++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ทำอย่างไรจะปล่อยวางขันธ์ได้

หลวงพ่อปราโมทย์ : บางคนบอกว่า ทำอย่างไรจะปล่อยวางขันธ์ได้ คล้ายๆ หลวงพ่อจับพัดนะ ทำไงจะปล่อยได้ว้า หาทางสะบัดใหญ่ ไม่ปล่อยเองน่ะ จริงๆ ไม่ต้องทำอะไรนะ แค่ปล่อย มันก็หลุดแล้ว แต่จะปล่อยได้ ต้องรู้ว่านี่ไม่ใช่ของดี ถ้ารู้สึกว่า โอ๊ย นี่พัดอย่างนี้แหล่ะ ในโลกนี้มีอันเดียวที่ำทำได้แบบนี้ สวยเหลือเกิน ดีเหลือเกิน วิเศษเหลือเกิน ในโลกนี้มีอันเดียวนี่อะไรรู้ไหม? ตัวเรานี่ไง มีอันเดียว ใช่ไหม? ไม่มีคนที่สองเลย มีอยู่หนึ่ง ฉนั้นหวงของดี ของดี ไม่ปล่อย วันหนึ่งดูไปดูไป ฮึ่ย น่าเกลียดนี่ ข้างหน้าดูสวยนะ พลิกมา ตุ๊กแกอยู่ข้างหลัง คราวนี้ทิ้งอย่างรวดเร็วเลย เพราะอะไร? เห็นแล้วว่าไม่ใช่ของดี

ถ้าเมื่อไหร่เห็นตามความเป็นจริง ว่าขันธ์มันเป็นทุกข์ จิตจะวางของเขาเอง

พวกเราจำไว้นะ ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ จิตเขาบรรลุมรรคผลนิพพานของเขาเอง เขาปล่อยของเขาเอง แต่เขาปล่อยเองได้ไหม อยู่ๆปล่อยได้ไหม? อยู่ๆไม่ปล่อย หน้าที่เราให้การเรียนรู้เขาไป พาเขาเรียนรู้ไป จิตคล้ายๆ เด็ก เหมือนลูกเรา หลานเรา เราไปสอบแทนมันไม่ได้ เราจะมีความรู้แทนมันไม่ได้ มันต้องมีความรู้ของมันเองนะ แต่เราทำอะไร? ทำสิ่งที่เกื้อกูล ให้การศึกษาได้ ส่งไปโรงเรียน หรืออยู่บ้านก็ติวให้บ้าง อบรมบ้าง ให้การเรียนรู้ได้ แล้วเขาดีของเขาเอง เขาฉลาดของเขาเอง

จิตนี้เหมือนกันนะ เราอบรมได้ จิตเป็นธรรมชาติที่อบรมได้ แต่สั่งไม่ได้ เหมือนเด็กน่ะ สั่งให้ฉลาดไม่ได้นะ สั่งให้สอบได้ที่หนึ่ง สั่งไม่ได้ ทำไม่ไ้ด้จริงหรอก มันจะดีมันจะชั่ว อยู่ที่ตัวของมันเอง เราทำได้แต่สร้างสิ่งแวดล้อมที่เือื้ออำนวยใ้้ห้ ถ้าเราฝึกได้ เราฝึกเด็กได้นะ แต่เด็กจะเก่งหรือไม่เก่ง อยู่ที่ตัวเด็กเอง

จิตนี้ก็เหมือนกัน จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ ในอภิธรรมสอนนะ จิตเป็นธรรมชาติที่ฝึกได้ แต่สั่งไม่ได้ ฝึกก็คือให้การเรียนรู้เขาไป เจริญสติ คอยรู้กาย คอยรู้ใจ ให้จิตเขาได้เรียนรู้ความจริงของกายไป ให้จิตเขาได้เรียนรู้ความจริงของจิตใจไปเรื่อย เรียนรู้ความจริงไปเรื่อยๆ ในที่สุดจิตเขาฉลาด เขาเห็นเลย กายนี้ก็เป็นตัวทุกข์ จิตนี้ก็เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวดีตัววิเศษอย่างที่เคยหลงผิดแล้ว เขาจะวางของเขาเอง ฉนั้นตรงที่วาง เขาวางของเขาเองนะ ไม่ใช่เราช่วยเขาวางได้ ถ้าเราช่วยเขาวางได้ เราก็สบายเลย ไม่ต้องไปฝึกกรรมฐานให้เหนื่อยยาก การที่เราฝึกกรรมฐานนี่แหล่ะ คือการให้การเรียนรู้แก่จิต ที่เรามาหัดทำวิปัสนา ก็คือการให้การเรียนรู้แก่จิตนั่นเอง ถ้าจิตฉลาดขึ้นมา รู้ความจริงของขันธ์ห้า จิตก็วางขันธ์ของเขาเอง จิตยังโง่อยู่ จิตก็ยังยึดอยู่

เพราะฉะนั้นเราทำหน้าที่อะไร? ทำหน้าที่ให้การเรียนรู้แก่จิต ด้วยการเอาของจริงมาให้จิตดู ดูลงไปในกาย ดูลงไปในจิตใจดูซิ มันเที่ยงหรือไม่เที่ยง มันสุขหรือมันทุกข์ มันบังคับได้หรือมันบังคับไม่ได้ ให้มันดูเนืองๆนะ ดูไปเรื่อยเลย วันนึงมันก็รู้ความจริง มันก็วางของมันเอง ไม่มีใครสั่งให้มันวางได้นะ มันวางของมันเอง ดิ้นให้ตายยังไงก็ไม่วาง ภาวนาแทบเป็นแทบตาย ไม่วาง บทเขาจะวาง เขาพอของเขานะ เขาวางของเขาเอง ครูบาอาจารย์ท่านเทียบคล้ายๆ การกินข้าว เรา่มีหน้าที่กินข้าวนะ เราไม่มีหน้าที่อิ่ม ร่างกายมันอิ่มของมันเอง เรามีหน้าที่ป้อนข้าวมันไป มันหิวนะ ป้อนข้าวมันไป ถึงจุดหนึ่งมันอิ่มของมันเอง

การภาวนานี้เหมือนกัน เรามีหน้าที่ให้การเรียนรู้แก่จิตเรื่อยๆ เรื่องที่ให้การเรียนรู้ ก็คือเรื่องความจริงของกายของใจ ไม่ใช่เรื่องอื่น ให้การเรียนรู้ไปมากๆ พอเขารู้ความจริง เขาวางของเขาเอง

CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๔
File: 530423.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๖ วินาทีที่ ๒๗ ถึง นาทีที่ ๒๐ วินาทีที่ ๑๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น