++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ม.บูรพา แนะอาจารย์ -รุ่นพี่ ปลูกฝังรุ่นน้องแยกขยะช่วยโลกร้อน

ม.บูรพา รณรงค์ความสะอาดยกใหญ่ ผลักดันทุกคนมีส่วนร่วม แนะอาจารย์และรุ่นพี่เป็นกระบอกเสียงปลูกฝัง แยกขยะ สู่รุ่นน้อง ขณะที่นิสิต ยอมรับ แยกขยะก่อนทิ้ง ยุ่งยาก แม้รับรู้ว่าช่วยลดโลกร้อน เผย ติดนิสัยมักง่ายจี้ปรับปรุงตัว ด้านบุคลากรมหา'ลัย เสนอ คณะฯ ควรมีป้ายแยกถังขยะให้ชัดเจน
ปัจจุบัน ถังขยะ มีการจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน อาทิ ถังขยะสีเขียว รองรับขยะเปียก, ถังขยะสีเหลือง รองรับขยะรีไซเคิล และถังขยะสีแดง รองรับขยะอันตราย สำหรับให้ประชาชนคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพื่อลดภาระในการกำจัดขยะมูลฝอย รวมทั้งยังช่วยลดสภาวะโลกร้อน
      
       อธิฐาน กิจมาพวานนท์ นิสิตชั้นปีที่ 2 ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ตนไม่ทราบว่าถังขยะสีใด แยกขยะประเภทไหน แต่ส่วนใหญ่ก่อนทิ้งขยะตนจะสังเกตดูภายในถังก่อนว่ามีขยะประเภทไหนทิ้งอยู่ ซึ่งตนก็จะทิ้งตาม เนื่องจากเห็นว่า ถังขยะของทางคณะมนุษยศาสตร์ฯ ไม่มีการแบ่งแยกขยะชัดเจนเหมือนกับคณะอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย
      
       ด้าน “ณัฐิดา กรชวน” นิสิตชั้นปีที่ 4 ภาค วิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ไม่ว่าจะขยะประเภทใดก็ตาม ส่วนใหญ่ตนจะทิ้งลงในถังขยะสีเขียว ทั้งสิ้น เนื่องจากสะดวกกว่าที่ต้องมาแยกก่อนทิ้ง ประกอบกับช่วงเวลาเร่งรีบ ตนจึงไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าหากมีการติดป้ายแยกขยะที่ชัดเจน เช่นเดียวกับถังขยะของทางสำนักหอสมุด ก็อาจทำให้นิสิตทิ้งขยะได้ถูกประเภทมากขึ้น
      
       ส่วน “เพ็ญพร ลือชา" นิสิตชั้นปีที่ 2 ภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ปกติตนจะแยกขยะก่อนทิ้งทุกครั้ง เนื่องจากทราบดีว่าจะช่วยลดภาระในการคัดแยกขยะ อีกทั้งขยะบางประเภทก็สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดสภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตามผู้สื่อข่าวถามต่อว่า คิดอย่างไรที่เพื่อนนิสิตไม่ทิ้งขยะให้ถูกประเภท นิสิตภาควิชาจิตวิทยา กล่าวว่า นิสิตอาจมองว่าการแยกขยะอาจเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้มีความสำคัญหรือส่งผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนมากนัก แต่การทำในสิ่งที่ดี แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อยก็ไม่ควรละเลย อย่างไรก็ตาม ทางคณะฯ ควรเพิ่มจำนวนถังขยะให้มากขึ้น
      
       ด้าน“พัชรินทร์ พาหิรัญ” บรรณารักษ์ ประจำห้องสมุดคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ขยะบางประเภทนั้นก็แยกทิ้งได้ยาก เช่น กล่องโฟมที่บรรจุอาหาร เมื่อมีเศษอาหารเหลืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ ก็แยกได้ยากว่าจะทิ้งในถังใด ทางคณะจึงควรมีป้ายให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขยะประเภทใด ควรทิ้งในถังไหนติดอยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งจะช่วยให้ทิ้งขยะได้ถูกที่มากขึ้น นอกจากนี้ควรมีการรณรงค์เรื่องการแยกขยะเพิ่มขึ้น
      
       บรรณารักษ์ ประจำห้องสมุดคณะมนุษยศาสตร์ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับด้านบุคลากรของทางคณะฯ จะมีการแยกขยะประเภทรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติก กระดาษอย่างชัดเจน จึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด
      
       ชุติมา โกกอง อายุ 29 ปี เจ้าหน้าที่ภาควิชาสารสนเทศศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ก่อนทิ้งขยะแต่ละครั้งตนจะสังเกตก่อนว่าภายในถังมีขยะประเภทใดอยู่แล้วจึงทิ้งตาม ส่วนที่นิสิตทิ้งขยะผิดถังอาจ เพราะยังสับสนว่าถังไหน ทิ้งขยะอะไร นอกจากนี้บริเวณด้านหลังคณะฯ ยังมีถังขยะประเภทรีไซเคิลน้อย ซึ่งทางคณะฯ ควรเพิ่มจำนวนถังขยะประเภทนี้ให้มากขึ้น เนื่องจากปริมาณขยะมีจำนวนมาก สวนทางกับจำนวนถังขยะ
      
       ขณะที่ อาจารย์พีรพัฒน์ มั่งคั่ง รองผู้อำนวยการศูนย์สังคมและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี กล่าวว่า การทิ้งขยะไม่ถูกที่ถูกทางนั้น ทำให้ยากต่อการแยกขยะ และยากต่อการนำไปแปรสภาพที่ถูกต้อง ดังนั้นการทิ้งขยะที่ถูกต้องและไม่ส่งผลต่อการทำลายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินั้น คือการทิ้งขยะให้ถูกถัง ซึ่งเป็นการแยกขยะอย่างถูกวิธี
      
       “เรื่องขยะ ไม่ได้เป็นเรื่องของคณะใดคณะหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ทางมหาวิทยาลัยฯ ควรส่งเสริม และกำหนดนโยบาย เพื่อผลักดันให้นิสิตรู้จักรักษาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งปลูกฝังจิตสำนึกในกับทุกคนในมหาวิทยาลัยอาจารย์ และรุ่นพี่ ถือว่าเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ ในการกระตุ้นในนิสิตรุ่นน้อง หันมาใส่ใจในเรื่องการแยกขยะ และดูแลสิ่งแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัยมากขึ้น” อาจารย์พีรพัฒน์กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น