++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เที่ยวอย่างเข้าใจ ไปกับ“การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์”

การมุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงตัวเลขและปริมาณแต่เพียงอย่างเดียว กลายเป็นปัญหาที่สร้างผลกระทบให้กับการท่องเที่ยวไม่น้อย ดังนั้นกลุ่มคนในแวดวงท่องเที่ยวมากมายจึงหันมาทบทวนรูปแบบการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น พร้อมคิดค้นการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาต่างๆที่เคยประสบพบเจอ โดยหนึ่งในนั้นก็คือ “การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” ที่เพิ่งมีการให้นิยามของการท่องเที่ยวในรูปแบบนี้มาได้ไม่นาน

“การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์” เป็นคำศัพท์บัญญัติใหม่เพื่อใช้เรียกการท่องเที่ยวประเภทหนึ่งซึ่งมีมานานแล้ว แต่กลับไม่มีชื่อเรียก และเริ่มมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเภทนี้ในแวดวงการท่องเที่ยวแบบค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ เป็นเวลาร่วมหนึ่งศตวรรษ จนนักวิชาการและผู้คร่ำหวอดด้านการท่องเที่ยวจากหลายมุมโลกได้รวมตัวกันในงานประชุมนานาชาติเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก ณ เมืองซานตาเฟ มลรัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปลายปี 2552 ทำให้เกิดคำนิยามอย่างเป็นทางการสำหรับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ว่าคือ “การท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้ในเรื่องศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของสถานที่ ผ่านประสบการณ์ตรงและการมีส่วนร่วมกับผู้คนเจ้าของวัฒนธรรม”

ดร. มุทริกา พฤกษาพงษ์ นักวิจัยอิสระเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กล่าวขยายความให้เข้าใจอย่างง่ายๆ ว่า การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คือการท่องเที่ยววิถีชีวิตที่ทำให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะในเรื่องวิถีการอยู่อาศัย การประกอบอาชีพ อาหารการกิน ศิลปหัตถกรรม และอื่นๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของชุมชนและผู้คนเจ้าของพื้นที่ โดยมุ่งเน้นให้นักท่องเที่ยวมีปฏิสัมพันธ์กับคนในพื้นที่ ผ่านการพูดคุยสนทนา และผ่านกิจกรรมทดลองปฏิบัติต่างๆ เช่น ทดลองทำอาหาร ทดลองทำศิลปหัตถกรรม หรือทดลองใช้ชีวิตตามอย่างผู้คนในชุมชน หรือการท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ ซึ่งจะทำให้เข้าใจในวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ของผู้คนและสถานที่นั้นๆ ผ่านประสบการณ์ตรง เรียกว่าเป็นเวทีการเรียนรู้แบบมีชีวิตนั่นเอง


เที่ยวอย่างสร้างสรรค์จะช่วยให้การท่องเที่ยวไทยยั่งยืน

ด้าน พันเอก ดร. นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ทางอพท. ได้นำการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างความสมดุลใน 3 ส่วน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากเน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไปก็อาจทำให้เสียสมดุล เช่น หากมุ่งเน้นจำนวนนักท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ ก็จะทำให้ละเลยการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทำให้เสน่ห์ของชุมชนหายไป หรือหากมุ่งเน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือศิลปวัฒนธรรมมากเกินไปจนไม่ปรับตัวเพื่อเปิดรับการท่องเที่ยว ชุมชนก็จะขายรายได้ เป็นต้น การพัฒนาการท่องเที่ยวจึงต้องคำนึงถึง 3 ส่วนนี้เพื่อให้เกิดความสมดุลและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ศิลปหัตถกรรม แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ฯลฯ หากนักท่องเที่ยวเที่ยวหันมาท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กันมากขึ้นแล้ว เชื่อว่าจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของเรา อีกทั้งคนในชุมชนก็ยังเกิดสำนึกรักในเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ที่ตนเองมีอยู่ หากนักท่องเที่ยวและเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวเกิดความรู้สึกด้านดีร่วมกันเช่นนี้แล้ว ก็จะทำให้การพัฒนาการท่องเที่ยวมีความยั่งยืนได้อย่างที่ตั้งใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น