++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การถ่ายภาพผู้ต้องขังละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่

การถ่ายภาพผู้ต้องขังละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือไม่
โดย สราวุธ เบญจกุล 30 กันยายน 2553 21:42 น.
ผู้ต้องขัง แม้จะเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดหรือเป็นผู้ที่ศาลพิพากษาว่าได้ กระทำความผิดสร้างความเดือดร้อนให้แก่สังคม แต่ก็ถือว่าผู้ต้องขังเป็นประชาชนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องได้รับ สิทธิและความคุ้มครองจากรัฐตามสมควร

สิทธิของบุคคลที่ตกเป็นผู้ต้องขังนั้น หมายถึง สิทธิมนุษยชนทางอาญาเป็นสิทธิของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองเมื่อต้องคดีอาญา ซึ่งในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกันทั้งในเนื้อหาและการปฎิบัติ ทั้งนี้ เพราะแต่ละประเทศมีความเชื่อและแนวคิดแตกต่างกัน ประเทศที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะบัญญัติกฎหมายให้มีการรับรองคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังอย่างกว้างขวาง ตรงกันข้ามกับประเทศที่ไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็น มนุษย์ ซึ่งจะไม่มีการรับรองคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขังตามที่ควรจะเป็น ส่งผลให้มีการละเมิดสิทธิผู้ต้องขังเกิดขึ้นมากมาย

ที่เห็นได้อย่างชัดเจนและเป็นที่แพร่หลายในสังคมมากที่สุดคือ การถ่ายภาพ เนื่องจากพัฒนาการของอุปกรณ์ถ่ายภาพในปัจจุบันที่สะดวก รวดเร็ว สามารถถ่ายภาพได้จากโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ความนิยมการถ่ายภาพมีเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การเชื่อมโยงภาพถ่ายซึ่งเป็นข้อมูลดิจิตอลจากอุปกรณ์ถ่ายภาพเข้าไปยังระบบ เครือข่ายอินเตอร์เน็ตสามารถทำได้โดยสะดวกและรวดเร็วเช่นกัน ส่งผลให้การถ่ายภาพกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวันของคนจำนวนไม่น้อย ในสังคม เมื่อการถ่ายภาพสามารถเกิดขึ้นได้แทบจะทุกที่และทุกเวลา บุคคลอาจถูกถ่ายภาพโดยไม่มีแม้แต่โอกาสที่จะรับรู้ หรือสอบถามความยินยอมก่อน เป็นการรบกวนสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ถูกถ่าย ภาพนั้นเป็นผู้ต้องขัง ซึ่งจะส่งผลในอนาคตหากผู้ต้องขังนั้นพ้นโทษออกมาแล้ว ทำให้ผู้ต้องขังไม่สามารถกลับคืนสู่สังคมได้โดยปกติสุข จึงเป็นประเด็นนำมาสู่คำถามว่า การถ่ายภาพผู้ต้องขังถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของพวกเขาหรือไม่?

การคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลดังกล่าวได้รับความคุ้มครองไว้อย่างชัดเจนตามรัฐธรรมนูญ โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 35 ซึ่งกำหนดว่า "สิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง ตลอดจนความเป็นอยู่ส่วนตัวย่อมได้รับความคุ้มครอง การกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความหรือภาพไม่ว่าด้วยวิธีใดไปยังสาธารณ ชน อันเป็นการละเมิดหรือกระทบถึงสิทธิของบุคคลในครอบครัว เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือความเป็นอยู่ส่วนตัว จะกระทำมิได้ เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองจากการแสวงประโยชน์โดยมิชอบจากข้อมูล ส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับตน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

พระ ราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 ได้ให้อำนาจอธิบดีกรมราชทัณฑ์ออกข้อบังคับกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการสัมภาษณ์ผู้ ต้องขัง และการถ่ายภาพ ภาพยนตร์ วิดิทัศน์ ภายในเรือนจำ พ.ศ. 2540 ซึ่งห้ามไม่ให้บุคคลใด ถ่ายภาพ ภาพยนตร์ วิดิทัศน์รวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังทั้งภายในและภายนอกเรือนจำ เว้น แต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ การถ่ายภาพผู้ต้องขัง ภาพยนตร์ วิดิทัศน์ ห้ามไม่ให้บันทึกภาพใบหน้าหรือภาพที่สามารถเห็นใบหน้าได้อย่างชัดเจน หรือภาพที่สามารถให้เห็นและจำได้ว่า ผู้ต้องขังนั้นเป็นผู้ใด เว้นแต่จะได้ดำเนินการปิดบังใบหน้าผู้ต้องขังนั้นตามวิธีการใดๆ เสียก่อน เพื่อมิให้ปรากฏภาพใบหน้า ผู้ต้องขังอย่างชัดเจนได้ นอกจากนั้นการสัมภาษณ์ผู้ต้องขังต้องเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ต้องขัง

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแนวปฎิบัติเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิด สิทธิของผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ อีกทั้งหากจะเผยแพร่สิ่งบันทึกดังกล่าวสู่สาธารณชนข้อมูลเหล่านั้นต้องผ่าน การตรวจสอบและต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมราชทัณฑ์ให้นำออกเผยแพร่ได้ หาก ตรวจสอบแล้วพบว่าส่วนหนึ่งส่วนใดไม่ก่อให้เกิดประโยชน์และอาจนำมาซึ่งความ เสียหายแก่ทางราชการ อธิบดีกรมราชทัณฑ์สามารถสั่งไม่อนุญาตให้นำสิ่งบันทึกนั้นออกเผยแพร่และมีอำนาจที่จะยึดสิ่งบันทึกนั้นได้

สำหรับศาลยุติธรรมมีการวางหลักเกณฑ์เรื่องการถ่ายภาพในบริเวณศาลหรือในห้องพิจารณาคดีไว้ในระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของศาลยุติธรรม พ.ศ. 2545 ที่ กำหนดว่า การถ่ายภาพ ภาพยนตร์ บันทึกภาพหรือเสียง หรือการกระทำอย่างอื่นในทำนองเดียวกันในบริเวณศาลหรือในห้องพิจารณาที่ไม่มี การพิจารณาคดีให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษา ผู้รับผิดชอบในราชการของศาล

นอกจากนั้น การถ่ายภาพ ภาพยนตร์ บันทึกภาพหรือเสียงผู้ต้องหาหรือจำเลยในขณะที่อยู่ในสถานที่ควบคุมในศาลหรือ ในขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยจากสถานที่ควบคุมภายในศาล หรือห้องพิจารณาคดีไปยังสถานที่ต่างๆ ในบริเวณศาล ไม่สามารถกระทำได้

เมื่อพิจารณาระเบียบและข้อบังคับดังกล่าวข้างต้นประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 เห็นได้ชัดเจนว่ากฎหมายต้องการให้เคารพในสิทธิส่วนบุคคลของบุคคลอื่น โดยเฉพาะการเผยแพร่ภาพถ่ายที่ต้องระมัดระวังการนำเสนอเพื่อไม่ให้ล่วงล้ำ ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น

เห็นได้ว่าบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองในเรื่องของการไขข่าวไม่ว่าจะ เป็นข้อความหรือภาพถ่ายที่เผยแพร่ไปสู่สาธารณชน แม้ผู้ที่ถูกถ่ายภาพจะเป็นผู้ต้องขังซึ่งได้กระทำความผิดกฎหมายก็ตาม เพราะฉะนั้นการถ่ายภาพผู้ต้องขังไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตถือ เป็นการไขข่าวซึ่งข้อความหรือข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นโดยปราศจากความ ยินยอมของผู้นั้นย่อมเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอีกประการหนึ่ง นอก จากที่กล่าวมาข้างต้น การให้ความสำคัญแก่สิทธิส่วนบุคคลของผู้ต้องขัง ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่สำคัญของสังคมที่จะช่วยกันสร้างภูมิคุ้มกันให้กับ สังคม เพื่อให้ในอนาคตเมื่อผู้ต้องขังพ้นโทษออกมาแล้วสามารถปรับตัวเพื่อดำรงชีวิต อยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณค่าต่อไป

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น