โดย ว.ร. ฤทธาคนี 14 ตุลาคม 2553 20:29 น.
ทำไมต้องบังคับปรองดอง เพราะปกติแล้วปรองดองเป็นเรื่องของจิตใจ เป็นเรื่องของจิตสำนึก และเป็นอารยะของแต่ละบุคคล ท่านๆ เราๆ ต้องยอมรับว่าในระหว่างปัญญาชน มีความแตกแยกกันในทางความคิดมากมายหลายมิติ และบางกรณีก็เกิดความบาดหมางกันหากผลประโยชน์ไม่ลงตัว หรือเรามักจะพบว่านักการเมืองคนละพรรคต่างความคิด นโยบาย และผลประโยชน์ ใช้กำลังบังคับเอาชนะเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ อันเป็นพฤติกรรมปกติของมนุษย์ มักที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งนั้นด้วยการใช้กำลังมาแต่โบราณ จนเกิดวิธีการซับซ้อนในรูปแบบต่างๆ และในปัจจุบันก็ยังยึดวิธีการใช้กำลังแต่มาในรูปแบบโหดนั้นคือการก่อการร้าย และกลยุทธ์พื้นฐานของการก่อการร้าย คือ การข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ การลอบฆ่า การลอบทำร้ายด้วยวิธีการต่างๆ
ในประวัติศาสตร์ไทย มีการแย่งชิงอำนาจกันมาทุกสมัยแม้จนปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นยุคประชาธิปไตย มีเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การสร้างความปรองดองที่พบได้ในประชุมพระ บรมราโชวาท และพระโอวาทของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่กรมศิลปากรรวบรวม ไว้
มีพระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร ฉบับที่ 1 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2437 ที่ทรงเล่าถึงพระเมตตาธรรมของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี สรุปได้ว่า พระองค์ไม่ได้สิ้นความนับถือหรือยกเหตุทำอันตรายแก่ครอบครัวของพระเจ้ากรุง ธนบุรีอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นที่ตั้ง ตามคำขอแห่งกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ยกเว้นแต่กรมขุนอนุรักษ์สงคราม พระราชโอรสองค์ใหญ่ของพระเจ้ากรุงธนบุรีกระทำองค์เป็นกบฏ
นอกจากนั้นแล้วรัชกาลที่ 1 ทรงชุบเลี้ยงใช้สอยราชโอรสและราชธิดาองค์อื่นๆ เป็นปกติ จนเป็นถึงหมอหลวงก็มี เข้ามาถวายพระโอสถ และเข้ามารักษาในพระราชวัง ซึ่งผู้เป็นบุตรแห่งศัตรูทั้งหลายนั้น เมื่อได้รับพระกรุณาเช่นนั้น ก็กลับกลายเป็นดีไป จนถึงใช้ไปรบทัพจับศึกกันก็ได้ ยกเว้นพระยาสรร ซึ่งใจกลับกลายไปเมื่อภายหลังนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มิได้ลงโทษปึงปังโดยเร็ว ได้พิจารณาไต่สวนจนเห็นถ่องแท้ว่าเป็นคนไม่ตั้งในสุจริตแล้ว จึงได้ประหารชีวิตเสีย
ความขัดแย้งเกิดขึ้นแม้กระทั่งในพระราชวงศ์ใกล้ชิด เมื่อเกิดบาดหมางขึ้นในระหว่างกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ไม่พอพระทัยรัชกาลที่ 1 ทรงไม่ตามพระทัยเรื่องงบประมาณ จนก่อการวิวาท เมื่อสมเด็จพระพี่นาง 2 พระองค์ได้ว่ากล่าวห้ามปราม พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็ยินยอมโดยดี มิได้มีอาฆาตจองเวรต่อพระราชอนุชา แต่ทรงกลับไม่ยินยอมจนครั้งประชวรพระอาการมาก จึงได้ยุยงให้พระโอรส 2 พระองค์ คือ เจ้าลำดวน เจ้าอินทปัตให้เป็นขบถนั้น
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้ตัดเฉพาะเจ้า 2 องค์นั้น อันเป็นผู้ก่อเหตุจลาจลขึ้นในเมือง พระราชโอรสพระราชธิดาอื่นๆ ของกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ก็ได้ทรงชุบเลี้ยงโดยเสมอตามสมควรแก่คุณานุรูป มิได้มีความรังเกียจถือเขาถือเราอย่างใด ใช้กลมเกลียวไปทัพจับศึกได้เหมือนกัน ส่วนข้าราชการแต่ครั้งกรุงธนบุรีที่ยังมีตัวอยู่ เช่น เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชต้นตระกูลบุณยรัตพันธุ์ ก็ทรงชุบเลี้ยงมาตลอดจนสิ้นแผ่นดิน
เรื่องราวการสร้างความปรองดองในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า จุฬาโลก ตามที่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราชทรงเล่าไว้ในพระบรมราโชวาทนั้น เป็นบทเรียนที่ทรงคุณค่าในแผ่นดินทองของไทย โดยเฉพาะทรงใช้เมตตาธรรม นิติธรรม และตรรกะในการบริหารความขัดแย้งในแผ่นดินของพระองค์
หากพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงใช้พระเดชสถานเดียวแล้ว แผ่นดินไทยคงไม่เหลืออะไรให้เราๆ ท่านๆ ได้ยืนอยู่ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์เฉกเช่นทุกวันนี้
เหตุการณ์ผ่านไปจนผ่านยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นยุคประชาธิปไตย มีความขัดแย้งทั้งต้องกลายเป็นกบฏไปก็มากหลายกรณี แต่หลายกรณีหลายกลุ่มหลายคณะ ก็เลิกลาละอาฆาตจับวางซึ่งโทสะ โมหะ โลภะ ไว้เบื้องหลัง เหตุการณ์ล้างแค้นทางการเมืองก็สิ้นไปด้วย
แต่เหตุการณ์สงกรานต์ 2552 และพฤษภาคม 2553 ตลอดจนกระแสการจัดกองกำลังรบแดงที่ฝึกอาวุธ ซึ่งสือหลายตระกูลเรียก “นักรบแดง” โดยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553 พล.ต.ท.ชัยยะ ศิริสัมพันธ์กุล ผบช.ภ. 5 จับกุมตัวนักรบแดง 11 คน ที่ฝึกอาวุธและการใช้อาวุธมาจากชายแดนกัมพูชา ซึ่งต่อมามีการสอบสวนขยายผล จนโยงกันกับกลุ่มหัวรุนแรง รวมทั้งกลุ่มรักเชียงใหม่ 51 จำนวน 39 คน ที่ถูกระบุว่าเป็นแกนหลักให้กลุ่มนักรบแดง และมีนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง สมุนคนโปรดของทักษิณร่วมอยู่ด้วย
หลักฐานพยานสิ่งแวดล้อมรอบตัวนายอริสมันต์ บ่งชี้ว่านายอริสมันต์ ประยุกต์ใช้กลยุทธ์ก่อการร้ายในการทำกบฏโดยเฉพาะพฤษภาคม 2553 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง และไม่เคยคิดที่จะเลิกรา คำถามคือใครบงการ และถ้าคนบงการหยุดบทบาทของตน นายอริสมันต์จะหยุดหรือไม่นั้น เป็นคำถามที่สังคมไทยจะต้องคิด วิเคราะห์ และถามว่าความปรองดองที่เราปรารถนานั้น ต้องมาจากนิติธรรม นิติรัฐ และหลักประชาธิปไตยบริสุทธิ์ ไม่ใช่อัตตาธิปไตย
โดย เฉพาะทักษิณ ต้องยอมรับพฤติกรรมของตนเอง จนสื่อต่างประเทศตีแผ่ว่าเป็น 1 ใน 5 ของ Bad Leader หากทักษิณยุติบทบาททางการเมืองอย่างสิ้นเชิงด้วยบริสุทธิ์ใจยอมรับความจริง และคำพิพากษา หรือจะทำอะไรก็ได้ที่แสดงว่าฉันเลิกแล้ว การปรองดองเกิดขึ้นได้แน่ แต่ถ้าทักษิณยังอาฆาตเคียดแค้น หรือยังรำลึกว่าแผ่นดินนี้เป็นของกูอยู่ละก็ ปรองดองเกิดยาก
nidd.riddhagni@gmail.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น