โดย อุษณีย์ เอกอุษณีย์ 14 ตุลาคม 2553 16:58 น.
การเมืองไทยวุ่นวาย และวิ่งวนอยู่ที่เดิมไปมา สัปดาห์นี้ขอพาผู้อ่านหนีมาดูเรื่องชาวบ้านกันบ้าง ชาวบ้านที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นความเคลื่อนไหวของพี่ใหญ่ อย่างจีนที่กำลังถูกรุกไล่เรื่อง “ค่าเงินหยวน” ถูกเพื่อนร่วมโลก ภายใต้การนำของสหรัฐฯ ชี้นิ้วประณามว่า ค่าเงินหยวนของจีนไม่แข็งค่าตามความเป็นจริง และกำลังทำให้เพื่อนร่วมภูมิภาค หรือแม้แต่ต่างภูมิภาค แต่เป็นคู่ค้าขายกับจีนอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ต้องตกที่นั่งลำบาก เสียเปรียบมหาศาล และฝ่ายหลังยังได้เตรียมจะไปถล่มจีน ในที่ประชุมจี 20 ที่เกาหลีใต้ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ส่วนผลจะลงเอยอย่างไร ขอเก็บประเด็นนั้นเอาไว้ก่อน
ที่นี้มาพูดถึง บทความของ คอลัมนิสต์ชาวเอเชีย ที่ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร Times ฉบับ 18 ตุลาคม 2010 นามว่า Fareed Zakaria งานเขียนของเขา ผู้เขียนคิดว่า น้องๆนักศึกษาที่ติดตามเรื่องการบ้านการเมืองระหว่างประเทศจะตามอ่านทิ้งๆ ไว้ก็ไม่เสียหลาย เนื่องจากได้รับการยอมรับเกี่ยวกับมุมมองความคิดด้านนโยบายการต่างประเทศ สัปดาห์นี้ เขาเขียนเรื่องจีน และหยิบเอาภาพใบหน้า “เหวินเจียเป่า” มันสมองแห่งพญามังกร ขึ้นเป็นภาพปกแรก ใช้พาดหัวบทความว่า The New Challenge from China ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของจีน ที่น่าสนใจมากกว่า ค่าเงินหยวน
คอลัมนิสต์ ท่านนี้บอกว่า ในขณะที่สหรัฐฯ มัวแต่พะวงเรื่องค่าเงินหยวน กลัวจะอ่อนค่า ไม่สะท้อนความจริงเท่าที่ควร และจะทำให้จีนได้เปรียบสหรัฐฯ ในเรื่องการส่งออกรวมถึงจะยิ่งทำให้สินค้าจากจีนที่มีราคาถูกได้เปรียบ เรื่องต้นทุนถาโถมเข้าไปในสหรัฐฯ และยุโรปมากยิ่งๆ ขึ้นไปทั้งที่แต่เดิมก็ถูกส่งเข้าไปตีตลาดในสหรัฐฯ และยุโรปมากอยู่แล้ว จนทำให้เหล่าผู้ผลิตภายในประเทศได้รับผลกระทบ
แต่ Fareed Zakaria กลับมองว่า ประเด็นที่ประชาคมโลก ควรจะหันมาเอาใส่ เกี่ยวกับจีนมากกว่าเงินหยวน น่าจะเป็นเรื่องทิศทางการพัฒนาศักยภาพของจีนเอง ในที่สุดแล้ว มันจะส่งผลให้จีนกลายเป็นพญามังกร ที่ก้าวขึ้นมาใหญ่เหนือสหรัฐฯ ในเรื่องเศรษฐกิจ หลังจีนเพิ่งจะทำให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมานั่งแท่นเป็น รองอันดับสองไปหมาดๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลจีนมุ่งเน้นพัฒนาประเทศไปที่การลงทุนด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็น หลัก โดยไม่ได้มุ่งให้น้ำหนัก เรื่องของการพัฒนา หรือลงทุนกับ “คน” เหมือนฝั่งตะวันตก นั่นเป็นเพราะจีนในระยะเริ่มต้น ได้วางบทบาทตนเป็น “โรงงานโลก” ที่มีจุดได้เปรียบชาติอื่น เรื่องค่าแรงราคาถูก วัตถุดิบโดยเฉลี่ยมีราคาต่ำกว่าที่อื่นๆ นั่นจึงทำให้จีนปักธงว่า ตราบใดที่ค่าแรงในจีนยังคงถูกอย่างนี้ต่อไป และแรงงานจีนยังคงทำงานหนัก เศรษฐกิจของชาติย่อมไปได้สวย
นั่นจึงเป็นที่มาว่า เหตุใดเงินสำหรับการพัฒนาตลอดช่วง 30 ปี จึงถูกทุ่มลงไปที่การก่อสร้างโรงงานให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น ถนนสำหรับเป็นเส้นทางกระจายสินค้า กว้างขวางเทียบชั้นเวิลด์คลาส ท่าเรือสนามบินถูกขยายใหญ่จนอาจเรียกได้ว่า เป็นการขยายโครงสร้างพื้นฐานประเทศที่มีขนาดใหญ่ และใช้เวลาการพัฒนารวดเร็วสุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ต่อมากระทั่งถึงวันนี้ ซึ่งจีนถูกมองว่า หมดยุคสำหรับค่าแรงงานราคาถูกแล้ว และอาจจะไม่สามารถดำรงสถานะความเป็นโรงงานใหญ่แบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป นักวิเคราะห์มองว่า ขณะนี้ธงแห่งการพัฒนาประเทศของจีนเริ่มเปลี่ยนทิศ เมื่อจีนกำลังเริ่มภารกิจที่ท้าทาย เช่น การยกระดับตนเองเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าที่จะต้องอาศัยศักยภาพ และทักษะที่สูงขึ้นกว่าเดิม
พูดง่ายๆ ก็คือ ยกระดับจาก “โรงงานผลิตของโหล” มาเป็นแหล่งผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ และมากคุณค่าขึ้นกว่าเก่า และนั่นก็ทำให้จีนต้องหันมาเริ่มการลงทุนใน “ทรัพยากรบุคคลให้มากขึ้น” รูปแบบเดียวกับที่ครั้งหนึ่งจีนเคยทุ่มงบสร้างถนนหนทางอย่างเอาเป็นเอาตายมา แล้ว
นักวิเคราะห์ท่านเดียวกันนี้บอกว่า อันที่จริงแล้ว การทุ่มงบด้านการศึกษาของจีน เริ่มมีสัญญาณมาตั้งแต่ ปี 2541 เมื่อเริ่มมีการลงทุน ขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับประชาชน ด้วยงบประมาณจำนวนมาก และในทศวรรษต่อจากนั้นก็เริ่มเห็นตัวเลขสถานศึกษา และวิทยาลัยที่ผุดขึ้นในจีนในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเท่าตัว
ขณะที่จำนวนนักศึกษาที่เข้าสู่การเรียนรู้ในรั้วมหาวิทยาลัยของจีน ก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่าจากเดิมเมื่อปี พ.ศ. 2540 มีเพียงระดับ 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเป็น 5 ล้าน 5 แสนคน ในปี 2550 ซ้ำจีนยังหันไปจัดอันดับมหาวิทยาลัยชั้นนำ 9 อันดับแรกของประเทศ จัดกลุ่มและหมวดหมู่คล้ายไอวี่ลีก หรือกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชนระดับแถวหน้า 8 แห่งของสหรัฐฯ ที่ผลิตบัณฑิตระดับหัวกะทิออกสู่สังคมตลอด 75 ปีที่ผ่านมา
มหาวิทยาลัยในจีนกำลังเร่งพัฒนา ในช่วงที่สถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ และยุโรปกำลังติดกับดักวังวนผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้งบประมาณในหลายๆ ด้านหดหายไปด้วย ถึงขนาดที่ ริชาร์ด เลวิน ประธานมหาวิทยาลัยเยล เอ่ยปากเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาด้วยความตกใจว่า จีนกำลังสร้าง “ภาคส่วนของสังคมการเรียนรู้ และการศึกษาขั้นสูงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ทำให้มันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี”
สุดท้ายการลงทุนด้านการศึกษาจะให้อะไรกับจีนบ้าง นี่คือคำถามบทความที่อ้างถึงนี้ได้ตั้งไว้ โรเบิร์ต โฟเกล นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล จากมหาวิทยาลัยชิคาโกบอกว่า แรงงานมีทักษะฝีมือ มีโอกาสจะทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างยั่งยืนได้ และมีโอกาสทำให้จีดีพีของจีนเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 123 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2040 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ในอีกไม่กี่สิบปีหรืออาจจะไวกว่านั้นก็ได้ จีนกำลังจะก้าวขึ้นมาเป็น มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งแซงหน้าสหรัฐฯ แล้ว
สิบ ยี่สิบปีสำหรับการพัฒนาโครงสร้างประเทศ กับสิบปีสำหรับพัฒนาคน กำลังทำให้จีนประเทศเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของไทยไปไกลโขทีเดียว พอหันกลับมามองเมืองไทยบ้านเรา ที่ยังวนเวียนกับการของบสร้างถนน สร้างเสร็จใช้แป๊บเดียวเจ๊ง ทุบแล้วของบสร้างใหม่ วนเวียนเป็นงูกินหาง ไม่รู้จบ ก็รู้สึกเหนื่อยใจอย่างเหลือเกินค่ะ จะกี่สิบปีก็คงต้องย่ำกันอยู่อย่างนี้ที่เดิม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น