++

...+

Theขี้ฝุ่นริมทาง

วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2553

สวมหมวกนิรภัย : plot เรื่องเล่าอุบัติเหตุที่ไม่จบด้วยความตาย! โดย ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ

ในความตายบนท้องถนนมีเรื่องเล่า แต่เค้าโครงเรื่อง (plot) อุบัติเหตุในไทยอันเนื่องมาจากรถจักรยานยนต์เกือบทั้งหมดมักมาจากการขับขี่เร็วและไม่สวมหมวกนิรภัยทั้งนั้น แม้ทั้งสองสาเหตุจะมีกฎหมายควบคุมพฤติกรรมการขับขี่อยู่แล้วก็ตาม แต่ทว่าถึงที่สุดการไม่เคารพกฎจราจรของผู้ขับขี่ การไม่บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัดของเจ้าหน้าที่รัฐ และการไม่มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบายมาทดแทนความคล่องตัวของรถจักรยานยนต์ ก็เรียงร้อยเหตุการณ์เหล่านั้นเข้าด้วยกันจนสังคมไทยไม่เพียงมีรถจักรยานยนต์มหาศาลถึง 16 ล้านคัน หากความตายยังทอดยาวเป็นเงาตามตัวด้วย
       
        ลำดับเหตุการณ์ของเรื่องเล่าเหล่านี้มักมี ‘จุดเริ่ม’ จากทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับขี่ด้วยความเร็วแรง แซงซ้ายป่ายขวา ไม่ก็ย้อนศรหรือวิ่งบนทางเท้า ผ่านหน้าเจ้าหน้าที่รัฐไปได้โดยไม่ถูกตรวจจับ ก่อนจะพบ ‘จุดจบ’ จากการไปประสบอุบัติเหตุทั้งประสานงา คว่ำ ลื่นไถล พิการบาดเจ็บหรือกระทั่งตายเพราะไม่ได้สวมหมวกนิรภัยป้องกันการกระแทกของศีรษะ
       
        ผสานกับข้อเท็จจริงน่าเศร้าอีกส่วนหนึ่งที่พบว่าแม้ยอดจำหน่ายหมวกนิรภัยจะสูงกว่ายอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ แต่ทว่าก็เป็นการซื้อที่ไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ในเชิงการป้องกันการบาดเจ็บเท่ากับป้องกันการถูก ‘จับปรับ’ จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เมื่อใดขับพ้นผ่านด่านหรือไม่มีด่านก็ไม่สวมใส่
       
       ความสัมพันธ์ของเหตุการณ์จากจุดเริ่มต้นที่ไม่นิยมสวมหมวกนิรภัยที่มีประสิทธิภาพช่วยชีวิตของผู้ขับขี่และผู้โดยสารที่ดำเนินเรื่อยมาจนถึงจุดจบจากการประสบอุบัติเหตุเช่นนี้ ส่งผลให้อัตราการบาดเจ็บที่ศีรษะยังคงเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและพิการของคนไทยไม่เคยเปลี่ยน
       
       เช่นกันกับข้ออ้างของการไม่สวมหมวกนิรภัยในผู้ขับขี่ที่คงเดิมเรื่อยมาคือจะได้ไม่ร้อนอึดอัด ไม่ต้องสวมเพราะระยะทางสั้นๆ โอกาสเกิดอุบัติเหตุมีน้อย ไปจนถึงกลัวหมวกนิรภัยหายเพราะไม่มีที่เก็บหรือทิ้งไว้ที่รถระหว่างชั่วโมงทำงานหรืออยู่ในศูนย์การค้าก็ไม่ได้ ขณะที่ผู้โดยสารก็ระแวงว่าถ้าสวมหมวกนิรภัยจะทำให้ผมเสียทรง หัวสกปรกและอาจติดโรคได้ โดยเฉพาะกรณีรถจักรยานยนต์รับจ้าง
       
       การตัดสินใจไม่สวมหมวกนิรภัยจึงไม่ได้มาจากราคาแพงหรือขาดแคลนอุปกรณ์นี้ แต่คือการขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการเกื้อหนุนให้ผู้คนสวมใส่หมวกนิรภัยเท่ากับจำนวนรถจักรยานยนต์บนท้องถนนที่ทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ไม่เคยแม้แต่จะรณรงค์ส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยให้ได้ทุกคนทั้งผู้ขับขี่และโดยสาร ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อจะสามารถเปลี่ยน plot เรื่องเล่าของอุบัติเหตุนี้
       
       ทั้งนี้ ภายในความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ทุกคนมีหมวกนิรภัยใช้ควรเริ่มต้นด้วยการสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยและเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัดให้แก่ผู้ขอใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ชั่วคราวที่ออกใหม่ทุกคน เพราะทุกๆ ปีจะมีผู้ขอใบอนุญาตใหม่มหาศาล
       
       ดังปีงบประมาณ 2553 ที่มีผู้ขอใบอนุญาตออกใหม่ทั้งสิ้นกว่า 8 แสนคน อนุมานว่าส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน ดังนั้นถ้าทุกคนสวมหมวกนิรภัยเป็นนิสัย ยามประสบอุบัติเหตุก็อาจไม่ถึงตาย ภาพรวมความสูญเสียไทยก็จะลดลง ขณะเดียวกันก็รักษาทรัพยากรมนุษย์ไว้ได้ส่วนหนึ่งด้วย
       
       ทว่าการจะทำให้ไทยหลุดจากบัญชีรายชื่อประเทศที่ประสบความล้มเหลวในการป้องกันอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิตนับหมื่นรายต่อปี ที่มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากรถจักรยานยนต์มากถึง 7พันคน หรือได้คะแนนมาตรฐานการใช้หมวกนิรภัยเพิ่มขึ้นจาก 4 เต็ม 10 ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็คือการรณรงค์สวมหมวกนิรภัย 100% ทั้งในส่วนของผู้ขับขี่และโดยสาร โดยวางอยู่บนกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ประชาสังคม มากกว่างบประมาณ เพื่อผลสำเร็จระยะยาว
       
       รวมทั้งควรประยุกต์การบริหารจัดการความปลอดภัยบนท้องถนนตามแนวทางของ WHO ว่าด้วย ‘หมวกนิรภัย : คู่มือความปลอดภัยบนท้องถนนสำหรับผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติ’ (Helmets: A road safety manual for decision makers and practitioners) เพราะบทเรียนและประสบการณ์จากนานาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการทำให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัย การนำเสนอและบังคับใช้กฎหมายหมวกนิรภัย ไปจนถึงการกำหนดมาตรฐานการผลิตหมวกนิรภัยที่เหมาะสม จะเป็นแนวทางให้ผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติการในประเทศไทยสามารถวางแผน ออกแบบ และดำเนินโครงการด้านหมวกนิรภัยได้มีประสิทธิภาพกว่าปัจจุบันจนลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรได้
       
       ต่อไปลำดับเหตุการณ์ของเรื่องเล่าเกี่ยวกับอุบัติเหตุจะเปลี่ยน ‘จุดเริ่ม’ เป็นทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัย ขับขี่ด้วยความระมัดระวังเคารพกฎจราจร ไม่วิ่งแซงซ้ายป่ายขวา ไม่ย้อนศรหรือวิ่งบนทางเท้า เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด ถึงแม้จะไปประสบอุบัติเหตุ แต่ก็มี ‘จุดจบ’ ที่ไม่ใช่พิการหรือตายเพราะได้สวมหมวกนิรภัยป้องกันการกระแทกของศีรษะไว้แล้ว
       
       จึงถึงเวลาที่สังคมไทยต้องสร้างความสัมพันธ์ของเหตุการณ์เสียใหม่ ให้ทั้งจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเรื่องเล่าเกี่ยวกับอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มีแต่คนสวมหมวกนิรภัย เพราะหมวกนิรภัยที่ทั้งผู้ขับขี่และซ้อนท้ายสวมใส่จะทำให้จุดสุดสิ้นของเรื่องเล่าไม่ใช่ความตาย!
       
       มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) www’thainhf.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น