++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การสอบอารมณ์

เมื่อผู้ปฏิบัติทดลองปฏิบัติกรรมฐานด้วยตนเองไปได้ระยะหนึ่งแล้ว ครูผู้สอนกรรมฐานจะเรียกผู้ปฏิบัติใหม่ทุกคนมาประชุมและซักถามถึงวิธีกำหนดอารมณ์ และวิธีพิจารณากรรมฐานของผู้ปฏิบัติแต่ละคน ผู้ปฏิบัติต้องเล่าประสบการณ์ความรู้สึกในการสังเกตพฤติกรรมของตน และการใช้เหตุผลของตนเองขณะแสดงพฤติกรรมหรืออิริยาบถต่าง ๆ ตามที่สังเกตได้จริง เป็นการสอบถามและแก้ไขความเข้าใจในขณะนั้น ระหว่างครูผู้สอนและผู้ปฏิบัติ เรียกว่า การสอบอารมณ์



ความมุ่งหมายของการสอบอารมณ์ เพื่อครูผู้สอนใช้ตรวจสอบว่าผู้ปฏิบัติมีความเข้าใจในการเจริญวิปัสสนาได้ถูกต้องตามที่สอนหรือไม่ ถ้าผู้ปฏิบัติยังไม่เข้าใจหรือปฏิบัติยังไม่ถูกต้อง จะได้แนะนำวิธีการที่ถูกต้อง พร้อมทั้งย้ำถึงสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ ดังนั้น ความสำคัญขั้นต้นของการสอบอารมณ์ คือ การตรวจสอบผู้ปฏิบัติใหม่หรือผู้ที่เริ่มปฏิบัติว่ามีความเข้าใจถึงความแตกต่างของรูปกับนาม ซึ่งเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาถูกต้องแล้วหรือยัง



5.3.3.1 การสอบถามความเข้าใจ และแนะนำการกำหนดอิริยาบถ



อ. การกำหนดอิริยาบถ เพื่อประโยชน์อะไร

ศ. เพื่อจะได้เห็นทุกข์

อ. ท่านกำหนดอย่างไร ที่จะให้เห็นว่าอิริยาบถเป็นทุกข์

ศ. ขณะที่กำลังกำหนดรูปนั่งยู่ พอปวดเมื่อยเกิดขึ้น ก็ทำความรู้สึกตัวว่ารูปนั่งเป็นทุกข์ เมื่อจะเปลี่ยนอิริยาบถก็ทำความรู้สึกตัวว่าเปลี่ยนไปเพื่อแก้ทุกข์

อ. ถูกแล้ว ต้องมนสิการ คือ ทำความเข้าใจให้ถูกว่า เปลี่ยนไปเพื่อแก้ทุกข์ และความจริงนั้นมันต้องเปลี่ยน ไม่ใช่เปลี่ยนไปเพราะอยากเปลี่ยน ถ้ามนสิการไม่ถูกปัญญาก็ไม่เกิดไม่เห็นความจริง คือ ทุกข์

ในการปฏิบัตินั้น เวลาเดินหรือเวลานั่งก็ดี ท่านต้องวางท่าทางอย่างไรหรือไม่

ศ. เวลานั่งก็เป็นไปตามธรรมดาอย่างที่เคยนั่ง หรือเดินก็เดินอย่างปกติธรรมดาอย่างที่เคยเดิน คือ แต่ก่อนที่ยังไม่มาเข้ากรรมฐาน เคยนั่ง เคยเดินอย่างไร ก็เดินก็นั่งอย่างนั้น แต่ก็ไม่เดินเร็วหรือช้านัก

อ. ถ้า นั่งก็ต้องนั่งในท่าสมาธิ หรือเดินก็ต้องแบบนั้นแบบนี้ เพราะเป็นการมาทำกรรมฐาน จึงต้องมีท่าทางพิเศษเช่นนี้ จะเป็นการถูกต้องหรือไม่

ศ. ไม่ถูกต้อง

อ. เพราะอะไร จึงไม่ถูกต้อง

ศ. เพราะจะกลายเป็นนั่งกรรมฐาน หรือเดินกรรมฐานไป

อ. เพราะเรามาเจริญกรรมฐาน เวลานั่งก็ควรจะมีท่าทางให้เป็นนั่งกรรมฐาน เดินก็ต้องมีท่าทางให้เป็นเดินกรรมฐาน แล้วจะเป็นการเสียหายแก่วิปัสสนา หรือไม่เป็นการถูกต้อง ในการปฏิบัติวิปัสสนา กรรมฐานอย่างไร

ศ. ถ้าเข้าใจว่านั่งก็เป็นกรรมฐาน เดินก็เป็นกรรมฐานนั้น ก็เป็นการทำความเข้าใจไว้ไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้เห็นหรือเข้าใจไปว่า การนั่งอย่างนั้นๆ หรือการเดินอย่างนั้น ๆ เป็นของดี มีสาระแก่นสาร ความยินดีพอใจก็เข้าอาศัยในการเดินการนั่งอย่างนั้น ตัณหา คือ ความยินดีพอใจก็ไม่คลายออกจากความเข้าใจในเวลากำหนดอิริยาบถนั้น ๆ เรื่อยไป จึงไม่เชื่อว่าเป็นการทำความแยบคายไว้ในใจโดยถูกต้อง

อ. ท่านก็พอมีความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนาพอสมควรแล้ว แต่ท่านเชื่อหรือว่าการกำหนดอิริยาบถจะทำให้เห็นความจริง คือ ทุกข์

ศ. เชื่อแน่แล้ว เพราะเห็นแล้วว่า ทุกขเวทนามีในทุก ๆ อิริยาบถ แล้วก็ต้องแก้ต้องเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอไม่มีหยุดหย่อนเลย เช่น พอปวดเมื่อยขึ้นมาที่รูปนั่งก็ต้องเปลี่ยนไปต้องแก้ไป

อ. ถ้าไม่เปลี่ยนอิริยาบถแล้วจะเป็นอย่างไร

ศ. ทุกข์ก็บีบคั้นรูปนั่งมากขึ้น ทนไม่ไหว

อ. แล้วท่านกำหนดในเวลานั้น อย่างไร

ศ. กำหนดว่ารูปนั่งเป็นทุกข์ แล้วก็ทำความรู้สึกตัวว่า เพราะทุกข์บีบคั้น จำเป็นต้องเปลี่ยนไปเพื่อแก้ทุกข์

อ. ขอให้ท่านทำความรู้สึกตัวที่ถูกอย่างนี้ และให้ได้ปัจจุบันเสมอ ๆ



5.3.3.2 สอบถามและแนะนำแก้ไขผู้ปฏิบัติที่เห็นนิมิต



อ. การปฏิบัติของท่านเป็นอย่างไรบ้าง

ศ. เวลากำหนดรูปนั่ง กำหนดไป ๆ ก็เห็นพระพุทธรูปสุกปลั่งทีเดียว เห็นติดตาจนกระทั่งมาเดี๋ยวนี้

อ. ท่านมาเจริญวิปัสสนา ท่านทราบหรือไม่ว่าการรู้อะไรหรือเห็นอะไร จึงจะเรียกว่าวิปัสสนา

ศ. วิปัสสนาต้องเห็นรูปเห็นนามไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน

อ. เมื่อท่านเห็นพระพุทธรูปสุกปลั่งเช่นนี้ เป็นวิปัสสนาไหม

ศ. ไม่เป็น

อ. ท่านพอใจที่จะเห็นพระพุทธรูปเช่นนี้หรือไม่

ศ. ก็ปิติเหมือนกัน เพราะไม่เคยเห็นขึ้นมาในใจอย่างนี้ แต่เพราะอะไรจึงเห็นเช่นนี้

อ. ที่เห็นเช่นนั้นเป็นนิมิตที่เกิดจากสมาธิ คือ เมื่อจิตตกไปจากอารมณ์ รูป-นาม เพราะขาดความรู้สึกตัวที่เป็นปัจจุ บันแล้ว ก็ทำให้เกิดสมาธิเห็นนั่น เห็นนี่ เห็นนรก เห็นสวรรค์ เห็นพระพุทธรูป เห็นอะไรต่ออะไรไปต่าง ๆ ขอให้ท่านจำไว้ว่าขณะใดที่มีนิมิต แสดงว่าขณะนั้นความรู้สึกตัวไม่ได้อยู่ที่อารมณ์ปัจจุบัน วิปัสสนาก็เสียไป ท่านก็กลับมากำหนดรูปนั่ง ในขณะที่กำลังนั่งอยู่นั่นเสียใหม่ หรือถ้าสมาธิยังจับในอารมณ์รูปนั่งอีก ท่านก็ต้องเปลี่ยนหรือย้ายไปในอารมณ์อื่น แล้วสมาธิก็จะคลายออก ท่านพอจะเข้าใจที่ว่าเปลี่ยนอารมณ์หรือย้ายอารมณ์หรือไม่

ศ. พอจะเข้าใจแล้ว

อ. เข้าใจว่าอย่างไร

ศ. คือ เมื่อเกิดนิมิตก็ดี หรือสมาธิก็ดี เข้าจับอารมณ์อะไร เช่น จับในขณะกำหนดดูรูปนั่งอยู่ ก็ย้ายไปกำหนดรูปเดิน หรือย้ายไปกำหนดการเห็นการได้ยินเสีย

อ. ท่านต้องสังเกตว่า รูป-นามที่กำหนดอยู่นั้นตกไปเพราะเหตุใด ถ้าท่านมีความสังเกตดีแล้ว รู้เหตุแล้ว ก็จะรู้จักแก้ไขทำให้กลับมาตั้งอยู่ที่อารมณ์ปัจจุบันได้สะดวก....

* ตัวอย่างบันทึกการแนะนำและสอบถามอารมณ์ ซึ่งอาจารย์ แนบ มหานีรานนท์ สอบถามผู้ปฏิบัติ

อ. - อาจารย์ แนบ มหานีรานนท์

ศ. - ผู้ปฏิบัติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น