++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มีปัญหาสุขภาพ ปรึกษาชาวโพนงาม กรณีศึกษา องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม อ.กุดชุม จ.ยโสธร

เรียบเรียงโดย นพรัตน์ จิตรครบุรี

            "องค์การบริหารส่วนตำบลโพนงาม สมัครใจเข้าร่วมโครงการในช่วงปลายปีงบประมาณ 2549 การเข้าร่วมโครงการของ สปสช. เพราะเป็นเรื่องที่ อบต.ทำอยู่แล้ว ต้องดูแลเรื่อง นอนหลับ กินอิ่ม ทุกข์สุขของชาวบ้าน ซึ่งมันก็ต้องเกี่ยวกับสุขภาพ เป็นกรอบที่เราทำได้ เพราะยังไง เราก็ได้เงินสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพจากท สปสช." นายทวีวัฒน์ สายรัตน์ นายก อบต.โพนงาม
            นายก อบต.โพนงาม มีมุมมองเกี่ยวกับกองทุนฯ ว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ และได้ทำอยู่แล้ว งานด้านสาธารณสุขเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับทุกข์ สุขของชาวบ้าน ซึ่งถือว่าเป็นงานในหน้าที่ของ อบต. และมองเห็นว่า กองทุนฯ มีประโยชน์ หากดำเนินการได้ผล จะทำให้ชาวบ้านมีสุขภาพดี
            และคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ มีความเห็นว่า การบริหารกองทุนฯ จะประสบความสำเร็จได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ต้องมีส่วนเป็นเจ้าของกองทุนฯ เพราะประชาชนเป้นหัวใจของโครงการ การที่จะทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมได้นั้น ต้องทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของกองทุนฯ ทีมงานจึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธฺ์ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจและเข้ามาร่วมรับผิดชอบ ซึ่งคณะกรรมการได้มีวิธีการมุ่งเน้นทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยผ่านการทำประชาคม เพื่อรับรู้ว่า ชาวบ้านต้องการอะไร ให้ชาวบ้านช่วยกันคิด  ช่วยกันทำ ให้เสนอว่าบ้านของตนมีปัญหาสุขภาพอะไรบ้าง อยากได้อะไร ให้คิดมา ช่วยกันมองปัญหาให้ออก ว่ามีอะไรบ้างจะได้ช่วยกันวางแนวทางในการแก้ปัญหา และขอให้ร่วมกันระดมทุน เพื่อสุขภาพของตนเอง

            นอกจากการทำประชาคมแล้ว ยังมีกลยุทธอื่นอีก คือ การบอกข่าวผ่านหอกระจายข่าว ผ่านทางผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และกรรมการกองทุนฯ การทำหนังสือเชิญ (จดหมายข่าว) และป้ายประชาสัมพันธ์
            เมื่อชาวบ้านได้ร่วมกันรับรู้และเข้าใจกันในระดับหนึ่งแล้ว ก็ถึงขั้นตอนที่ทีมงานต้อง จัดทำแผนสุขภาพชุมชน โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ทุกหมู่ได้ร่วมมือกันวางแผนในการทำประชาคมในแต่ละหมู่บ้าน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม แสดงความคิดเห็น สะท้อนปัญหา ความต้องการ และร่วมตัดสินใจ ร่วมเป็นเจ้าของกองทุนฯ ลงมือลงแรง ร่วมใจ และร่วมทุน

            ขั้นตอนต่อไป คือ การนำเสนอแผนงาน/ กิจกรรม ซึ่งได้จัดให้สมาชิก อบต. เป็นผู้ประสานงานกับคณะกรรมการกองทุนฯ ระดับตำบลในการพิจารณาโครงการต่างๆ
            การดำเนินงานที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ 2550) โครงการที่คิดว่า เป็นโครงการดีเด่นของ อบต. โพนงามที่ดำเนินการด้วยเงินของกองทุนฯ คือ โครงการส่งเสริมสุขภาพจิตในชุมชน ด้วยมองเห็นความสำคัญว่า การพัฒนาคนให้มีสุขภาพดี ต้องไม่ละเลยเรื่องของจิตใจ และผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ญาติพี่น้องที่ดูแลอยูยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจพอ

            โดยการอบรมให้ความรู้ วิธีการดูแล เอาใจใส่ผู้ป่วยอย่างถูกต้องแก่ชาวบ้านที่เป็นผู้ดูแล ให้สามารถดูแลผู้ป่วย มีปัญหาสุขภาพจิตในหมู่บ้านได้ถูกต้อง
            สำหรับงบประมาณดำเนินการ กองทุนฯ ตำบลโพนงาม ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก โดยสปสช.โอนเงินสมทบ 37.50 บาท/คน/ปี (ประมาณเดือนธันวาคม 2549) ร่วมกับท้องถิ่นโอนเงินสมทบ 10%  ของเงิน สปสช. และเก็บเงินสมาชิกเดือนละ 2 บาท หรือปีละ 24 บาท ซึ่งหมายถึง ชาวบ้านทุกคนทุกกลุ่มอายุที่เป็นสมาชิก รวมทั้งเงินดอกเบี้ยธนาคารและประชาชนบริจาคอีก 1478.91 บาท/ปี
            ชาวโพนงาม หันมาตระหนักว่าการดูแลสุขภาพไม่มีใครดูแลได้ดีกว่าตัวเราและคนใกล้ชิด แต่กว่าจะทำให้ชาวโพนงามหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ทีมงานต้องมีความอดทนเข้มแข็ง ทำงานด้วยใจ ด้วยจิตอาสา และทำงานด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนฯ  ผู้นำมีวิสัยทัศน์ในการตัดสินใจ และมองเห็นความสำคัญว่า กองทุนฯ นี้มีประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งการเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนฯ มีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของ
            ชุมชนโพนงาม ชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากชาวเวียงจันทน์ ประเทศลาว ชุมชนที่ยังคงมีความเอื้อเฟื้อต่อกัน มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง และมีพุทธศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สิ่งเหล่านี้คือทุนทางสังคมที่ช่วยเกื้อหนุนการทำงานด้านสุขภาพของชาวโพนงาม ไม่ให้ก้าวเลยผ่านสุขภาพทางใจ
           
            เพราะความหมายของคำว่า "สุขภาพดี" สำหรับชาวโพนงามแล้ว ไม่ได้หมายถึงแค่กาย แต่ความหมายยังกว้างไกลไปถึง "ใจ" และ "จิตวิญญาณ" เลยทีเดียว

ข้อมูลพื้นฐานประกอบการเขียนโดย
ดร.กฤษณา วุฒิสินธื
รุ่งอรุณ กระมุทกาญจน์
นัจรินทร์ เนืองเฉลิม
กิ่งแก้ว สุระเสน
นิธิ ปรัสสา
วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร อุบลราชธานี



ที่มา ถอดบทเรียน การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
(กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต. และเทศบาล) ในพื้นที่ต้นแบบทั่วประเทศ กรณีศึกษา ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง
เลข  ISBN : 978-974-379-047-8
ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น