++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

เหตุให้ปรองดองเกิดยาก : บางคนกลัวเสียประโยชน์

โดย สามารถ มังสัง 13 กันยายน 2553 16:29 น.
คำว่า ปรองดอง หรือการที่คู่กรณีซึ่งเกิดความขัดแย้งกัน ยอมเจรจาเพื่อหาแนวทางยุติความขัดแย้งร่วมกัน จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าทุกฝ่ายที่มีส่วนในการทำให้เกิดความขัดแย้งไม่ยอมลดละ ความคิดเห็นของตนเอง ในส่วนที่มองต่างกันในเรื่องเดียวกัน หรือแม้กระทั่งในรายที่บอกว่าพร้อมจะปรองดอง แต่มีการตั้งเงื่อนไขในเรื่องที่อีกฝ่ายรับไม่ได้ จะด้วยขัดต่อกฎหมายหรือความสำนึกในหน้าที่อันเกิดจากตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ การปรองดองก็เกิดขึ้นได้ยาก

เกี่ยวกับแนวทางหรือหลักการที่จะทำให้เกิดความปรองดอง และนำไปสู่ความสามัคคีได้มีหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ 3 ประการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปรองดองได้ ดังต่อไปนี้

1. ทิฏฐิสามัญญตา หมายถึง มีความเห็นตรงกันในสิ่งเดียวกัน และเป็นความเห็นที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วย

2. ศีลสามัญญตา หมายถึง มีศีลหรือข้อวัตรปฏิบัติเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งศีล 5 ข้อมุสาวาท อันเป็นหัวใจในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้ง

3. ปรโตโฆษะ หมายถึง การฟังซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการเคารพเหตุผลของกันและกัน ทั้งพร้อมที่จะยุติและยอมรับเงื่อนไขของคู่เจรจาที่มีเหตุผลควรค่าแก่การรับ ฟัง ไม่ดื้อรั้นแบบเอาสีข้างเข้าถูด้วยมานะทิฏฐิ และการยกตนข่มท่าน

ถ้าคู่กรณีใดไม่มีหลักธรรม 3 ประการนี้แม้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง การเจรจาเพื่อให้เกิดการปรองดองทำได้ยาก เพราะเพียงแต่ใครคนใดคนหนึ่งคิด และพูดออกมาก็จะก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้น ดังที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่กับ ส.ส.ในพรรคเพื่อไทยที่มีนายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นคนเริ่มต้นเสนอแนวคิดที่จะปรองดองกับฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล เพราะเพียงแค่พูดเรื่องนี้ ได้มี ส.ส.หลายคนในพรรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีสถานภาพเป็น ส.ส.และในขณะเดียวกันเป็นแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง อันเป็นชนวนความขัดแย้งเฉกเช่นนายจตุพร พรหมพันธุ์ ดูเหมือนจะออกมาพูดเรื่องนี้ในลักษณะตอบโต้ และตั้งเงื่อนไขที่ดูแล้วมองไม่เห็นทางว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้

ใช่ว่าจะมีเพียงฝ่ายค้านเท่านั้นที่ออกมาแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการ ปรองดอง ทางฝ่ายรัฐบาล เช่น นายบรรหาร ศิลปอาชาก็ออกมาแสดงความเห็นว่าการปรองดองเกิดได้ยาก แต่ที่น่าจะทำให้ความคิดในการปรองดองหกล้มตั้งแต่เริ่มต้นก็คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในทำนองว่า การเสนอแผนปรองดองของพรรคเพื่อไทยเป็นการสร้างภาพ ไม่มีความจริงใจที่จะทำเรื่องนี้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ตรงกันข้ามกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาแสดงท่าทีเห็นด้วย และพร้อมที่จะเจรจา แต่ในขณะเดียวกันก็ขีดวงล้อมการเจรจาไว้ในวงจำกัด ไม่ให้รวมความไปถึงการยอมความเพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำ ผิดกฎหมาย ทั้งที่ศาลได้ตัดสินแล้ว และกำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

การออกมาแสดงความเห็นด้วย พร้อมกับขีดวงจำกัดในทำนองนี้ของนายกรัฐมนตรีถือได้ว่ารอบคอบและรัดกุม เยี่ยงนักชกประเภทฝีมือและลีลาครบเครื่อง ทำให้คนอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ เห็นแล้วมองออกว่า ถ้ายอมเจรจาเมื่อใดก็จะตกเป็นจำเลยทางสังคม และเสียคะแนนนิยมในกลุ่มคนเสื้อแดงค่อนข้างแน่นอน และนี่เองน่าจะเป็นเหตุประการหนึ่งที่ทำให้บางคนในซีกของฝ่ายค้านเกิดความ ลังเลในการเปิดตัวว่าเห็นด้วยกับการเจรจา

อีกประการหนึ่ง ถ้าการเจรจาเกิดขึ้นจริง และการปรองดองเป็นไปได้ถึงขั้นทำให้ความขัดแย้งยุติลง และนำไปสู่ความสงบทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาล เป็นที่แน่นอนว่าประเทศโดยรวมได้ประโยชน์ในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ และสังคม แต่ก็จะมีนักการเมืองบางคนจากบางพรรคการเมืองเสียประโยชน์ซึ่งตนได้รับจาก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ทั้งในรูปเงินตรา และตำแหน่งทางการเมือง โดยอาศัยความไม่มีเอกภาพทางการเมืองต่อรองกับรัฐบาล ดังที่นักการเมืองบางคนจากพรรคร่วมรัฐบาลกระทำอยู่ และผู้นำรัฐบาลจำใจต้องให้ ทั้งๆ ที่ถ้าการเมืองมีเอกภาพ รับประกันได้ว่าคนอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงไม่ยอม

ด้วยเหตุนี้ ถ้าการปรองดองเกิดขึ้น คนที่เสียประโยชน์ก็คือนักต่อรองที่อาศัยความแตกแยกทางการเมือง และคนที่จะได้ประโยชน์นอกจากสังคมโดยรวมแล้ว ก็คือผู้นำรัฐบาลนั่นเอง เพราะไม่ต้องกังวลเสียงสนับสนุนในสภาในการผ่านกฎหมายสำคัญๆ

สุดท้าย ถ้าดูจากพฤติกรรมของนักการเมืองทั้งจากฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลแล้ว เชื่อว่านายกรัฐมนตรีคงคอยเก้อเพื่อให้ฝ่ายค้านหันมาเจรจา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น