++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันศุกร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553

การพัฒนาต้องเริ่มจากการกล้าวิจารณ์ตามด้วยการกระทำ

โดย ไสว บุญมา 21 ตุลาคม 2553 13:06 น.



ณ วันนี้เป็นเวลากว่าขวบปีหลังวันที่ผมได้รับเชิญจากอาจารย์ปราโมทย์ นาครทรรพ ให้มารับช่วงคอลัมน์ “คิดถึงเมืองไทย” อาจารย์ได้แนะนำแล้วว่าผมเป็นใคร เนื่องจากเป็นคำแนะนำสั้นๆ หรือผู้อ่านไม่มีโอกาสอ่าน หลายท่านจึงมักเห็นว่าผมไม่ใช่คนไทยและไม่ได้เสียภาษีจึงไม่มีสิทธิวิจารณ์สังคมไทย ฉะนั้น ก่อนเขียนต่อไปขอเรียนว่า ผมเป็นคนไทย มีบัตรประจำตัวประชาชนที่บ่งบอกว่าผมเป็นคนอำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ถือหนังสือเดินทางไทย และมีหลักฐานการเสียภาษี เอกสารเหล่านี้ผมมีให้ทุกท่านตรวจสอบ

ผู้อ่านที่ต้องการทราบว่าผมเป็นใครอาจเปิดดูเว็บไซต์ www.sawaiboonma.com อันเป็นผลงานของกัลยาณมิตรคนหนึ่งซึ่งผมไม่เคยพบหน้าทำขึ้นมาเพื่อปันงานของผม หากท่านต้องการอ่านให้รู้ก้นบึ้งถึงกำพืดของผม กรุณาอ่านหนังสือชื่อ “จดหมายจากบ้านนา” ซึ่ง ณ วันนี้มีขายในงานสัปดาห์หนังสือที่ร้านของสำนักพิมพ์ OhMyGod ขอเรียนด้วยว่าถ้าท่านแวะไปที่นั่น ทางร้านมีหนังสือสองเล่มที่จะแถมให้แก่ผู้ซื้อหนังสือดังกล่าว หนึ่งในสองเล่มที่จะแถมชื่อ “มองเมืองไทย : จากสิบปีของการใช้หนี้แผ่นดิน” ซึ่งจะบอกว่าผมทำอะไรในช่วง 10 ปีหลังจากวันที่ผมเกษียณก่อนกำหนดเวลาจากธนาคารโลกเมื่อปี 2540

หากท่านไม่ต้องการซื้อ “จดหมายจากบ้านนา” ทว่ายังต้องการอ่าน “มองเมืองไทย” กรุณาแจ้งความจำนงไปถึงผมเร็วๆ ผมจะนำไปฝากไว้ให้ท่านที่ร้านของสำนักพิมพ์ OhMyGod ในการแจ้งความจำนง กรุณาลงชื่อจริงของท่าน ทางร้านจะได้จัดหนังสือให้ท่านถูกต้อง ขอเรียนด้วยว่า บางวันผมจะไปอยู่ที่ร้านดังกล่าวพร้อมด้วยบัตรประจำตัวประชาชนและหนังสือเดินทางไทยที่ท่านอาจตรวจสอบดูได้ว่าเป็นของจริงหรือของปลอม

สำหรับท่านที่ไม่ต้องการอ่าน “จดหมายจากบ้านนา” ขอเรียนว่าผมเป็นลูกชาวนาจากชายทุ่งอำเภอบ้านนา ได้รับการศึกษาจากศาลาวัดแหลมไม้ย้อย เคยเรียนครูที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี และได้ทุนฝรั่งจนกระทั่งจบปริญญาตรีถึงเอกในอเมริกา ผมทำมาหากินอยู่ในต่างประเทศรวมทั้งงานสุดท้ายในธนาคารโลกจนอายุ 53 ปีจึงเกษียณออกมาเพื่อหาทางใช้หนี้แผ่นดินไทย จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลาได้ล่วงเลยไป 12 ปีแล้ว ผมได้ทำอะไรในการใช้หนี้แผ่นดินมีรายละเอียดอยู่ใน “มองเมืองไทย”

สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาอ่านหนังสือเล่มนั้น ขอเรียนว่าเริ่มจากปี 2540 ผมได้เขียนหนังสือแล้ว 20 เล่มและในขณะนี้เขียนคอลัมน์ประจำให้แก่หนังสือพิมพ์และนิตยสารรวมกัน 7 แห่ง เงินทุกบาทที่ได้มาผมยกให้แก่กิจกรรมส่งเสริมการศึกษาของเด็กไทยเริ่มด้วยการมอบเงินให้แก่กองทุนและมูลนิธิต่างๆ จนมาตอนหลังๆ นี้ผมมอบให้แก่มูลนิธินักอ่านบ้านนาซึ่งผมก่อตั้งขึ้นมาดังมีรายละเอียดอยู่ในเว็บไซต์ที่ผมอ้างถึง

ปัจจัยที่ผมเลิกมอบเงินให้แก่กองทุนและมูลนิธิต่างๆ และก่อตั้งมูลนิธินักอ่านบ้านนามาจากความเจ็บปวดที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรีเมื่อหลายปีก่อน เรื่องเป็นดังนี้ ผมได้มอบเงิน 100,000 บาทแรกที่ผมได้รับจากงานเขียนให้แก่มหาวิทยาลัยเพื่อนำไปสมทบกับกองทุนสำหรับช่วยเหลือนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยมีอยู่แล้ว ผมมอบให้ในนามของผู้มีบุญคุณเป็นพิเศษแก่ผมสองท่านเพื่อเป็นการทดแทนคุณ ต่อมาไม่นานเงินจำนวนนั้นพร้อมกับเงินของกองทุนอีกประมาณ 2.5 ล้านบาทได้ถูกถอนไปโดยผู้บริหารอ้างว่าไม่มีส่วนรู้เห็น ผู้ไปถอนเป็นพนักงานชั่วคราวของมหาวิทยาลัยซึ่งไปถอนรวม 25 ครั้ง มหาวิทยาลัยฟ้องพนักงานคนนั้น ศาลชั้นต้นยกฟ้อง ทางมหาวิทยาลัยอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าพนักงานผิด ณ วันนี้คดีอยู่ในศาลฎีกา

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา นักศึกษาที่ควรจะได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนดังกล่าวไม่ได้รับ ทนายคนหนึ่งจึงอาสาฟ้องผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อศาลปกครองแทนผม ศาลปกครองยกฟ้องด้วยเหตุผลที่ว่าผมไม่ใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีศิษย์ฟ้อง ผมไม่เข้าใจในข้อกฎหมาย แต่แน่ใจว่าในกระบวนการนี้มีคนโกงมากกว่าหนึ่งคน ผมแปลกใจว่าเพราะอะไรผู้บริหารและสภาของมหาวิทยาลัยจึงทำเป็นทองไม่รู้ร้อน ไม่ดำเนินการทางวินัยกับใครทั้งสิ้น เพียงแต่เตือนผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องบางคนว่าอาจต้องชดใช้เงินคนละ 550,000 บาท ณ วันนี้ คนเหล่านั้นได้เกษียณไปหมดแล้วยกเว้นอธิการบดี เมื่อพวกเขาตายไป มหาวิทยาลัยคงสูญเงินจำนวน 2.6 ล้านบาท

ใน “มองเมืองไทย” ผมเล่าเรื่องที่คนไทยถูกมองว่ามี “ขี้สี่อย่าง” ด้วยกัน ขี้เหล่านั้นเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงต่อการพัฒนา หนึ่งในนั้นคือ “ขี้โกง” ผมแน่ใจว่าผู้อ่านส่วนใหญ่ได้มีโอกาสรู้เห็นความเป็นคนขี้โกงของคนไทยในด้านต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการกระทำจำพวกขับมอเตอร์ไซค์ย้อนศร การซ่อนสินค้าด้อยคุณภาพไว้ในตะกร้าของขวัญ การโกงตามมหาวิทยาลัยไปจนถึงการโกงบ้านโกงเมือง ผมมองว่าถ้าเราไม่กล้าวิจารณ์ตัวเองอย่างตรงไปตรงมาว่าสังคมเราขี้โกงและไม่ออกมาช่วยกันแก้ไขพร้อมกับทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมบ้าง เราไม่มีทางพัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น