++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ปลาหมึกใหม่ในน่านน้ำไทย งานศึกษาวิจัยจาก ม.อ.

ข่าวดี ! นักวิจัย ม.อ. เผยยังพบปลาหมึกพันธุ์ใหม่ในน่านน้ำไทย บ่งชี้ความหลากหลายชีวภาพ ห่วงสภาพแวดล้อมเสื่อมอาจทำปลาหมึกสูญพันธุ์


ดร.จารุวัฒน์ นภีตะภัฏ อาจารย์ ประจำสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า ได้ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลาหมึกมากกว่า 30 ปี โดยทำการรวบรวมตัวอย่างสายพันธุ์ปลาหมึกเพื่อเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถาน ธรรมชาติวิทยา 50 พรรษาสยามบรมราชกุมารี โดยในระหว่าง ปี 2550-2551 ได้ร่วมกับทีมงานจากภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการสำรวจศึกษาปลาหมึกในแถบคาบสมุทรไทย และพบปลาหมึก 3 ชนิดใหม่ในน่านน้ำไทย

“ปลาหมึก เป็นสัตว์กินเนื้อ อาศัยอยู่ในน้ำเค็ม ในประเทศไทยขณะนี้สำรวจพบสายพันธุ์ปลาหมึกประมาณ 80 ชนิด ในทางวิชาการถือว่าปลาหมึกเป็นสัตว์กลุ่มหอยโดยทางสรีระวิทยา แต่ในส่วนของพฤติกรรมจะคล้ายกับสัตว์จำพวกปลา ด้วยมีความว่องไว สามารถเคลื่อนที่ได้เร็ว ในทางวิชาการถือว่าปลาหมึกเป็น Climax of invertebrate evolution หมายถึงสัตว์ที่เป็นสุดยอดของวิวัฒนาการในสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เพราะว่าสติปัญญาของปลาหมึกมีการพัฒนาเทียบเท่าได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อเทียบแล้วก็มีความฉลาดเท่ากับสุนัข ปลาหมึกทั่วไปจะไม่มีพิษร้ายแรง แต่จะมีเพียงกลุ่มเดียวที่มีพิษถึงตาย คือ ปลาหมึกสายวงฟ้า ซึ่งพบในน่านน้ำไทยด้วย” ดร.จารุวัฒน์กล่าว

ดร.จารุวัฒน์ นภีตะภัฏ
สำหรับปลาหมึก 3 ชนิดใหม่ที่พบครั้งแรกในน่านน้ำไทย ได้แก่ ปลาหมึกลายเสือ mimic octopus, Thaumoctopus cf. mimicus Norman and Hochberg, 2005 เป็น การรายงานจากภาพถ่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งพบบริเวณเกาะสาก จ.ชลบุรี มีขนาดความยาวลำตัวสูงสุด 58 มม. และความกว้างเมื่อเหยียดหนวดทั้งสองออก 600 มม. ลำตัวเป็นกล้ามเนื้อบาง มีช่องเปิดของลำตัวกว้าง สีของลำตัวเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีขีดสีขาวประทั่วตัว มีลายสีขาวรูปตัว U บนด้านหลังค่อนไปทางท้ายตัว มีวงแหวนรูปหยดน้ำสีขาวบริเวณกลางหลัง หนวดสีน้ำตาลเข้มมีแถบสีขาวตามขวาง มีลักษณะผอมบาง และยาวมากเมื่อเทียบกับลำตัว ไม่มี ocelli หรือตาปลอมสำหรับหลอกศัตรู และมีติ่งเนื้อ (papilla) อยู่เหนือตาทั้งสองข้าง

ทั้งยังมีความสามารถในการแปลงกาย (Mimicry) ให้คล้ายคลึงกับสัตว์ชนิดอื่นๆ เป็นการปรับตัวให้อยู่รอดได้ในถิ่นอาศัยที่เป็นหน้าดินเปิดโล่ง ถูกถ่ายภาพได้ในอ่าวไทยเป็นบันทึกครั้งแรกของทั้งสกุลและชนิด และด้วยเป็นปลาหมึกหายากทำให้ปลาหมึกสายลายเสือกลายเป็นเป้าหมายยอดที่นิยม ในการเสาะหาของนักดำน้ำทัศนาจร กิจกรรมดังกล่าวอาจเป็นการคุกคามต่อการดำรงชีวิตและการอยู่รอดเป็นผลให้ปลา หมึกสายลายเสือตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ได้ในอนาคต

และอีก 2 ชนิดพบในฝั่งอันดามัน บริเวณ จ.ภูเก็ต คือ หอยงวงช้างกระดาษใหญ่ greater argonaut , Argonauta argo Linnaeus, 1758 จัดอยู่ในกลุ่มปลาหมึกสายจัดรวมอยู่ใน Order Octopodida เช่นกันแต่เป็นปลาหมึกกลางน้ำ การแพร่กระจายอยู่ในทะเลเปิดเขตร้อนและกึ่งร้อนทั่วโลก หนวดคู่แรกของหอยงวงช้างกระดาษแผ่ออกเป็นแผ่นซึ่งมีต่อมที่จะหลั่งสารเคมี ออกมาสร้างเป็นเปลือกที่เป็นสารพวกแคลเซียมบางๆ เรียกว่าเป็น secondary shell ซึ่งแผ่นเนื้อดังกล่าวยังทำหน้าที่ห่อหุ้มและพยุงเปลือกไว้และยังทำหน้าที่ ดักจับแพลงก์ตอนไว้เป็นอาหารอีกด้วย ส่วนเปลือกจะทำหน้าที่เหมือนกล่องที่ขนย้ายได้สะดวก ใช้เก็บ ห่อหุ้ม ปกป้องแพไข่ไว้จนกระทั่งไข่ฟัก

และ ปลาหมึกผ้าห่ม blanket octopus, Tremoctopus violaceus cf. gracilis Delle Chiaje, 1830 เป็น ปลาหมึกในกลุ่มปลาหมึกสาย (octopus) ซึ่งเป็นปลาหมึกกลุ่มที่มีหนวดแปดเส้นในอันดับ Octopoda ครอบครัว Tremoctopodidae สกุล Tremoctopus โดยมีเพียงสกุลเดียวที่จัดอยู่ในครอบครัวนี้

ลักษณะเด่น คือ มีรูเปิด(cephalic water pore)ที่ส่วนบนและส่วนล่างของหัวด้านละ 1 คู่ รูที่อยู่ด้านบนจะมีขนาดใหญ่กว่าด้านล่างเล็กน้อย และมีแผ่นเนื้อบางๆ(web)ที่เชื่อมระหว่างหนวดคู่แรก(คู่ที่อยู่กลางด้านบน ของหัว, dorsal arms)และระหว่างหนวดคู่แรกกับคู่ที่สอง (dorso-lateral arms) จะแผ่ออกเป็นแผ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนที่อยู่สองข้างของหนวดคู่แรกทั้งสองเส้นจะยาวมาก อาจยาวเป็นสองถึงสามเท่าของความยาวลำตัว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อสามัญ นอกจากนั้น ส่วนปลายของหนวดคู่แรกนี้ยังมีลักษณะเป็นเส้นยื่นยาวเลยส่วนที่เป็น“ผ้าห่ม” ออกไปอีกสองถึงสามเท่า รวมแล้วหนวดคู่แรกนั้นยาวกว่าลำตัวห้าถึงหกเท่าเลยที่เดียว ความยาวรวมของปลาหมึกผ้าห่มจึงอาจจะยาวได้ถึง 2 เมตร

ตัวอย่าง ที่พบในน่านน้ำไทยครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกโดยหอยงวงช้างกระดาษใหญ่ได้มา จากผลจับของเรืออวนล้อมที่ทำการประมงในทะเลอันดามัน จังหวัดภูเก็ต ที่บริเวณน้ำลึกประมาณ 4,000 เมตร และตัวอย่างปลาหมึกผ้าห่มเป็นตัวอย่างที่เก็บได้จากเรืออวนล้อม ที่ท่าเรือรัษฎา จ. ภูเก็ต ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 เป็นเพศเมียทั้งหมด ตัวอย่างที่พบมีส่วน “ผ้าห่ม” ที่ไม่สมบูรณ์ ขาดแหว่งอาจจะเพราะความบอบบางประกอบกับวิธีการจับที่มุ่งหมายสัตว์อื่น มากกว่า

ขณะนี้ ดร.จารุวัฒน์ ได้ทำการสำรวจศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของปลาหมึก ในโครงการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพในหมู่เกาะตะรุเตา จ.สตูล “โครงการนี้เป็นชุดโครงการวิจัยที่ทำการสำรวจรอบด้าน โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยวิจัยในสถานวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลาย ทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย และภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ เนื่องด้วยหมู่เกาะตะรุเตาเป็นบริเวณที่ยังไม่มีการสำรวจความหลากหลายทาง ชีวภาพรอบด้านพร้อมกัน จึงเป็นโอกาสอันดีเพื่อให้ได้ข้อมูลและองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ ต่อไป ซึ่งโครงการนี้ได้ดำเนินมาเป็นปีที่ 2 แล้ว คาดว่าสามารถสรุปผลได้ประมาณสิ้นปีนี้” และอีกหนึ่งโครงการเป็นการศึกษาความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของกลุ่มปลาหมึก กระดองในบริเวณคาบสมุทรไทย โดยศึกษาจากดีเอ็นเอ ผลการศึกษาเบื้องต้นยังไม่สามารถจำแนกความแตกต่างของสายพันธุ์ปลาหมึกของ ทะเลฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะต้องศึกษาเพิ่มเติมโดยเอาข้อมูลจากการศึกษาดีเอ็นเอและสัญฐานวิทยามา ผนวกกันเพื่อหาข้อสรุปต่อไป

สุดท้าย ดร.จารุวัฒน์ ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบนิเวศของปลาหมึกไว้ว่า “ส่วน ของระบบนิเวศของปลาหมึกในประเทศไทยซึ่งเคยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ปัจจุบันด้วยสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป น้ำเสื่อมสภาพ ผนวกกับมีการจับเพื่อการบริโภคมากขึ้นด้วยปริมาณของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น จึงเป็นสาเหตุทำให้ทรัพยากรปลาหมึกลดน้อยลง ทั้งนี้ทั้งนั้นการรักษาทรัพยากรนี้ให้ยั่งยืนขึ้นอยู่กับจิตสำนึกของทุกคน ในการร่วมกันอนุรักษ์”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น