++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

หญ้าแฝก กำแพงมีชีวิต อนุรักษ์ดิน-คืนสายน้ำใส


ความอัศจรรย์ของ หญ้าแฝก นั้นเป็นที่ทราบๆกันดีอยู่แล้ว โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ดิน และน้ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ให้ ความสนพระทัยอย่างมาก และทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานงบประมาณ 90 ล้านบาท ให้ มูลนิธิโครงการหลวง จัดทำ โครงการปลูกหญ้าแฝก เพื่อการอนุรักษ์ ดินและน้ำ ขึ้น


ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ในฐานะประธานคณะทำงานหญ้าแฝก ประทานสัมภาษณ์ว่า โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมทางหลวง กรมป่าไม้ กรมชลประทาน และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีระยะเวลา 3 ปี โดยในปี \'47 นี้ มีแผนกิจกรรมการพัฒนาดินและน้ำ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพทั้งสิ้น 15 โครงการ ประกอบด้วยโครงการวิจัย 5 และโครงการปลูกหญ้าแฝก 10 โครงการ โดยได้เปิดตัวโครงการไปเมื่อ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมเริ่มกิจกรรมแรกด้วยการปลูกหญ้าแฝก ในพื้นที่บ้านห้วยเขย่ง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี


นายส่งเกียรติ ทานสัมฤทธิ์ ผช.กรรมการผู้ จัดการใหญ่ กล่าวว่า ปตท.ได้ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝกตามแนวท่อส่งก๊าซไทย-พม่ามาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดี ช่วยแก้ปัญหาดินพังทลายได้อย่างยั่งยืน และเมื่อมูลนิธิโครงการหลวงริเริ่มโครงการนี้ตามพระราชกระแส ปตท.จึงให้ ความสนใจ ซึ่งความจริงแล้วหญ้าแฝกนอก จากจะช่วยแก้ปัญหาดินพังทลายได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยบำบัดน้ำเสียได้ด้วย


เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายอภิชาต จงสกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนา ที่ดินเขต 10 เล่าให้ฟังว่า สืบเนื่องจากน้ำที่ไหลจากที่ต่างๆ มาลงทะเลน้อย ในพระราชวังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นน้ำเน่าเสียมีกลิ่นเหม็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้หาวิธีแก้ไข ทางโครงการจัดพัฒนาที่ดินฯ ตามพระราชประสงค์ หนองพลับ-กลัดหลวง สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 จึงได้ร่วมกับสำนักงานวิจัย และพัฒนาการจัดการที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ทดลองนำหญ้าแฝกมาใช้บำบัดน้ำเสีย


โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2547 ใช้หญ้าแฝก 3 สายพันธุ์ คือพันธุ์มอนโต ศรีลังกา และสุราษฎร์ โดยมาปลูกหญ้าแฝกลงบนแพลอยน้ำที่ทำจากกระบอกไม้ไผ่(ดังภาพ) แต่ละช่วงทางระบายน้ำทิ้ง จะมีแพหญ้าแฝก 3 ชุด แต่ละชุดมี 2 แพ จนถึงขณะนี้ปรากฏว่าน้ำที่เคยทั้งดำและเหม็น กลับมาใสและก็กลิ่นลดลง ขณะเดียวกันได้ตัดใบมาวิเคราะห์มวลต่างๆ จากการที่รากแฝกดูดซับขึ้นมาด้วย


ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 อธิบายว่า ระบบรากของหญ้าแฝก จะทำหน้าที่ดูดซับสารอินทรีย์ และสารปะปนต่างๆในน้ำทิ้ง และเมื่อแฝกเจริญเติบโตแตกใบ ก็จะตัดใบทิ้ง เพื่อให้แฝกแตกใบขึ้นมาใหม่ ซึ่งการแตกใบใหม่นี้แฝก จะดูดซับของเสียในน้ำ มาใช้ในการเจริญเติบโต เป็นเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียแบบง่าย และค่าใช้จ่ายต่ำ เนื่องจากอาศัยธรรมชาติเป็นตัวบำบัด และหญ้าแฝกเองไม่ใช่วัชพืช มักขึ้นเป็นกออยู่อย่างนั้น ไม่แพร่กระจายเหมือนผักตบชวา


ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อปริมาณน้ำทิ้งที่เกิดขึ้น เนื่องจากต้องใช้เทคโนโลยีที่มีรูปแบบซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง การบำบัดน้ำเสียโดยใช้หญ้าแฝก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าจับตามอง อย่างไรก็ตาม การบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีนี้จะมีค่าใช้จ่ายต่ำ แต่ถ้าแก้ที่ต้นเหตุด้วยการไม่ทำให้น้ำเน่าเสียไม่ดีกว่าหรือ? เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องใส่ใจ อย่าปล่อยให้พวกพ้องน้องพี่มามีอิทธิพลจนทำให้ ทรัพยากรน้ำของชาติวิกฤติ!!!


ดวงแก้ว ผุงเพิ่มตระกูล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น