1.2.1 ผู้เปิดเผยกรรม
ในตอนต้นของบทที่ 1 ได้ยกพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ตรัสอุทานว่า ได้ทรงค้นพบทรงทอดพระเนตรเห็นศัตรูที่แท้จริงของหมู่สัตว์ ผู้บงการอยู่ฉากหลังบังคับบัญชาหมู่สัตว์ด้วยเครื่องมือคือกิเลส เป็นเหตุให้สร้างกรรมอันเป็นผลทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่นาน พระองค์ทอดพระเนตรเห็นวงจรสังสารวัฏในวันตรัสรู้ธรรม เพราะทรงบรรลุวิชชา 3 ดังนี้
ปฐมยาม ยามต้นแห่งราตรี บรรลุวิชชาที่ 1 ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ระลึกชาติหนหลังของพระพุทธองค์เอง(อตีตังสญาณ) ตรวจดูอดีตชาติด้วยธรรมจักษุ จึงได้รู้ว่าเคยเวียนเกิดเวียนตายมาแล้วนับไม่ถ้วน เคยเกิดมาแล้วทุกอย่างตั้งแต่ยาจกจนถึงพระราชา ถ้าจะเอากระดูกมากองรวมกันมีมากกว่าภูเขาเสียอีก หรือเอาเลือดที่หลั่งไหล น้ำตาที่นองหน้ามารวมกัน ก็ยังมีมากกว่าน้ำในมหาสมุทร
มัชฌิมยาม ท่ามกลางแห่งราตรี บรรลุวิชชาที่ 2 จุตูปปาตญาณ คือ กำหนดรู้การจุติและการอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย ทรงเห็นการไปเกิดมาเกิดการเวียนตายเวียนเกิดของสรรพสัตว์ด้วยธรรมจักษุว่า เป็นไปตามกรรม ทำให้ถือกำเนิดต่างกัน บ้างถือกำเนิดต่ำทรามเป็นสัตว์เดรัจฉาน ก็มี เปรตอสุรกายก็มี มีผิวพรรณหยาบ ทุกข์ยากลำบากในการดำรงชีวิต บ้างตัวถือกำเนิดประณีต เป็นมนุษย์ก็มี เทวดาก็มี มีผิวพรรณดีอ่อนละมุน มีความเป็นอยู่ดี ณ ตรงจุดนี้เองที่พระพุทธองค์ทรงรู้แจ้งเรื่องราวกฎแห่งกรรมของหมู่ ทรงทอดพระเนตรเห็นว่ากรรมคือเบื้องหลังที่จำแนกหมู่สัตว์ให้มีความแตกต่าง กัน ยิ่งแตกต่างกันมากเท่าไรยิ่งทำให้เกิดความขัดแย้งกันทางความคิด คำพูด การกระทำ
ปัจฉิมยาม ที่สุดแห่งราตรี บรรลุวิชชาที่ 3 อาสวักขยญาณ คือ ทำลายอาสวกิเลสของพระองค์ให้หมดสิ้นไป บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ที่ 4 แห่งภัทรกัปนี้ ทรงเป็น สัพพัญญู เป็นที่พึ่งพิงแห่งสัตวโลก ทรงอาศัยพระมหากรุณาธิคุณต่อหมู่สัตว์ นำมาบอกเล่าให้ฟังว่า ชีวิตหลังความตายยังมีภพชาติเกิดขึ้น เพราะกรรมและการให้ผลแบ่งแยกหมู่สัตว์ไปนรกบ้างไปสวรรค์บ้าง ทำอย่างไรจึงไปนรก ทำอย่างไรจึงไปสวรรค์ ทรงบอกหมดไม่ปิดบังไม่หวงความรู้ เพราะว่าตลอด 20 อสงไขยกัป กับเศษอีกแสนกัป ทรงบำเพ็ญเพียรมุ่งตรงต่อหนทางการตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการ เพื่อยกตนและหมู่สัตว์ให้หลุดพ้นจากวงจรสังสารวัฏนี้
เวลากลางคืนสมัยโบราณแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ช่วงละ 4 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดความเข้าใจจึงต้องเทียบกับเวลาปัจจุบัน ดังนี้
ปฐมยาม เวลาโดยประมาณ 18.00-22.00 น.
มัชฌิมยาม เวลาโดยประมาณ 22.00-02.00 น.
ปัจฉิมยาม เวลาโดยประมาณ 02.00-06.00 น.
1.2.2 กรรมวิบากเป็นอจินไตย
กรรมและการให้ผลของกรรมเป็นอจินไตย เป็นเรื่องที่เสขบุคคล คือ บุคคลที่ยังต้องศึกษาเพื่อการหลุดพ้น และปุถุชนธรรมดาไม่ควรคิดด้วยสติปัญญาของตน เพราะเรื่องกฎแห่งกรรมมีกลไกที่ซับซ้อนอย่างมาก ไม่อาจแยกแยะด้วยตาเปล่าหรือการคิดเชิงเหตุผลโดยมีสมมติฐานจากการคาดการณ์ เอาทฤษฎีโน้นมาผสมทฤษฎีนี้ คิดกันไม่รู้จบ ท่านนี้คิดอย่างนี้แต่ท่านอื่นคิดอีกอย่าง ความเห็นไม่ตรงกัน บางท่านคิดจนตายก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ การเห็นกรรมวิบากจะต้องอาศัยเครื่องมือเฉพาะคือธรรมจักษุ ที่ทำให้เกิดญาณหยั่งรู้เห็นอย่างแจ่มแจ้งเรื่องในอดีตชาติ(อตีตังสญาณ) ปัจจุบันชาติ(ปัจจุปปันนังสญาณ) อนาคต(อนาคตังสญาณ) และญาณกำหนดรู้ว่าสัตว์ทั้งหลายต้องเป็นไปตามกรรม(ยถากัมมูปคญาณ) ซึ่งมีแต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ตรัสรู้เรื่องนี้ได้จึงเป็นพุทธ วิสัย พระองค์ตรัสบอกผู้ที่กำลังคิดหรือกำลังจะคิดเรื่องกฎแห่งกรรมนี้ว่า ''วิบากแห่งกรรม เป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิด ก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า''
1.2.3 คำนิยาม ถูก ผิด, ดี ชั่ว, บุญ บาป, คุณ โทษ, ควร ไม่ควร
การศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรม ก็เพื่อให้เข้าใจและสามารถดำเนินชีวิตโดยไม่ผิดพลาดทั้งทางโลกและทางธรรม เพราะในแต่ละวันมนุษย์มีเรื่องให้ต้องตัดสินใจ เมื่อต้องประสบกับปัญหาเราจะต้องตัดสินใจได้เด็ดขาด ถ้าตัดสินใจไม่ได้ ก็จะทำงานต่อไปไม่ได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง เรามักถูกบังคับให้ต้องตัดสินใจทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นต้องอาศัยโยนิโสมนสิการ การคิดแยกแยะเหตุผล มีความจำเป็นจะต้องทำความเข้าใจศัพท์ทางพระพุทธศาสนาอยู่หลายคำที่เกี่ยว ข้องอย่างขาดเสียมิได้ เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องกฎแห่งกรรมแล้วจะต้องโยงไปถึงคำเหล่านี้ทุกครั้ง ได้แก่
1) ถูก หรือชอบ คือ ทำถูก หมายถึง การกระทำใดๆ ก็ตามทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจมาก่อน แต่ว่าเมื่อทำลงไปแล้วเกิดแต่ประโยชน์ ไม่เกิดความเสียหาย ไม่เกิดโทษ ไม่ก่อให้เกิดความเดือดเนื้อร้อนใจใดๆ ติดตามมาในภายหลังทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
2) ผิด คือ ทำผิด หมายถึง การกระทำด้วยความประมาทพลาดพลั้ง ทำให้เกิดความเสียหาย เป็นโทษ เป็นความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หย่อนปัญญา
3) ดี คือ ทำดี หมายถึง นอกจากจะทำถูกแล้วจะต้องทำดีด้วย หมายความว่า การกระทำที่รู้อยู่เต็มอกก่อนจะทำแล้วว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วตั้งใจทำด้วยความระมัดระวัง เอาใจจดจ่อ ทำด้วยความมั่นใจ ผลที่ได้รับก็คือ ยิ่งทำยิ่งสุขกายสุขใจ เป็นทางมาแห่งบุญ
4) ชั่ว คือ ทำชั่ว หมายถึง รู้ทั้งรู้ว่าผิดแล้วยังฝืนทำ รู้ด้วยว่าทำไปแล้วจะเกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนแก่ตนเองและผู้อื่น ผลที่ได้รับก็คือ ยิ่งทำยิ่งทุกข์ ยิ่งทำยิ่งเดือดร้อน เป็นทางมาแห่งบาปอกุศล
5) บุญ ว่าโดยเหตุ หมายถึง ความผ่องแผ้ว ความบริสุทธิ์ ความดีงาม สิ่งที่เป็นเครื่องชำระล้าง กาย วาจา ใจ ให้ปราศจากมลทิน ว่าโดยผล บุญ หมายถึง ความสุขกายสุขใจ ดังพุทธภาษิตที่ว่า ''ภิกษุทั้งหลาย เธออย่ากลัวบุญเลย คำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข'' บุญเกิดเมื่อประพฤติกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ หรือที่เรียกว่า บุญกุศล บุญกรรมเป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีใจสูงส่ง
6) บาป ว่าโดยเหตุ หมายถึง ความเศร้าหมองขุ่นมัว ความเลวทราม ความสกปรก ทำให้กาย วาจา ใจมีมลทิน ว่าโดยผล หมายถึง ความทุกข์กายทุกข์ใจ ความเศร้าโศกเสียใจ ความเดือดร้อนใจ บาปเกิดเมื่อประพฤติอกุศลกรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ หรือที่เรียกว่า บาปอกุศล บาปกรรม เป็นอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ที่มีใจตกต่ำ
7) คุณ หมายถึง ประโยชน์หรือผลที่ได้รับ จากการทำถูก ทำดี ทำไปแล้วได้รับการสรรเสริญยกย่อง
8) โทษ หมายถึง ผลที่ได้รับจากการทำผิด ทำชั่ว ทำไปแล้วถูกตำหนิติเตียน
9) ควร คือ รู้สิ่งใดควรทำ หมายถึง สิ่งที่ทำลงไปนั้น ถ้าไม่ทำก็ไม่ผิด ไม่เสียหาย แต่รู้ว่าถ้าทำแล้วจะเกิดคุณงามความดี ความถูกต้อง แล้วเราก็ตั้งใจทำสิ่งนั้นไปด้วยความเต็มใจ
10) ไม่ควร คือ รู้สิ่งใดไม่ควรทำ หมายถึง สิ่งที่ทำลงไปนั้น ถ้าทำไปแล้วก็ไม่ถึงกับผิด ไม่เสียหาย แต่เรารู้ว่าถ้าทำไปแล้วอาจจะขัดอกขัดใจ ถูกตำหนิได้ เราก็จะไม่ทำสิ่งนั้น
เมื่อนักศึกษาได้ทำความเข้าใจกับนิยามของคำเหล่านี้ดีแล้ว จะทำให้เกิดความชัดเจน เมื่อจะต้องตัดสินใจคิดพูดทำอะไรสักอย่าง เพื่อจะได้ตอบตนเองได้ว่าสิ่งที่กระทำไปนั้นทำไปแล้วจะเกิดอะไร มีผลกระทบอย่างไรในการดำเนินชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ทั้งนั้นทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนตั้งอยู่บน พื้นฐานของการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจทั้งสิ้น
1.2.4 กฎแห่งกรรมคืออะไร
กฎแห่งกรรม คือ กฎแห่งการกระทำ เป็นกฎแห่งเหตุและผล เป็นกฎของธรรมชาติ คือ ธรรมฝ่ายใดเกิดขึ้นในใจก็ทำ กรรมฝ่ายนั้น เกิดกุศลธรรมก็ประกอบกุศลกรรม เกิดอกุศลธรรมก็ประกอบอกุศลกรรม อย่างนี้เรียกว่า ธรรมชาติ กฎแห่งกรรมเป็นเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต คือ ประกอบเหตุอย่างนี้ต้องไปมีผลอย่างนั้น ประสบผลอย่างนี้เพราะประกอบเหตุมา อย่างนั้น กรรม คือ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ จะดีหรือชั่ว เจตนาหรือไม่ จะน้อยหรือมาก ทุกเพศทุกวัย ล้วนมีผลทั้งสิ้นที่ไม่มีผลไม่มีเลย ผลบางอย่างปรากฏในปัจจุบันทันตา เห็น บางอย่างเห็นผลตอนตายไปแล้ว กฎแห่งกรรมนี้ไร้ความปรานี ไม่มีข้อยกเว้นให้กับใครๆ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใดก็ตามในโลก จะอยู่บนดิน บนน้ำ บนอากาศ ดวงจันทร์ ดวงดาว ก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้น แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราในสมัยที่ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์นักสร้าง บารมีก็ยังต้องเสวยวิบากกรรม เพราะกรรมติดตามตัวเราไปทุกที่ทุกสถานเหมือนเงาติดตามตัว เมื่อเรายังหนีตัวเราไม่พ้น เราก็หนีกฎแห่งกรรมไม่พ้นเหมือนกัน กฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างในโลกที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมา ยังหลีกเลี่ยงเปลี่ยนแปลงได้ ปีนี้ใช้อย่างนี้ปีหน้าเปลี่ยนไปอีกอย่าง แต่กฎแห่งกรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว ทำดีได้ชั่วไม่มี ทำชั่ว ได้ดีก็ไม่มี
กฎแห่งกรรมจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องศึกษาเรียนรู้ ไม่รู้อันตราย ถ้ารู้แล้วเอาตัวรอดปลอดภัยได้ แม้ยังไม่หมดกิเลส แต่ก็จะมีชีวิตอยู่ในสังสารวัฏได้อย่างปลอดภัยไม่พลัดไปสู่อบายภูมิที่มี ความทุกข์ทรมาน มาก จะท่องเที่ยวสร้างบารมีอยู่เพียงสองภพภูมิ คือ มนุษยโลกกับเทวโลก ซึ่งการศึกษาเรื่องกฎแห่งกรรมอย่างถ่องแท้จะทำให้เรา ดำเนินชีวิตด้วยการ สั่งสมบุญบารมีมากกว่า ส่วนที่จะผิดพลาดน้อย ผิดจะไม่ค่อยมี แต่จะมีอยู่เพียงแค่พลาดพลั้ง เผอเรอ ประมาทเลินเล่อ แม้เวลาตายก็จะตายเป็น พร้อมที่จะตายอย่างถูกหลักวิชชาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา ดังพุทธพจน์ที่ว่า
''จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา
จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา
เมื่อจิตเศร้าหมอง ทุคติเป็นอันหวังได้
เมื่อจิตไม่เศร้าหมอง สุคติเป็นอันหวังได้ ''
กล่าวโดยสรุป คือ ตัดสินกันช่วงเวลาก่อนตายว่าจิตขณะนั้นผ่องใสหรือหมอง ถ้าจิตผ่องใสเพราะสิ้นระแวงก็ไปสบายไปสู่สุคติโลกสวรรค์ ใจใสขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่สั่งสมไว้ แต่ถ้าจิตหมองมัวก็ต้องไปอบาย ใจหมองขึ้นอยู่กับบาปอกุศลที่เคยกระทำไว้ ซึ่งจะต้องศึกษาต่อไปว่า อะไรเป็นบุญกุศล อะไรเป็นบาปอกุศล หากไม่ศึกษาก็จะไม่ทราบว่าควรยึดถือใครเป็นเกณฑ์เป็นต้นแบบในการประกอบบุญ กุศล เกณฑ์ของบุญกุศลจะต้องเอาท่านผู้ที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในธรรมทั้งปวง เอาความรู้ความเห็นคำสั่งสอนคำแนะนำของท่านเป็นหลัก เพราะท่านที่หมดกิเลสแล้วทำ อะไรไม่หวังผลตอบแทน ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ มีแต่คุณประโยชน์ และคุณงามความดีล้วนๆ พอจับหลักได้ก็ทำตามนั้น คือ ทำแต่กุศลกรรม บุญก็เกิด เมื่อบุญเกิดก็ละอกุศลกรรมได้ บุญจะทำหน้าที่กลั่นจิตใจให้ผ่องใส ดังนั้นเราต้องการผลอย่างไรก็ทำเหตุอย่างนั้น เพราะชีวิตหลังความตายไม่มีการทำมาหาเลี้ยงชีพ ชีวิตในปรโลกของสัตวโลกเป็นอยู่ด้วยบุญและบาป ดีและชั่วเท่านั้น ไม่ใช่ตัดสินที่ความรวย หล่อ สวย เก่ง เฮง ไม่ใช่อย่างนั้น
คำว่า กรรม รากศัพท์เดิมมาจากภาษาบาลีว่า กมฺม (กัมมะ) ภาษาสันสกฤตใช้ว่า กรฺม ด้วย เหตุที่ภาษาสันสกฤตค่อนข้างมีอิทธิพลในประเทศไทยช่วงยุคขอมและด้วยการออก เสียง กรฺม ไม่ชัด จึงควบกล้ำ ร เป็นกรรมทำให้ออกเสียงชัดกว่า ซึ่งถือว่าเป็นภาษาถิ่นแต่ก็ยังคงความหมายเดิม กรรมเป็นคำกลางๆ แปลว่า การกระทำ แต่เมื่อจะตัดสินการกระทำนั้นว่าเป็นก รรมหรือไม่ และเป็นกรรมฝ่ายใดประเภทใด จะต้องดูที่เจตนาคือความจงใจ ฉะนั้นความหมายของคำว่า กรรม โดยสมบูรณ์ แปลว่า การกระทำโดยเจตนาคือจงใจกระทำ การกระทำแบ่งออกเป็น 3 ทาง ได้แก่ การกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ ทุกอย่างที่เกิดจากความจงใจของผู้กระทำถือว่าเป็นกรรมทั้งสิ้น ซึ่งแบ่งกรรมออกเป็น 2 ฝ่าย คือ
1. กุศลกรรม หมายถึง กรรมฝ่ายดี เป็นการกระทำที่ดีงาม เกิดบุญกุศล ไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ทำให้จิตโศกเศร้า หรืออาจเรียกว่า กุศลเจตนา เพราะตั้งใจทำดี ทางที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่จัดเป็นกรรมดี หรือที่เรียกว่า กุศลกรรมบถ 10 ประการ สามารถแบ่งออกตามทวารที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้ดังนี้
กายกรรม หรือกายทวาร หมายถึง กรรมดีทางกาย เมื่อการกระทำทางกายดีจึงเรียกว่า กายสุจริต มี 3 ประการ คือ
1. ปาณาติปาตา เวรมณี งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต
2. อทินนาทานา เวรมณี งดเว้นจากการลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้
3. กาเมสุมิจฉาจารา เวรมณี งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
วจีกรรม หรือวจีทวาร หมายถึง กรรมดีทางวาจาที่ได้รับการไตร่ตรองด้วยปัญญา เมื่อการกระทำทางวาจาดีจึงเรียกว่า วจีสุจริต มี 4 ประการ คือ
1. มุสาวาทา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเท็จ คือ พูดโกหก หลอกลวง ต้มตุ๋น เป็นต้น
2. ปิสุณาย วาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดส่อเสียด คือ คำพูดทำให้สูญเสียความเป็นที่รักใคร่ปรองดองกัน เช่น ยุยงให้แตกแยก เหน็บแนม กระทบกระเทียบเสียดแทง คำสบประมาท พูดลับหลัง เป็นต้น เหล่านี้เป็นคำพูดทำให้เกิดทิฏฐิมานะชิงดีชิงเด่น มุ่งเอาชนะกันและกัน
3. ผรุสาย วาจาย เวรมณี งดเว้นจากการพูดคำหยาบคาย คือ พูดคำชนิดที่ค่อนขอด คำหยาบคาย คำเผ็ดร้อน คำเหน็บแนมให้เจ็บใจ เหล่านี้ทำให้ผู้อื่นโกรธเคืองไม่ทำให้จิตตั้งมั่น
4. สัมผัปปลาปา เวรมณี งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ ชอบพูดไม่ถูกเวลา ชอบพูดหยอกล้อ ชอบพูดไร้ประโยชน์ ชอบพูดไม่เป็นธรรม ชอบพูดไม่เป็นวินัย เป็นผู้พูดไม่มีหลักฐาน ไม่เป็นเวลา ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
มโนกรรม หรือมโนทวาร หมายถึง การกระทำทางใจ เมื่อการกระทำทางใจดีจึงเรียกว่า มโนสุจริต มี 3 ประการ คือ
1. อนภิชฌา ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
2. อัพยาบาท ไม่คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น
3. สัมมาทิฏฐิ คิดถูกเห็นถูก
คำว่า เว้น ต่างกับคำว่า ละ อย่างไร ? เว้น หมายถึง เคยทำผิดแล้วไม่คิดจะทำอีกเด็ดขาด เช่น เคยดื่มสุราของมึนเมา แต่เมื่อได้รู้โทษของมันแล้ว ตัดใจไม่เสพ ไม่ซื้อ และไม่ชักชวนคนอื่นให้ดื่มอีกอย่างเด็ดขาด ละ หมายถึง ไม่เคยทำผิดแล้วก็จะไม่ทำความผิดนั้น เช่น ไม่เคยดื่มสุรา แม้เพื่อนชวนให้ดื่มก็ไม่ดื่ม เพราะรู้จักโทษของสุราเป็นอย่างดีจึงไม่จำเป็นต้องทดลอง
2. อกุศลกรรม หรือกรรมฝ่ายชั่ว หมายถึง การกระทำที่ผิดศีล ผิดธรรม เกิดบาปอกุศลทำให้จิตเศร้าหมอง หรืออาจเรียกว่า อกุศลเจตนา เพราะตั้งใจทำชั่ว ทางที่ทำให้เกิดพฤติกรรมที่จัดเป็นกรรมชั่ว หรือที่เรียกว่า อกุศลกรรมบถ 10 ประการ สามารถแบ่งออกตามทวารที่เกิดขึ้นทางกาย ทางวาจา และทางใจ ได้ดังนี้
กายกรรม หรือกายทวาร หมายถึง การกระทำทางกาย เมื่อการกระทำทางกายชั่ว จึงเรียกว่า กายทุจริต มี 3 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ
1. ปาณาติบาต การจงใจฆ่าสัตว์ที่ยังมีชีวิต
2. อทินนาทาน การจงใจลักขโมยของที่ผู้อื่นไม่ให้
3. กาเมสุมิจฉาจารา การจงใจประพฤติผิดในกาม
วจีกรรม หรือวจีทวาร หมายถึง การกระทำทางคำพูดที่ขาดการไตร่ตรองด้วยปัญญา เมื่อการกระทำทางวาจาชั่ว จึงเรียกว่า วจีทุจริต มี 4 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ
1. มุสาวาท การจงใจพูดเท็จ คือ พูดโกหก หลอกลวง ต้มตุ๋น เป็นต้น
2. ปิสุณาวาจา การจงใจพูดส่อเสียด คือ คำพูดทำให้สูญเสียความเป็นที่รักใคร่ ปรองดองกัน เช่น ยุยงให้แตกแยก เหน็บแนม กระทบกระเทียบเสียดแทง คำสบประมาท พูดลับหลัง เป็นต้น เหล่านี้เป็น คำพูดทำให้เกิดทิฏฐิมานะชิงดีชิงเด่น มุ่งเอาชนะกันและกัน
3. ผรุสาวาจา การจงใจพูดคำหยาบคาย คือ พูดคำชนิดที่ค่อนขอด คำหยาบคาย คำเผ็ดร้อน คำเหน็บแนมให้เจ็บใจ เหล่านี้ทำให้ผู้อื่นโกรธเคืองไม่ทำให้จิตตั้งมั่น
4. สัมผัปปลาปา การจงใจพูดเพ้อเจ้อ คือ ชอบพูดไม่ถูกเวลา ชอบพูดหยอกล้อ ชอบพูดไร้ประโยชน์ ชอบพูดไม่เป็นธรรม ชอบพูดไม่เป็นวินัย เป็นผู้พูดไม่มีหลักฐาน ไม่เป็นเวลา ไม่มีที่อ้างอิง ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
มโนกรรม หรือมโนทวาร หมายถึง การกระทำทางใจ เมื่อการกระทำทางใจชั่วจึงเรียกว่า มโนทุจริต มี 3 ประการ คือ
1. อภิชฌา คิดเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่น
2. พยาบาท คิดปองร้ายเบียดเบียนผู้อื่น
3. มิจฉาทิฏฐิ คิดผิดเห็นผิด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น