โดย วรรณนิภา พิภพไชยาสิทธิ์, สุนันทา อักขระกิจ
การผลิตและการบริหารจัดการน้ำ ถือว่ามีความสำคัญยิ่งกับภาคอุตสาหกรรม จำเป็นต้องมีการวางแผนล่วงหน้าว่า การบริหารจัดการน้ำในอดีตนั้นส่วนใหญ่ภาครัฐดำเนินการ ปัจจุบันภาคเอกชนได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เนื่องจากมีความคล่องตัวมากกว่า สามารถบริหารการใช้น้ำ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับประเทศไทย ภาคเอกชนที่ดำเนินการเรื่องน้ำให้กับภาคอุตสาหกรรมคือ “บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์” ทำหน้าที่ขนส่งน้ำดิบผ่านระบบท่อไปยังภาคอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการจัดการน้ำอย่างมีคุณค่า เพื่อความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างยั่งยืน ปัจจุบันมี นายประพันธ์ อัศวอารี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
แหล่งน้ำในภาคตะวันออก ส่วนใหญ่อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน เพราะฉะนั้นจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำสำหรับรองรับการเจริญเติบโตในอีก 20 - 30 ปีข้างหน้า จึงจัดตั้งบริษัทเอกชนขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการบริหารจัดการน้ำอย่างมืออาชีพ และเป็นการป้องกันปัญหาในระยะยาวไม่ให้เกิดการแย่งชิงน้ำในพื้นที่
โดยท่อส่งน้ำของ อีสท์ วอเตอร์ นั้น เป็นแบบ Water Grid ที่มีการวางท่อเชื่อมโยงแหล่งน้ำจากพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา จึงสามารถส่งน้ำให้กับลูกค้าได้หลากหลายพื้นที่ และยังส่งข้ามเขตได้อีกด้วย จึงเป็นการทำงานแบบครบวงจร รวมถึงสามารถผันน้ำได้จากหลายแหล่ง มีการนำระบบบริหารจัดการน้ำมาใช้โดยการสำรวจว่าแหล่งใดมีปริมาณน้ำมากน้อย เพียงพอหรือไม่ ปริมาณฝนเป็นอย่างไร
หากพื้นที่ใดอยู่ในสภาวะน้ำน้อยจำเป็นต้องผันน้ำมาเพิ่มเติมก็ต้องดู เรื่องราคา ว่าจะต้องผันน้ำจากจุดใดเพื่อให้มีราคาต่ำสุด เพื่อให้เกิดความสมดุลและไม่ขาดแคลน ซึ่งเป็นข้อดีที่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และการติดตามเรื่องน้ำในพื้นที่ต่างๆ นั้น ต้องดำเนินการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลน
มีการนำ “ระบบควบคุมและประเมินผลแบบศูนย์รวม” (Supervisory Control and Data Acquisition หรือ SCADA) มาใช้ ซึ่งเป็นระบบที่นำเทคโนโลยีทางด้านคอมพิวเตอร์สมัยใหม่ มาช่วยในการบริหารและจัดการกระบวนการต่างๆ เมื่อประกอบเข้ากับระบบการสื่อสารอันทันสมัย จะทำให้ระบบควบคุมสามารถทำงานครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่ต้องการความมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพสูง เช่น ระบบการผลิตและจำหน่ายน้ำ ระบบขนส่งของเหลวและก๊าซทางท่อ ระบบสายส่งแรงสูง และระบบจำหน่ายไฟฟ้า
จึงทำให้ติดตามประสิทธิภาพการจ่ายน้ำในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี ได้อย่างทั่วถึงทั้งพื้นที่ และระบบดังกล่าวยังสามารถรักษาดุลยภาพที่เหมาะสมระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลของการส่งน้ำให้เหมาะสมต่อความต้องการใช้น้ำดิบ ของภาคอุตสาหกรรม และการอุปโภคบริโภคได้เป็นอย่างดี
ในการดำเนินงานย่อมเกิดปัญหาและอุปสรรคขึ้น จึงมีแนวทางการแก้ไข ดังนี้ 1. ให้ความสำคัญกับเรื่องการสื่อสาร เพื่อให้ทีมงานทุกฝ่ายได้รับรู้ข่าวสารต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อลดเรื่องความเข้าใจผิด
2. เน้นการทำงานเป็นทีม การทำงานทั้งภายในและภายนอก ทุกฝ่ายต้องสามารถทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพราะหากทีมงานเข้มแข็งก็สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า และซัปพลายเออร์ ที่จะได้รับบริการที่ดีตามไปด้วย รวมทั้งการให้โอกาสกับพนักงานในระดับกลางและล่างอย่างเท่าเทียมกัน
การดำเนินธุรกิจใดๆ ก็ตาม ถ้าเรายังคิดว่าเราเป็นรายเดียว โดยไม่มีคู่แข่งจะไม่สามารถอยู่ได้นาน เพราะไม่ช้าก็เร็วจะต้องมีคู่แข่งเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นในเมื่อเรามีโอกาสดำเนินการก่อนก็ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ต้องบริหารจัดการเรื่องต้นทุน และการบริการให้ดีที่สุด ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ในภาวะที่มีการแข่งขันสูง
ปัจจุบันลูกค้ารายใหญ่ของอีสท์ วอเตอร์ นอกจากการประปาส่วนภูมิภาค และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแล้ว ในจังหวัดระยองยังมีนิคมอุตสาหกรรมเหมราช นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ส่วนที่ชลบุรี ได้แก่ บริษัท ไทยออยล์ บริษัท สหพัฒนพิบูล โรงไฟฟ้า IPP และที่ฉะเชิงเทรา คือ บริษัท โตโยต้า
เพื่อให้การดำเนินงานในด้านต่างๆ บรรลุเป้าหมาย และสร้างความเติบโตให้กับภาคอุตสาหกรรม และภาคการผลิตของประเทศ ภาครัฐและเอกชนต่างมีเป้าหมายเพื่อความสำเร็จเช่นเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือ การทำงานเป็นทีม ต้องสร้างความเข้าใจให้ตรงกันโดยการสื่อสารกันตลอดเวลา หากสามารถดำเนินการได้จะทำให้เป้าหมายของแต่ละฝ่ายบรรลุผลสำเร็จตามที่ได้ ตั้งใจไว้
ส่วน เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการนั้น มีทั้งที่เป็นของไทย และบางส่วนยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ซึ่งเทคโนโลยีที่กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาทดสอบอยู่ในขณะนี้คือ ซอฟต์แวร์ที่จะนำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ เช่น ถ้าเราป้อนข้อมูลราคาค่าไฟ ณ วันนี้ ปริมาณน้ำในแหล่งนี้มีจำนวนเท่านี้ และปริมาณความต้องการใช้น้ำของผู้บริโภค จากนั้นให้ซอฟต์แวร์บริหารจัดการ หรือคำนวณออกมาว่าจะใช้สูตรใดถึงจะดีที่สุดในช่วงเวลานั้นๆ หากผลการทดลองดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ จะทำให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว และสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที
ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น