วันนี้"ยอม" พรุ่งนี้จะอยู่อย่างสงบ วันนี้"ถอย"พรุ่งนี้จะได้เดินหน้า วันนี้"เย็น"พรุ่งนี้จะนอนสบาย "ยอม ถอย เย็น" ใครทำเป็นคนนั้นมีโชค
ว.วชิรเมธี ทวิตเตอร์เช้านี้
ความรัก
หากจะเปิดหานิยามในแหล่งไหนก็ๆตามเกี่ยวกับคำว่าความรัก มีคำตอบมากมายจนล้นคำถาม ว่างๆเปิดหาอ่านดูสิครับ แล้วจะรู้ว่าไอ้ที่เราคิดมันอาจจะไม่ใช่ ไอ้เราว่าที่ใช่แต่เราอาจจะไม่ได้คิดเลยก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะถูกชักจูงไปตามแนวคิดแบบไหน หลายๆความเห็นก็ดูดี แต่หลายๆความเห็นมันออกจะสุดโต่งที่เด็กๆสมัยนี้เรียกว่าสุดโค่ยก็มี
คู่รักบางคู่อยู่ด้วยกันมานาน ภาษาที่ใช้เรียกกันก็มี"ไอ้แก่-อีแก่"ที่ไม่ใช่สรรพนามที่เรียกกันอย่างประชดประชันอะไร เพียงแต่เขาและเธออยู่ด้วยกันมานาน ตั้งแต่หนุ่มสาวจนแก่เฒ่ามาด้วยกัน เห็นใจกัน รักกัน ดูแลกัน เป็นห่วงเป็นใยซึ่งกันและกัน ยากที่จะบอกออกมาเป็นคำพูด แม้ไม่ต้องถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรอะไรก็ตาม แต่รู้ว่าเขาทั้งสองตายแทนกันได้ ไม่ต้องมาพรีเซ้นต์ให้สื่อฟังว่า"คนนี้ใช่เลย...รู้ใจไปเสียทุกอย่าง"สุดท้ายมันก็แค่ราคะที่แปลว่าความกำหนัดยินดีในกามของกันและกันเท่านั้นเอง
ยิ่งคู่รักไหนแจกข่าวประชาสัมพันธ์ในรักแห่งตนมากเท่าไร งานแต่งงานใหญ่โตเพียงไหน ภาวะเตียงหักหรือการเลิกร้างต่อกันมักจะเร็วเท่านั้น เพราะความรักของทั้งสองอาศัยการตลาดและการโฆษณาประชาสัมพันธกันมากเกินไป หากของมันไม่ดีจริง สุดท้ายมันก็พัง เหมือนคำที่ว่าของดีไม่ต้องโฆษณา
แต่ในบางครั้งคนดีก็อยู่ด้วยกันไม่ได้ เพราะมันดีกันยังไม่พอ ยังติดอยู่ในราคะสูง ก็ต้องเลิกร้างกันไปตามกฎของคุณนายระเบียบ
ยิ่งคนหนึ่งคนใดไปฟังเสียงนกเสียงกา เสียงชาวบ้าน เสียงหมากัดกันมากเท่าไร ยิ่งทำให้เลิกร้างกันเร็วขึ้นไปอีก บางทีก็ไปโทษกรรมเข้านั่น ทั้งๆที่ไม่รู้ว่ากรรมนั้นคืออะไร เพราะกรรมมันคือการกระทำ หากทั้งสองคนกระทำดีต่อกัน ใครที่ไหนจะมาจับแยกออกจากกันนั้นยาก เว้นเสียแต่ว่าจะแยกจากกันเองเพราะราคะนั่นแหละ
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุต.โต)ท่านเขียนเกี่ยวกับความรักไว้อย่างน่ารับฟังหรือน่าอ่านมาก ดังนี้
พระพุทธศาสนายอมรับธรรมชาติของมนุษย์ปุถุชนเป็นอันดับที่หนึ่งก่อน แต่ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น คือ มีการพิจารณาต่อไปว่าในกรณีที่ธรรมชาติของปุถุชนนั้นมีข้อบกพร่องหรือมีโทษ ก็จะสอนถึงการปรับปรุงแก้ไข หรือทำให้ดียิ่งขึ้น เรียกว่า การศึกษา หรือ การพัฒนาชีวิต อันนี้ก็ไปสอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์อีกประการหนึ่งที่ว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ หรือพัฒนาได้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าต้องพัฒนา และศักยภาพสูงสุดที่จะพัฒนาได้จนเป็นผู้ที่ประเสริฐอย่างยิ่ง
ทีนี้ เราก็เอาหลักการสองอย่างนี้มาใช้ โดยวางวิธีการว่าทำอย่างไรจะให้เกิดผลดี ในกรณีที่มีความรักแบบที่ว่าตามธรรมชาติของปุถุชนที่จะมีครอบครัวอะไรนี่ก็กำหนดว่าทำอย่างไรจะให้เป็นไปในลักษณะที่ไม่เกิดโทษแก่ผู้อื่น แก่สังคม แต่ให้ดำเนินไปในทางที่ดีงาม ที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชีวิตและแก่สังคมนั้น อย่างน้อยก็แก่ทั้งสองคนนั้นแหละให้เขาอยู่กันด้วยดีมีสุข อันนี้เป็นขั้นที่หนึ่ง
สำหรับขั้นนี้เราก็มีคำแนะนำให้ว่าเขาควรจะพัฒนาจิตใจของเขาอย่างไร พร้อมทั้งหลักการในการดำเนินชีวิตและในการปฏิบัติต่อกันเพื่อให้มีผลดีทั้งต่อระหว่างสองคน และในแง่ของแต่ละคน โดยคำนึงถึงจิตใจของแต่ละคน โดยเฉพาะความสุขของแต่ละฝ่าย ตลอดจนประโยชน์ที่จะขยายออกไปสู่สังคมวงกว้างด้วย รวมทั้งถ้าเขามีบุตรก็ให้เป็นประโยชน์แต่บุตรหลานของเขาต่อไปด้วย
ทีนี้ต่อไปก็คือ เหนือกว่านั้น ทำอย่างไรจะพัฒนาเขาขึ้นไปให้เขาสามารถมีความสุขที่สูงขึ้นไปอีก ให้มีความรู้สึกที่ประณีตดีงามชนิดที่เป็นคุณธรรมซื่งคล้ายๆ ว่าเข้ามาเสริมคุณค่าของความรักแบบแรกนี้ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็น ความรักแบบที่สอง และเมื่อความรักแบบที่สองนี้เจริญงอกงามมากขึ้น ก็จะช่วยให้ความรักประเภทที่หนึ่งประณีตงดงาม จนกระทั่งแม้เมื่อเขาไม่สามารถอาศัยความรักประเภทที่หนึ่งต่อไปได้เขาก็ยังมีความรักประเภทที่สองหล่อเลี้ยงชีวิตร่วมกันอยู่ตลอดไป
เป็นอันว่า สำหรับความรักประเภทที่หนึ่งนี้ ท่านก็ยอมรับแต่จะต้องให้อยู่ในกรอบ หรือในขอบเขตที่ดีงาม แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ แต่ก็ว่ายังมีส่วนที่เป็นโทษ จึงต้องปรับปรุงพัฒนาต่อไป
ในทางพุทธศาสนา ท่านพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างทั้งในแง่ข้อดีหรือคุณ และข้อเสียหรือโทษ คือข้อบกพร่อง แล้วก็บอกทางออก หรือทางแก้ไขให้ด้วย อันนี้เป็นหลักในการพิจารณาทุกอย่าง เพื่อให้เราปฎิบัติต่อทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องด้วยสติและปัญญาอย่างรอบคอบ ที่จะแก้ปัญหาได้และเข้าถึงประโยชน์สุขที่แท้จริง
มาดูเรื่องของความรักประเภทที่หนึ่งก่อน ความรักประเภทที่หนึ่งที่คนทั่วไปรู้เข้าใจกันว่าเป็น ความรักระหว่างเพศ หรือ ความรักทางเพศ มีจุดเด่นอยู่ที่ความชื่นชมติดใจ หรือความปรารถนาในรูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสกายของผู้ที่ตนรัก อันนี้เป็นความรักสามัญของปุถุชนซึ่งมีลักษณะสำคัญคือความต้องการหาความสุขให้แก่ตนเอง หมายความว่า ที่รักเขานั้นก็เพื่อเอาเขามาเป็นเครื่องบำเรอความสุขแก่ตน ต้องการเอาความสุขเพื่อตนเอง
ความรักแบบที่หนึ่งนี้ ที่แท้แล้วก็คือการคิดจะเอาจากผู้อื่น
ในเมื่อมันมีลักษณะอย่างนี้ มันจึงมีข้อเสียที่สำคัญติดมาด้วย คือถ้าหากว่าเขาผู้นั้นไม่อยู่ในภาวะที่จะสนองความปรารถนาให้เรามีความสุขได้ เราก็จะเบื่อหน่าย แล้วก็อาจจะรังเกียจ จึงเห็นได้ว่าไม่ยั่งยืน อันนี้เป็นข้อบกพร่องที่สำคัญประการแรก
นอกจากนั้นเนื่องจากความรักแบบที่หนึ่งนี้มุ่งจะเอาความสุขให้แก่ตัว หรือจะเอาผู้อื่นมาบำเรอความสุขหรือให้ความสุขแก่ตัว ความรักแบบนี้จึงมีลักษณะจำเพาะเจาะจง โดยมีบุคคลที่ชอบใจถูกใจเป็นเป้าเป็นความยึดติดผูกพันเฉพาะตัว
เมื่อลักษณะสองอย่างนี้มาผนวกกันเข้า ก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือความหึงหวง ความรักแบบนี้จึงมาคู่กับความหึง มีการยึดถือเป็นของตัว ต้องการครอบครองเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ไม่ต้องการให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยวหรือแม้แต่ได้รับความเอาใจใส่ ความหวงแหนผูกพันเฉพาะตัว และต้องการให้เขาหรือเธอให้ความสุขแก่ตัวผู้เดียวนี้ แสดงออกได้ทั้งทางกายและทางใจ
ทางกายก็ต้องการให้เป็นของตนผู้เดียว ไม่ให้ใครอื่นมายุ่งเกี่ยวอย่างที่เรียกว่า หวงผัสสะ ส่วนทางด้านจิตใจ ก็ต้องการความเอาใจใส่ความมีใจภักดีให้ฉันคนเดียวเป็นผู้ครองหัวใจเธอ หรือให้ใจเธออยู่กับฉัน อย่าปันใจให้คนอี่น
เนื่องจากความรักแบบที่หนึ่งนี้ มักจะมาด้วยกันกับความหวงแหนเห็นแก่ตัว หรือความหึงหวง จึงอาจจะทำให้เกิดการแย่งชิง ทะเลาะเบาะแว้ง แม้จะไม่ได้แย่งชิงทะเลาะเบาะแว้งกับใครก็มักจะเกิดความมัวเมาหมกมุ่น จนกระทั่งบางทีก็ถึงกับละทิ้งกิจหน้าที่หรือความดีงามที่ควรจะทำ หรือไม่เช่นนั้นก็จะเป็นไปในอีกลักษณะหนึ่ง คือ ทำให้ยิ่งโลภแล้วพยายามแสวงหาอะไรต่าง ๆ มุ่งแต่จะกอบโกยเอามาเพื่อตัวเองและเพื่อคนที่ตนรักเท่านั้น โดยไม่เห็นแก่ผู้อื่นเลย
จึงอาจทำให้เกิดการเบียดเบียนกันได้มาก
ที่ว่ามานี้คือโทษประการต่างๆ ของความรักแบบที่หนึ่ง ซึ่งในที่สุดแล้วจุดจบของมันก็คือความไม่ยั่งยืน เพราะว่าแท้จริงแล้วมันเป็นเรื่องของการหาความสุขให้แก่ตัวเอง แม้จะเป็นคู่ครองอยู่ร่วมกันก็เห็นเขาเป็นสิ่งสนองความสุข เป็นที่สนองความต้องการของตนเองเท่านั้น
ถ้าหากว่าเขาหรือเธอไม่สามารถสนองความต้องการของเรา ลองถามตัวเองซิว่าเราจะยังรักเขาไหม ต้องถามตรงๆ อย่างนี้ ถ้าเขาไม่สามารถสนองความต้องการของเรา ไม่สามารถให้ความสุขแก่เรา ถ้าเรามีความซื่อสัตย์ต่อตนเองลองตอบดู เราจะรักเขาไหม หรือว่าเราจะกลายเป็นเบื่อหน่ายรังเกียจ นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นโทษหรือข้อเสียของความรัก แบบที่หนึ่ง
ความรักแบบที่สอง คือ ความรักที่อยากให้เรามีความสุขหรืออยากเห็นเขามีความสุข อย่างที่เรียกว่าเป็นความปรารถนาดี เรารักใคร เราก็อยากให้คนนั้นมีความสุข อยากทำให้เขามีความสุข และอยากทำอะไรๆ เพื่อให้เขามีความสุข
ลองถามตัวเองก่อน เวลารักใครลองถามตัวเองว่า เราต้องการความสุขเพื่อตัวเรา หรือเราอยากให้เขามีความสุข ถ้าเป็นความรักที่แท้ก็ต้องอยากให้เขามีความสุข เมื่ออยากให้เขามีความสุข ก็ต้องการทำให้เขามีความสุข หรือทำอะไรๆ เพื่อให้เขามีความสุข การที่จะทำให้คนอื่นมีความสุขนั้น การกระทำที่สำคัญก็คือการให้
การให้เป็นปฎิบัติการที่ชัดเจนและต้องใช้มากที่สุดในการทำให้ผู้อื่นมีความสุข ดังนั้น ผู้ที่มีความรักแบบที่สองจึงมีความสุขในการให้และให้ด้วยความสุข ความรักแบบที่สองจึงทำให้การให้กลายเป็นความสุขแต่ต้องพูดกันไว้ก่อนด้วยว่า การให้ที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นการให้แบบล่อเหยื่อหรือเอาอกเอาใจ ถ้าให้แบบนั้น พอไม่ได้เขามาก็จะเสียใจ เสียดายและแค้นใจ เพราะเป็นการให้เพื่อจะเอา ไม่ใช่ปรารถนาดีแก่เราจริง
ในขณะที่ความรักแบบที่หนึ่ง เป็นความต้องการที่จะเอาความสุขจากผู้อี่น หรือต้องการความสุขจากการเอา ความรักแบบที่สอง เป็นความต้องการที่จะให้ความสุขแก่ผู้อื่น และเป็นการทำให้เกิดความสุขจากการให้
ในแบบที่หนึ่ง การได้จึงจะเป็นความสุข แต่ในแบบหลัง การให้ก็เป็นความสุข พูดสั้นๆ ว่า ความรักที่เป็นการเอา กับความรักที่เป็นการให้
ถ้าเรารักเขาโดยอยากให้เขามีความสุขแล้วมันก็มีความยั่งยืนมั่นคงเมื่อเขามีความทุกข์ความเดือดร้อน แม้ว่าเขาจะไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้ เราก็ยังรักเขา และเราจะเกิดความสงสาร ตอนแรกเรามีความรักความปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข พอเขาเกิดความทุกข์ มีความเดือดร้อนขึ้นมาความรักของเราก็จะกลายเป็นความสงสาร อยากจะช่วยเหลือเขาให้พ้นจากความทุกข์ เราจะไม่เบื่อหน่ายรังเกียจ ซึ่งต่างกันชัดเจนกับความรักแบบที่หนึ่ง
ความรักแบบที่หนึ่งเป็นความต้องการที่จะหาความสุขให้แก่ตนเอง ชึ่งก็คือความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่งนั่นเอง พอเขามีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน หรืออยู่ในภาวะที่ไม่สามารถสนองความต้องการของเราได้เราก็เบื่อหน่ายรังเกียจ แต่ความรักแบบที่สองนี่ต้องการให้เขามีความสุขพอเขามีความทุกข์เดือดร้อน เราก็สงสารอยากจะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ให้เขาพ้นจากความลำบากเดือดร้อน
ความรักแบบที่หนึ่งนั้นทางพระท่านเรียกว่า “ราคะ” หรือ “เสน่หา” ส่วนความรักแบบที่สองทางพระท่านเรียกว่า “เมตตา” รวมทั้ง “ไมตรี”
ทีนี้ ถ้าหากว่าคนที่เรารักนั้น เขาเกิดเปลี่ยนเป็นมีความทุกข์ลำบากเดือดร้อน เมตตานั้นก็เปลี่ยนไปเป็น “กรุณา” คือ ความสงสาร คิดหาทางช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ จึงมี เมตตา - กรุณา เป็นคู่กัน นี่คือ ลักษณะของความรักสองแบบ รักแบบอยากให้เขามีความสุขกับรักแบบจะหาความสุขจากเขาหรือเอาเขามาทำให้เรามีความสุขเรียกเป็นคำศัพท์ว่า รักแบบเมตตา กับ รักแบบราคะ - เสน่หา
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้แจ้งโลก รู้ทั้งหมดจึงทรงได้สอนไว้ในทุกเรื่อง ครูบาอาจารย์ผู้เป็นปราชญ์จึงตอบได้ทุกเรื่องเพราะท่านเป็นเนื้อนาบุญของพระศาสนา ที่คอยชี้ทางให้คนหลุดจากความทุกข์ แม้กระทั่งความรักท่านก็ตอบได้ชัดเจน เพราะท่านตะหนักรู้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกหรือสอนได้ และตระหนักรู้ว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะฝึกฝนตนเองจนไปสู่สภาวะพุทธะ แม้ตอนนี้เรายังพูดถึงแต่เปลือกธรรม แต่ถ้าเรายังหมั่นตามหาแก่นธรรม สักวันก็คงจะพบแก่นของมันตามศักยภาพที่ได้พัฒนาแล้ว.... ถ้าคุณยังเป็นมนุษย์อยู่ เอวัง
ธรรมะสวัสดี
สะมะชัยโย
หมายเหตุแก่นธรรมวันนี้
๑. คัดลอกบางตอนมาจาก..หนังสือ ::
ความจริงเกี่ยวกับความรัก ความโกรธ และความเมตตา เล่ม 2
(ธรรมกถาในวันมาฆบูชา พ.ศ.2544 เรื่องความรักจากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย)
๒.ขอขอบคุณ เว็บ dhammajak.net ที่มาของบทความข้างต้น
๓. ผู้เขียนและคณะเป็นผู้เขลาทางปัญญา หากมีข้อผิดพลาดบกพร่อง ขอน้อมรับทุกประการ บุญกุศลที่เกิดจากบทความนี้ขอน้อมถวายแด่หลวงปู่ หลวงตา หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ และอุทิศให้แก่บรรพบุรุษ อันมีพ่อแม่ปู่ย่าตายายเป็นปฐม เจ้ากรรมนายเวร สรรพสัตว์ทั้งหลายในสากลโลกนี้ รวมทั้งท่านผู้อ่านทุกท่าน ขอให้เจริญในธรรมยิ่งๆขึ้นไป
๔. เพื่อนๆครับ ไม่รู้เพื่อนๆจะเบื่อผ้าป่าสามัคคีฯในช่วงนี้กันหรือเปล่า เพราะที่โรงพยาบาลรามาฯมีคุณหมอเก่งและอุดมการณ์สูงท่านหนึ่ง ท่านพยายามจะช่วยคนไข้ที่ยากจน แต่ขาดแคลนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
อีกทั้งของที่ต้องใช้กับผู้ป่วยอาการหนัก เช่นมะเร็งฯ ทำให้ขาดแคลนทุนทรัพย์อยู่มาก โครงการนี้ไม่เกี่ยวกับโรงพยาบาลรามาพรีเมี่ยม ที่กำลังแปลงร่างเป็นโรงพยาบาลเอกชนเลย
คุณหมอท่านนั้นคือ คุณหมอจักรพันธ์ เอื้อนรเศรษฐ์ ที่เก่งและกล้าหาญกับคนไข้มาก ( แม้จะมีความสามารถในการผ่าตัดเป็นแถวแรกของเมืองไทย แต่เท่าที่รู้ท่านไม่คิดจะอยู่ที่โรงพยาบาลเอกชนไหนเลย ) หากเพื่อนๆตอบรับกลับมามากกว่าสิบคน ตามหาแก่นธรรมก็จะจัดตั้งผ้่าป่าสามัคคีแก่นธรรม-คุณหมอจักรพันธ์ เอื้อนรเศรษฐ์ เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น