++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ระบบการศึกษาว่าด้วยเรื่องทุน โดย พรรษิษฐ์ ต่อสุวรร

เรื่องราวเกี่ยวกับการศึกษาของประเทศตอนนี้ กำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤต หมายความว่าระบบการศึกษาของบ้านเรามีปัญหาสั่งสมมาจนกระทั่งเข้าสู่สภาวะที่ใช้ทุนเป็นตัวบ่งชี้สถานเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นสัญญาณของความล่มสลาย

ชอบพูดกันว่าคุณภาพการศึกษาคือพื้นฐานของชาติ แต่ข่าวคราวเกี่ยวกับการศึกษาของไทยมีแต่เรื่องที่เป็นลบมาโดยตลอด ตั้งแต่ปัญหาคลาสสิกที่สุดของระบบการศึกษา ซึ่งก็คือวัฒนธรรมการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะสำหรับการเข้าเรียนในโรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงระดับมัธยมปลาย เป็นจำนวนตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้านบาท และข่าวที่โด่งดังเมื่อหลายปีที่ผ่านมาก็คือความโกลาหลของการปรับเปลี่ยนวิธีการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจากระบบการสอบเอนทรานซ์มาเป็นระบบที่เรียกว่าแอดมิชชัน ซึ่งสร้างความสับสนงงงวยแก่บรรดานักเรียนและผู้ปกครองเป็นอย่างมาก

อีกข่าวฉาวเมื่อไม่นานนี้ก็คือ เรื่องการขายปริญญาของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังเอาผิดและต่อมาได้ขยายผลการสืบสวนไปอีกหลายมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ก็ยังมีข่าวการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในทวีปเอเชีย แค่การแข่งขันภายในทวีปเอเชียก็พบว่ามีมหาวิทยาลัยของไทยติดอันดับสูงสุดเพียงแค่อันดับ 34 เท่านั้น ซึ่งก็คือมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนอันดับต่อๆ มาได้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในอันดับที่ 67 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในอันดับที่ 88 หรือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในอันดับที่ 95 เป็นต้น

ล่าสุดก็มีข่าวเกี่ยวกับนโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กประมาณกว่า 7,000โรง ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยอ้างจากเหตุผลของความไม่พร้อมในเรื่องของปัจจัยสำหรับจัดการศึกษาทั้งในส่วนจำนวนผู้สอน จำนวนผู้เรียน ตลอดจนปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ ส่งผลกลายเป็นความไม่มีมาตรฐาน (ในทัศนะของฝ่ายกำหนดนโยบาย)ของโรงเรียนเหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในชนบทห่างไกลจากในเมือง

ข่าวด้านลบเหล่านี้ทำให้เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาของประเทศไทย?

ความจริงแล้วปัญหาของระบบการศึกษาในประเทศเรามีหลากหลายมิติ แต่ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอเกริ่นถึงเพียงส่วนเดียวที่สำคัญก็คือ การที่สถาบันการศึกษาได้ผูกเอาเรื่องของคุณภาพการศึกษาไว้กับเรื่องทุนอย่างใกล้ชิด กล่าวคือผู้บริหารการศึกษาชอบจะอ้างว่า การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพดี จำเป็นจะต้องอาศัยทุนในการขับเคลื่อน แต่ผู้บริหารสถาบันการศึกษา หรือแม้กระทั่งผู้กำหนดนโยบายอย่างกระทรวงศึกษาธิการกลับไม่ได้วางกรอบของการแสวงหาทุนตลอดจนกระบวนวิธีการใช้จ่ายเงินเพื่อพัฒนา “คุณภาพ” การศึกษาแต่อย่างใด

ดังนั้นจึงเห็นการใช้เงินสำหรับพัฒนาหรือขับเคลื่อนการศึกษาจะเป็นไปในลักษณะของการสร้างภาพหรือเปลือกจอมปลอม โดยส่วนใหญ่มักจะถูกจัดไปสำหรับการก่อสร้างอาคารสถานที่เรียน การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนเท่านั้น มักไม่ค่อยจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับเนื้อหาของการศึกษา กระบวนวิธีจัดการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับการส่งเสริมทักษะการเรียน การแสวงหาความรู้ หรือการสร้างองค์ความรู้ แม้กระทั่งเรื่องของการคิดวิเคราะห์ งานวิจัย ฯลฯ

จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกริ่นไว้ข้างต้นนั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องทุนแทบทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่เด็กเริ่มเข้าโรงเรียนครั้งแรก พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ต้องพบกับระบบแป๊ะเจี๊ยะ หรือการเรี่ยไรเงินบริจาคโดยวิธีต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบรรดาโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซึ่งจะมีการเรียกเก็บในอัตราที่สูงแตกต่างกันไปตามความนิยมในสังคม เรื่องนี้เป็นปัญหามาโดยตลอดและดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้ ถึงแม้ว่าจะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการออกมารับรองตามบิลบอร์ดโฆษณาอย่างแข็งขันว่าจะต้องไม่มีก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงมายาภาพหลอก เพราะการจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเป็นความยินยอมพร้อมใจกันทั้งฝ่ายให้และฝ่ายรับ เรื่องนี้เป็นบ่อเกิดของระบบการจ่ายเงินใต้โต๊ะในสังคม เพราะจ่ายกันตั้งแต่เริ่มเรียน เขียน อ่านทีเดียว แต่กลับเป็นว่าคนส่วนใหญ่ก็ยินดีที่จะกระทำเพราะต้องการสร้างโอกาสและอนาคตที่ดีให้แก่บุตรหลานของตน

การจ่ายแป๊ะเจี๊ยะเป็นปัญหาใหญ่ที่มักจะพบในสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมไปจนถึงมัธยม เป็นลักษณะของการประมูลกันเพื่อจะเข้าเรียนได้ แต่สำหรับสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยนั้น จะเป็นปัญหาในมุมกลับ เป็นเรื่องของการจัดหลักสูตรการศึกษาซ้ำซ้อนทำให้มีหลายมาตรฐานทางวิชาการ อันเป็นผลมาจากนโยบายแสวงหาทุนของสถาบันการศึกษา เป็นลักษณะของการกวาดต้อนลูกค้าเข้าไปเรียนเพื่อระดมทุน ในทัศนะของผู้เขียนแล้วเห็นว่ากรณีหลังเป็นสิ่งที่น่ากลัวเสียยิ่งกว่าในกรณีแรก

ระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเริ่มจะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยจากระบบการสอบแข่งขันหรือระบบเอนทรานซ์ดั้งเดิม มาเป็นระบบการคัดสรรหรือที่เรียกว่าระบบแอดมิชชัน และระบบโควตารับตรง จากนั้นก็ต่อด้วยการพาเหรดออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยรัฐ ซึ่งก็ได้ดำเนินการผ่านรัฐสภาโดยออกเป็นพระราชบัญญัติไปแล้วหลายมหาวิทยาลัย วัตถุประสงค์ของการออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยก็คือการสร้างความคล่องตัวในการบริหาร หมายความว่าระบบราชการคืออุปสรรคสำคัญของพัฒนาการศึกษา เพราะความยุ่งยากซับซ้อน ต้องผ่านขั้นตอนมากมายของระบบราชการเองที่เน้นให้มีการตรวจสอบตามลำดับชั้น

และเหตุผลที่น่าจะสำคัญที่สุดก็คืองบประมาณสนับสนุนประจำปีโดยรัฐที่จำกัดอย่างมากด้วย จึงทำให้ผู้บริหารการศึกษาไม่สามารถจะจัดการศึกษาที่มีคุณภาพภายใต้ระบบนี้ ในทางกลับกัน การออกนอกระบบราชการจะทำให้ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย สามารถบริหารจัดการได้อย่างอิสระ เกิดมีความคล่องตัวมากขึ้น สถาบันการศึกษาจะสามารถแสวงหารายได้อย่างกว้างขวางตามอำนาจที่พระราชบัญญัติได้ให้ไว้ ซึ่งก็เปิดกว้างพอสมควร

ตามปกติแล้วมหาวิทยาลัยจะมีพันธกิจที่มากไปกว่าการสอนหนังสือ ยังต้องมีการทำงานวิจัยซึ่งถือเป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน แต่ผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารตลอดจนการทำลายระบบการสอบเข้าที่เข้มงวดแบบเก่า ทำให้มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เน้นไปที่การเปิดหลักสูตรแข่งกัน ปัจจุบันจึงเห็นได้ว่าการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ได้ถูกทำให้เป็นเรื่องของการตลาด กล่าวคือทำการศึกษาให้เป็นเสมือนสินค้าเอาไว้ขาย มหาวิทยาลัยที่เก่าแก่หรือมีชื่อเสียงมาก่อนก็จะได้เปรียบในแง่การสร้างภาพลักษณ์และการประชาสัมพันธ์ ดังนั้นจึงมีการแข่งขันโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์กันอย่างครึกโครมในสื่อต่างๆ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และสื่อสิ่งพิมพ์ ราวกับการจัดโปรโมชันของห้างสรรพสินค้า เกิดเป็นกระแสที่แต่ละมหาวิทยาลัยแข่งขันกันเปิดรับลูกค้า กลายเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าสามารถสร้างผลกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

เมื่อตลาดแรงงานมีความต้องการหาบุคลากรที่มีวุฒิการศึกษามากขึ้น สถาบันการศึกษาก็ตอบสนองโดยมีการเปิดโครงการปริญญาตรีภาคพิเศษคู่ขนานไปกับภาคปกติดั้งเดิม ปัญหาแรกที่เกิดขึ้นก็คือความพร้อมของบุคลากร ทั้งผู้สอน ฝ่ายสนับสนุนการสอน ตลอดจนความพร้อมของผู้เรียน แต่มหาวิทยาลัยกลับเร่งสร้างผลิตผลแห่งปริญญาโดยมองข้ามเรื่องมาตรฐานทางวิชาการ ทำให้มหาวิทยาลัยของไทยกำลังมีแนวโน้มจะกลายเป็นเสมือนโรงงานอุตสาหกรรมผลิตสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

ถ้าเราจะปล่อยให้เกิดสภาวะ “ตลาดการศึกษา” เช่นนี้ต่อไป นอกจากคุณภาพทางวิชาการจะถูกทำลายแล้ว ค่าเล่าเรียนซึ่งเคยเป็นอัตราที่เข้าถึงได้สำหรับคนทั่วไปก็จะถูกปรับขึ้นอย่างเท่าทวีคูณ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ปรับขึ้นในทุกส่วนก็ตาม แต่สถาบันการศึกษาก็ย่อมสรรหาวิธีในการจัดการศึกษาเพื่อการระดมทุน อย่างการเปิดโครงการใหม่ๆ ซึ่งเป็นโครงการภาคพิเศษ ภาคนอกราชการ ภาคนอกเวลางาน หรือภาคภาษาอังกฤษให้คู่ขนานไปกับโครงการดั้งเดิม ในขณะที่โครงการภาคพิเศษเหล่านี้จะถูกจัดขึ้นให้เป็นการศึกษาแบบผิวเผิน ชุบตัว คือสามารถจะเข้าศึกษาในหลักสูตรได้ง่าย จ่ายแพง จ่ายครบ จบแน่นอน

ดูเหมือนว่านโยบายทำการศึกษาให้เป็นสินค้าจะสอดรับกับสังคมนิยมเปลือกอย่างสังคมไทยได้เป็นอย่างดี และกำลังเป็นที่นิยมอย่างสูง ถึงแม้ว่าสถาบันการศึกษาจะอ้างว่าเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาก็ตาม แต่นั่นก็เป็นเพียงข้ออ้าง เพราะการกระจายโอกาสทางการศึกษานั้นควรจะเป็นการกระจายไปสู่กลุ่มคนที่ด้อยโอกาส และแน่นอนว่าจะต้องเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพด้วย ซึ่งการกระจายโอกาสทางการศึกษาก็ถือเป็นพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัยของรัฐ

แต่ในความเป็นจริงการเปิดหลักสูตรเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมีวัตถุประสงค์เพียงการหารายได้เข้ามหาวิทยาลัย ไม่ใช่การกระจายโอกาสทางการศึกษา เพราะเพียงแค่การกำหนดอัตราค่าเล่าเรียนก็สูงจนยากที่ชาวบ้านทั่วๆ ไปจะเข้าถึงได้ แต่กลับสร้างความหลายมาตรฐานทางวิชาการซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง ความจริงแล้วโครงการแบบนี้ควรจะมีวัตถุประสงค์เพียงเพิ่มพูนความรู้แบบต่อเนื่องเท่านั้น

แนวทางการบริหารสถาบันการศึกษาแบบนี้กำลังระบาดลุกลามไปทั่ว แนวทางนี้ได้บั่นทอนคุณภาพของบุคลากร ทำลายจิตวิญญาณครูบาอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากการเปิดโครงการพิเศษทั้งหลาย ทางมหาวิทยาลัยมุ่งหวังแต่จะเพิ่มรายได้ โดยเก็บค่าเล่าเรียนสูงกว่าภาคปกติหลายเท่าตัว ดังนั้นค่าตอบแทนบุคลากรที่สอนก็มากกว่าภาคปกติหลายเท่าเช่นกัน ประเด็นนี้ทำให้เกิดเป็นสภาวะการเมืองภายในมหาวิทยาลัย ครูบาอาจารย์ไม่มีใจที่จะสอนในภาคปกติหรือทำงานวิชาการอย่างเข้มข้น มุ่งแต่จะหารายได้ ส่วนผู้บริหารก็ใช้วิธีการจัดสรรผลประโยชน์ในการแสวงหาคะแนนนิยมของตัวเองและเครือข่าย คุณภาพการศึกษาจึงเสื่อมทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด

เรื่องนี้จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสภาวะที่มหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่ได้ออกนอกระบบไปเกือบจะหมดแล้ว ทำให้ฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยสามารถบริหารจัดการเรื่องของผลประโยชน์กันอย่างอิสระไร้ขอบเขต แม้กระทั่งการจัดสรรที่ดินของมหาวิทยาลัยเพื่อการลงทุนสร้างศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน หรือแม้กระทั่งคอนโดมิเนียม ซึ่งรายรับแต่ละเดือนมีจำนวนมหาศาล แต่ก็ไร้การตรวจสอบ ในทางที่ถูกที่ควรแล้วฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยควรจะทำหน้าที่แต่เพียงบริหารการศึกษา ส่งเสริมทางด้านวิชาการ ซึ่งก็เป็นภารกิจที่ยากลำบากอยู่แล้ว ไม่สมควรเข้าไปบริหารจัดการบริหารธุรกิจหรือพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เสียเอง

ฝ่ายบริหารฯ ร่วมกับสภามหาวิทยาลัยสมควรเป็นเพียงฝ่ายตรวจสอบเกี่ยวกับรายได้ที่มหาวิทยาลัยสมควรได้รับและค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารการศึกษาและวิจัยเท่านั้น อสังหาริมทรัพย์ตลอดจนธุรกิจในทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยทั้งหมดสมควรที่จะมีบรรษัทบริหารจัดการ หรือบรรษัทบริหารกองทุนสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์เข้ามาดำเนินการ ซึ่งจะเป็นองค์กรที่มีสภาพโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้โดยกลไกตลาดฯ

ผู้เขียนไม่ปฏิเสธว่าทุนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับพัฒนาขับเคลื่อนการศึกษา แต่ทุนมหาศาลก็จะเป็นแรงจูงใจสำคัญที่จะก่อให้เกิดระบบเครือข่ายอำนาจในมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อความมีมาตรฐานและความเป็นอิสระทางวิชาการ ตลอดจนทำลายความเป็นสถาบันที่สั่งสอนเรื่องของคุณธรรมและจริยธรรมในสังคมเช่นกัน น่าเสียใจที่ฝ่ายการเมืองไม่มีใครให้ความใส่ใจประเด็นแบบนี้ มัวแต่แข่งกันออกนโยบายเรียนฟรี(ไม่มีคุณภาพ?) แจกคอมพิวเตอร์ หรือแจกแทปเล็ต ซึ่งดูเหมือนว่าจะตอกย้ำความสำคัญเรื่องทุนเข้าไปอีก ไร้ซึ่งสาระในเชิงคุณภาพสิ้นหวัง

ptorsuwan@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น