++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2553

มอเตอร์ไซค์ แท็กซี่ รถรับจ้าง จัดระบบให้ดีกว่าปัจจุบันได้หรือไม่?

โดย ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง






ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต

ไม่มีประเทศไหน มีบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างแพร่หลายแบบที่ประเทศไทยมี

คือ เอามอเตอร์ไซค์ มาวิ่งรับจ้างเหมือนรถแท็กซี่ เป็นรับจ้างสาธารณะ รับ-ส่งผู้โดยสาร

ทั่วกรุงเทพมหานคร มีมอเตอร์ไซค์รับจ้างกว่า 100,000 คัน

ทำไมคนไทยถึงใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง? คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้างจะมีระบบสวัสดิการชีวิตที่ดีกว่านี้ได้อย่างไร? และคนใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์จะได้รับบริการที่ดีกว่าปัจจุบันได้อย่างไร?

ชีวิตมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

1) การใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างสอดรับกับสภาพปัญหาและข้อจำกัดของระบบขนส่งจราจรเมืองไทย

โดยเฉพาะปัญหารถติด และลักษณะของท้องถนนในกรุงเทพฯ ที่มีตรอก ซอก ซอย จำนวนมาก

ถนนสายต่างๆ ในบ้านเรา ไม่ได้สร้างเป็นระบบแบบตารางหมากรุก ที่จะทำให้สามารถจัดระบบขนส่งมวลชนได้ทั่วถึงง่ายดาย แต่สภาพความเป็นจริงบ้านเรา ทำให้ผู้คนต้องหาวิธีเดินทางออกจากบ้านที่อยู่ในตรอกซอกซอยต่างๆ เสียก่อน กว่าจะมาถึงจุดที่มีบริการขนส่งสาธารณะจำพวกรถเมล์ เรือ รถไฟ หรือรถไฟฟ้า

ตรงนี้ จึงเกิดเป็นช่องวางทางการตลาดให้กับบริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ที่สามารถทะลุทะลวง ลัดเลาะ เข้าถึงได้ตลอดทั่วทุกซอกซอย

ซอย ใหญ่ๆ ที่มีซอกซอยแยกย่อย แตกแขนงออกไปมากๆ มีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่น ก็จะมีความต้องการใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้างเยอะ บริเวณปากซอย ก็จะมีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ร่วมมือกับตำรวจ หรือบางซอยก็เป็นตำรวจลงมาเล่นเอง ถือโอกาสเข้ามาบริหารจัดการ “วินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง”

จริงๆ ก็คล้ายๆ “นักเลงคุมซอย” คือ เข้ามากินหัวคิว เรียกเก็บเงินจากคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเพื่อแลกกับการได้มาเข้าวิน วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารในพื้นที่ซอยนั้นๆ

เพียงแต่เรียกว่า ค่าวิน

หรือเก็บล่วงหน้าเป็นเงินก้อนใหญ่ เรียกว่า ค่าเสื้อกั๊ก

เงิน ค่าแป๊ะเจี๊ยะ หรือ “ค่าต๋ง” หรือ “ส่วย” ที่คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างต้องส่งเข้ากระเป๋าผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เหล่า นี้ มากน้อยแตกต่างกันไปตามมูลค่าผลประโยชน์ในแต่ละพื้นที่ เช่น ถ้าไม่ใช่ซอยใหญ่มาก “ค่าเสื้อ” ก็อาจจะหลักหมื่น แต่ถ้าเป็นซอยใหญ่ๆ ที่มีผู้คนสัญจรหนาแน่น ก็อาจจะทะลุขึ้นไปถึงหลักแสน

ชีวิตคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จึงน่าเห็นใจ เพราะเข้าลักษณะว่า “เข้าซอยถูกเก็บส่วย ออกซอยถูกรีดไถ”

โดยที่เงินเหล่านั้น ไม่ได้ถูกนำกลับมาช่วยเหลือ พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนขับมอเตอร์ไซค์เลย

2) สภาพการณ์ปัจจุบัน ทั้งคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และคนใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ต่างก็แบกรับความเสี่ยงภัยกันตามยถากรรม ทั้งๆ ที่ มอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด ง่ายที่สุด และอันตรายที่สุด

ชีวิตคนขับมอเตอร์ไซค์ไม่มีระบบสวัสดิการ เงินออม หรือประกันชีวิต

ถ้าเกิดอุบัติเหตุ หากไม่ตายหรือพิการไปเสียก่อน ก็จะต้องหยุดพักรักษาตัว ขาดรายได้ เพราะไม่มีระบบที่จะช่วยชดเชยรายได้ และค่ารักษาพยาบาล

ส่วนคนซ้อน หรือผู้ใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็เสี่ยงไม่แพ้กัน แถมใช้บริการแต่ละวัน ไม่แน่ว่าจะได้รับบริการที่ปลอดภัยหรือมีมาตรฐานแค่ไหน เพราะไม่มีระบบจัดการ กำกับควบคุมดูแลคุณภาพของบริการ หรือคุ้มครองผู้บริโภค

3) ปัจจุบัน ยังไม่มีการจดทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นรถรับขนส่งสาธารณะอย่างเป็นทาง การ จึงไม่มีระบบข้อมูลบุคคลและข้อมูลรถรับจ้าง ที่จะทำให้ติดตามตรวจสอบได้อย่างมีประสิทธิภาพว่า ใครเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์คันไหน? ประจำอยู่วินไหน? เคยมีเรื่องร้องเรียนอย่างไร? จะดูแลความปลอดภัยอย่างไร? ฯลฯ

จัดระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

ขณะนี้ มีข่าวว่ารัฐบาลกำลังจะมีโครงการ “วิน..วิน” เป็นการจัดระบบวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

เท่าที่ทราบจากข่าว เห็นว่า จะดำเนินการ 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ ขึ้นทะเบียนมอเตอร์ไซค์รับจ้างในรูปแบบรถสาธารณะ ซึ่งจะทำให้มีระบบข้อมูลที่ถูกต้องมากขึ้น และจะมีมาตรการจูงใจให้คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเข้ามาทำประกันชีวิต ซึ่งก็น่าจะช่วยทำให้คนขับมอเตอร์ไซค์มีเครื่องมือบริหารจัดการความเสี่ยงใน อาชีพของตนเองดีขึ้น

การดำเนินการข้างต้น เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ แต่น่าจะยังไม่เพียงพอ

รัฐบาลน่าจะถือโอกาสนี้ “จัดระบบมอเตอรไซค์รับจ้าง” อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เพียง “จัดระเบียบ”

ขอเสนอแนะว่า รัฐบาลควรใช้อำนาจรัฐเข้ามาจัดระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้างทั้งระบบ

ปลดแอกคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง มิให้ถูกขูดรีด ทั้งโดยผู้มีอิทธิพลในพื้นที่และโดยตำรวจ

การจัดระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ควรจะรวมไปถึงการจัดระบบวินมอเตอร์ไซค์ทั้งหลาย การจัดคิว การดูแลลูกค้า การดูแลสวัสดิการคนขับมอเตอร์ไซค์

การบริหารจัดการค่าคิวหรือค่าเสื้อ ที่เดิมเข้ากระเป๋าผู้มีอิทธิพล รัฐก็ควรเข้ามาดูแลด้วย แต่สร้างระบบบริหารจัดการเงินดังกล่าว เพื่อนำไปใช้จัดสวัสดิการให้กับคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งอาจจะจัดระบบคล้ายๆ สวัสดิการสังคมของคนทำงานทั่วไป ที่ให้ผู้รับสวัสดิการจ่ายส่วนหนึ่ง รัฐสมทบส่วนหนึ่ง อีกทั้ง จัดการส่งเสริมสนับสนุนให้คนขับมอเตอร์ไซค์มีเงินออมแต่ละเดือน โดยการสมทบเพิ่มเติมของกองทุน ซึ่งจะช่วยให้คนขับสามารถมีเงินออมสะสม คล้ายบำเหน็จบำนาญ หรือมีระบบที่ช่วยให้มีประกันชีวิต และประกันอุบัติเหตุทั้งคนขับและคนใช้บริการ และในอนาคตก็อาจจะสามารถชดเชยรายได้ในวันที่ไม่สามารถทำงานได้ด้วย เป็นต้น

การจัดระบบข้างต้น มิใช่การเอาเงินหลวงไปแจกมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

แต่อาศัยอำนาจรัฐ เข้าไป “ขอพื้นที่คืน” จาก “อำนาจเถื่อน”

แล้วใช้เงินที่คนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างเคยจ่ายให้แก่อิทธิพลเถื่อน นั่นเอง นำมาเป็นทุนในการบริหารจัดการเพื่อคืนผลประโยชน์กลับมาคุ้มครองดูแลคนขับ มอเตอร์ไซค์และคนใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

การจัดระบบเช่นนี้ สามารถทำได้จริง เพียงแต่อำนาจรัฐและคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะต้องร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ไม่ยอมสยบ หรือสมยอมต่ออิทธิพลเถื่อน

การใช้อำนาจรัฐกำราบ หรือจัดระบบแทนที่อิทธิเถื่อนในลักษณะนี้ ไม่ต่างจากการระบบที่ดิน ซึ่งสมัยก่อน หลายพื้นที่ ก็ยังมีแต่อิทธิพลเถื่อน หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เข้าไปหักล้างถางพง ยึดครองป่าเอามาเป็นที่ดินของตัว แต่ต่อมา อำนาจรัฐก็เข้ามา “ขอพื้นที่คืน” จัดระบบควบคุมดูแล มีระบบโฉนด หรือเอกสารสิทธิอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ปรับวิธีคิด เปลี่ยนระบบรถแท็กซี่สนามบินและสถานีขนส่งสาธารณะ

จากการจัดระบบมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทำให้นึกถึงระบบรถขนส่งรับจ้างที่เป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน คือ รถแท็กซี่ที่รับส่งผู้โดยสารตามสถานีขนส่งสาธารณะใหญ่ๆ เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งรถโดยสาร

ตาม สถานีขนส่งสาธารณะข้างต้น มีผู้โดยสารเข้า-ออกหนาแน่น จึงมีความต้องการใช้บริการรถรับจ้างสาธารณะมาก ทำให้รถแท็กซี่ต้องการเข้าไปรอรับผู้โดยสารจำนวนมาก ทำให้ผู้มีอำนาจหรือมีอิทธิพลเข้าไปแสวงหาผลประโยชน์ผ่านการกระทำที่อ้างว่า “จัดคิว” หรือ “จัดระเบียบ” รถแท็กซี่ที่จะมารับผู้โดยสาร

ในฐานะที่เคยเป็นบอร์ดการท่าอากาศยาน ก็ขอยกกรณีรถแท็กซี่ที่สนามบินขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

สภาพปัจจุบัน รถแท็กซี่บริเวณสนามบิน จะมีการจัดคิวที่มีผลประโยชน์ไม่ต่างจากวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

สิ่งที่ทำกัน คือ ห้ามรถแท็กซี่ที่ไม่จ่ายค่าหัวคิวเข้าไปรับผู้โดยสารจากสนามบิน ด้วยการห้ามแท็กซี่เปล่าที่ไม่มีผู้โดยสารวิ่งเข้าสนามบิน โดยจะมี รปภ.คอยไล่อย่างแข็งขัน ส่วนรถแท็กซี่ที่เข้าไปส่งผู้โดยสาร ก็ห้ามจอดรอรับผู้โดยสาร ในขณะที่ผู้โดยสารที่ไม่ต้องการไปจ่ายค่าต๋งในการจัดคิวแท็กซี่ ก็ต้องออกเร่ไปหาแท็กซี่ที่บังเอิญเข้ามาส่งผู้โดยสารพอดีกันอย่างทุลักทุเล เต็มที

ปัญหาเหล่านี้ หนักข้อขึ้น เมื่อยุครัฐมนตรีคมนาคม ชื่อ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” ได้ เพิ่มให้ผู้โดยสารต้องจ่ายเงินเพิ่ม 50 บาท สำหรับแท็กซี่ที่จอดเข้าคิวรออยู่ที่สนามบิน ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้แท็กซี่อยากเข้ามารับผู้โดยสารที่สนามบิน ทำให้ผู้มีอิทธิพลอำนาจสามารถไปเรียกเก็บผลประโยชน์จากแท็กซี่มากขึ้น โดยอ้างว่าเป็นค่าจัดระเบียบ

สมัยที่ผมเป็นบอร์ดบริษัทท่าอากาศยานไทย ในการพบปะพูดคุยครั้งหนึ่ง คุณสรรเสริญ วงศ์ชอุ่ม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ เคยเสนอต่อฝ่ายบริหารว่า ให้เลิกเสียทีได้ไหมระบบเก็บเงินจากผู้โดยสารเพิ่ม 50 บาท แต่ผู้บริหารก็ไม่ยอม ตอนนั้น ดร.สรรเสริญยังหันมาพูดกับผมว่า “มันมีระบบอื่นที่ดีกว่านี้ อาจารย์เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ช่วยอธิบายให้ฟังก็ได้”

ระบบรถแท็กซี่สนามบิน สามารถจะปรับเปลี่ยนได้ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีคิดใหม่

จากที่อ้างว่า ต้องมีการจัดระเบียบ มีการเก็บเงินผู้โดยสารเพิ่ม 50 บาท และห้ามมิให้รถแท็กซี่เปล่าวิ่งเข้าสนามบิน ก็เพื่อมิให้แท็กซี่มาจอดรอผู้โดยสารจนล้นออกไปนอกสนามบิน

เพื่อ จะแก้ปัญหาข้างต้น โดยไม่ต้องให้ผู้โดยสารต้องจ่ายเพิ่ม 50 บาท และให้แท็กซี่ทั่วไปมีสิทธิที่จะเลือกหนทางทำมาหากินของตนเองได้โดยไม่ถูก ผูกขาดตัดตอน อาจกระทำได้โดยการจัดการให้ข้อมูลไปถึงแท็กซี่ทั่วไปที่วิ่งอยู่บนท้องถนน ทำให้คนขับแท็กซี่ทั่วไปสามารถทราบข้อมูลว่า ขณะนี้ มีแท็กซี่รอผู้โดยสารอยู่ที่สนามบินกี่คัน กี่คิว เพื่อแท็กซี่จะได้ตัดสินใจเองว่าจะเสี่ยงเข้าไปรอรับผู้โดยสารที่สนามบิน หรือไม่ เพราะถ้ามีคิวยาว ต้องรอนาน ก็คงไม่มีแท็กซี่คันไหนไปเสียเวลารอให้แออัดสนามบิน เพราะเสียเวลาทำมาหากิน

ระบบการแจ้งข้อมูลดังกล่าว อาจเป็นป้ายบอกจำนวนรถที่รอคิวอยู่ ซึ่งสามารถปรับจำนวนตัวเลขตามแท็กซี่ที่เข้า-ออกสนามบินโดยอัตโนมัติ

เมื่อผู้โดยสารเดินออกจากอาคารสนามบิน ก็สามารถเข้าคิว รอขึ้นแท็กซี่ตามคิวได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องจ่ายค่าหัวคิวให้ผู้มีอิทธิพลที่ไหน

วิธี จัดการแบบนี้ เป็นการจัดระบบโดยใช้ข้อมูลข่าวสารและผลประโยชน์ที่เป็นธรรมของทุกฝ่ายเป็น ตัวตั้ง มิใช่ใช้อำนาจและอามิสสินจ้างเป็นตัวนำ

การบริหารจัดการด้วยข้อมูลในลักษณะนี้ ต่างประเทศได้นำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาการจราจรแออัดที่สนามบินอย่างได้ผลมาแล้ว ในกรณีของรถส่วนตัวที่จะมารอรับญาติมิตรที่สนามบิน โดยขณะที่บ้านเราเน้นการทำมาหากินกับที่จอดรถในสนามบินเป็นหลัก ทำให้ต้องจัดหาที่จอดรถมากมาย และราคาแพง แต่ในต่างประเทศ ได้ใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารให้เป็นประโยชน์ โดยจัดให้มีที่จอดรถชั่วคราว ที่คนขับรถต้องอยู่ในรถ (เหมือนที่พักรถชั่วคราว) Cell Phone Parking อยู่ห่างสนามบินพอประมาณ สามารถจะขับรถไปถึงสนามบินในเวลาไม่เกิน 5 นาที เมื่อญาติมิตรลงเครื่องบิน เดินออกมาถึงประตูอาคารผู้โดยสาร ก็แค่โทรแจ้งคนที่จะมารับ ฝ่ายที่มารับก็สามารถขับรถออกจากที่จอดชั่วคราว โฉบเข้าไปรับญาติที่รอท่าอยู่ก่อนแล้วได้ทันที

พูดง่ายๆ ว่า ทำตามขั้นตอน “คนรอ - เรียกรถ - รับแล้วออก”

กล่าวคือ ผู้โดยสารออกมารอ โทรเรียก รถมารับ แล้วก็ออกจากสนามบินทันที

เป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่า การจัดระบบที่ดี มีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินการได้ เพียงแค่เปลี่ยนวิธีคิด และไม่ยึดติดกับผลประโยชน์ส่วนตัวของคนเฉพาะกลุ่ม มากกว่าประโยชน์ส่วนรวม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น