โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ 13 กันยายน 2553 15:08 น.
การเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะซ้ำซากนับเป็นหนึ่งรูปธรรมสำคัญของ สังคมไทยที่ไม่ใคร่ให้คุณค่าชีวิตกับคนเล็กคนน้อย เพราะนอกจากความรุนแรงแห่งโศกนาฏกรรมทางถนนจะนำความสูญเสียสาหัสสู่ผู้ประสบ เหตุแล้ว สิทธิในฐานะมนุษย์ ผู้บริโภค และผู้โดยสารยังถูกลดทอนลงจนแทบสิ้นจากกระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอม ยอมความผ่านการสมรู้ร่วมคิดระหว่างผู้ประกอบการกับตัวแทนบริษัทประกันภัยที่ ยอมจ่ายค่าเยียวยาชดเชยแค่เล็กน้อย
อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะปีละ 3,000-4,000 คัน 2 ใน 3 เกิดในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนที่เหลือเป็นต่างจังหวัด ที่เพียงครึ่งปี 2551 ก็มีผู้เสียชีวิตถึง 63 คน บาดเจ็บทางร่างกาย 890 คน ทางใจอีกนับไม่ถ้วนนั้น หากวิเคราะห์ลึกลงไปแล้วจักพบว่าล้วนแล้วแต่ก่อตัวด้วยเหตุปัจจัยคล้ายคลึง กันทุกๆ ที ทุกๆ ปี หากกระนั้นก็กลับไม่มีการแก้ไขคลี่คลายบนฐานข้อมูลการสอบสวนอุบัติเหตุ (Accident investigation) ที่เป็นทั้ง Evidence based และ Scientific based แต่อย่างใด ยังมุ่งแต่ตำหนิและลงโทษทัณฑ์คนขับ ซึ่งจะว่าไปแล้วพวกเขาอาจเป็น ‘ปลายธาร’ ของสายธารอุบัติเหตุรถโดยสารก็ได้ ด้วยย้อนกลับไปดู ‘ต้นธาร’ ของสายธารอุบัติเหตุอันยาวเหยียดจะพบว่าประกอบไปด้วยผู้เล่นหลัก (Key player) ทั้งผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐ
ฝ่ายหนึ่งเห็นแก่ได้ ใช้สอยคนขับให้ทำความเร็วทำรอบ ตลอดจนลดอุปกรณ์ความปลอดภัยลงทุกด้าน ตั้งแต่ไร้อุปกรณ์ดับเพลิง ค้อนทุบกระจก เข็มขัดนิรภัย ไปจนถึงใช้บริการอู่ต่อรถ-ซ่อมรถที่ด้อยมาตรฐาน อีกฝั่งก็ย่อหย่อนไม่บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ อย่างเข้มงวด กวดขันก็ต่อเมื่อเกิดโศกนาฏกรรมไปแล้ว
มิพักจะเอ่ยถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ขาดการวางแผนทั้งระบบจนกลายเป็น การขนรถมากกว่าคน และยิ่งนานวันยิ่งพัฒนาน้อยกว่าความต้องการและการเจริญเติบโตของประชากร
เหตุปัจจัยซ้ำซากระดับระบบและโครงสร้างที่มากกว่าชี้หน้าว่าเป็นความ ประมาทของคนขับอันเป็นระดับปัจเจกบุคคลเช่นนี้ส่งผลให้เป้าหมายลดอัตราการ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต่ำว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนให้ได้ภายใน ปี 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2553 ที่กำหนดให้ปี 2554-2563 เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน (Decade of Action for Road Safety) หลีกเลี่ยงการปฏิรูประบบรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบไม่ได้
ด้วยที่สุดแล้วถึงแก้พฤติกรรมและจิตสำนึกความปลอดภัยของคนขับได้ขนาด ทำให้พวกเขาตระหนักรู้หลักการป้องกันล่วงหน้าไม่เอาชีวิตผู้โดยสารเข้าไป เสี่ยงถึงตัวเองจะขับมาถูกต้อง แต่ไม่ได้มีความเปลี่ยนแปลงในการบังคับใช้กฎหมาย ความเข้มงวดในการตรวจสอบแผนการบริหารจัดการและการจัดการเดินรถ แผนด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับตัวรถและผู้โดยสารของผู้ขอใบอนุญาตประกอบการขน ส่งประจำทางของภาครัฐ รวมถึงไม่มีการปรับเปลี่ยนจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยของผู้ประกอบการ โศกนาฏกรรมรถโดยสารสาธารณะก็ยังคงอยู่คู่สังคมไทยต่อไป
ในขณะเดียวกันสถานการณ์เช่นนี้ก็ชี้ชัดถึงภาพอนาคตว่าเป้าหมายทศวรรษ แห่งความปลอดภัยทางถนนที่มุ่งลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้อย่างมีนัยสำคัญ นั้นไม่มีทางเป็นจริงได้ ด้วยการเดินทางขั้นพื้นฐานของรถโดยสารสาธารณะที่ควรปลอดภัยสูงสุดยังทำไม่ ได้ แล้วรถจักรยานยนต์ที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดเสียชีวิตบาดเจ็บพิการ สูงสุดจะทำได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีกติกากำกับควบคุมเข้นข้น แค่ขอความร่วมมือผู้ผลิตให้ไม่โฆษณาเร็วแรงยังไม่ได้
ไม่นับรวมปัจจัยที่ว่ากลุ่มคนที่ใช้รถจักรยานยนต์และใช้บริการรถ โดยสารสาธารณะต่างเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมไทยที่เรียกหลวมๆ ว่าคนชั้นล่างหรือกลางระดับล่างที่ต่างต้องการความปลอดภัยในชีวิตภายใต้ บริบทที่ไม่สามารถครอบครองรถยนต์ส่วนตัวได้เหมือนๆ กัน ขณะเดียวกันก็ไม่อยากเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะที่ไม่ได้มาตรฐาน ทางออกของเงื่อนไขนี้จึงเสมือนมีเพียงหนึ่งเดียวคือการซื้อรถจักรยานยนต์สัก คันเพื่อใช้ขับขี่ไปทำงานหรือให้ลูกหลานขี่ไปโรงเรียน
ภาพฝันที่จะลดอุบัติเหตุทางถนนต่ำกว่า 10 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนในอีก 10 ปีข้างหน้าจึงเป็นไปไม่ได้เลยตราบใดที่เงื่อนไขในการผลักดันคนส่วนใหญ่ให้ไป ใช้รถจักรยานยนต์แทนรถโดยสารยังคงไม่เปลี่ยนแปลง หรือไม่มีการยกระดับความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะทั้งระบบตลอดทศวรรษแห่งความ ปลอดภัย ไม่เช่นนั้นเหตุผลเพียงเท่านี้ก็พอเพียงจะทำให้ทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน ท่วมท้นด้วยเลือดเนื้อของคนเล็กคนน้อยอันเนื่องมาจากระบบขนส่งมวลชนที่ขาด แคลนทั้งปริมาณและคุณภาพโดยมีรถโดยสารสาธารณะเป็นปัจจัยหนึ่ง นอกเหนือจากรถจักรยานยนต์ที่จะเป็นสุดยอดพาหนะคร่าคนไทยไปอีกนาน โดยเฉพาะเยาวชน
เช่น นี้ จึงถึงเวลาแล้วที่รถโดยสารประจำทางทั่วประเทศ 84,714 คัน รถโดยสารไม่ประจำทาง 32,270 คัน และรถโดยสารส่วนบุคล 10,569 คัน ในปี 2552 จะต้องพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยให้สูงขึ้น ถึงแม้ไม่อาจยกระดับได้ทุกคัน แต่การเริ่มต้นนี้จะเป็นต้นธารความปลอดภัยต่อไปในอนาคต เพราะรถแต่ละคันใช้วิ่งรับส่งชีวิตกันนานนับสิบปี
มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www.thainhf.org
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น