++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แม้จริง แต่ไม่มีประโยชน์ : คำที่ไม่ควรพูด โดย สามารถ มังสัง

“ตถาคต ก็ฉันนั้น เหมือนกัน ทราบว่า

วาจาใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ก็ไม่กล่าววาจานั้น

คำใดจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าวคำนั้น

คำใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตก็ไม่กล่าวคำนั้น

คำใดจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น ตถาคตย่อมรู้กาลที่จะกล่าววาจานั้น ทั้งนี้เพราะตถาคตมีความอนุเคราะห์ในสัตว์ทั้งหลาย”

พุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น เป็นคำสอนในลักษณะอุปมาอุปไมยแก่อภัยราชกุมาร ซึ่งปรากฏในอภัยราชกุมารสูตรในพระไตรปิฎก เล่มที่ 13 มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ โดยมีเนื้อความโดยย่อดังนี้

สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ เวฬุวนารามใกล้กรุงราชคฤห์ อภัยราชกุมารได้ไปหานิครนถนาฏบุตร และได้รับการชักชวนเสี้ยมสอนให้ไปยกวาทะ (โต้คารม) กับพระพุทธเจ้าเกี่ยวกับการกล่าววาจา ด้วยการถามปัญหาสองเงื่อน ซึ่งนิครนถ์อ้างว่า ถ้าถามปัญหาเช่นนี้แล้ว จะทำให้สมณโคดมกลืนไม่เข้า คายไม่ออก เหมือนมีกระจับเหล็กติดอยู่ในลำคอ โดยให้ถามว่า พระตถาคตตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นหรือไม่ ถ้าตอบว่ากล่าวก็จะย้อนได้ว่า ท่านกับปุถุชนจะต่างอะไรกัน เพราะปุถุชนก็กล่าววาจาเช่นนั้น ถ้าตอบว่าไม่ ก็จะย้อนได้ว่า เหตุไฉนจึงกล่าวว่าพระเทวทัตอย่างรุนแรง จนพระเทวทัตโกรธไม่พอใจ

อภัยราชกุมารได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า มองดูดวงอาทิตย์ เห็นว่ายังไม่ใช่เวลาอันสมควรที่จะยกวาทะ จึงได้นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยภิกษุรูปอื่นอีก 3 รูปไปฉันในวันรุ่งขึ้น

ครั้นถึงวันรุ่งขึ้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จถึงสถานที่นิมนต์ และฉันเสร็จแล้ว อภัยราชกุมารได้ทูลถามว่า พระตถาคตตรัสพระวาจาอันไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่นหรือไม่ ตรัสว่า ข้อนี้มิใช่ปัญหาที่พึงตอบโดยแง่เดียว

พอตรัสตอบเท่านี้ อภัยราชกุมารกราบทูลว่า ข้อนี้นิครนถ์ฉิบหายแล้ว พร้อมทั้งได้เล่าความจริงทุกประการที่นิครนถนาฏบุตรให้มาไต่ถามทุกประการ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสถามว่า เด็กที่อมเอาไม้หรือกระเบื้องเข้าไปในปากเพราะความพลั้งเผลอของท่านหรือแม่นม ท่านจะทำอย่างไร กราบทูลว่า ถ้านำออกในเบื้องแรกไม่ได้ ก็ต้องประคองศีรษะด้วยมือซ้าย งอนิ้วเอาของออกด้วยมือขวา แม้พร้อมด้วยโลหิตด้วย (ก็ต้องทำ) เพราะมีความอนุเคราะห์ในเด็ก พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ตถาคตก็ฉันนั้นเหมือนกัน และตามด้วยข้อความที่กล่าวข้างต้น เป็นเชิงเปรียบเทียบ

จากพุทธพจน์ข้างต้น จะเห็นได้ว่าสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ข้อ และมี 2 ประเด็น โดยแบ่งเป็นข้อที่ตถาคตไม่ตรัส 2 และตรัสตามกาลอันควร 2 กล่าวคือ ข้อที่ว่า วาจาใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น และข้อที่ว่า คำใดไม่จริง ไม่แท้ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ หรือจริงแท้ แต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น

ทั้งสองประการนี้ ตถาคตไม่ตรัส

ส่วนประเด็นที่ตถาคตตรัส แต่ต้องประกอบด้วยกาลอันควรมีสองประเด็นเช่นกัน คือ ข้อที่ว่า คำใด จริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของคนอื่น และข้อที่ว่า คำใดจริงแท้ ประกอบด้วยประโยชน์ และเป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนอื่น

ทั้งสองประการนี้ ตถาคตย่อมตรัส แต่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา และความอนุเคราะห์ในหมู่สัตว์เป็นเงื่อนไขในการตรัส

โดยสรุป จะตรัสคำที่เป็นจริง มีประโยชน์ ถึงแม้จะไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจ ก็ตรัส เพียงแต่ต้องมีกาลอันเหมาะสม และความอนุเคราะห์เป็นหลักยึดเท่านั้น ส่วนความเป็นที่รัก เป็นที่พอใจ มิใช่สาระสำคัญแต่ประการใด

จากเงื่อนไขในการตรัส และไม่ตรัสคำใดดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่ายึดการมีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ของคนอื่นเป็นหลัก จึงเป็นคำสอนที่ทันสมัยตลอดกาล และก่อให้เกิดประโยชน์ในทุกวงการ และน่าจะมากที่สุดในวงการของบุคคลที่เป็นผู้นำทางสังคม และการปกครองที่ต้องใช้วาจาเป็นเครื่องโน้มน้าวผู้อื่นให้เดินตาม แม้กระทั่งนักการเมืองก็ไม่เว้นที่จะหลุดพ้น ไม่ต้องทำตามคำสอนข้อนี้

ทำไมการพูดความจริง และประกอบด้วยประโยชน์ จึงต้องรู้จักกาลเวลา และความมีเมตตาธรรม

เกี่ยวกับประเด็นนี้ ท่านผู้อ่านมองเห็นได้ไม่ยาก เพียงแต่ท่านถามตัวท่านเองว่า อยากฟังเรื่องที่ไม่จริงไหม คำตอบที่ได้รับจะออกมาทำนองเดียวกันว่าไม่ และลองถามต่อว่า แม้จะเป็นเรื่องจริง แต่ไม่มีประโยชน์ อยากฟังไหมคำตอบจะออกมาตรงกันว่าไม่ และลองถามคำถามสุดท้ายว่า ถึงแม้จะเป็นความจริง มีประโยชน์ ถ้าผู้พูดนำมาพูดในเวลาที่ท่านไม่อยากฟัง และพูดด้วยลักษณะทำนองเหยียดหยาม ท่านจะฟังไหม คำตอบก็ออกมาในทำนองเดียวกันว่าไม่

เมื่อท่านไม่อยากฟัง และคนพูดยังอยากพูดให้ท่านฟัง ท่านจะรู้สึกอย่างไร คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้นว่า เบื่อหน่าย และรำคาญ หงุดหงิด อันเป็นลักษณะของการมีโทสะนั่นเอง

เมื่อเป็นลักษณะนี้ก็พออนุมานได้ว่า คำพูดที่ไม่จริง หรือจริงแต่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ประกอบกับผู้พูดไม่มีจิตเมตตาในการพูด คงจะได้รับการตอบโต้ในทางลบจากผู้ฟัง และในบางรายถ้ายังพูดในสิ่งที่คนฟังเบื่อหน่ายรำคาญบ่อยๆ อาจได้รับคำด่าทอหรือประชดประชันจากผู้ฟังเป็นการตอบโต้ได้ และที่ยิ่งไปกว่านี้ ถ้าคำพูดที่ไม่จริง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ใครคนใดคนหนึ่ง บ่อยเข้าและรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขั้นเลยขีดความอดทน ผู้พูดอาจได้รับอันตรายจากการพูดในทำนองนี้ได้ หรือที่เรียกว่า โอษฐภัย หรือภัยอันเกิดจากการพูดนั่นเอง

และวันนี้ เวลานี้ คนที่ควรระวังเกี่ยวกับการพูดมากที่สุดในสังคมไทยก็คือ นักการเมือง และคนฟังที่เลือกข้างทางการเมืองข้างใดข้างหนึ่ง ควรอย่างยิ่งจะได้ยึดแนวทางการพูด และไม่พูดดังกล่าวแล้วข้างต้นเพื่อประโยชน์อันเป็นปัจเจกของตัวเอง และของพรรคที่ตนสังกัด เพราะถ้าขืนพูดแบบกลอนพาไปในทุกเรื่อง หรือแม้กระทั่งในบางเรื่อง แต่เป็นบางเรื่องที่สำคัญและทำให้คนอื่นไม่พอใจ ก็เกิดอันตรายทั้งแก่ตนเอง และพรรคที่สังกัดได้เช่นกัน

จริงอยู่ ในการปราศรัยทางการเมืองในบางครั้งยากที่จะแยกออกได้ว่าเรื่องมีประโยชน์ และไม่มีประโยชน์ ไม่ต้องพูดถึงว่าจริงหรือไม่จริง ซึ่งยากกว่าที่จะบอกว่ามีประโยชน์ จากคำพูดในการปราศรัยหาเสียงทางการเมืองที่มุ่งตอบโต้คู่แข่ง และมุ่งโน้มน้าวให้ประชาชนเชื่อและเลือกตัวเอง เป็นการยากที่นักการเมืองจะมีเวลาคิด และไตร่ตรองหาเหตุผลว่าสิ่งใดควรพูด และไม่ควรพูด จึงทำให้นักการเมืองหรือแม้กระทั่งกองเชียร์นักการเมืองที่ยืนคนละข้าง จะละเว้นไม่พูดในทำนองกระทบกระเทียบผู้อื่น และเมื่อมีการกระทบกระเทียบก็หนีไม่พ้นการปะทะคารม และเอาชนะกันด้วยวาจา อันเป็นบ่อเกิดแห่งความแตกแยกเพิ่มขึ้น และเมื่อเป็นเช่นนี้นโยบายปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น