++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ย้อนอดีตพระญวน สืบสานประเพณีกงเต๊กฉบับ 'อนัมนิกาย'

งานพระราชพิธี พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ คณะสงฆ์อนัมนิกายแห่งประเทศไทย ได้ประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล ทักษิณานุปทาน (พิธีกงเต๊ก) อุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราช นครินทร์ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2551

คณะสงฆ์อนัมนิกายนั้น เริ่มต้นมาจาก คนญวนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทย สมัยก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ จากพระนิพนธ์ เรื่อง “ตำนานพระญวนและ วัดญวนในประเทศไทย” ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

กล่าวไว้ว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2316 ได้เกิดกบฏขึ้นที่ เมืองเว้ อันเป็นเมืองหลวงของประเทศญวน พวกราชวงศ์ญวน ได้พากันหนีพวกกบฏลงมาทางเมืองไซ่ง่อนหลายองค์ องเชียงชุน ราชบุตรองค์ที่ 4 ของเจ้าเมืองเว้ ได้หนีมาอาศัยอยู่ที่เมืองฮาเตียน ต่อแดนมณฑลบันทายมาศของเขมร เมื่อพวกกบฏยกกำลังติดตามมา เจ้าเมืองฮาเตียนก็อพยพครอบครัว พา องเชียงชุน เข้ามากรุงธนบุรี เมื่อประมาณ ปีพ.ศ. 2319 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้รับไว้ และ พระราชทานที่ให้พวกญวน ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกฝั่งพระนคร ทางฝั่งตะวันออก บริเวณถนนพาหุรัดในปัจจุบัน

ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ องเชียงสือ ราชนัดดาของเจ้าเมืองเว้อีกองค์หนึ่ง ได้หนีกบฏไปอยู่เมืองไซ่ง่อน แต่ต่อมาเมื่อสู้กบฏไม่ได้ จึงได้หนีมาอยู่ที่เกาะกระบือในเขมร ต่อมาได้เข้ามาขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2326 และได้รับพระราชทานที่ให้ญวนพวก องเชียงสือ ตั้งบ้านเรือน บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตำบลคอกกระบือ ญวนที่นับถือ องเชียงสือได้พากันอพยพครอบครัวมาอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก

องเชียงสือได้คุมชาวญวน ไปตามเสด็จในการทำสงคราม กับพม่าหลายครั้ง และได้รับพระราชทานกองทัพไปตีเมืองไซ่ง่อนครั้งหนึ่ง ต่อมาองเชียงสือได้ลอบหนีกลับไปเมืองญวน เพื่อคิดอ่านตีเอาเมืองไซ่ง่อนคืน พฤติกรรมครั้งนี้ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ทรงขัดเคืองมาก จึงโปรดให้ญวนพวกองเชียงสือย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางโพ และได้สืบเชื้อสายมาถึงปัจจุบัน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. 2377 พระเจ้าแผ่นดินญวนพระนามมินมาง ประกาศห้ามมิให้ญวนถือศาสนาคริสตัง และจับพวกญวนที่เข้ารีตทำโทษด้วยประการต่าง ๆ จึงมีพวกญวนเข้ารีตอพยพหนีภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในไทย โดยมาอยู่ที่เมืองจันทบุรีเป็นส่วนใหญ่ มีบางส่วนอพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ และได้รับพระราชทานที่อยู่ให้ที่สามเสน

ในปี พ.ศ. 2376 เจ้าพระยาบดินทร์เดชาได้ยกทัพไปตีเมืองญวน และได้ครัวญวนส่งเข้ามาถึงกรุงเทพฯ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2377 ครัวญวนที่เข้ามาครั้งนี้แบ่งเป็น 2 พวก คือ พวกที่ถือพุทธศาสนาพวกหนึ่ง และพวกที่ถือคริสต์ศาสนาอีกพวกหนึ่ง

พวกญวนที่ถือพุทธศาสนา นั้นโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งบ้านเรือน อยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี สำหรับรักษาป้อมเมืองใหม่ ที่ทรงสร้างขึ้นที่ปากแพรก

ชาวญวนที่มาอยู่ในประเทศไทย มีทั้งที่นับถือพระพุทธศาสนา และที่นับถือคริสต์ศาสนา พวกที่นับถือพระพุทธศาสนา เมื่อมาตั้งภูมิลำเนาอยู่แห่งใดก็จะนิมนต์พระญวนมา สร้างวัด เป็นที่บำเพ็ญการกุศลของชาวญวนหรือชาวเวียดนามที่อยู่ ณ ที่แห่งนั้น ชาวเวียดนามรับเอาพระพุทธศาสนาฝ่าย มหายาน จากประเทศจีน ดังนั้น เมื่อชาวญวนมาสร้างวัด และมีพระญวน ขึ้นในประเทศไทย แรกก็มีแต่ชาวญวนนับถือ

แต่เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีวัดจีนในประเทศไทย คนจีนมักไปทำบุญที่วัดญวนด้วย เพราะอยู่ในพุทธศาสนาฝ่าย มหายานเหมือนกัน มีพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนาเดียวกัน เช่น พิธีกงเต๊ก เป็นต้น

ส่วนไทยแม้ไม่สู้นับถือ แต่ก็ไม่รังเกียจเพราะเห็นว่านับถือพระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน

พระญวนในประเทศสยามนั้น ชั้นแรกบวชเรียนมาจากเมืองญวน แต่เป็นเช่นนี้ในช่วงรัชกาลที่ 1 จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 เมืองญวนกับไทยเกิดเป็นอริกัน ช่วงนั้นญวนตกอยู่ในอาณานิคมฝรั่งเศส พระญวนทั้งสองประเทศ จึงไม่ไปมาหาสู่กัน พระญวนในประเทศไทยหันมาตามพระสงฆ์ไทยหลายอย่าง เป็นต้นว่ามาถือสิกขาบทวิกาลโภชน์ ไม่กินข้าวเย็น ครองผ้าสีเหลืองสีเดียว ไม่ใช้ต่างสี ไม่ใส่รองเท้าและถุงเท้าเหมือนเช่นพระจีนเมืองญวน

มูลเหตุที่พระญวนได้รับความยกย่องในราชการนั้น มีเรื่องเล่ากันมาว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งยังคงทรงผนวชอยู่ ใคร่จะทราบลัทธิของพระญวน จึงทรงสอบถาม องฮึง (ซึ่งต่อมาได้เป็นที่พระครูคณานัม สมณาจารย์ องค์แรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) จึงได้ทรงคุ้นเคยชอบพระราช อัธยาศัยมาแต่ครั้งนั้น

เมื่อพระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว พระญวนก็ได้มีโอกาสเฝ้าแหนได้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังจะเห็นได้ในงาน พระราชพิธีเฉลิมพระชนม พรรษา พระญวนยังเข้าไปถวาย ธูปเทียน และกิมฮวยอั้งติ้วอยู่ทุกปี ส่วน “พิธีกงเต๊ก” ที่ได้ ทำเป็นงานหลวงนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นครั้งแรก เมื่องานพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เมื่อปี พ.ศ. 2404 ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต เมื่อปี พ.ศ. 2408 ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีพิธีกงเต๊กในพระบรมมหาราชวังอีกครั้งหนึ่ง พิธีกงเต๊กจึงได้เข้าในระเบียบ งานพระศพซึ่งเป็นการใหญ่ เป็นประเพณีสืบต่อมา

“กงเต๊ก” เป็นคำภาษาจีน ภาษาญวน เรียกว่า “กงดึ๊ก” (พระสงฆ์ญวน มักใช้คำว่า “ด๊าม” มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า “ทักษิณานุปทาน” คือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปสู่ปรโลก)

พระบริหารอนัมพรต (ถาวร มินเอง) ปลัดซ้าย เจ้าอาวาสวัดอุภัยราชบำรุง กทม. บอกเล่าถึงพิธีกงเต๊กตามแบบฉบับของพระญวนว่า ไม่ต่างจากคณะสงฆ์จีน มีพิธีกรรมสำคัญ ที่พบเห็นไม่ว่าการข้ามสะพาน เผาเครื่องกระดาษ ล้วนมีจุด ประสงค์เดียวกันเพื่อที่จะอุทิศส่วนบุญส่วนกุศล เริ่มตั้งแต่เช้า จะประกอบพิธีบูชาข้าวพระพุทธ ตามคติความเชื่อเพื่อจะอัญเชิญพระพุทธองค์ เสด็จมายังโลกมนุษย์ ต้องน้อมถวายด้วยเครื่องบูชา และพิธีทำกงเต๊กที่สำคัญคือพิธีข้ามสะพาน มีความเชื่อ พื้นฐานที่ว่าดวงวิญญาณเมื่อ สมัยมีชีวิตอยู่บางครั้งอาจล่วงเกินสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และพระรัตนตรัยไว้ แต่เมื่อล่วงลับจากโลกนี้ไปแล้วไม่มีโอกาสขอขมาลาโทษ ดวงวิญญาณนั้นก็ยังหม่นหมอง ไม่ อาจที่จะไปจุติสู่สุคติอย่าง บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นการนำดวงวิญญาณ ข้ามสะพาน เท่ากับว่านำมาขอขมากรรมต่อพระรัตนตรัยเพื่อให้วิญญาณบริสุทธิ์

ส่วนประเพณีทิ้งกระจาด เน้นในเรื่องของทานพิธี มีวิญ ญาณมากมายทั้งที่ไร้ญาติทั้งที่ ไร้คนเหลียวแล ทำบาปกรรม ไว้หนัก ไม่ได้สั่งสมบุญกุศลมาเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ เรียกว่าสัมภเวสี 36 จำพวก เมื่อตายไปดวงวิญญาณไปเกิดในอบายภูมิ เกิดความหิวโหย พิธีทิ้งกระจาดเป็นการเชิญดวงวิญญาณขึ้นมารับทานใหญ่ และจะได้อุทิศบุญกุศลที่ได้จากการประกอบมหาทานกุศล ให้กับบุคคลที่ตั้งใจ อุทิศให้ พร้อมกันนี้เหล่าดวงวิญญาณไร้ญาติ จะได้มีโอกาส รับฟังธรรมด้วย

สิ่งที่ต่างไปจากพิธีกงเต๊ก ของจีนนิกาย คือ ลอยกระทง ในค่ำคืนวันที่ 28 ที่ผ่านมา ได้มีพิธีลอยกระทงในงานกงเต๊กของคณะสงฆ์อนัมนิกายด้วย

เจ้าอาวาสวัดอุภัยราชบำรุง ให้ความหมายของพิธี กรรมนี้ว่า คือการขอขมาต่อ พระแม่คงคา โดยเฉพาะผู้หญิงเมื่อครั้งมีชีวิตอยู่ บางครั้งมีรอบเดือน เราไปซักผ้าในแม่น้ำลำคลอง จึงลอยกระทงเพื่อขออโหสิกรรม

พิธีสวดเผาเครื่องกระดาษ เป็นพิธีกรรมสุดท้ายในการประกอบพิธีกงเต๊ก สิ่งสำคัญ ของการเผาเครื่องกระดาษ ต้องบอกกล่าวขอขมากับเจ้าที่ เจ้าทาง เพื่อที่จะให้เจ้าที่เจ้าทาง นำสิ่งของ เครื่องใช้ส่งต่อยังดวงวิญญาณนั้นอย่างถูกต้อง

ปัจจุบันวัดญวนอันเป็นที่พำนักของคณะสงฆ์อนัมนิกาย มี 18 แห่งทั่วประเทศ สืบสาน พระพุทธศาสนา และมีวัตร ปฏิบัติอันน่าเลื่อมใสมายาวนาน กว่า 200 ปี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น