคืองานวางศิลาฤกษ์ ศาลาอุโบสถวัดป่าพอกช่วงเทศกาลสงกรานต์ และตลอดช่วงเข้าพรรษาปี ๒๕๔๗ นี้ ได้ข่าวว่าท่านหวนคืนไปจำพรรษาที่วัดป่าศรีดงลาน อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ใกล้ ๆ กับบ้านเกิดของท่าน จนล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๖ ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้รับข่าวอันสุดงงงัน...ข่าวที่ไม่คิดว่าจะเป็นจริง
หลวงปู่ศักดิ์หรือพระครูธีรสารโสภณ มรณภาพแล้ว!
เช้า วันที่ ๑๗ ผู้เขียนขับรถมุ่งหน้าไปกราบศพท่าน จากนั้นจึงทราบเรื่องราวความจริง...ว่าตลอดพรรษาที่ผ่านมาหลวงปู่ทนทุกข์กับ โรคร้ายอย่างไร ท่านต่อสู้กับมะเร็งในตับที่เจ็บปวดอย่างสงบเงียบเยี่ยงพระป่ากรรมฐาน แม้ก่อนหน้าจะละสังขารเพียงสามสี่วัน โยมจากทางไกลโทรศัพท์มาหา ถามข่าวคราว ท่านยังตอบสั้น ๆ “ยังสบายดีอยู่”
ทั้งปวงเพราะไม่ต้องการให้ญาติโยมต้องลำบาก เพราะความป่วยไข้ เพราะการอาพาธของท่านมากกว่าประการอื่น
ก่อน วันมรณภาพ ชาวบ้านและคณะศรัทธาวัดศรีดงลานรู้ว่าหลวงปู่มีปัจจัยอยู่ทั้งหมดเพียง ๔๐ บาท ขณะที่ทุกคนรู้แน่ชัดจากแพทย์แล้วว่าอีกไม่กี่วันท่านต้องมรณภาพอย่างแน่นอน ปัญหาจึงอยู่ที่การหาปัจจัยเพื่อจัดงานศพ แต่หลวงปู่ก็ยังพูดแบบติดตลกด้วยการชี้ไปยังต้นมะพร้าวที่แคระแกร็นที่สุดในวัด
“เอาเชือกผูกคอลากไปฝังใต้ต้นมะพร้าวต้นนั้นมันจะได้งามเหมือนต้นอื่น ๆ เด้อ” แม้จะพูดยิ้มๆ แต่ท้ายสุดท่านยังแย้มให้คณะศรัทธาวัดป่าศรีดงลานเห็นภาวะจิตระดับสูงของท่านด้วยประโยคที่มั่นใจ
“อีกไม่นานด๊อก พวกเจ้าจะได้เห็นภูเตศวร เขาเป็นนักเขียนนะ เขาจะมาจัดการให้เองแหละ”
ครับ...จริงอย่างที่หลวงปู่ศักดิ์ปรารภ ภูเตศวร มีโอกาสขึ้นไปจริง ๆ ขึ้นไปเป็นเจ้าภาพสวดอภิธรรม และมีโอกาสซื้อเจดีย์เล็ก ๆ บรรจุอัฐิธาตุของท่านหลังการประชุมเพลิงเพื่อให้อนุชนรุ่นหลังได้กราบไหว้ ต่อไป ขึ้นไปอย่างกะทันหันแบบไม่ทันตั้งตัวอย่างที่ท่านกล่าวจริง ๆ

ฉบับ นี้คงไม่มีอะไรมากไปกว่าการแสดงความเสียใจต่อญาติมิตรญาติธรรมผู้ใกล้ชิด หลวงปู่ศักดิ์ที่สูญเสียสุปฏิปันโนพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สูญเสียครูบาอาจารย์ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับคืน รวมทั้งโศกนาฏกรรมจากคลื่นยักษ์สึนามิที่ภาคใต้ด้วย
และขอให้ทุกท่านจงอยู่กับสติ...ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เพราะมรณกรรม...มรณภัย สามารถบังเกิดขึ้นในชีวิตมนุษย์ตลอดเวลา โดยไม่มีการเตือนล่วงหน้า
เหตุการณ์ทั้งปวงดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนคิดถึงคำกล่าวของหลวงปู่บุญจันทร์ กมโล วัดป่าสันติกาวาส อำเภอไชยวาน จังหวัดอุดรธานี ที่ท่านกล่าวถึงคุณอนุชิต ปุรสาชิต ที่เป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดด้วยคำถามที่ว่า
“ผู้จัดการกลัวตายไหม?”
“กลัวครับ” คุณอนุชิตหรือเฮียกวงของผู้เขียนตอบตามจริง ท่านก็เลยหัวเราะ บอก...
“อย่ากลัวตาย เพราะคนเราทุกคนต้องตาย ไม่มีใครหลบเลี่ยงความตายได้" และทิ้งท้ายเบา ๆ “เพียงแต่เราต้องเตรียมตัวที่จะตาย หาวิธีรับมือกับความตายอย่างไม่ประมาท”
“เตรียมยังไงครับ?” เฮียกวงย้อนถาม ท่านเลยวิสัชชนาต่อ...
“หัดให้ทาน...ฝึกภาวนาให้มาก ถ้าใครทำได้จะไม่กลัวความตาย”
ประโยคสั้น ๆ ของหลวงปู่บุญจันทร์ จดจำอยู่ในใจผู้เขียนเสมอมา การรู้จักให้ทานแก่ผู้ควรให้คือการสร้างพลปัจจัยแห่งบุญเพื่อชาติภพในกาลข้างหน้า การภาวนาฝึกจิตคือการหาปัญญาสำหรับการสิ้นทุกข์ในแก่นพระนิพพาน
นั่นคือหน้าที่ของชาวพุทธที่พึงกระทำอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งตรงกับพุทธดำรัสขององค์พระบรมศาสดาที่ชาวเรารู้กันในพุทธโอวาทก่อนปรินิพพานที่ว่า...
“สังขารทั้งหลายย่อมมีการเสื่อมสิ้นลงเป็นธรรมดา ฉะนั้นจงยังประโยชน์ตน...ประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
ประโยชน์ตนคือการปฏิบัติธรรม การเจริญสมาธิภาวนา ประโยชน์ท่านคือการช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นด้วยการให้ทาน ด้วยความเมตตากรุณา ซึ่งตรงกับแก่นธรรมอันเป็นไตรสิกขาบทที่เราท่านมิอาจลืมเลือน คือ ‘ศีล ทาน ภาวนา’ นั่นเอง
ครับ...ก็ต้องจากลากันด้วยประโยคที่ว่า... อย่ารู้แค่จดจำ แต่รู้แล้วต้องกระทำจึงจะเป็นผลสำเร็จ...จึงอยากถามว่า
“...ปีใหม่นี้ท่านเริ่มต้นทำแล้วหรือยัง?”

1 ความคิดเห็น:

  1. อวดอุตริมนุสธรรม
    ผมล่องหนได้ เหาะได้ ดำดินได้ มีหูทิพย์ มีตาทิพย์ แต่แสดงให้ดูไม่ได้มันผิดระเบียบ แล้วคุณจะเชื่อไหมว่าผมทำได้ สมมติว่าถ้าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริงแล้วเรื่องอื่นๆในพระไตรปิฏกจะมีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน?

    ตอบลบ