โดย อุษณีย์ เอกอุษณีษ์ 21 ตุลาคม 2553 16:09 น.
ก่อนจะเริ่มลงมือเขียนบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนมีธุระต้องโดยสารรถแท็กซี่เข้าไปในเมือง ระหว่างที่นั่งไป หูก็ฟังรายงานสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ ที่พี่น้องภาคตะวันออกเฉียงเหนือกำลังเผชิญ วันก่อนพี่น้องแถบลำตะคอง, สีคิ้ว, ด่านขุนทด ในโคราชเดือดร้อนแสนสาหัสจากวิกฤตน้ำท่วม มาเมื่อวันพุธเป็นคิวพี่น้องในจังหวัดชัยภูมิ ที่วิกฤตสุดในรอบ 30 ปีป้ายศาลากลางกว่าครึ่งจมอยู่ใต้ระดับน้ำ แถมน้ำบางส่วนจนถึงขณะนี้ก็เริ่มไหลลงมาภาคกลางแล้ว ผ่านทางพระนครศรีอยุธยาก็กำลังเป็นอีกจุดที่ได้รับผลกระทบ ใจผู้เขียนคิดว่า ครานี้เห็นทีกรุงเทพฯ จะไม่รอด ฉับพลันหูก็ได้ยินเสียงลอยมาจากใกล้ๆ
“ผมเชื่อว่า สุดท้ายกรุงเทพฯ จะไม่เป็นอะไร เชื่อเถอะ สุดท้ายเราจะผ่านพ้นเรื่องน้ำท่วมครั้งนี้ไปได้ เพราะอะไรรู้ไหม เพราะเรามีในหลวงที่ทรงมีพระปรีชาสามารถมาก
จนถึงขณะนี้ พ่อหลวงยังทรงตรากตรำทำทุกอย่างเพื่อแก้ปัญหา ให้กับลูกๆ ชาวไทยทุกคน เหมือนกับทุกๆ ครั้งที่พระองค์ท่านทำ เพื่อลูกๆ คือ พวกเราทั้งหลายซึ่งจะได้หมดทุกข์โศก ผมเชื่อว่า สุดท้ายเราจะผ่านวันเหล่านี้ไปได้” ชายชราวัย 70 กว่าๆ ซึ่งยึดอาชีพขับรถแท็กซี่ให้ผู้เขียนนั่งอยู่ในขณะนั้น พูดให้ผู้เขียนฟัง
จริงอย่างที่ลุงพูด ทั้งโครงการพระราชดำริที่ทรงพระราชทานให้กับรัฐบาลทุกคณะ เพื่อนำไปแก้ปัญหาให้กับประชาชน ตั้งแต่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โครงการศึกษาพฤติกรรมการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อควบคุมปริมาณน้ำเหนือหลากให้สอดคล้องกับสภาพน้ำทะเลหนุนในช่วงฤดูฝนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โครงการแก้มลิง โครงการขุดลอกคูคลองป้องกันน้ำท่วม และอีกมากต่อมาก
นอกจากการป้องกันปัญหา เมื่อถึงคราวที่ชาวบ้านประสบเคราะห์ พระองค์ก็ทรงเป็นผู้เข้าไปซับน้ำตา พระราชทานความช่วยเหลือ และโอบอุ้มราษฎรที่เดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง
ปีพุทธศักราช 2526 เกิดน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ จมอยู่ใต้ระดับน้ำนาน 3-5 เดือนสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนอย่างแสนสาหัส ในปีนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ่อหลวงของเรา ทรงเสด็จฯ ตรวจพื้นที่น้ำท่วมครั้งนั้นถึง 6 ครั้งด้วยกัน เป็นการเสด็จพระราชดำเนินด้วยพระองค์เอง โดยไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้า
คือ วันที่ 8 ต.ค. 26, วันที่ 19 ต.ค. 26, วันที่ 27 ต.ค. 26, วันที่ 7 พ.ย. 26, วันที่ 14 พ.ย. 26 และวันที่ 24 พ.ย. 26
หรือในปีพุทธศักราช 2546 ทรงมีพระราชกระแสรับสั่ง เป็นห่วง “โครงการพัฒนาพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” โดยทรงรับสั่งว่า แก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่ใช่แค่เป็นการระบายน้ำจากสุวรรณภูมิไม่ให้ท่วมเท่านั้น แต่ว่าพื้นที่สุวรรณภูมินั่น เป็นเส้นทางน้ำที่จะต้องไหลลงทะเลไม่ให้น้ำท่วมกรุงเทพมหานคร และทรงให้กรมชลประทานแก้ปัญหาช่วงที่ผ่านมา ด้วยการทำคลองขนาดที่เหมาะสม ออกด้านข้างของสุวรรณภูมิแล้วกระจายลงไปในทะเล
พระมหากรุณาธิคุณเป็นที่จดจำในใจประชาชนมากที่สุดอีกครั้ง คือ ในปีพุทธศักราช 2549 เกิดน้ำท่วมใหญ่ น้ำเหนือไหลบ่า ประจวบน้ำทะเลหนุนเกินกว่าแม่น้ำเจ้าพระยาจะรับไหว แต่เป็นบุญของคนไทยเมื่อกรมชลประทานได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ผันน้ำเข้าไปในที่ดินส่วนพระองค์นับพันไร่ ที่พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง) ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระราชดำริของพระองค์ท่าน ยังทำให้ชาวบ้านในอยุธยาส่วนใหญ่ที่เดิมหมดกำลังใจจากปัญหาน้ำท่วม และหวาดกลัวพื้นที่นาจะได้รับผลกระทบ ต่างพากันเข้าใจและเปลี่ยนใจยินยอมทางการให้ผันน้ำเข้าทุ่งที่ของตัวบ้าง ตามที่กรมชลประทานได้ตั้งเป้าหมาย ครานั้นกลายเป็นปาฏิหาริย์ที่ช่วยลดปริมาณน้ำที่ไหลมากรุงเทพฯ อย่างเห็นได้ชัด จนผ่านพ้นวิกฤตช่วงน้ำทะเลหนุนสูงครั้งนั้นไป
และกระทั่งวันนี้ ที่เกิดน้ำท่วมหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พระองค์ทรงมีกระแสรับสั่งมาจากโรงพยาบาลศิริราช อันเป็นที่ประทับพระวรกายตลอดกว่า 1 ปีที่ผ่านมาว่า “ทรงเป็นห่วงโรงพยาบาลมหาราช อำเภอเมืองโคราช ที่ถูกน้ำท่วมหนักจนต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออก พร้อมทั้งทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 10 ล้านบาทให้นำไปช่วยเหลือราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนทันที ยังความปีติและกำลังใจให้กับ ประชาชนทั้งประเทศที่ยังต้องเผชิญกับภัยพิบัติครั้งวิปโยคในขณะนี้”
ผู้เขียนนึกถึงบทความเรื่อง “ในหลวงกับประชาชน” โดย นายถาวร ชนะภัย ที่ตีพิมพ์ลง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 5 ธันวาคม 2530 เรื่อง “น้ำลดหรือยัง” ยิ่งนึกถึง ยิ่งน้ำตารื้น ปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่เกิดเป็นคนไทย เป็นลูกๆ ของพ่อหลวงท่าน จึงอยากนำเรื่อง คุณถาวร ชนะภัย เล่าไว้มา ทวนให้ฟัง เพื่อเป็นกำลังใจ
.....หลายปีมาแล้วเมื่อครั้งน้ำท่วมภาคใต้ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เป็นช่วงเวลาที่การสื่อสารแห่งประเทศไทยได้นำเครื่องโทรพิมพ์มาติดตั้งที่ห้องทรงงานใหม่ๆ เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวาย
ข้าราชสำนักท่านหนึ่งกรุณาเล่าให้ฟังว่า.....แม้จะดึกดื่นเที่ยงคืนแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ยังไม่เสด็จฯ ขึ้นห้องพระบรรทม แต่ทรงคอยติดตามข่าวเรื่องอุทกภัยที่หาดใหญ่อยู่อย่างใกล้ชิดด้วยทรงห่วงใยราษฎร จึงทรงส่งคำถามผ่านเครื่องโทรพิมพ์ด้วยพระองค์เอง ถามไปทางหาดใหญ่ว่า “น้ำลดแล้วหรือยัง”
.....โดยที่ไม่ทราบว่าผู้ส่งคำถามมานั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คำตอบที่มีผ่านมาทางเครื่องโทรพิมพ์ เมื่อเวลาประมาณตีสองตีสาม มีข้อความที่ตอบด้วยความไม่พอใจว่า “ถามอะไรอยู่ได้ ดึกดื่นป่านนี้แล้ว คนเขาจะหลับจะนอน” แต่ตอนท้ายของคำตอบนั้นก็ไม่ลืมที่จะบอกด้วยว่า “น้ำลดแล้ว”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น