++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

เมื่อ...ความเครียด...มาเยือนครอบครัว

เมื่อ...ความเครียด...มาเยือนครอบครัว

สรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์.....ข้อมูล

ทองไพรำ สถาวรินทุ.............เรียบเรียง



เมื่อสังคมรายรอบตัวแวดล้อมไปด้วยอณูของความเครียด "ครอบครัว" จึงเป็นเสมือนที่พึ่งสุดท้ายสำหรับผู้คนทุกวันนี้ แต่เหมือนโชคไม่เข้าข้าง ที่ครอบครัวไม่สามารถช่วยคลี่คลายความเครียดให้กับผู้คนได้ แต่กับตอกย้ำความเครียดให้กับคนในครอบครัว ทำให้ผู้คนทุกวันนี้ นอกจากต้องเผชิญความเครียดภายนอกครอบครัวแล้ว ยังต้องกลับมาผจญกับความเครียดในครอบครัวอีกนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งความเครียดนั้นจะค่อยๆกัดเซาะความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว จนทำให้เกิดรอยร้าวในที่สุด



ความเครียดในครอบครัวคืออะไร
หลายๆคนอาจจะยังมองไม่ออกว่า ครอบครัวกำลังตกอยู่ในสถานการณ์ความเครียดอยู่หรือไม่ หรือหลายๆคนอาจจะยังไม่รู้ตัว

ความเครียดในครอบครัวก็คือ "บรรยากาศ" ในครอบครัวที่ทำให้สมาชิกในครอบครัว เกิดความรู้สึกกดดัน ไม่ว่าจะกดดันจากสภาพความกังวล ความกลัว ความไม่พอใจ หรือความโกรธ บรรยากาศที่ไม่น่าพิสมัยนี้เกิดมาจากสภาพแวดล้อมในครอบครัว และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัวที่ไม่ดีนั่นเอง

ครอบครัวบางครอบครัวมักเกิดความเครียดขึ้น ด้วยบุคคลเพียงคนเดียวเป็นต้นเหตุ เช่นบุคคลผู้นั้นเป็นคนที่มักลงรายละเอียดในการดำเนินชีวิตมากเกินไป จนทำให้สร้างความรำคาญใจแก่สมาชิกในครอบครัวคนอื่น จะพบมากในครอบครัวที่มีพ่อแม่หรือปู่ย่าตายายที่เจ้าระเบียบ ในขณะเดียวกันครอบครัวที่ไม่มีระเบียบวินัยเกินไป ก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นสภาพแวดล้อมในครอบครัวต้องไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป ถ้าจะให้ดีต้องพอเหมาะพอควรกับธรรมชาติของสมาชิกในครอบครัว ซึ่งต้องมีความเห็นอกเห็นใจและการยอมรับซึ่งกันและกันอย่างมาก

บางครอบครัวมีสมาชิกในครอบครัวที่ขาดทักษะในการจัดการกับปัญหา ก็ก่อให้เกิดความเครียดขึ้นได้ เช่น เมื่อคนในครอบครัวทำอะไรไม่เป็นไปตามความต้องการของเขา เขามักตีโพยตีพาย ตำหนิหรือทำร้ายคนๆนั้นโดยไม่ฟังเหตุผล หรือครอบครัวที่มีคนที่มักใช้อารมณ์ในการจัดการกับปัญหา ครอบครัวที่มีบุคคลประเภทนี้อยู่แม้เพียงคนเดียว ก็จะทำให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัวรู้สึกเครียดได้

นอกจากนี้ ครอบครัวที่มีบรรยากาศที่คนในครอบครัวค่อยซ้ำเติมกัน หรือไม่ให้กำลังใจแก่กัน ครอบครัวประเภทนี้ก็จะสร้างความเครียด ให้กับสมาชิกในครอบครัวมากเหมือนกัน เช่น เมื่อมีคนใดคนหนึ่งทำผิดพลาด จะมีคนในครอบครัวตำหนิติเตียน สมน้ำหน้าหรือด่าว่าซ้ำเติม

บางครอบครัวอาจมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งที่กล่าวมานี้เพียงลักษณะเดียว ในขณะที่บางครอบครัวอาจมีเกือบทุกลักษณะที่กล่าวมานี้ ซึ่งครอบครัวใดที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่งให้พึงตระหนักว่า ขณะนี้ครอบครัวของคุณกำลังถูกความเครียดเข้าครอบงำ



ผลจากความเครียด
ผลของความเครียดโดยมากจะไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่จะค่อยๆสั่งสมแล้วก่อให้เกิดสิ่งที่ไม่ดีตามมา สมาชิกในครอบครัวที่มีลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นนี้ จะมีความเครียดสะสม เมื่อใดที่ความเครียดอยู่ในระดับที่ควบคุมไม่ได้ คนๆนั้นจะทำร้ายคนอื่นตั้งแต่รุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก

เด็กจะได้รับผลกระทบจากความเครียดมากกว่าผู้ใหญ่ ซึ่งผู้ใหญ่เพียงแต่มีปัญหาด้านอารมณ์จิตใจ เกิดความเครียดเป็นช่วงๆ ในขณะที่เด็กจะมีปัญหาสุขภาพจิตและระบบประสาท สภาพแวดล้อมในครอบครัวที่เต็มไปด้วยความเครียดนี้ จะเป็นตัวทำร้ายจิตใจเด็ก ก่อให้เด็กเกิดความรู้สึกขาดอำนาจควบคุมสิ่งต่างๆรอบตัว

ความเครียด จึงถือว่าเป็นตัวก่อกวนการดำเนินชีวิตของทุกคน ไม่ให้ดำเนินไปอย่างเหมาะสม และเป็นตัวบั่นทอนการพัฒนาในทุกด้านของบุคคล เช่น เมื่อเกิดความเครียดในครอบครัว ผู้ใหญ่จะกดดัน ขาดสมาธิ และทำให้การทำงานขาดประสิทธิภาพ ในขณะที่เด็กเองก็จะมีความกังวล เกิดปัญหาบุคลิกภาพ และปัญหาพฤติกรรมตามมา และถ้าหากมีความเครียดมากเข้า แน่นอนว่าสัมพันธภาพของคนในครอบครัวจะยิ่งแย่ลง จนอาจเกิดครอบครัวแตกแยกได้ในที่สุด



การป้องกันความเครียด
การป้องกันความเครียดไม่ให้เกิดขึ้นในครอบครัว ถือเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย และฝ่ายที่จะต้องเป็นฝ่ายเริ่มต้นคือผู้ใหญ่ ในกรณีที่รู้ตัวคนซึ่งเป็นต้นเหตุของความเครียดนั้น อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้บุคคลนั้นรู้ตัวและหันมาปรับปรุงตัวเอง ในบางกรณีอาจต้องอาศัยบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักสังคมสงเคราะห์ หรือจิตแพทย์ ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาได้ตามโรงพยาบาลของรัฐ หรือศูนย์บริการสาธารณสุขในเขตพื้นที่บ้าน ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะช่วยแสวงหาวิธีการลดปัญหาที่จะก่อให้เกิดความเครียด และช่วยสมานความเข้าใจให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้

ในกรณีที่ท่าน คือ ผู้ที่เป็นต้นเหตุหนึ่งในการก่อให้เกิดความเครียดขึ้นในครอบครัว นับเป็นแนวโน้มที่ดีหากเราสามารถรู้ตัว และตระหนักถึงปัญหาที่จะตามมา สิ่งแรกที่จะต้องเริ่มทำก่อน คือ ความพยายามในการรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง เช่น เมื่อเกิดความรู้สึกโกรธ ให้ลองพิจารณาดูว่าเราโกรธเพราะอะไร เป็นเพราะคนอื่นทำไม่ได้ดังใจเราต้องการ หรือเราไม่เข้าใจคนอื่นดีพอ หรือไม่ทันได้ฟังเหตุผลเขา และอย่าลืมที่จะถามตัวเองว่า ทำไมเราต้องยึดเอามาตรฐานความคิดและความต้องการของตนเองเป็นหลัก และเป็นตัวตัดสินการกระทำของคนอื่น และค้นหาว่าเราสมควรที่จะยึดเอาความคิดเราหรือไม่ รวมทั้งพิจารณาด้วยว่า สาเหตุและปัจจัยใดที่ทำให้คนอื่นไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่เราตั้งไว้

สิ่งสำคัญสุดท้ายคือ อย่าลืมถามตัวเองว่าทำไมเราจึงเป็นคนหงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย หากยังหาคำตอบไม่ได้ ให้ลองปรึกษาจิตแพทย์ หรือนักสังคมสงเคราะห์ให้ช่วย

ความเครียดในครอบครัว เป็นเรื่องที่พบเจอได้ทั่วไปในสังคม และเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนในสังคมทุกวันนี้ มีปัญหาสุขภาพจิตและมีปัญหาอารมณ์จิตใจ นำไปสู่การก่อปัญหาให้กับผู้อื่นต่อไป หากครอบครัวซึ่งเป็นต้นทางของปัญหาดังกล่าว สามารถขจัดความเครียดออกไปได้ แน่นอนว่าสมาชิกในครอบครัวนั้นๆ ย่อมมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข สังคมรายรอบตัวเขาจะพลอยมีความสุขไปด้วย



ข้อมูลจากจุลสาร ทอฝัน...ปันรัก

(จุลสารเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กในครอบครัว)

ของ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

หากท่านสนใจเป็นสมาชิกจุลสารทอฝันปันรัก สามารถติดต่อบริจาคได้ที่ โทร. 412-1196, 412-0739

"เพียงหยิบยื่นความสุขเล็กๆน้อยๆของคุณให้สังคม คุณสามารถช่วยคนอีกหลายคน เด็กๆอีกหลายชีวิต ให้พ้นจากความเครียด และสามารถช่วยลดดีกรีความเครียดให้กับสังคมได้"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น