++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

มุ่งหน้าสู่การปฏิรูปประเทศไทย

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช     12 กันยายน 2553 14:17 น.
ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเวลานี้มีที่มา 4 ด้าน คือ 1. เกิดจากการใช้อำนาจรัฐ 2. เกิดจากระบบเศรษฐกิจ 3. เกิดจากการผสมผสานระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจทุน และ 4. เกิดจากพลังจากภายนอก
      
       ปัญหาประเภทที่ 2, 3 และ 4 เป็นเรื่องยากที่จะแก้ไขได้ตราบเท่าที่เรายังอยู่ในระบบทุนนิยม เพราะกลไกตลาดมีพลังสูง ปัญหาที่เกิดจากพลังภายนอกก็มาจากระบบทุนนิยมเช่นกัน อย่างดีเราก็เพียงสร้างภูมิคุ้มกันไว้รับกับมัน
      
       การปฏิรูปประเทศสามารถจัดการกับปัญหาด้านที่ 1 และ 2 ได้ในระดับหนึ่ง คือ การปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน โดยลดความเข้มข้นของอำนาจรัฐ กระจายอำนาจรัฐ และเพิ่มอำนาจให้แก่ท้องถิ่น และประชาชนมากขึ้น สำหรับการอาศัยอำนาจรัฐที่ช่วยให้อำนาจทุนทำความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนนั้น ปัจจุบันมีกฎหมายและกลไก-กระบวนการในการแก้ไข เช่น ศาลปกครอง เป็นต้น ดังนั้น จุดเน้นของการปฏิรูปจึงน่าจะเป็นการตรวจสอบดูว่ามีเรื่องใดบ้างที่เกี่ยว ข้องกับโครงสร้าง กลไก และกระบวนการใช้อำนาจรัฐที่ก่อให้เกิดปัญหาแก่ประชาชน
      
       เนื่องจากรัฐไทยเป็นองค์กรทางสังคมที่มีการจัดตั้งมาก่อน และมีความเข้มแข็งมากกว่าส่วนอื่นๆ ในสังคม รัฐจึงขยายภารกิจไปมากมายเพราะกิจการหลายอย่างยังไม่มีคนทำ ต่อมาภาคธุรกิจเอกชนเติบโตขึ้น ภาคเอกชนก็เริ่มดำเนินการหลายอย่างที่รัฐเคยทำ และเมื่อรัฐเริ่มถ่ายโอนอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น ชุมชนในพื้นที่ก็เริ่มมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ก็ยังกล่าวไม่ได้ว่ารัฐลดบทบาทในการจัดการชีวิตของประชาชน องค์กรประชาชนที่เติบโตมากขึ้น แม้จะตื่นตัวในการจัดการชีวิตของตนเองก็ตาม แต่ก็ขาดทรัพยากรในการดำเนินงาน จึงต้องพึ่งพาทรัพยากรจากรัฐอยู่
      
       คณะกรรมการปฏิรูปเห็นว่า การจะปรับเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น จะต้องมีเป้าหมายอุดมคติคุณภาพชีวิตของคนไทยเสียก่อน อย่างไรก็ดี การกำหนดอุดมคติคุณภาพชีวิตของคนไทยนี้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่เนื่องจากส่วนต่างๆ ของสังคมมีความเหลื่อมล้ำกันทางด้านรายได้ และการเข้าถึงทรัพยากร สิ่งที่เป็นเป้าหมายคุณภาพชีวิตของคนจึงแตกต่างกันไปตามระดับการพัฒนา ซึ่งขณะนี้มีตัวชี้วัดในระดับจังหวัดเป็นพื้นฐานในการพิจารณาอยู่แล้ว ในเบื้องต้นคณะกรรมการปฏิรูปจึงกำหนดเป้าหมายในระดับอุดมคติไว้ 3 ประการ คือ
      
       1. เป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรี และเท่าเทียมกันในฐานะความเป็นมนุษย์ มีส่วนร่วมทางสังคม มีสำนึกต่อประโยชน์สุขของส่วนรวม และมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนทั้งในทางกาย ใจ ภูมิปัญญา และจิตวิญญาณ
      
       2. เป็นชีวิตที่สงบสุขตามวิถีวัฒนธรรมแห่งสันติภาพ ปราศจากภัยคุกคามจากผู้อื่น หรือการคุกคามซึ่งกันและกัน ตลอดจนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาวะ
      
       3. เป็นชีวิตที่มีหลักประกันในด้านเงื่อนไขการครองชีพ และมีกลไกการคุ้มครองทางสังคม
      
       จุดใหญ่ของการปฏิรูป คือ การสร้างความเป็นธรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ คณะกรรมการปฏิรูปได้จำแนกมิติของความเป็นธรรมออกเป็น 5 มิติ ได้แก่
      
       1. ความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจ และสังคม
      
       2. ความเป็นธรรมด้านที่ดิน และทรัพยากร
      
       3. ความเป็นธรรมด้านโอกาส
      
       4. ความเป็นธรรมด้านสิทธิ
      
       5. ความเป็นธรรมด้านอำนาจต่อรอง
      
       ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเห็นได้ชัดเจนจากดัชนีชี้วัดการกระจายราย ได้ และการถือครองทรัพย์สิน รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตที่มีผลต่อการสร้างราย ได้ เช่น ที่ดิน เงินทุน ความรู้ และทักษะของแรงงาน ที่ผ่านมารัฐได้ช่วยแก้ปัญหาของภาคธุรกิจเอกชน เช่น การให้มูลเหตุจูงใจด้านการลดภาษีในการลงทุน การแก้ไขกฎหมายเพื่อลดขั้นตอนในการทำใบอนุญาต แต่ทางด้านแรงงานรัฐยังไม่ได้ส่งเสริม และช่วยป้องกัน-ลดการถูกเอารัดเอาเปรียบ จุดนี้เป็นสิ่งที่คณะกรรมการปฏิรูปต้องการที่จะเสนอมาตรการในการแก้ไข
      
       ในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมด้านที่ดิน และทรัพยากร เรื่องนี้มีความสำคัญเร่งด่วนเพราะมีข้อพิพาท และความขัดแย้งเรื่องที่ดินและทรัพยากรมากมาย ทั้งระหว่างรัฐกับชุมชน และระหว่างเอกชนกับเกษตรกร รัฐจึงต้องให้ความสำคัญกับ “สิทธิชุมชน” การมีส่วนร่วมของประชาชน การเข้าถึง การจัดการ และการได้รับประโยชน์จากที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การที่รัฐธรรมนูญยอมรับ “สิทธิชุมชน” ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญ การดำเนินการตามรัฐธรรมนูญจึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการลดปัญหาดังกล่าว นอกจากนั้นรัฐควรเน้นกลไกการบริหารและการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลดการกระจุก ตัว การเก็งกำไรในที่ดิน และการปล่อยที่ดินทิ้งร้างว่างเปล่า รวมทั้งมาตรการที่จะช่วยเหลือเกษตรกรก่อนที่ดินจะหลุดมือ และช่วยให้เกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของที่ดินได้มากขึ้น
      
       สำหรับความเป็นธรรมด้านโอกาส เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ โอกาสด้านการศึกษา แม้ว่ารัฐได้ประกันสิทธิให้คนไทยทุกคนได้รับการศึกษา 12 ปีอย่างมีคุณภาพ และไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ก็ยังมีเด็กและเยาวชนในวัยเรียนจำนวนไม่น้อยที่ตกหล่นจากระบบการศึกษา ส่วนเรื่องคุณภาพนั้นเป็นปัญหาสำคัญที่ก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่าง โรงเรียนในเมืองกับในชนบท นอกจากนั้น ระบบการศึกษาของไทยยังจำกัดวงแคบอยู่เฉพาะระบบโรงเรียน ทำให้คนไทยขาดทางเลือก และโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
      
       ในส่วนที่เกี่ยวกับสุขภาพนั้น นับว่าคนไทยได้รับการดูแลสุขภาพในระดับที่ดี แต่ก็ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทรัพยากรทางการแพทย์และการสาธารณสุข
      
       สำหรับความเป็นธรรมด้านสิทธินั้น แม้รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิอย่างกว้างขวาง แต่ประชาชนจำนวนมากก็ยังไม่สามารถเข้าถึงหรือใช้สิทธิได้อย่างเท่าเทียมกัน คณะกรรมการปฏิรูปจึงมุ่งที่จะขจัดอุปสรรคในการใช้สิทธิต่างๆ เพื่อปกป้องความเป็นธรรมของประชาชนแต่ละกลุ่ม
      
       ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยจะลดลงไม่ได้ หากประชาชนไม่มีอำนาจต่อรอง และหากไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจัง ในที่สุดก็จะมีผู้หันไปใช้ความรุนแรงมากขึ้น จึงต้องมีการเสริมอำนาจต่อรองให้แก่ผู้เสียเปรียบ
      
       จะ เห็นได้ว่างานของคณะกรรมการปฏิรูปไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้เวลานาน โดยรัฐบาลต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เวลานี้สังคมไทยมีความตื่นตัว และตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงแล้ว แม้จะเป็นเพราะเกิดการใช้ความรุนแรงก็ตาม แต่ก็ยังไม่สายเกินไปที่จะทำให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ดีขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น