++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2553

"ศักดิ์ศรี" ตัวเดียวยุโจ๋รุนแรง 80% ยาเสพติด-ติดเกมปัจจัยเสริม

สธ.ศึกษาเชิงลึก พบ “ศักดิ์ศรี” สาเหตุวัยรุ่นก่อความรุนแรงสูงถึง 60-80 % ชี้ ยาเสพติดเป็นตัวเสริม เพิ่มปัจจัยเสี่ยง 9-20 เท่า ติดเกมกระตุ้น 3.5 เท่า"จุรินทร์" ชงครม.ใช้แบบคัดกรองความเสี่ยง-อีคิวเด็กอาชีวะ หลังพบมีใช้แค่ 2-3 แห่ง รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตชี้การสลายก๊ก แก๊งพวกพ้องทำยาก ผู้บริหาร-ศิษย์เก่าต้องร่วมมือ

วันนี้(6 ก.ย.) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงกรณีเด็กอาชีวะก่อเหตุความรุนแรงว่า กรมสุขภาพจิตได้ทำการวิจัยเรื่องปัจจัย กลไกก่อให้เกิดพฤติกรรมรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น พบว่ามีปัจจัยหลักจากทัศนคติ ความคิด ค่านิยมความรุนแรง และศักดิ์ศรี 60-80 % โดยมีปัจจัยเรื่องการดื่มสุราและสารเสพติดเสริม และเพิ่มความเสี่ยงในการก่อความรุนแรง 9-20 เท่า ,ติดเกม เพิ่มความเสี่ยงในการก่อความรุนแรง 3.5 เท่า ,สื่อ กระตุ้นการก่อความรุนแรง 2.3 เท่า ,ความรุนแรงของผู้ใหญ่ในสังคมทำให้เกิดการเลียนแบบ 1.3 เท่า และครอบครัวใช้ความรุนแรงและเข้มงวด เสี่ยงก่อความรุนแรง 1.3 เท่า

รมว.สธ. กล่าวอีกว่า แนวทางในการแก้ปัญหา สธ. เห็นว่า นอกจากการใช้ไม้แข็งในการดำเนินการตามกฎหมาย ควรใช้ไม้อ่อนด้วยการพัฒนาและเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ หรืออีคิว (EQ)ควบคู่กับการพัฒนาไอคิวให้กับเด็กในสถาบันอาชีวะศึกษาด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า การพัฒนาอีคิวในส่วนของเด็กลุ่มนี้ไม่มีความเข้มข้น ซึ่งหัวใจสำคัญของการพัฒนาอีคิวจะต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม วัฒนธรรมเรื่องการใช้ความรุนแรง และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งนี้ สธ.พร้อมร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ในการดำเนินการคัดกรองเด็กอาชีวะที่มีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรงและคัดกรองอีคิว โดยใช้แบบคัดกรองของกรมสุขภาพจิต ก่อนนำเด็กกลุ่มเสี่ยงมาพัฒนาอีคิว ,การจัดทำหลักสูตรพัฒนาอีคิววัยรุ่น เช่น ทักษะชีวิตการอยู่ในสังคมโดยไม่ใช้ความรุนแรง และการสร้างภูมิคุ้มกันในการก่อความรุนแรงในวัยรุ่น จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ที่จะมีการหารือเรื่องนี้ในวันที่ 7 ก.ย.นี้

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในสถาบันอาชีวศึกษามีการใช้แบบคัดกรองอีคิวและความเสี่ยงต่อพฤติกรรมรุนแรงในนักเรียนอาชีวศึกษาน้อยมากเพียง 2-3 แห่ง ขณะที่ในเด็กประถมฯและมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)มีการใช้แบบคัดกรองอย่างแพร่หลาย ซึ่งในแบบคัดกรองความเสี่ยงต่อพฤติกรมรุนแรง จะสอบถามใน 5 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.ทัศนคติเชิงบวกต่อความรุนแรง 2.ศักดิ์ศรี 3.ความรักพวกพ้อง+รุ่นพี่รุ่นน้อง 4.การได้รับการยอมรับ และ5.การยับยั้งทัศนคติต่อความรุนแรง ส่วนแบบคัดกรองอีคิวจะเกี่ยวข้องกับเรื่อง ดี เก่ง สุข จำนวน 20 ข้อ

“การสลายก๊ก แก๊ง การถือพวกพ้องร่วมสถาบันเป็นเรื่องยาก เพราะมีเรื่องของศักดิ์ศรี ความรักพวกพ้องและการยอมรับในกลุ่ม การจะดำเนินการต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งสถาบัน ผู้บริหาร อาจารย์ ศิษย์เก่าและสถาบันคู่อริ หากจะดำเนินการอย่างจริงจังต้องมีการระดมความคิดเห็นครั้งใหญ่จากทุกฝ่าย”นพ.วชิระกล่าว

นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า จากการที่กรมสุขภาพจิตได้ทำการศึกษาเชิงคุณภาพในเด็กวัยรุ่น กรณีการปาหิน ค้นพบสาเหตุ ปัจจัย กลไกการก่อเหตุ พบว่า เกิดจากความคึกคะนอง ,เรียกร้องความสนใจในหมู่คณะ ,โกรธ แค้นคนอื่น โดยเฉพาะสังคม แต่เมื่อศึกษาเชิงลึกพบมีส่วนเกี่ยวข้องกับการดื่มสุราและยาเสพติดร่วมด้วยเสมอ ทำให้ควบคุมอารมณ์ตนเองลำบาก และหากคนในสังคม เจ้าหน้าที่รัฐและสื่อให้ความสนใจจะทำให้เกิดการเลียนแบบเพิ่มขึ้น ซึ่งในการแก้ปัญหาจะต้องอาศัยความร่วมมือของครอบครัวและโรงเรียนในการควบคุมพฤติกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น