เรียบเรียงโดย ณัฐฏ์ รัตนกานต์
พื้นที่ชุมชนที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัดถึง 45 กิโลเมตร ผู้คนยังใช้ภาษาถิ่นและยึดหลักในการดำรงชีวิตตามแนวทางที่ อบต.วางไว้ "สุขภาพแข็งแรง ชุมชนเข้มแข็ง ตำบลแข็งแกร่ง สังคมมีสุข"
เรากำลังพูดถึงตำบลหนึ่งที่มีประชากรเพียง 4,713 คน ทั้งหมด 1,346 ครัวเรือน อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอสามเงา จังหวัดตาก นั่นคือตำบลวังหมัน ซึ่งชาวชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพทำสวน ส่วนสถานีอนามัยที่อยู่ในพื้นที่วังหมันมีถึง 2 สถานี คือ สถานีอนามัยบ้านปากทางเขื่อนภูมิพล และสถานีอนามัยบ้างวังหวาย
ระบบความคิดที่ทำให้ตัดสินใจเริ่มงานกับกองทุนฯ เพราะผู้บริหารเห็นว่า อบต. ทำงานด้านการดูแลสุขภาพของชุมชนอยู่แล้ว หากมีกองทุนฯ เข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม ก็น่าจะดียิ่งขึ้น ยิ่งกองทุนฯ มีงบประมาณในการสนับสนุนด้วยแล้ว จึงไม่น่าปฏิเสธดังคำพูดของนายก องค์การบริหารส่วนตำบลวังหมัน กล่าวว่า
"ถือว่าเอาเงินมาให้ คือ เป็นเรื่องการดูแลสุขภาพ บางคนอาจจะคิดว่าเพิ่มงาน บางคนอาจจะคิดว่าไม่ใช่ แต่ อบต.ทำอยู่แล้ว ก่อนมีกองทุนฯ ก็ทำเรื่องนี้อยู่แล้ว พอมีเงินให้ ยิ่งดีใหญ่"
เมื่อทาง อบต. ก่อตั้งกองทุนฯ แล้ว จึงดำเนินงานตามโครงการที่เห็นว่าเหมาะสม โดยใช้กลยุทธ์ในการทำงานแบบมีส่วนร่วม โดยมีชาวบ้านเป็นเป้าหมาย ให้บริการชาวบ้านผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยไม่คิดถึงจุดคุ้มทุน เพราะความคุ้มที่ได้หมายถึงสุขภาพที่ดีของคนในชุมชน ดังคำพูดของทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันในการทำงานดังนี้
" ก็ต้องทำโดยยึดชาวบ้านเป็นศูนย์กลาง เราเข้ามาทำงานตรงนี้ เห็นเขาสุขภาพดี เราก็ดีใจ พอใจ" ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวังหวัน กล่าว
" คือ มีส่วนในการทำงาน โดยการให้ความเห็นก็ประสานงานกับ อบต. ปลัดได้ดี ทั้งสองคนทำงานที่นี่มานาน เห็นปัญหา และช่วยกันทำอยู่แล้ว " บุคลากรสถานีอนามัยกล่าว
"จุดคุ้มทุน ไม่คิด เพราะขาดทุนอยู่แล้ว แต่มองที่สุขภาพว่า ต้องการให้ผู้ป่วยถึงมือหมอเร็วที่สุด ถือว่าเป็นหน่วยบริการของประชาชน เราได้ประโยชน์ตรงที่ว่า เขาเจ็บป่วยน้อยลง " ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลวังหมันกล่าวไว้ชัดเจนอย่างนั้น
กว่าจะมีการพัฒนาทีมงาน ให้มีความเป็นหนึ่งเดียว มีความเข้าใจในการดำเนินงาน และที่สำคัญ ทำงานอย่างโปร่งใสตรวจสอบได้นั้น เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก อบต. วังหมัน ใช้วิธีการทำงานแบบสม่ำเสมอ มีการประชุมทุกระยะ หาหลักในการทำงาน และมีเหตุผล อธิบายชัดเจนในการทำงานทุกเรื่อง ตอบคำถามได้ทุกคำถามสร้างความเข้าใจในงานให้คนทำงานทุกคน
นายก อบต.วังหมัน ถือว่าเป็นส่วนสำคัญหนึ่งที่ทำให้งานในโครงการเดินไปข้างหน้าด้วยความร่วมมือ เพราะทำงานอิงตามกรอบนโยบายที่สามารถทำได้ แล้วได้คิดกลยุทธ์ที่ทำให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการทำงานและสร้างทีมงานให้เข้มแข็ง รวมถึงสร้างความเข้าใจร่วมกัน
จึงสามารถสรุปได้ว่า การมองถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ นำมาซึ่งต่อสุขภาพที่ดีของประชาชนในชุมชน อย่างถ้วนหน้า สมกับคำที่ว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายหรือ WIN-WIN นั่นเอง
ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียน โดย
ดร.ชมนาด วรรณพรศิริ
วราภรณ์ สัตยวงศ์
นุโรม จุ้ยพวง
วิภา ประสิทธิโชค
ดร.สุชาดา อินทรคำแหง ณ ราชสีมา
วพบ.พุทธชินราช
ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น