++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

วุฒิสภา : “สิทธิสตรีไทยในโลกปัจจุบัน”

โดย แสงแดด     14 กันยายน 2553 17:05 น.
ถึงแม้ว่า “สังคมโลกยุคใหม่” จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หลากหลายแนวคิดและพฤติการณ์ต่างๆ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีบางเหตุการณ์ จนสามารถเรียกได้ว่าเป็น “พฤติกรรม” จนถึงขั้น “วัฒนธรรม” ที่มีการเปลี่ยนแปลงที่น้อยมากหรืออาจไม่มีความคืบหน้าเลย โดยเฉพาะ ในกรณีของ “สิทธิสตรี” กับกลุ่มประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา
      
       อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วนั้น ต้องยอมรับว่า “สิทธิสตรี” ได้รับการยอมรับและพัฒนายกฐานะดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก จนถึงขั้น “สิทธิเท่าเทียม” กันกับ “สุภาพบุรุษ” ดังที่เราสามารถศึกษาติดตามได้จากบางประเทศที่มี “ผู้นำ” เป็นสุภาพสตรี ระดับ “ผู้นำประเทศ” ในตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” และ “รัฐมนตรี”
      
       ประเทศไทยก็ไม่ต่างจากประเทศอื่นใดในโลก ขนบธรรมเนียม และประเพณีที่ยอมรับความด้อยสถานะของสตรีที่ว่า “สตรีเป็นช้างเท้าหลัง” บุรุษ เป็นผู้นำ จึงพบเสมอว่าสตรีไทยยังประสบปัญหาการถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ อาทิ ความรุนแรงต่อตัวสตรี ความรุนแรงในครอบครัว แรงงานสตรีที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากเจ้าของกิจการ หรือผู้ว่าจ้าง และกฎหมาย หรือระเบียบบางอย่างที่จำกัดสิทธิของสตรีอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้การพัฒนาสิทธิสตรีเป็นไปด้วยความล่าช้ากว่าที่ควร
      
       ปัจจุบันแนวคิดว่าด้วยความเท่าเทียมกันของสตรีและบุรุษ และแนวคิดว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีของมนุษย์ ปรากฏเป็นที่ตระหนักของนานาอารยประเทศทั่วโลก ได้มีการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน อาทิ การให้สิทธิแก่สตรีในการเลือกตั้ง และสิทธิเสรีภาพอื่นๆ อย่างกว้างขวาง โดยได้มีองค์กรในระดับนานาชาติ อาทิ สหประชาชาติ ได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Woman- CEDAW) เมื่อ พ.ศ. 2522 โดยอนุสัญญาฉบับนี้ มีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองสิทธิสตรีให้มีสิทธิเท่าเทียมกับบุรุษ
      
       ประเทศไทย ได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาสิทธิเสรีภาพของสตรีในทุกด้าน โดยได้ร่วมลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีใน ทุกรูปแบบ (CEDAW) โดยมีแนวทางการพัฒนาตามที่สหประชาชาติกำหนด เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2528 และได้มีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ให้สอดคล้องกับพันธกรณี ทั้งกฎหมายอาญา กฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ตลอดจนกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิสตรีอย่างต่อเนื่อง อาทิ สิทธิในการรับราชการ สิทธิในการเข้าร่วมทางการเมือง สิทธิในการทำนิติกรรมสัญญาต่างๆ ทำให้สิทธิและเสรีภาพของสตรีไทยเท่าเทียมกับบุรุษ
      
       และโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ให้ความคุ้มครองรับรองสิทธิ และสร้างหลักประกัน รวมถึงกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะต้องส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างสตรีและบุรุษ เสริมสร้างและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว และความเข้มแข็งของชุมชน โดยกำหนดให้มีมาตรการและกระบวนการต่างๆ เพื่อขจัดอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้อย่างเท่าเทียมและเสมอภาค กัน
      
       อย่างไรก็ดี ในทางข้อเท็จจริงยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกปฏิบัติต่อสตรี การจำกัดสิทธิและบทบาทของสตรียังคงหลงเหลืออยู่ในสังคมไทย
      
       ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีต่อสตรีไทยและพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ในการปฏิบัติพระราชภารกิจเพื่อการพัฒนาสตรีและสังคมไทยในทุกด้าน ทั้งได้ทรงปฏิบัติพระองค์เป็นต้นแบบของสตรีในการพัฒนาประเทศชาติ
      
       “คณะ กรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา” จึงได้จัดโครงการสัมมนาวิชาการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในมหามงคลเฉลิมพระ ชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในหัวข้อเรื่อง “สิทธิสตรีไทยในโลกปัจจุบัน” เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์จากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ เข้าร่วมการสัมมนาต่อประเด็นการสัมมนา และให้ได้มาซึ่งประเด็นหัวข้อการวิจัย เพื่อนำองค์ความรู้มาเป็นฐานข้อมูลการพัฒนาทางวิชาการแก่สมาชิกรัฐสภา และบุคคลในวงงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาประเทศโดยรวมต่อไป
      
       องค์ปาฐก คือ ศาสตราจารย์ธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษา ปาฐกถาเรื่อง “ผู้หญิงยืนอยู่ตรงไหนในสังคมไทย” ตามด้วยการอภิปรายเรื่อง “สิทธิสตรีไทย : อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” โดย มีผู้ร่วมอภิปราย 3 ท่าน กล่าวคือ รศ.วิมลศิริ ชำนาญเวช คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น อดีตรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย คุณยุวดี นิ่มสมบุญ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ของวุฒิสภา ตลอดจนเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วยเช่นเดียวกัน และคุณกีระณา สุมาวงศ์ สมาชิกวุฒิสภา
      
       ส่วนช่วงบ่าย อภิปรายเรื่อง “ประเด็นกฎหมายครอบครัว มรดกที่สตรีไทยต้องรู้” โดย ผู้ร่วมอภิปราย นายชัยยุทธ ศรีจำนง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 7 และ รศ.พรชัย สุนทรพันธ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
      
       ท่านประธานวุฒิสภา ศาสตราจารย์ประสพสุข บุญเดช เป็นผู้กล่าวเปิดการสัมมนา แต่ “หัวเรือใหญ่ตัวแม่” คือ ท่าน รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธาน “คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา” เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมกันนี้เป็นดำริร่วมกับกรรมการทุกท่านในคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของ วุฒิสภาในการจัดสัมมนาครั้งนี้
      
       โครงการสัมมนาทางวิชการ “สิทธิสตรีไทยในโลปัจจุบัน” กำหนด การจัดงานวันอังคารที่ 21 กันยายน 2553 เริ่มตั้งแต่ 09.00-16.30 น. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้สนามบินดอนเมือง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น