++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

พ.ร.บ .คุ้มครองความเสียหายฯ กับผลกระทบด้านลบต่อสังคมในระยะยาว

พ.ร.บ .คุ้มครองความเสียหายฯ กับผลกระทบด้านลบต่อสังคมในระยะยาว
โดย สุจิตรา


แรกทีเดียวผู้เขียนรู้สึกเพียงแค่ “เฉยๆ” กับ (ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พศ. ... แต่ก็สังเกตเห็นว่าเริ่มมีแพทย์จำนวนมากที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับ (ร่าง) พ.ร.บ.ผู้เขียนจึงเริ่มสนใจและศึกษาในรายละเอียดของ (ร่าง) พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งก็ทำให้ได้เห็นประเด็นที่สร้างปัญหาแก่ผู้ปฏิบัติงานเพราะมีความไม่ ชัดเจนในหลายมาตรา นี่คือความไม่ชัดเจนในมิติด้านความเข้าใจหรือด้านการปฏิบัติตาม ครั้นเมื่อได้กลับมาคิดทบทวน ได้กลับไปศึกษาใหม่ ได้เทียบเคียงกับกฎหมายอื่น ได้เทียบเคียงกับปัญหาทางสังคมอื่นๆ ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนก็ยิ่งมีความไม่เห็นด้วยเป็นทับทวี

ได้มีผู้รู้หลายท่านวิพากษ์ (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้ในแง่ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบกับผู้ให้บริการด้านสาธารณ สุขและตัวระบบการให้บริการสาธารณสุข ซึ่งผู้เขียนคงไม่ไปวิพากษ์ในประเด็นเหล่านี้ ท่านใดที่สนใจสามารถสอบถามจากรองเลขาธิการแพทยสภา ซึ่งรองเลขาฯ สามารถที่จะแสดงให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจน

ประเด็นที่ผู้เขียนสนใจและตั้งคำถามคือประเด็นผลกระทบต่อสังคมในระยะ ยาว ทั้งนี้โดยพิจารณาจากกรอบแนวคิด โมเดลการแก้ปัญหา กระบวนการยกร่างจนมาสู่ (ร่าง) พ.ร.บ.ที่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

ใน (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้กำหนดให้มีกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการรับ บริการสาธารณสุขโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด (ตามมาตรา 5 ของ (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้) และเงินจากกองทุนก็มาจากเงินที่กำหนดให้สถานพยาบาลต่างๆ (รวมทั้งคลินิกที่ให้บริการในระดับชุมชนและร้านขายยาทุกร้าน) ต้องมาลงขันกันก่อน ทั้งจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชนแล้ว ด้วยเหตุผลว่าสถานพยาบาลทุกแห่งเป็นผู้ให้บริการเหมือนกันและอาจมีโอกาสที่ จะเกิดเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์

ผู้เขียนคิดว่าถ้าสังคมเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว สังคมก็ควรที่จะต้องมีกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการใช้ถนนที่สร้าง อย่างไม่มีคุณภาพโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด เช่น ถนนที่สร้างแล้วเกิดเป็นหลุมบ่อและทำให้ระบบช่วงล่างของรถได้รับความเสียหาย (ไม่มากก็น้อย) ถนนที่สร้างแล้วไม่ลาดเอียงตรงโค้งอย่างเพียงพอรวมทั้งไม่มีไฟถนนอย่างพอ เพียง ทำให้รถที่วิ่งผ่านโค้งนั้นๆ ในยามค่ำมืดอาจเกิดอุบัติเหตุรถตกไหล่ทางหรือแหกโค้ง รวมทั้งรถชนกันหรือชนคนข้ามถนนซึ่งก็ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งต่อชีวิตและ ทรัพย์สิน ในส่วนเงินของกองทุนเพื่อชดเชยความเสียหายจากการใช้ถนนฯ ก็กำหนดให้บริษัทรับสร้างถนนทั้งบริษัทเล็กและใหญ่ทั่วประเทศ (รวมทั้งบริษัทต่างชาติ) การไฟฟ้าภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง (เพราะเป็นคนติดตั้งไฟที่ควรจะพอเพียงเนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญ)

การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (เพราะอาจผลิตไฟไม่เพียงพอทำให้ไฟส่องสว่างถนนไม่สว่างเพียงพอ) และบริษัทน้อยใหญ่ที่รับทำราวกั้นขอบถนน (เพราะทำให้รถเสียหาย รถบุบ ไม่มีคุณภาพอย่างในเยอรมนี และไม่สามารถป้องกันรถไม่ให้ตกลงคูข้างถนน) รวมทั้งงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของทุกคน ในรูปเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (ซึ่งรวมทั้งภาษีจากคนที่ไม่ได้ขับรถด้วยเพราะขับไม่เป็น) ถ้าหน่วยงานหรือผู้ประกอบการใดไม่ส่งเงินเข้าร่วมสมทบก็มีความผิดอาจถูกยึด หรืออายัดทรัพย์สินเพื่อให้ชำระเงินได้

เช่นกัน สังคมก็ควรที่จะเรียกร้องให้มีกฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีกองทุนเพื่อชดเชยความ เสียหายจากการบริโภคอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด เช่น อาหารที่ทำให้ท้องเสีย อาหารที่ไม่มีคุณค่าอาหาร อาหารที่ไม่เป็นไปตามภาพที่ปรากฏในเมนูอาหาร อาหารที่ปนเปื้อนทั้งสารฟอกขาว สารบอแรกซ์ ฯลฯ

อาหารที่ทำให้เกิดเศษอาหารติดค้างตามร่องฟันและทำให้ฟันผุ เครื่องสำอางที่ใช้แล้วหน้าหรือรักแร้ไม่ขาวดังคำโฆษณา เครื่องดื่มของหวานอัดลมที่ทำให้ฟันผุ ครีมหน้าขาวประเภท “กวนเอง” และทำให้เกิดอาการแพ้บนใบหน้า เสื้อผ้าที่ขาดรุ่ยเป็นขุยง่ายและตะเข็บแตกง่าย เสื้อสีตกและทำให้เสื้อผ้าชิ้นอื่นที่ซักร่วมกันเสียหาย เงินกองทุนก็ต้องมาจากบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าทุกราย ผู้ผลิตเครื่องสำอางทุกราย และร้านอาหารทั้งเล็กใหญ่ทุกราย ทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรายใหญ่ระดับประเทศและรายเล็กประจำชุมชน รวมทั้งงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของทุกคน ในรูปเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ถ้าหน่วยงานหรือผู้ประกอบการใดไม่ส่งเงินเข้าร่วมสมทบก็มีความผิดอาจถูกยึด หรืออายัดทรัพย์สินเพื่อให้ชำระเงินได้

และเช่นกัน สังคมก็ควรที่จะเรียกร้องให้กฎหมายที่กำหนดให้ต้องมีกองทุนเพื่อชดเชยความ เสียหายจากการซื้อบ้านหรือห้องพักหรืออาคารชุด โดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด เช่น บ้านที่ทรุดอย่างมาก บ้านที่ทรุดก่อนเวลา หมู่บ้านที่น้ำท่วมขังในหน้าฝน บ้านที่ไม่ได้คุณภาพ เช่น หลังคารั่ว พื้นปาร์เก้โก่งยกลอย หมู่บ้านที่ไม่มีส่วนกลางหรูตามที่โฆษณา บ้านอาคารชุดหรือห้องแถวที่สร้างไม่เสร็จทั้งจากผู้ประกอบการที่มีปัญหาการ ขาดสภาพคล่องรวมทั้งผู้ประกอบการที่ตั้งใจจะหลอกลวงผู้ซื้อ

หมู่บ้านที่ขโมยขึ้นบ้านเพราะระบบรักษาความปลอดภัยไม่ดีพอ เงินกองทุนในกรณีนี้ก็มาจากบริษัทก่อสร้างทุกราย ทั้งรายใหญ่ระดับบิ๊กโฟร์ของประเทศ และรายย่อยระดับตำบลตามชายแดน เจ้าของอาคารชุดและนิติบุคคลที่กำลังยื่นคำขอก่อสร้างนิติบุคคลของหมู่บ้าน บริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกระเบื้องมุงหลังคา และบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปาร์เก้ บริษัทผู้ผลิตเสาเข็มก่อสร้าง กรมทะเบียนการค้าและกระทรวงพาณิชย์ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบประวัติผู้ขอ ขึ้นทะเบียนการค้าแต่ไม่สามารถตรวจพบผู้ประกอบการที่มีประวัติตั้งใจหลอกลวง ผู้บริโภค รวมทั้งเงินที่มาจากงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีของทุกคนในรูปเงินอุดหนุน จากรัฐบาล และเช่นกัน ถ้าหน่วยงานหรือผู้ประกอบการใดไม่ส่งเงินเข้าร่วมสมทบก็มีความผิดอาจถูกยึด หรืออายัดทรัพย์สินเพื่อให้ชำระเงินได้

แล้วกองทุนชดเชยความเสียหายจากกระบวนการยุติธรรมล่ะ?

ในปัจจุบันมีกฎหมายดังกล่าวแล้ว นั่นคือ “พ.ร.บ. ค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544” แต่ตาม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จำเลยผู้บริสุทธิ์ในคดีอาญาซึ่งคือผู้ที่ถูกกักขังแต่ในที่สุดแล้วเป็นผู้ บริสุทธิ์ (เช่นจำเลยในคดีเชอรี่ แอน ดันแคน) จะได้รับการชดเชยก็ต่อเมื่อคดีถึงที่สิ้นสุด (คือฎีกา) ซึ่งอาจใช้เวลามากกว่า 10 ถึง 20 ปี ทำไมถึงไม่ชดเชยตั้งแต่ในชั้นที่ศาลอุทธรณ์กลับคำตัดสินของศาลชั้นต้นเลยโดย ไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สิ้นสุด

ถ้าศาลฎีกากลับคำตัดสินของศาลอุทธรณ์แล้วจึงค่อยนำเงินคืน ในส่วนของเงินที่จ่ายตามพ.ร.บ.ฉบับนี้ก็เป็นเงินที่กระทรวงยุติธรรมต้องขอ จากงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลเป็นปีต่อปี ทำไม พ.ร.บ.นี้จึงไม่กำหนดให้ตั้งเป็นกองทุนเพื่อชดเชยผู้เสียหายจากกระบวนการ ยุติธรรมโดยเก็บเงินสมทบจากสถานีตำรวจภูธรตำบลทุกตำบล สถานีตำรวจภูธรอำเภอทุกอำเภอ สถานีตำรวจในเขตนครบาลทุกแห่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากสำนักงานอัยการจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานอัยการสูงสุด จากศาลยุติธรรมชั้นต้นทั้งศาลแขวง ศาลจังหวัด ศาลแพ่ง ศาลอาญา ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา จากสำนักงานทนายความเอกชนทุกแห่งทั้งใหญ่เล็กในประเทศทั้งสำนักงานทนายความ ของคนไทยและที่เป็นสาขาของชาวต่างชาติ

แล้วกองทุนผู้ได้รับความเสียหายจากการศึกษา ประมาณว่า เรียนแล้วสอบตก สอบเข้าศึกษาต่อสถาบันอื่นไม่ได้ กองทุนผู้ได้รับความเสียหายจากการได้รับบริการด้านสื่อมวลชน เช่น สื่อมวลชนที่ลงข่าวและทำให้เสียชื่อเสียง ลงข่าวผิดพลาด กองทุนผู้ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค กองทุนชดเชยความเสียหายจากการใช้บริการโทรคมนาคม กองทุนชดเชยความเสียหายจากการใช้บริการขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ และทางน้ำ รวมทั้งกองทุนในด้านต่างๆ อีกมากมาย

เมื่อไล่เรียงไปในแต่ละกองทุนที่อุบัติขึ้นมาแล้ว และที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา (ตามที่กล่าวในตอนต้น) สุดท้ายแล้วทุกหน่วยงานของรัฐและผู้ประกอบการเอกชนก็ต้องถูกกำหนดและบังคับ ให้ต้องร่วมจ่ายเงินสมทบกับกองทุนใดกองทุนหนึ่ง หรืออาจหลายกองทุนพร้อมๆ กัน รวมทั้งเงินงบประมาณของแผ่นดินจำนวนมหาศาลที่ต้องมาสนับสนุนกองทุนเหล่านี้ เพียงเพื่อเตรียมชดเชยความเสียหาย โดยปล่อยให้คณะกรรมการกองทุนเป็นผู้บริหาร รวมทั้งคณะอนุกรรมการที่เป็นผู้ปฏิบัติและมีอิทธิพลที่แท้จริงในแต่ละชุด

งบประมาณแผ่นดินที่ควรนำไปจัดสรรเพื่อการลงทุนของประเทศและพัฒนา ประเทศในด้านต่างๆ ซึ่งโดยปกติก็คิดเป็นสัดส่วนที่น้อยมากอยู่แล้วก็จะต้องถูกลดทอนไปเพื่อกอง ทุนเหล่านี้ การจ่ายของกองทุนเหล่านี้ในทางเศรษฐศาสตร์ถือว่าเป็นการใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้ เกิดผลผลิต (Non-productive expenditure)

ท่านผู้อ่านคิดว่าจำนวนการฟ้องร้องในเรื่องต่างๆ เหล่านี้เพื่อเรียกร้องการชดเชยจากกองทุนต่างๆ จะมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อยๆ หรือแนวโน้มจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ

ท่านผู้อ่านคิดว่าเมื่อมีกองทุนต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว เงินชดเชยรวมจากกองทุนต่างๆ ที่ต้องใช้เพื่อชดเชยตามคำเรียกร้องเหล่านี้จะมีแนวโน้มการจ่ายมากขึ้น เรื่อยๆ ในแต่ละปีหรือลดลงไปเรื่อยๆ ในแต่ละปี

ท่านผู้อ่านคิดว่า เมื่อมีกองทุนต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว สังคมในอนาคตจะวุ่นวายหรือไม่

ท่านผู้อ่านคิดว่า เมื่อมีกองทุนต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นแล้ว ประเทศชาติจะพัฒนาอย่างเต็มที่ได้อย่างไร

ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจคิดแย้งว่า กองทุนอื่นไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตั้งขึ้นมาเพราะมีศาลแพ่งในคดีละเมิดและ ศาลอาญาในกรณีที่เกิดอันตรายต่อชีวิตหรือกรณีที่เข้าข่ายเป็นคดีอาญาอยู่ แล้ว ผู้ใช้บริการด้านต่างๆ สามารถฟ้องร้องเป็นคดีแพ่งและคดีอาญาได้

คำถามคือ แล้วทำไมจึงต้องมีกองทุนความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขในเมื่อก็ไม่ ได้ตัดสิทธิการฟ้องร้องทางคดีแพ่งและคดีอาญาอยู่แล้วเช่นกัน

โดยส่วนตัวนั้น ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการที่ต้องนำเงินทั้งเงินภาษีประชาชนในรูปของเงินงบ ประมาณและเงินของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่อาจมีคุณภาพและไม่ได้มีส่วน ในการก่อให้เกิดผลเสียหายในการให้บริการสาธารณสุขมารวมกันและให้กลุ่มบุคคล ในนามของ “คณะกรรมการบริหารกองทุน” มาเป็นผู้ดูแลกองทุน แม้จะมีความพยายามอธิบายว่า มีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมาคอยทำหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินและรับรองดังความ ในมาตรา 24 แต่นั่นก็มิได้เป็นหลักประกันที่แท้จริง เพราะมิเช่นนั้นประเทศไทยคงไม่ได้อยู่ลำดับที่ 15 จากทั้งหมด 16 ประเทศจากการจัดอันดับประเทศคอร์รัปชันในเอเชียในปี 2552 โดยบริษัทปรึกษาความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจและการเมือง หรือ PERC - Political and Economic Risk Consultancy Ltd. ประเทศไทยได้คะแนน 7.63 ชนะประเทศอินโดนีเซียอยู่ประเทศเดียว และเลวร้ายกว่ากัมพูชาซึ่งได้ 7.0 (ยิ่งคะแนนมาก ยิ่งคอร์รัปชันมาก)

ถ้าการลงขันกันของสถานพยาบาลต่างๆ เป็นในรูปของการซื้อประกันความเสี่ยง สถานพยาบาลนั้นๆ ไม่ต้องมาวุ่นวายกับการฟ้องร้องหรือคดีความเพราะมีผู้ดำเนินการให้ และไม่ต้องถูกรบกวนให้ต้องลงขันเพิ่มในปีต่อไปแม้ว่าจะเกิดความเสียหายจริง จากการให้บริการสาธารณสุขของสถานพยาบาลนั้นๆ การลงขันในกองทุนก็อาจจะเป็นการคุ้มค่า และการมีกองทุนชดเชยความสียหายต่างๆ ก็อาจเป็นสิ่งที่มีประโยชน์แก่สังคม แต่จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้มิได้ห้ามการฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญาต่อศาล และศาลอาจพิจารณาให้สถานพยาบาลจ่ายมากกว่าที่เงินกองทุนที่จะจ่ายให้ นั่นหมายความว่าสถานพยาบาลนั้นก็ต้องจ่ายอยู่ดี รวมทั้งการลงขันในปีต่อไปก็อาจมีการปรับให้จ่ายเงินลงขันมากขึ้น ถ้าพบว่าเกิดเหตุการณ์ความเสียหายจากสถานพยาบาลนั้น ตามความในมาตรา 21

ทำไมจึงไม่เพียงตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาตามมาตรา 5 และมาตรา 6 และถ้าคำร้องมีมูลคณะกรรมการก็มีคำสั่งการให้สถานพยาบาลนั้นๆ ที่ถูกร้องและหน่วยงานต้นสังกัดของสถานพยาบาลนั้นๆ (ในกรณีเป็นสถานพยาบาลของรัฐ) จ่ายชดเชยในเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ และรอผลการพิจารณาของศาลในที่สุด ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้สถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดีมีคุณภาพใส่ใจต่อการ ให้บริการสาธารณสุขซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของสถานพยาบาลทั้งหมดก็ไม่ต้องมีภาระใน การต้องจัดเงินมาลงขันในกองทุนดังกล่าว รวมทั้งไม่เป็นภาระแก่เงินงบประมาณแผ่นดินของประเทศซึ่งรัฐบาลควรที่จะนำ เงินดังกล่าวไปลงทุนโดยเฉพาะด้านทรัพยากรมนุษย์คือลงทุนด้านการศึกษาและการ ลงทุนในการการยกระดับจิตใจคนในสังคมเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อ อาทร อย่างมีคุณธรรมและอย่างมีมนุษยธรรม

ถึงเวลาหรือยังที่สังคมเราจะปฏิรูปกระบวนการออกกฎหมายโดย

1. ผู้ยกร่างกฎหมายและผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วน ได้เสียในกระบวนการบังคับใช้กฎหมายเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ยก เว้นร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินได้ตามกฎหมาย ดังกล่าวเป็นเงินของแผ่นดิน (ในกรณี (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับนี้ ผู้มีรายชื่อในการประชุมเพื่อยกร่างทั้งในส่วนของข้าราชการของกรมสนับสนุน บริการสุขภาพ และผู้มีรายชื่อในส่วนของตัวแทนของผู้บริโภคจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งทั้งในคณะ กรรมการ หรือในคณะอนุกรรมการเป็นเวลา 10 ปี) ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจในการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ

2. รัฐบาลมีหน้าที่ที่จะบริหารประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าโดยผ่านการลงทุนและ การพัฒนาที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม รัฐสภามีหน้าที่ในการกำกับทิศทางของรัฐบาล และสังคม (ที่เจริญ) มีหน้าที่ในการติดตามการดำเนินงานของทุกฝ่าย ทุกคนในสังคมควรพยายามช่วยกันด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อที่จะให้ทั้งรัฐบาล รัฐสภา และสังคมได้ทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ ทั้งด้วยการวิพากษ์ การวิจารณ์ ให้ข้อเสนแนะ ทำการตรวจสอบ การเดินขบวนประท้วง รวมทั้งการทำสิ่งที่เรียกว่า “Social Sanction” หรืออื่นๆ

กลุ่ม คนในสังคมไม่ควรแสดงความไม่ไว้ใจในรัฐบาล หรือรัฐสภา และเชื่อว่าตนบริหารได้ดีกว่าจนนำมาสู่ความพยายามถ่ายโอนอำนาจบริหารและ ทรัพยากรเงินมาอยู่ในมือตนโดยการออกกฎหมายในรูปแบบที่จะทำให้เกิดกองทุนโดย นำเงินมาจากงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินของประชาชนทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดหรือบังคับให้องค์กรอื่นต้องเข้าร่วมสมทบเงินใน กองทุนนั้นๆ และให้ “คณะกรรมการกองทุน” เป็นผู้บริหาร

3. เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า “ประชาธิปไตย” (ซึ่งย่อมมิใช่ “ผู้แทนราษฎรธิปไตย” หรือ “พรรคการเมืองธิปไตย” ) และเพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากความพร้อมของเทคโนโลยีการสื่อสารของสังคมใน ปัจจุบันรวมทั้งเครือข่ายสังคมทางอินเทอร์เน็ต (ร่าง) กฎหมายที่จะเสนอเป็นพระราชบัญญัติ (ซึ่ง โดยปกติไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะเรื่องที่เร่งด่วน เรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคง หรือเรื่องที่ต้องปกปิดไม่สามารถแพร่งพรายแก่สาธารณชนก่อนเวลาได้ด้วยเหตุ ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน อาทิ

การลดค่าเงิน รัฐบาลจะออกเป็นพระราชกำหนดและมีผลบังคับใช้แล้วจึงจะนำเข้าสู่สภาเพื่อออกเป็น พ.ร.บ.ตามมาในภายหลัง) ควรจะต้องเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเพื่อร่วมกันในการแสดงความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ก่อนที่จะเข้าสู่รัฐสภา และ ได้ข้อยุติที่สังคมยอมรับร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเชิงเจตนารมณ์หรือหลัก การ การนำไปปฏิบัติ ความขัดแย้งกับหลักการหรือค่านิยมที่สำคัญของประเทศ รวมทั้งความขัดแย้งในทางปฏิบัติหรือหลักการกับกฎหมายอื่นที่ถือปฏิบัติอยู่ แล้ว เพื่อมิให้เกิดปัญหาดังเช่น (ร่าง) พ.ร.บ.คุ้มครองความเสียหายฯ

สาระสำคัญของการระบบการปกครองที่ดีมิได้อยู่ที่กระบวนการใช้อำนาจว่า ใช้โดยบุคคลเดียว โดยกลุ่มบุคคลกลุ่มเดียวที่เรียกว่า “เผด็จการ” หรือโดยคนหมู่มากของสังคมที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” สาระสำคัญของการระบบการปกครองที่ดีอยู่ที่ว่าการปกครองนั้นต้องเป็นไปเพื่อ ประโยชน์ของคนหมู่มากของสังคม

แต่ประโยชน์ของคนหมู่มากในขณะนั้น (ซึ่งในที่สุดก็ต้องตายจากไป) ก็ต้องไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมในระยะยาว ประวัติ ศาสตร์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ถ้าสิ่งที่ผู้ร้ายที่ชื่อ “ระบอบเผด็จการ” ทำไปนั้นเพื่อประโยชน์ของสังคมระยะยาวแล้วก็ดูจะมีประโยชน์และคุณานุปการต่อ สังคมมากกว่าพระเอกที่ชื่อ “ระบอบประชาธิปไตย” ที่ยังประโยชน์เพียงคนหมู่มากในขณะนั้นแต่อาจทิ้งผลกรรมไว้ให้แก่สังคมใน ระยะยาวและแก่คนรุ่นหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น