วันเข้าพรรษา ถือเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่พระสงฆ์จะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดเป็นเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ ซึ่งการเข้าพรรษาตามปกติจะเริ่มนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ถ้ามีเดือน 8 สองหน) และสิ้นสุดลงในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งในแต่ละพื้นที่ของเมืองไทยต่างจัดเทศกาลงานบุญประเพณี รับเทศกาลเข้าพรรษากันไปตามคติความเชื่อของท้องถิ่นตน ส่วนใหญ่มักจะเป็นงานแห่เทียนเข้าพรรษาที่มีทั้งจัดใหญ่ จัดเล็ก ตามแต่กำลังศรัทธา
นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเพณีสำคัญที่ชาวพุทธปฏิบัติสืบทอดต่อๆกันมา ซึ่งถือได้ว่าโดดเด่นไม่น้อยในวันเข้าพรรษา นั่นก็คือ“ประเพณีตักบาตรดอกไม้” ที่ถือเอาวันเข้าพรรษา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8) เป็นวันตักบาตรดอกไม้
ประเพณีตักบาตรดอกไม้ วัดพระพุทธบาทฯ สระบุรี
สำหรับความเชื่อในเรื่องการตักบาตรดอกไม้ ตามตำนานเล่าว่า ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งกรุงราชคฤห์ ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก ในแต่ละวันจะรับสั่งให้นายสุมนมาลาการนำดอกมะลิสดมาถวายวันละ 8 ทะนาน แต่เช้าตรู่ทุกวัน เพื่อแลกกับทรัพย์วันละ 8 กหาปณะ
ต่อมาเช้าวันหนึ่ง ขณะที่นายสุมนมาลาการกำลังถือดอกไม้จะเข้าประตูเมือง ก็ได้พบพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งเสด็จออกบิณฑบาต นายสุมนมาลาการสังเกตเห็นพรรณรังษี ฉายประกาย รอบ ๆ พระวรกาย จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง พร้อมคิดหาสิ่งที่จะมาบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อไม่เห็นสิ่งใดจึงตัดสินใจจะถวายดอกไม้ที่จะนำไปถวายพระราชา พร้อมกันนั้นก็ตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าวของทุกสิ่งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น แต่การนำดอกไม้ถวายบูชาแก่พระพุทธองค์ สร้างอานิสงส์ได้ทั้งภพนี้และภพหน้า หากถูกประหารชีวิตเพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิก็ยินยอม
ดอกเข้าพรรษาสีขาว
ดังนั้นนายสุมนมาลาการจึงได้ถวายดอกไม้บูชาพระพุทธเจ้าไปทั้ง 8 ทะนาน ซึ่งดอกไม้เหล่านั้นได้เป็นซุ้มติดตามเสด็จพระพุทธองค์ไปทุกหนทุกแห่ง คุณความดีของนายสุมนมาลาการได้เป็นที่กล่าวขานจนทั่วเมือง สร้างความปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อภรรยาของเขาทราบข่าวกลับถูกดุด่าและนำความเข้ากราบทูลพระราชา แต่พระเจ้าพิมพิสารพระราชาทรงเป็นอริยบุคคลชั้นโสดาบัน จึงเรียกนายสุมนมาลาการมาเข้าเฝ้า แล้วตรัสยกย่องสรรเสริญนายสุมนมาลาการว่าเป็นมหาบุรุษ พร้อมทั้งพระราชทานสิ่งของต่างๆ ให้
นับแต่นั้นมานายมาลาการก็อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์ใดทั้งปวง ด้วยอานิสงส์ของการนำดอกมะลิบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากอานิสงส์ดังกล่าวแต่ครั้งพุทธกาลทำให้ชาวพุทธมีความเชื่อว่า การตักบาตรดอกไม้เป็นการสร้างอานิสงส์ผลบุญที่สูงส่งยิ่ง จึงได้มีการจัดประเพณีตักบาตรดอกไม้สืบทอดต่อกันมาจนถึงในปัจจุบัน
บรรยากาศการตักบาตรดอกไม้ที่วัดบวรนิเวศ
ในบ้านเรา ประเพณีตักบาตรดอกไม้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี โดยจะมีการจัดงานขึ้นทั้งหมด 3 วัน เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งเป็นวันทำพิธีเปิดงานประเพณีตักบาตรดอกไม้ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (วันอาสาฬหบูชา) และวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (วันเข้าพรรษา) ซึ่งจะแบ่งเป็นวันละ 2 รอบ คือ ช่วง 10.00 น. และ 15.00 น.
ดอกไม้ที่ใช้ในประเพณีตักบาตรดอกไม้ของที่นี่คือ ดอกเข้าพรรษา ที่ลักษณะของต้นเข้าพรรษาจะคล้ายกับต้นกระชายหรือขมิ้น สูงประมาณ 1 คืบเศษ ลำต้นขึ้นเป็นกอจากหัวหรือเหง้าใต้ดิน ขึ้นอยู่ตามไหล่เขาโพธิ์ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุ ใกล้ๆ กับรอยพระพุทธบาท ดอกของต้นเข้าพรรษาจะมีขนาดเล็กออกเป็นช่อส่วนยอดของลำต้น มีสีเหลือง สีขาว และสีม่วง และจะผลิดอกเฉพาะช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น จึงเป็นที่มาของชื่อต้นเข้าพรรษา โดยชาวบ้านมีความเชื่อว่าถ้าใครออกไปเก็บดอกเข้าพรรษาสีม่วงมาใส่บาตรได้ ก็จะได้รับบุญกุศลมากกว่าการนำดอกเข้าพรรษาสีอื่นมาใส่บาตร เนื่องจากดอกเข้าพรรษาสีม่วงนั้นหาได้ยากกว่าสีอื่นๆ โดยชาวพระพุทธบาทนิยมใช้ดอกเข้าพรรษาสีเหลือง เนื่องจากหาในท้องถิ่นได้ไม่ยาก
ชาวพุทธมาตักบาตรดอกไม้กันเป็นจำนวนมากที่วัดบวรนิเวศ
ซึ่งเมื่อเก็บดอกเข้าพรรษามาแล้วก็จะนำมามัดรวมกับธูป เทียน แล้วมาตั้งแถวรอพระสงฆ์อยู่ 2 ข้างถนน จนถึงเวลา พระสงฆ์ก็จะเริ่มออกบิณฑบาต จนเมื่อเดินบิณฑบาตมาถึงจุดใส่บาตรชาวบ้านที่ตั้งแถวรอก็จะอธิษฐานแล้วนำดอกเข้าพรรษา ธูป เทียน ดอกบัว ใส่ลงไปในบาตร โดยพระภิกษุสงฆ์ก็จะเดินไปเรื่อยๆ ตามถนนสายต่างๆ ก่อนจะเวียนกลับมายังบันไดนาค หลังจากนั้นก็จะนำดอกไม้เข้าไปในมณฑปพระพุทธบาท เพื่อให้เป็นเครื่องสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งในระหว่างพระสงฆ์เดินเข้ามณฑปชาวบ้านก็จะนำน้ำสะอาดมาล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ เพื่อเป็นการชำระจิตใจของตน และชำระล้างบาปไปในตัว
จากนั้นก็จะนำเอาดอกไม้มาสักการะพระเจดีย์จุฬามณี ซึ่งเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระเขี้ยวแก้วจำลองขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า และก็จะนำไปสักการะพระเจดีย์องค์ใหญ่ ที่ชาวพุทธถือกันว่าเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ แล้วพระภิกษุสงฆ์ก็จะเดินเข้าไปในอุโบสถเพื่อสวดอธิษฐานเข้าพรรษา และเปล่งวาจาว่าจะอยู่ในอาณาเขตที่จำกัดในระหว่างฤดูกาลเข้าพรรษาก็ถือว่าเสร็จสิ้นพิธี
ดอกบัว หนึ่งในดอกไม้ที่ชาวบ้านนิยมนำมาตักบาตรดอกไม้
เมื่อตักบาตรดอกไม้เสร็จแล้ว จากนั้นชาวบ้านก็จะพากันขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนพระมณฑปทรงปราสาท โดยรอยพระพุทธบาทแห่งนี้สันนิษฐานว่าเป็นรอยพระพุทธบาทเบื้องซ้าย ถูกค้นพบในสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีความเชื่อกันว่า หากใครได้มีโอกาสสักการะรอยพระพุทธบาทที่นี่ครบ 7 ครั้ง ผลบุญจะส่งให้ได้ขึ้นสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์
นอกจากที่วัดพระพุทธบาทแล้ว ในกรุงเทพฯก็มีประเพณีตักบาตรดอกไม้ในหลากหลายวัดด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น วัดบวรนิเวศ วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ วัดเทพศิรินทร์ และวัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก
โดยสำหรับที่ วัดบวรนิเวศ ดอกไม้ที่ใช้ในประเพณีตักบาตรดอกไม้จะมีความแตกต่างกับที่วัดพระพุทธบาท เพราะที่วัดบวรนิเวศนิยมใช้ ดอกบัว ใส่บาตร อันเนื่องมาจากในพุทธประวัติตอนต่างๆ มีการถวายดอกไม้เป็นประจำโดยเฉพาะดอกบัว และจากพุทธปาฏิหาริย์มักปรากฏดอกบัวผุดขึ้นมารองรับพระบาททุกย่างก้าวที่พระองค์เสด็จไป โดยเฉพาะตอนประสูติ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ดอกบัวมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนา จึงถือกันว่า ดอกบัวเป็นดอกไม้ประธานของดอกไม้ทั้งปวง
ดอกไม้หลากหลายสีสันที่นำมาใช้ในการตักบาตรดอกไม้ในเมืองกรุง
แต่นอกจากดอกบัวแล้วก็ยังมีดอกไม้อื่นๆ ที่พุทธศาสนิกชนนำมาใส่บาตรด้วยเช่นกัน อาทิ ดอกกุหลาบ พุทธรักษา มะลิ กล้วยไม้ เบญจมาศ เป็นต้น ซึ่งก็เป็นไปตามความสะดวกและศรัทธาของแต่ละคน และเมื่อถึงเวลาเริ่มการตักบาตรดอกไม้ พระภิกษุสงฆ์จะสะพายย่ามค่อยๆ เดินเรียงแถวมารับบิณฑบาตดอกไม้ เมื่อพุทธศาสนิกชนใส่บาตรดอกไม้จนเต็มย่ามแล้ว ก็จะมีผู้ช่วยช่วยเอาดอกไม้ออกมาใส่รถเข็นหรือภาชนะที่ใหญ่รวมกันไว้ก่อน เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์สามารถรับบิณฑบาตได้ครบทุกคน
พุทธศาสนิกชนมาตักบาตรดอกไม้ที่วัดราชประดิษฐ์
สำหรับประเพณีตักบาตรดอกไม้ที่จะมาถึงอีกไม่กี่วันในวันเข้าพรรษานี้ ถือเป็นอีกหนึ่งประเพณีอันดีงามของชาวพุทธที่เราควรสืบทอดกันต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน การที่ไปเข้าร่วมตักบาตรดอกไม้นอกจากจะเป็นการช่วยสืบสานประเพณีต่อไปแล้ว ก็ยังได้รับความเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น