++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

จบ ป.เอก MIT ขอกลับมาพัฒนาชาติ มุมคิดจาก อ.วิศวฯ ลาดกระบัง

การ ได้รับโอกาสทางการศึกษา ในฐานะนักเรียน ทุน ก.พ. ทำให้ รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี วิศวฯ ลาดกระบัง สามารถไปคว้าปริญญาเอกด้านวิศวกรรมมาจากมหาวิทยาลัยระดับโลกอย่าง MIT สหรัฐอเมริกา อาจารย์ท่านนี้ได้ข้อคิดอะไรกลับมา และเหตุผลใดจึงเลือกมารับราชการในเมืองไทย

รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์
รศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นับเป็นบุคลากรที่มากความสามารถท่านหนึ่งของเมืองไทย โดยเป็นผู้มีส่วนออกแบบระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน การเป็นคณะกรรมการติดตามระบบขนส่งแอร์พอร์ตลิ้งค์ รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบคมนาคมอื่นๆอีกมากมาย

อาจารย์ ท่านนี้ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากคณะวิศวกรรมโยธา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จากนั้นก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวด ล้อม ที่ The University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา , ปริญญาโทด้านนโยบายและบริหารเทคโนโลยี (Technology and Policy) Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกด้านวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม - (Minor in Political Economy and Management) Massachusetts Institute of Technology (MIT) สหรัฐอเมริกา

MIT
รศ.ดร.สุชัชวีร์ เผยถึงแรงบันดาลใจในการเลือกศึกษาต่อยังต่างประเทศว่า สมัยเด็กได้ดูโทรทัศน์ และเห็นประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส มีความเจริญมาก จึงเป็นเหมือนเด็กทั่วไปที่เห็นแล้วก็อยากไปเที่ยวต่างประเทศบ้าง

“เมื่อผมเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ก็ทำให้อยากเรียนต่อ แต่เมื่อศึกษาจากเอกสาร ข้อมูลการศึกษาต่างๆ ก็พบว่าเรียนต่อวิศวกรรมศาสตร์ในต่างประเทศ ต้องใช้เงินเป็นล้าน จนเข้าไปหาข้อมูลจาก ก.พ. ทราบว่ามีทุนให้ จึงขอรับทุน และได้รับโอกาสนั้น โดยการจะไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมี คือ แรงบันดาลใจ เพราะหากมีแรงบันดาลใจแล้ว แม้ว่าสิ่งนั้นจะยากลำบาก เราก็จะพยายาม เกิดความมุ่งมั่น ซึ่งแรงบันดาลใจต้องสร้างจากตัวเราก่อน ผมใฝ่ฝันอยากเรียน MIT ตั้งแต่ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจ อยากไปให้ได้ ผมพยายามสอบโทเฟล กว่าจะผ่าน ต้องสอบไปทั้งหมด 14 ครั้ง ตามประสาเด็กต่างจังหวัด ที่พื้นฐานทางภาษายังไม่ดี แต่เมื่อมีแรงบันดาลใจ เราก็มุ่งมั่นพยายามที่จะทำให้สำเร็จจนได้”

คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ (สจล.) ยังเน้นเรื่องการวางแผน ว่าเป็นอีกเรื่องที่สำคัญในการใช้ชีวิตการเรียนให้ประสบความสำเร็จ มีคุณค่า และไม่เสียเวลาที่เดินทางไปไกล การวางแผนที่ดี คือ ต้องดูให้ละเอียดว่า สถาบันที่เราจะไปสมัครเรียนนั้น ต้องการอะไร ก็ไปเสริมทักษะด้านนั้น เช่น ทักษะภาษาอังกฤษซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ ก็พยายามไปพูดคุยกับคนที่ประสบผลสำเร็จมาก่อน เพราะสามารถนำมาเป็นกำลังใจให้กับตัวเองว่า คนอื่นทำได้ เราก็ทำได้

“คุณ ค่าของการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล นับเป็นความภูมิใจที่ได้เป็นนักเรียนทุน เพราะประเทศไทยพัฒนาเติบโตมาได้ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ส่วนหนึ่งก็มาจากนักเรียนทุนที่ได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ กลับมาพัฒนาระบบสาธารณูปโภค พัฒนาประเทศ การที่ผมได้รับทุนจากรัฐบาลไทยก็เปรียบเหมือนกับเป็นตัวแทนจากประเทศไทย ด้วย” รศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.
นอกจากนี้ อาจารย์จาก สจล. ยังมองถึงประโยชน์จากการได้ศึกษาต่อต่างประเทศ ว่าได้ออกไปจากที่ที่เราเห็นอยู่ทุกวัน มีโอกาสพบเจอสิ่งที่แตกต่าง ทั้งดีและไม่ดี ซึ่งถือเป็นการเปิดหูเปิดตา ฝึกทักษะให้กับตัวเอง โดยเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งนำมาใช้งานได้จริง ที่สำคัญ คือ การฝึกวินัยของตนเอง ทั้งเรื่องการบริหารจัดการเวลา ชีวิต การใช้เงิน ทำให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่มีความคิดที่เป็นระบบ นอกจากนั้น เรื่องความก้าวหน้าด้านสหวิชาการก็เป็นข้อดี เพราะประเทศที่เดินทางไปศึกษาต่อ เป็นประเทศที่พัฒนาไปมากกว่าประเทศไทย เราจึงต้องดึงเอาความรู้กลับมาพัฒนาประเทศไทยบ้าง

จากความสามารถด้านการศึกษา เกิดเป็นข้อสงสัยว่า เหตุใด รศ.ดร.สุชัชวีร์ จึงเลือกกลับมารับราชการในเมืองไทย ซึ่งค่าตอบแทนไม่ได้มากเท่ากับภาคเอกชน คณบดีท่านนี้ตอบว่า เป็นเพราะการทำงานราชการนั้นดีที่สุด ต้องคิดว่า คนเก่งต้องมาอยู่กับราชการ

“ตอน ที่ผมเรียนจบ MIT ใหม่ๆ ก็ได้รับเชิญจากแสตมฟอร์ด เวิร์ลด์แบงก์ และบริษัทน้ำมันต่างๆ ชักชวนไปทำงาน โดยเสนอว่าจะออกเงินชดใช้ทุนให้ แต่ผมอยาก “make different” คือ อยากเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ซึ่งก็ถามตัวเองว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไร ที่ไหน ก็ตัดสินใจเลือกเปลี่ยนแปลงที่บ้านของเราเอง ในเมื่อ ก.พ. ลงทุนให้ผม เชื่อมั่นในตัวผม ผมก็ไม่อยากให้ต้องผิดหวัง ก็ขอเลือกกลับมารับราชการ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศของเราที่ยังขาดหลายๆอย่าง ก็กลับมาแก้ไขพัฒนาบ้านตัวเองดีกว่า” รศ.ดร.สุชัชวีร์ สรุปทิ้งท้าย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น